การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วม (1)


“บริหารความสุข” ให้กับทุก ๆ คน (Total Happy Management : THM) ,ล้มบ้างก็ได้ ปล่อยให้ล้มบ้างก็ได้ ก็แค่หกล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่,ผิดเป็นครู ผิดมาก ๆ เป็นอาจารย์เลยนะ,ทำไมเราถึงต้องล้ม เพราะเราจะได้เรียนรู้ว่าเวลาลุก เราจะลุกได้อย่างไร, คนที่ไม่เคยล้ม เขาก็จะไม่เคยลุก,การล้มหรือลุก เกิดความรู้และปัญญาทั้งสิ้น,ทฤษฎีไทยบริหารจัดการ (Thai Theory Management),ความรู้ฝังลึกแห่งชีวิต(Tacit knowledge of Life)

การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วม

                   เราได้บอกที่ที่ควรจะบอก เทคนิควิธี เปิดตัว สร้างความรู้สึกแบบเป็นกันเอง บอกถึงจุดยืน ชี้ถึงประโยชน์ที่จะสามารถหาได้จากเรา จากนั้นเราถอยตัวออกมา แต่ต้องเตรียมพร้อม Stand by ไว้ตลอด พร้อมให้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ ในเรื่องนั้น ณ เวลานั้น ๆ จึงจะครบองค์ประกอบทั้งสองส่วน เพราะเขาจะสนุกกับการทำงาน เมื่อเขาติดขัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ถามเรา พูดคุยกับเราได้
บอกเขาในสิ่งที่เขาต้องการรู้ โดยเขาถามเรา มากกว่าบอกในสิ่งที่เราอยากจะบอก เขาอาจจะอยากรู้ แต่จะเอาไปใช้ได้เมื่อไหร่ กว่าจะได้ใช้อาจจะลืม หรืออาจะไม่ได้ใช้เลยตลอดชีวิต หัวสมองของคนมีขีดจำกัดนะ เอาไว้จำสิ่งที่จำเป็นดีกว่า บอกเรื่องให้คนอื่นจำหรือทำก็ได้ เราทำไม่ได้ไม่ทุกเรื่องหรอก ถนัดต่างกัน

                 แต่เราจะบอกดีไหม เนี่ยสิ ต้องมีเทคนิค
                 ถ้าบอก เขาก็จะได้แค่ ข้อมูล อย่างมากก็เป็นแค่สารสนเทศ ยังไม่ใช่ความรู้นะ
                 เพราะเขาไม่ได้คิด เราคิดแล้วบอกเขา เราสิ ได้ความรู้ แต่เขายังไม่ได้
                 แล้วจะไม่บอกเขาเหรอ
                บอกสิ แต่ต้องมีวิธีการบอก
        โดยปกติ คน เรา จะมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ก็คือ ไม่ค่อยเชื่อใครหรอก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า รั้น เถียง หรืออะไรก็ได้ เพราะคนเราที่จะเชื่อคนอื่นได้มีแค่สองวัยแค่นั้นเอง หนึ่งก็คือ เด็ก เด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่รู้ประสีประสา บอกให้เขานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ เด็กยังทำเลย สองคนแก่ แก่แบบที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ตอนนี้ชักเริ่มไม่แน่ใจ เพราะคนแก่บางครั้ง ก็ยอมตายที่กว่าที่จะเชื่อเรา ดังนั้นเราคนรุ่นหนุ่มสาว วัยรุ่น วัยกลางคน หรือคนที่ยังไม่แก่ ไม่เชื่อใครหรอก เขาเชื่อตัวเอง ตัวหน้าเราอาจจะเชื่อ
                 ทำอย่างไงล่ะ?
                 “เล่านิทาน เล่าเรื่อง คล้ายจะบอกเป็นนัย ๆ ไกด์ ๆ ให้เขา แล้วแกล้งทำเป็นสิ่งที่เล่าเนี่ย เราทำไม่สำเร็จ ช่วยลองไปทำดูหน่อยสิ ผมเชื่อว่าคุณน่าจะทำได้ดีกว่าผม แกล้งเป็นคนไม่เก่งบ้าง แล้วธรรมชาติของมนุษย์ แน่นอน อยากที่จะเอาชนะ เขาจะพลีกายถวายชีวิตทำเลยหละ หลังจากนั้นทำได้อย่างไร มาคุยกันอีก คุณทำเป็นอย่างไรบ้าง เก่งจัง เพราะการทำงานอย่างเดียวกัน อาจจะมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาสอดแทรกที่แตกต่างกัน สิ่งแรกเราต้องกระตุ้นให้เขาทำเอง โดยอยู่บนฐานในการกระตุ้นให้เขาคิดเอง คุณคิดว่าจะทำอย่างไรดีล่ะ ลองไปทำดูนะ เตรียมการอย่างไรดี ทำเลย ไม่ต้องกลัวผิด ผิดเป็นครู ผิดมาก ๆ เป็นอาจารย์เลยนะ เพราะอะไรถึงต้องทำแบบนี้ เพราะจุดหลักของการทำงานนี้ไม่ใช่เราทำ แต่เขาเป็นพระเอก เขาเป็นคนทำ ถ้าเขาไม่ทำมันก็จบ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าทำดี ทำไม่ดี ทำถูก ทำไม่ถูก มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ทำแล้วได้ความรู้และปัญญาเท่านั้น
                 ล้มบ้างก็ได้ ปล่อยให้ล้มบ้างก็ได้ ก็แค่หกล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่
ไม่มีใครสอน ให้มองเห็น ไม่มีทางลัดให้เดินเล่น ต้องล้มเอง รับเอง แพ้เอง ถึงจะค่อย ๆ เข้าใจคนหนึ่งคนกว่าจะเข้าใจต้องรู้ต้องโดนด้วยตัวเอง
*
                   ทำไมเราถึงต้องล้ม เพราะเราจะได้เรียนรู้ว่าเวลาลุก เราจะลุกได้อย่างไร
                   คนที่ไม่เคยล้ม เขาก็จะไม่เคยลุก
                  การลุกจากการล้ม มีความรู้ คนเรามีวิธีการลุกหลาย ๆ อย่าง บางคนลุกได้ต้องไม่ต้องใช้แขนช่วย บางคนลุกจากข้างหน้าได้เลย บางคนต้องหันข้างก่อน หรือมีอีกหลายวิธี ทำไมเราลุกไม่เหมือนกันล่ะ คนเรามี ทุน ที่แตกต่างกันบางคนอ้วน บางคนผอม บางคนขาแข็งแรง บางคนเรียนเทคนิคเรื่องสรีระมาเยอะ ชอบลุกแบบถูกหลักวิธีทางการแพทย์ แต่ท้ายที่สุดจะเหลือแต่คำว่า เหมาะ เหมาะสม เหมาะสำหรับเขา ณ เวลานั้น สิ่งแวดล้อมแบบนั้น ยิ่งล้มบ่อย ก็ได้เทคนิคการลุกบ่อย ความรู้ก็ได้บ่อย ๆ บางครั้งอาจจะต้องแกล้งล้มดูบ้างนะ เหมือนกับเทคนิคการบริหารข้อหนึ่ง ก็คือการบริหารความขัดแย้ง เวลาผมบรรยายผมบอกนักศึกษาเสมอว่า องค์กรใดไม่มีความขัดแย้ง องค์กรนั้นจะไม่เจริญอย่างสูงสุด”  เพราะความขัดแย้งทำให้เกิดปัญญา หลายครั้งเราได้ความรู้แบบไม่ตั้งใจจากความขัดแย้ง ถ้าองค์กรอยู่แบบสงบมาก ๆ ทำงานไปวัน ๆ หน้าที่ของผู้บริหารจะต้องสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นมา (แต่ต้องคิดให้รอบคอบนะ ว่าจะสร้างความขัดแย้งเรื่องไหน ทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไรกับองค์กร) อาทิเช่น เราบอกว่าน่าจะเลือกหัวหน้างานใหม่นะ หรือจะขึ้นเงินเดือน ให้โบนัสกับใครซักคนเป็นพิเศษ หรือลองให้กับเขาที่ไม่ค่อยทำงานก็ได้ แล้วซักพักก็จะมีข้อมูลกลับคืนมาให้เราเยอะแยะมากมาย คนนี้ไม่เห็นทำงานเลย ทำไมถึงให้โบนัสเขาล่ะ คนนั้นทำงานดีกว่าตั้งเยอะ ทุ่มเทเสียสละ น่าจะให้เขามากกว่า อื่ม สบายเลย ได้ข้อมูลมาแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เชื่อถือได้ไหม เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาไหมล่ะ เกี่ยวข้องมากไหม ทำงานเหนื่อยมาทั้งปี ไม่ได้โบนัส คนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยกลับได้มากกว่า เขาจะเรียกร้องสิทธิแห่งชีวิตการทำงานของเขาเอง ตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากการสร้างความขัดแย้ง และเราต้องบริหารมันให้ได้
                ขอย้อนกลับมาที่เรื่องล้มลุก คุณเคยล้มมั๊ย ลองล้มดูบ้างไหมล่ะ แล้วเราจะรู้ว่า คนล้มนั่นเป็นอย่างไง เข้าใจถึงหัวอกเขาเลยหละ
                ยิ่งลองยิ่งรู้ ยิ่งดูยิ่งเห็น ยิ่งเห็น ยิ่งทำก็ยิ่งเป็น ลองดูนะ คุณอาจจะได้ความรู้มากกว่าผมหลายสิบเท่าก็ได้
                 แล้วนำความรู้มาเสริมกัน เสริมแรงกัน ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดระหว่างกัน แลกเปลี่ยนกัน ดูว่าเราจะต้องเสริมปัจจัยอะไรเข้าไปอีก ถึงจะทำให้ถึงเป้าที่หวังไว้ได้ บริหารความสุข ให้กับทุก ๆ คน (Total Happy Management : THM) เรียนรู้ร่วมกัน สุขร่วมกัน สุขในขณะที่เป็นผู้ให้ ทั้งให้ทั้งรับ ให้มากยิ่งรับมาก สุขทั้งสองฝ่าย ร่วมกันให้ร่วมกันจาก ร่วมด้วยใจ ร่วมสุข
เปิดใจเพื่อร่วมเรียนรู้ ร่วมกับเขา การจัดการความรู้นอกจากที่จะเข้าไปจัดการความรู้ของเขาเพื่อเขาแล้ว ในอีกมิติหนึ่งเราก็สามารถเรียนรู้ร่วมไปกับเขาได้ เรียนรู้ถึงชีวิตเขา ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตเขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ นั่นแหละ เทคนิค ทั้งนั้นเลย ถอดออกมา ถอดให้เขารู้ เรียนรู้เทคนิคเขา และขอความรู้เขาเพื่อเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ๆ ขอ นะ ต้องขอเขาด้วย เพราะอะไร ไม่ใช่เขาหวงหรอกนะ เป็นเทคนิคในการสร้างความสำคัญและสร้างความมั่นใจให้กับเขา สังคมไทยเราปัจจุบันขาดความมั่นใจเยอะ สร้างความมั่นใจบ้าง (Thai Theory Management เป็นอย่างไร เอาออกมาตีแผ่กันเถอะ) ถ้าเราขอเขาเพื่อที่จะนำไปให้ผู้อื่น เขาจะรู้สึกว่า ความรู้เราสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ เราทำถูกทำดีเหมือนกันนะ เนี่ยแหละเทคนิคการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะไม่ใช่นั้นเขาคงไม่มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ ประเทศก็คงไม่มีอยู่ในแผนที่โลกเหมือนกัน
                ความรู้ของเขานั้น ไม่ใช่ความรู้แบบธรรมดา แต่นั่นคือ ความรู้แห่งชีวิต ที่แลกมาด้วยชีวิต Knowledge Of Life ซึ่งขออนุญาตใช้ศัพท์ของคุณหมอวิจารณ์ในเรื่องของความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ว่าความรู้ที่เขาประสบมาแลกมาด้วยชีวิต นั่นเป็น (Tacit knowledge of Life) ถ้าใช้ความรู้นั่นผิด นั่นหมายถึงชีวิตเลยนะ สูญสิ้นชีวิต ครอบครัวล้มเหลว หมดสิ้นซึ่งลมหายใจ เนี่ยแหละ ความรู้ที่ทุกคนมีแต่บางครั้งอาจจะลืมว่าเรามี และเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ยิ่งกว่าทรัพย์สินใด ๆ เพราะนั่นคือเป็นความรู้ที่เรียกว่า รู้แจ้ง ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของความจำ อาศัยการสร้างความเข้าใจผ่านการกระทำ ผ่านความรู้สึก เป็นเรื่องของสามัญสำนึกและจิตวิญญาณ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการมองโลก  “คิดถูก ทำถูก” เป็นความรู้ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการทดสอบทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยการเอาชีวิตเขาไปทดลอง เดิมพันด้วยชีวิต จนกระทั่งมีผลลัพธ์ออกมา มิใช่ตัวหนังสือหลักการ หรือทฤษฎีใด ๆ ผลลัพธ์ประจักษ์ชัดด้วยตัวของตัวเอง นั่นคือ ความมีชีวิต             
ขั้นถัดมา นำความรู้ที่เรามี ความรู้ที่แลกมาด้วยเกรด ใบปริญญา (สุตมยปัญญา)** และประสบการณ์ ผนวกเข้ากับความรู้แห่งชีวิต  กลั่นกรองออกมาเป็น ไทยหลักการ ไทยทฤษฎี ส่งมอบสิ่งนี้ให้กับพี่น้อง ผองเพื่อน นักเรียน นักศึกษา อนาคตของชาติ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเรา ว่านี่คือส่วนหนึ่ง มิติหนึ่งของผลผลิตที่ประเทศไทยได้ลงทุนมากับเรา โรงเรียนที่เราได้เรียน ทุนการศึกษาที่เราได้รับ โอกาสในการทำงาน เราขอมอบสิ่งที่ได้เหล่านี้กลับคืนเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาติบ้าง ในฐานะของคนไทยคนหนึ่ง เพื่อพี่น้องคนไทยของเรา ทำให้เกิดความสุขร่วมกัน
               ขั้นถัดมาอีก แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันกับบุคคลหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายคุณวุฒิ หลากหลายวัยวุฒิ ให้กันในสิ่งที่เรารู้ เติมเต็มกันในสิ่งที่ขาด เชื่อมโยงกัน ออกมาให้ได้เป็นแผนแม่บทประเทศไทย เพื่อแก้ไขและพัฒนาประเทศของเรานี้ให้มีความสุขตลอดไป

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ความสุขรออยู่เบื้องหน้า ผู้ที่มีน้ำตา ผู้ที่เจ็บปวด ผู้ที่ค้นหา และผู้ที่พยายามแล้ว เพราะมีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รู้จักคุณค่าของผู้คนที่ได้สัมผัสชีวิตพวกเขา
*เนื้อเพลงบางส่วนของเพลง ล้มบ้างก็ได้ ศิลปิน บอย โกสิยพงษ์ นภ พรชำนะ และ ชลาทิศ ตันติวุฒิ LINK ฟังเพลง
**สุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง การศึกษาเล่าเรียน การมีประสบการณ์ ดังพูทธภาษิตว่า สุสสูสัง ลภเต ปัญญัง ผู้ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

หมายเลขบันทึก: 28310เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอขอบคุณ คุณปภังกร วงศ์ชิดวรรณ ที่ให้ความกรุณาเข้าร่วมกับ ชุมชน: ศูนย์รวมความรู้องค์กรพัฒนาเอกชน
วิรัตน์ คำศรีจันทร์
 ขอบคุณที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ แนวทางการทำงาน  ประสบการณ์ และงานที่จับอยู่ในแต่ละช่วง  น่านับถือจิรงๆ ครับ  มีบทเรียนอะไรที่แลกเปลี่ยน  เตมเต็มกันได้  อย่าลืมนำมาฝากกันนะครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับทุก ๆ ท่านที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดีครับ ถ้ามีอะไรแนะนำแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท