การศึกษาไทยเรื่องของแพะกับแกะ


วันนี้นำบทความที่เขียนลงมติชนมาให้อ่านค่ะ

วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11469 มติชนรายวัน


การศึกษาไทยเรื่องของแพะกับแกะ


โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ




ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนดให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2553 ต้องใช้คะแนน GPA 20% ซึ่งเป็นเกรดเฉลี่ยที่เรียนในโรงเรียน

คะแนนสอบ O-NET 30% ได้มาจากการสอบพร้อมกันทั่วประเทศ

GAT หรือความถนัดทั่วไปมีสัดส่วนคะแนน 10-50% และ PAT ความถนัดเฉพาะด้าน มีสัดส่วนคะแนน 0-40% ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะของแต่ละสถาบันเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้ GAT และ PAT สัดส่วนเท่าใด

วิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ตั้งแต่การสอบพร้อมกันทั่วประเทศ โดยให้เลือกคณะได้ 6 ลำดับ ใช้คะแนนสอบครั้งเดียว เพื่อวัดเลยว่าสอบได้หรือไม่ได้

จนต่อมาเปลี่ยนมาใช้เกรดเฉลี่ยในโรงเรียนเป็นส่วนประกอบ ที่เรียกว่าคะแนน GPA ตั้งแต่ 10% จนถึง 20% โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนสนใจกิจกรรมการเรียนในโรงเรียน มากกว่าที่จะมุ่งเรียนกวดวิชาเพียงอย่างเดียวเพื่อหวังสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้น โดยไม่สนใจว่าเรียนแล้วจะสามารถนำความรู้จากห้องเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงวิธีการเพื่อคัดคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยมุ่งหวังไม่ให้นักเรียนมัวไปเรียนกวดวิชาจนละทิ้งการเรียนในโรงเรียน ดูแล้วไม่ได้ผลเพราะยิ่ง สำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) คิดสรรหาวิธีการสอบให้ซับซ้อนเท่าไร สถาบันกวดวิชายิ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น โดยหวังว่าสถาบันกวดวิชาเหล่านี้จะสามารถกวดวิชาในทุกเรื่องทุกรูปแบบได้มากกว่าการเรียนในโรงเรียน

อีกทั้งยังทำให้การเรียนในโรงเรียนถูกประเมินว่าไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหมายถึงผู้เรียนและผู้ปกครองแต่อย่างใด การเรียนในโรงเรียนจึงมีบรรยากาศของการเรียนที่น่าเบื่อ เรียนเพื่อให้พ้นๆ ไปวันๆ

ยิ่งในปีการศึกษา 2553 เกณฑ์การสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนต้องมีคะแนนสอบที่เรียกว่า GAT และ PAT หรือที่แอบเรียกกันว่า "แกะกับแพะ" มีเด็กนักเรียนบางส่วนโดยเฉพาะชั้น ม.5 ยังไม่รู้เลยว่าจะสอบอะไร

เว้นแต่โรงเรียนที่ตื่นตัวเร็วก็จะทำให้เด็กส่วนใหญ่เตรียมรับกับการสอบที่จะเกิดขึ้น

หรือหากจะบอกว่าเรื่องของตัวเองยังไม่รู้เลยก็ไม่ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยก็คงไม่ใช่ เพราะการรับรู้เรื่องราวใดๆ หรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับทั้งคนพูดและคนฟัง แต่อย่างไรก็ตามเด็กที่ไม่ได้สอบในคราวนี้ก็ยังมีโอกาสอีกหลายครั้งด้วยเช่นกัน

ปัญหาของเรื่อง "แกะกับแพะ" นี้ไม่ใช่เรื่องที่เด็กจะได้สมัครสอบในรอบนี้หรือไม่

แต่ปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้นสอดคล้องกับการเรียนในโรงเรียนหรือไม่

หากวิธีการเรียนการสอนยังเป็นแบบเดิมที่มุ่งเน้นให้จำได้เป็นหลักมากกว่าคิดวิเคราะห์เป็น หรือเด็กมีจุดมุ่งหมายเรียนเพื่อหวังเกรดเฉลี่ยสูงๆ เพื่อเพิ่มคะแนน GPA ส่วนโรงเรียนก็ให้เกรดนักเรียนสูงๆ เพื่อหวังผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ผู้ประเมินอาจดูฉาบฉวยแค่ตัวเลขเกรดเฉลี่ยของนักเรียน การเรียนจึงเป็นการมุ่งเน้นเรียนเพื่อตัวเลขมากกว่าอยากรู้จริงๆ ว่า เด็กติดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ ก็น่าเสียดายเวลาที่ใช้ไปสำหรับการเรียนในโรงเรียน

ถ้าพิจารณาถึงความคาดหวังของการสอบโดยพิจารณาจากคะแนน GAT หรือความถนัดทั่วไป ซึ่งมี 300 คะแนน แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 150 คะแนน ได้แก่ส่วนที่หนึ่งเป็นข้อสอบการอ่านเชิงวิเคราะห์ การเขียนเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ส่วนที่สองเป็นข้อสอบการสื่อสารทางภาษาอังกฤษ

หากพิจารณาที่สัดส่วนคะแนนพบว่าคณะต่างๆ ให้ความสำคัญกับคะแนน GAT ค่อนข้างมากบางคณะบางมหาวิทยาลัยให้สัดส่วนคะแนนเต็มที่ 40-50% หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 10% แสดงว่าให้ความสำคัญกับคะแนนส่วนนี้มาก

แต่หากเปรียบเทียบผลการสอบ GAT ครั้งที่ 1 ที่ผ่านไปแล้วพบว่าผลคะแนนไม่ได้ไปในทิศทางที่แต่ละมหาวิทยาลัยคาดหวัง ซึ่งพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.36 มีคะแนนสอบ GAT อยู่ระหว่าง 30.01-60.00 คะแนน จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน ซึ่งถือว่าต่ำมาก

ขณะที่นักเรียนที่มีคะแนนสอบส่วนนี้เกินครึ่งคือระหว่าง 150.01-300 คะแนน มีเพียงร้อยละ 8.99

แสดงว่านอกนั้นคือนักเรียนที่มีผลสอบ GAT ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ตัวเลขเหล่านี้ย่อมแสดงว่าเด็กที่เข้าสอบจำนวนกว่าสองแสนคนมีความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดเชิงวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาค่อนข้างต่ำ

การที่นักเรียนทั่วประเทศต่างมีความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดเชิงวิเคราะห์น้อย อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการปรับตัวไม่ทันของระบบการเรียนในโรงเรียนที่ยังสอนแบบเดิมๆ

ประการต่อมาอาจเกิดจากเนื้อหาสาระที่เรียนมีมากเกินไป จนทำให้กิจกรรมการเรียนที่จะเน้นฝึกการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กทำได้ไม่เต็มที่ ด้วยความกังวลกับเนื้อหาเกรงว่าจะเรียนไม่ทันบ้าง

แล้วแต่ละโรงเรียนจะปรับตัวกันอย่างไร

ถ้ายอมรับว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ รวมทั้งเห็นว่าการฝึกให้เด็กมีความสามารถในเชิงการคิดวิเคราะห์เป็นความจำเป็นที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ก็ย่อมต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งในส่วนของหลักสูตรอาจปรับเนื้อหาให้น้อยลง โดยเฉพาะวิชาที่มีเนื้อหามากเกินไปเก็บไว้เรียนตอนมหาวิทยาลัยบ้างก็จะดี

นอกจากนี้ต้องพิจารณาให้เห็นว่าข้อสอบ GAT เกี่ยวข้องกับวิชาอะไรในโรงเรียนบ้างนอกเหนือจากวิชาภาษาอังกฤษที่มีคะแนนถึง 150 คะแนน

ความจริงวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่มีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับโลกในยุคปัจจุบันก็จริง แต่สภาพที่เป็นอยู่คือเด็กค่อนข้างมีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษแตกต่างกัน ซึ่งคะแนนโดยพื้นฐานของเด็กไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว

ดังนั้นการให้ความสำคัญกับคะแนนวิชาภาษาอังกฤษถึง 150 คะแนน อาจทำให้เด็กที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ดีมีโอกาสน้อยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทั้งที่หากพิจารณากันจริงๆ มีหลากหลายอาชีพที่จบมหาวิทยาลัยมาแล้วก็ไม่ได้ไปพูดกับฝรั่งที่ไหน!

การให้คะแนนส่วนนี้อาจจะดีหากเด็กในเมืองกับเด็กในชนบทมีโอกาสที่จะมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนอีกวิชาที่เกี่ยวข้องคงเป็นวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา ที่น่าจะสามารถฝึกฝนให้เด็กนักเรียนมีความสามารถในการอ่าน การเขียน และการคิดเชิงวิเคราะห์ได้ ซึ่งวิชาภาษาไทยมีทักษะที่จำเป็นคือ การฟัง พูด คิด อ่าน และเขียน อยู่แล้ว

ส่วนวิชาสังคมศึกษาที่ไม่มีหรือไม่ได้ถูกระบุในวิชา GAT และ PAT อย่างชัดเจน นอกเหนือจากไปสอบ O-NET ซึ่งมีสัดส่วนคะแนนเพียง 5% และคะแนน GAT หากเทียบสัดส่วนน้ำหนักของวิชาสังคมศึกษา จากคะแนน GAT น่าจะมีน้ำหนักประมาณ 5-6% เช่นกัน

ซึ่งน้ำหนักต่างๆ เหล่านี้ถือว่าน้อย ในขณะที่เนื้อหาสาระที่เรียนเยอะมาก กว่าจะจบหลักสูตรในแต่ละระดับต้องเรียนวิชานี้ตั้ง 5 สาระคือ สาระพระพุทธศาสนา เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์

เนื้อหาแต่ละสาระของวิชาสังคมศึกษายังมีมากอีกด้วย ทำให้ครูผู้สอนต้องกังวลกับเนื้อหาที่มากรุงรัง ขณะที่นำไปออกข้อสอบเพียงนิดเดียว หากจะให้เน้นกระบวนการคิดโดยไม่ต้องไปยึดติดกับเนื้อหาก็ทำไม่ได้

ถ้าจะทำได้เด็กต้องมีความรับผิดชอบคืออ่านหนังสือหรือเตรียมตัวในการเรียนมาล่วงหน้า มีความรู้พื้นฐานแน่น เมื่อถึงเวลาเรียนในห้องเรียนครูและนักเรียนสามารถร่วมกันฝึกทักษะการคิดโดยการเน้นการอ่าน การเขียน การคิดเชิงวิเคราะห์ ด้วยการนำข่าว บทความ หรือกรณีตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระที่จะเรียน มาฝึกให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำข้อสอบประเภท GAT ก็น่าเชื่อว่าคะแนน GAT ของนักเรียนโดยภาพรวมทั้งประเทศ น่าจะดีขึ้นกว่านี้แน่

แต่ในความเป็นจริงก็คือความกระตือรือร้นของเด็กในโรงเรียนมีน้อย แทบไม่พบว่านักเรียนมีความพร้อม ก่อนที่จะเรียน อีกทั้งยังพบว่าแม้แต่ในขณะเรียนยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยไม่มีความพร้อมในการเรียน สาเหตุคงมีหลายประการทั้งการสอนของครูคงไม่เร้าใจเด็ก สภาพสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้มีสิ่งเย้ายวนมากมายที่น่าสนใจสำหรับเด็กมากกว่าการเรียนในโรงเรียน ที่บรรยากาศซ้ำซากน่าเบื่อ

ครูเองก็คงเบื่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเด็ก เพราะแทนที่จะได้ใช้ความรู้ทางวิชาการสอนให้เด็กมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ฝึกกระบวนการคิดต่างๆ ได้ ครูส่วนหนึ่งต้องผจญพฤติกรรมความไม่เอาใจใส่ในการเรียนของเด็กนักเรียนจนทำให้เกิดความท้อถอย

สภาพของเด็กและครูเช่นนี้คงมีผลต่อคะแนนสอบของเด็กไม่น้อย ถ้าจะแก้กันจริงๆ คงต้องสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญของหน้าที่และการศึกษาเล่าเรียนว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้จริงๆ

นอกจากนี้ปริมาณนักเรียนต่อห้องโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมีนักเรียนถึง 50 คน ต่อห้องหรือมากกว่านี้ ปริมาณที่มากเกินไปย่อมส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ

หากจะแก้ปัญหาผลการสอบของนักเรียนที่ไม่น่าพึงพอใจแล้ว คงต้องแก้หลายๆ เรื่องประกอบด้วย ทั้งปรับเปลี่ยนการสอน ลดเนื้อหาสาระและจำกัดปริมาณนักเรียนต่อห้องเรียนของแต่ละโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนยอดนิยมทั้งหลาย เพราะยังมีโรงเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่มีนักเรียนน้อย ในขณะที่ทรัพยากรที่ใช้ในการลงทุนพอๆ กัน ถือว่าเป็นการกระจายทรัพยากรที่ไม่คุ้มทุน

รวมทั้งสะท้อนว่ากระทรวงศึกษาธิการยังไม่เคยแก้ปัญหาค่านิยมที่มีต่อชื่อเสียงของโรงเรียนได้ และแสดงว่าโรงเรียนเล็กๆ ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตนเองน้อยไปหรือเปล่า? จึงยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ส่วนเมื่อนำคะแนน GAT มาเทียบกับคะแนน PAT หรือความถนัดเฉพาะด้านที่เป็นวิชาสามัญ เช่นความถนัดทางคณิตศาสตร์ และความถนัดทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนส่วนใหญ่กลับทำคะแนนได้มากกว่าวิชา GAT ที่เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์

แสดงให้เห็นว่าจุดอ่อนของการศึกษาไทยอยู่ที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์

จึงเห็นความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการต้องหาวิธีการบางอย่างเพื่อส่งเสริมการศึกษาที่เน้นกระบวนการคิดมากกว่าที่เป็นอยู่

ทำอย่างไรการเรียนในห้องเรียนจึงจะได้รับการส่งเสริมให้เด็กได้คิดเป็น ส่งเสริมให้โรงเรียนมีบรรยากาศการสอนที่เน้นกระบวนการคิด มากกว่าปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้นักเรียนทำคะแนน โดยเฉพาะ GAT ได้น้อย นอกจากเป็นเพราะข้อสอบที่เน้นกระบวนการคิดแล้ว ยังเป็นเพราะวิธีการทำข้อสอบที่ค่อนข้างแปลกกว่าที่เคยทำ อ่านแล้วดูจะสับสน และกังวลกับการจะตอบข้อสอบแต่ละข้อ เนื่องจากไม่ใช่ข้อสอบประเภทมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียวเหมือนในโรงเรียน

แต่ละข้ออาจมีคำตอบที่ถูกต้องหลายคำตอบ ถ้าตอบถูกทั้งหมดจึงจะได้คะแนนเต็มในข้อนั้น

ถ้าตอบถูกแต่ไม่หมดก็จะถูกหักคะแนน แต่ถ้าคำตอบที่ตอบมามีคำตอบที่ผิดปนอยู่ด้วย จะถูกหักไปคำตอบละ 3 คะแนน แม้ว่าในข้อนั้นจะสามารถตอบถูก 1 ตัวเลือก ผิด 1 ตัวเลือก ข้อนั้นก็จะไม่ได้คะแนน เพราะตอบถูก 1 ตัวเลือกจาก 2 ตัวเลือกที่เป็นคำตอบที่ถูกต้องจะได้ 2.5 คะแนน แต่ตอบผิด 1 ตัวเลือกในข้อนั้นก็จะถูกหัก 3 คะแนน แสดงว่าขอนั้นไม่ได้คะแนนเลย โดยการสอบนี้จะเน้นว่าไม่ต้องเดา หรือตัวเลือกใดไม่แน่ใจก็ไม่ต้องเลือก แต่ก็จะถูกหักคะแนนตามสัดส่วนอีก

แค่เกณฑ์การให้คะแนนก็มีผลต่อการตัดสินใจในการทำข้อสอบว่าจะตอบไม่ตอบตัวเลือกใด แค่คิดก็ปวดหัว สงสารเด็กเวลาทำข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนนเหล่านี้คงกวนใจจนไม่มีสมาธิในการทำข้อสอบเป็นแน่ วิธีการทำข้อสอบแบบนี้ในโรงเรียนไม่น่าจะเคยใช้มาก่อน

ข้อสอบแบบนี้ที่ให้นักเรียนอ่านบทความที่มีความยาวประมาณ 2 หน้า แล้วตอบคำถาม 10 ข้อ คำถามเป็นข้อความสั้นๆ หรือเป็นคำๆ แล้วให้นักเรียนหาความเชื่อมโยงของคำเหล่านั้นว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ในฐานะที่เป็นผลซึ่งกันและกัน เป็นองค์ประกอบ หรือก่อให้เกิดผลยับยั้ง ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น

ความจริงเป็นข้อสอบที่ดีที่สามารถวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณของเด็กได้ไม่น้อย เพียงแต่เด็กต้องได้รับการฝึกฝนให้ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณในกระบวนการเรียนการสอนจากโรงเรียนอย่างเพียงพอ นักเรียนจึงจะสามารถทำคะแนน GAT ได้ดี

ดังนั้นผลที่ปรากฏจากคะแนน GAT ครั้งที่ 1 ในการสอบเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2552 ซึ่งพบว่าคะแนน GAT ของนักเรียนทั่วประเทศต่ำมาก จึงเป็นภาพฟ้องกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่น้อย

อีกทั้งยังแสดงว่าเวลาผู้ใหญ่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใดๆ ในการสอบ ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกข้อสอบกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการศึกษาปรึกษาหารือกันหรือไม่ จึงทำให้นักเรียนงงงวยกับการทำข้อสอบในรอบแรก จนผลคะแนนออกมาต่ำจนน่าตกใจ

ทำให้เด็กไทยในยุคการศึกษาแบบ "แกะกับแพะ" น่าสงสารจริงๆ

การปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการสอบ GAT และ PAT คงเป็นวิธีการที่ผ่านแนวคิดจากนักวิชาการด้านการศึกษา จนเห็นดีเห็นงามว่าดีแล้ว

แต่การที่ไม่ได้เตรียมให้เด็กมีความพร้อมในการสอบมาเป็นระยะเวลาพอสมควรจนสามารถทำข้อสอบแนวการคิดวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดีแล้ว การกำหนดให้นักเรียนต้องสอบ GAT และ PAT ที่ถูกตั้งชื่อให้ทันสมัย แต่ถูกเด็กเรียกว่า การสอบ "แกะกับแพะ" นั้น นักเรียนส่วนหนึ่งก็ยังคงต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชาอีกเช่นเดิม และมากขึ้นกว่าเดิมอีก จนไม่อาจทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้เด็กสนใจการเรียนในโรงเรียนบรรลุจุดมุ่งหมายได้

ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการคัดคนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีใดก็ตาม ตราบใดที่การเรียนในโรงเรียนยังไม่อาจตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของผู้เรียน ที่มีศูนย์กลางอยู่กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้นก็ย่อมแสดงว่าการมุ่งหวังให้นักเรียนสนใจเอาใจใส่การเรียน การทำกิจกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ตลอดจนการปลูกฝังจิตอาสาให้กับเด็กในโรงเรียนคงทำได้น้อยมาก

เพราะเด็กยังคงให้ความสำคัญกับโรงเรียนกวดวิชามากกว่าโรงเรียนปกติและช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาของเด็กจึงมีอยู่ต่อไป

หน้า 7
หมายเลขบันทึก: 283201เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ ครูเล็ก สายพิน

ผมเป็นน้องชาวดิน มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ

แนะนำ เว็บไซด์ครับ

www.choadin.org

ที่พบปะของพี่น้องชาวดิน

หวัดดีจ้ะน้องเกียง ยินดีที่ได้รู้จักน้อง พี่เป็นชาวดินเหมือนกัน รุ่นดึกดำบรรพ์มาก เคยเป็นสมาชิกสภานิสิต และเลขาฯสภานิสิตของพรรคชาวดินนะ เดี๋ยวจะเข้าไปเยี่ยมเยียนในเวปนะ หรือจะไปเยี่ยมเยียนพวกพี่ ๆ ได้ มีชาวดินหลายคนอยู่ในนั้น ในเวปรุ่นพี่ ภุมริน 3 และในเสือดาว 3 ก็มี

โลโก้พรรคชาวดิน รู้สึกว่ายังเหมือนเดิมใช่เปล่า พี่เล็ก ชาวดิน

แวะมาทักทาย..ทำความรู้จักในฐานะครูประวัติศาสตร์.เมืองเพชร

หวัดดีค่ะครูนพพล ในฐานะครูประวัติศาสตร์เหมือนกัน ที่เพชรบุรีการเรียนประวัติศาสตร์น่าจะสนุกมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท