แม่จ๋า..ขอบพระคุณค่าน้ำนมของแม่ ที่สุดในโลกเลย.....








“ วันแม่ ”

นี่ก็ใกล้ถึงวันที่ 12 สิงหาคมแล้วน้ะ
ที่เราทราบกันทั่วๆไป ว่าเป็น " วันแม่แห่งชาติ "
แต่สำหรับเราแล้ว ในทุกๆลมหายใจ ของเรานั้น
แม่เป็นทุกส่วน ของชีวิตของเราทีเดียว
ไม่ได้นับเป็นวันหรอกเน๊าะ มันนานไป...
แต่นับกัน เป็นลมหายใจเข้า-ออก เลยทีเดียว..ว่ามั๊ย

ตาติ๊กเอง ต้องขอขอบคุณ พี่น้อง ผองเพื่อน ทุกท่าน
ที่เข้ามาเยี่ยมไข้ น๊ะครับ...ช่วงนี้ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่
ก็พยายามรักษาตัวอยู่น่ะครับ...แล้วก็อาจจะไปขอบคุณเพื่อนๆ
ไม่ได้ทุกบ้าน โดยทั่วถึง ต้องขออภัยไว้ที่ตรงนี้เลยน้ะครับ...
แต่ยืนยันว่า ยังคิดถึงทุกท่าน ทุกคน เช่นเดิม มิเปลี่ยนแปลง..ครับ

เมื่อวันก่อนได้ยินเสียงเพลงๆนี้แว่วๆ เข้าหู
น้ำตามันแอบไหลออกมา เอ่อล้นดวงตาทั้ง 2 ข้าง
แบบไม่รู้สึกตัวเลย ทีเดียวเชียว ไม่รู้เป็นเพราะอะไร...
วันนี้ ก็เลยขอถือเป็นโอกาส ที่จะได้กล่าวถึงเพลงๆนี้...ซ้ะหน่อย
ก็เพลง “ค่าน้ำนม” ยังไงล่ะ ยังจำเพลงนี้ได้มั๊ยครับ
ยิ่งเป็นต้นฉบับของแท้ดั้งเดิม ทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี
แล้ว....โอ๊ย...ได้ยินเมื่อไหร่ จะรู้สึกได้ทันที ว่า...
โห....แม่จ๋า....ลูกรักแม่เหลือเกิน...แม่จ๋าแม่อยู่ไหน...ฮือๆๆ...

เพลงนี้ประพันธ์คำร้องโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน น้ะครับ
และขับร้องโดยครูชาญ เย็นแข เป็นเพลงที่พรรณนาความ
ถึงพระคุณของแม่ ได้โดนใจมากที่สุดเพลงหนึ่ง

และสำหรับเพื่อนๆ ของตาติ๊กทุกท่านครับ
ตาติ๊ก เชื่อว่า…หลังจากจบจากการฟังเพลงนี้แล้ว…
เพื่อนๆ คงรู้น้ะว่า เราควรจะทำยังไงกับ...แม่ของเรา..ต่อไป
ยังไงขอให้เพื่อนๆ โชคดีทุกคน น๊ะครับ...





นี่..ไปเก็บประวัติของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน มาฝากน้ะครับ

ครูไพบูลย์ เป็นชาวเมืองปทุมธานี เกิดที่อำเภอสามโคก
เป็นลูกชาวนา อายุ 7-8 ขวบ บิดาถึงแ่ก่กรรม จึงไปอยู่กับอา
ที่บ้านปทุมวัน รวมทั้งน้องชายอีกสองคน และมารดาด้วย

ครูไพบูลย์ จบการศึกษาที่ ม.8 ที่กรุงเทพ และเรียนดนตรีเพิ่มเติม
ที่สถาบันวาย เอ็ม ซี เอ ครูเป็นศิษณ์ของ "พราณบูรณ์" เคยร่วมงานกับ
คณะละครทำหน้าที่แต่งบทละคร และแต่งเพลงประกอบละคร

ผลงานที่บันทึกเสียงครั้งแรกคือ ชุดค่าน้ำนม ชับร้องโดย
ครูชาญ เย็นแข ผลงานของครูมีมากมาย ยุคที่ครูมีชื่อเสียงมาก
คือ ช่วงประมาณ พ.ศ.๒๕๑๑ - ๒๕๑๕

ครูชาญ แต่งเพลงอะไรก็ดัง นักร้องหลายคนในยุคนั้นต้องการร้องเพลง
ที่ครูไพบูลย์แต่งทั้งนั้น ผลงานของครูไพบูลย์ ได้แก่ มนต์เมืองเหนือ.
มนต์รักลูกทุ่ง, แม่ค้าตาคม,น้ำท่วม, มัศยาหลงเหยื่อ, ค่าน้ำนม,
คนนอกสังคม, คนจนคนจร, ฯลฯ เพลงส่วนใหญ่ของครูมาจากประสบการณ์
และสะท้อนชีวิตของชาวทุ่งได้เป็นอย่างดี มีความเป็นธรรมชาติ
เพลงที่ครูแต่งและร้องเอง เช่นเพลง ไร้สมบัติ,หาดใหญ่ในผัน,
ยิ่งแกยิ่งเก่ง,หนูจ๋า เพลงไร้สมบัติ

เพลง ค่าน้ำนม ที่ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข นั้น
เดิมทีครูไพบูลย์ แต่งเพื่อให้ บุญช่วย กมลวาทิน เป็นคนร้อง
แต่ในวันอัดเสียงที่ห้องบันทึกเสียง ดี คูสเปอร์ จอห์นสตัน
บุญช่วยเกิดไม่มา ชาญ เย็นแข ซึ่งตามไปดูการบันทึกเสียง
จึงได้ร้องแทน และในที่สุด เพลงๆนี้ ก็มียอดจำหน่ายสูงสุด
ถึง 5,000 แผ่น ซึ่งสูงมาก ในสมัยนั้น

ครูไพบูลย์แต่งเพลงเชิดชูพระคุณของแม่เอาไว้หลายเพลง
รวมแล้วท่านแต่งเพลงประเภทนี้ไว้ราว 6 – 7 เพลง
แต่ในจำนวนนั้นเป็นที่รู้จักดีถึง 5 เพลง จึงได้ชื่อว่า
ท่านประสบความสำเร็จกับเพลงแนวนี้มากที่สุด

เพลง“ค่าน้ำนม” นี้ ครูไพบูลย์ ซึ่งได้ชื่อว่ารักแม่มากที่สุดคนหนึ่ง
ประพันธ์เพื่อเชิดชูพระคุณของนางพร้อม แม่ของท่านเอง
ว่ากันว่าท่านสำนึกในบุญคุณของแม่ของท่านมากที่สุด
จากการที่ท่านเป็นคนดูแล ครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิด
ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ แต่อย่างใด

แม้ว่าลูกของท่านคนนี้จะป่วยเป็นโรคที่สังคมสมัยนั้นรังเกียจอย่างยิ่งก็ตาม
โรคที่ว่านี้ก็คือ โรคเรื้อน ที่ครูไพบูลย์ เป็นมาตั้งแต่สมัยวัยหนุ่ม
และสมัยนั้นหยูกยาต่างๆก็แพงมาก และยังไม่ดีเท่าที่ควร
ทำให้โรคร้ายของครูกำเริบหนัก

“ค่าน้ำนม” อยู่ในกลุ่มเพลงชุดแรกๆที่ครูไพบูลย์ ที่มีอายุ 30 ปีแต่งไว้
และได้รับการบันทึกเสียง จากการชักนำของ สวัสดิภาพ บุนนาค
เพื่อนและน้องเขยของครูไพบูลย์เอง เพลงชุดนี้ก็อย่างเช่น
มนต์เมืองเหนือ , คนจนคนจร , ดอกไม้หน้าพระ , ดอกไม้หน้าฝน
และค่าน้ำนม

เพลงชุดนี้ ครูไพบูลย์ได้ค่าเหนื่อยมา 650 บาท
(สมัยนั้นทองคำบาทละ 100 ) ส่วนนักร้องที่มีอยู่หลายคน
ก็ได้ค่าเหนื่อยแตกต่างกันไปตามระดับความดัง ที่ได้มากที่สุด
คือสมยศ ทัศนพันธ์ ที่ได้เพลงละ 80 บาท รองลงมาก็ 50 บาท 40 บาท

เพลงชุดนี้ ครูไพบูลย์แต่งเพลง มนต์เมืองเหนือ ก่อน
แต่เพลงค่าน้ำนม บันทึกเสียงและวางจำหน่ายก่อน
โดยเพลงนี้วางจำหน่ายเมื่อ 4 มิถุนายน 2492 ขายได้ 800 แผ่น
เป็นรอง ก็แค่เพลงของสุนทราภรณ์

เพลงชุดนี้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ
ประกิจ วาทยกร (ลูกชายพระเจนดุริยางค์ ) โดยในการบันทึกเสียง
ครูสง่า เป็นผู้เล่นเปียโน เล่นดนตรีโดยวงดนตรีศิวารมณ์ของครูสง่า
บันทึกเสียงกันที่ห้องอัดเสียงกมลสุโกศล ชั้นบนเฉลิมไทย

หลังจากอัดเสียงเสร็จแล้ว สมัยนั้นนิยมเอาไปทำแผ่นเสียงกันอินเดีย
ยุคนั้นวงการเพลงยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นลูกทุ่ง / ลูกกรุง ชัดเจน
ซึ่งหลังจากแยกกันแล้ว ครูไพบูลย์ ก็หันมาสู่แนวลูกทุ่งเต็มตัว

คุณแม่ของครู คือ นางพร้อม บุตรขัน เสียชีวิตเมื่อ 30 เมษายน 2508
ในวัย 70 กว่า ด้วยโรคชรา

ส่วนครูไพบูลย์ เสียชีวิตเมื่อ 29 สิงหาคม 2515
ในสภาพที่หายจากโรคร้ายแล้ว
แต่โรคนี้ก็ส่งผลให้ร่างกาย พิกลพิการอย่างมาก





คราวนี้มาว่ากันด้วย ประวัติของ ครูชาญ เย็นแข
ผู้ร้องเพลงๆนี้ อีกท่านน้ะ

ครูชาญ เย็นแข เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด
เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2469 จบมัธยมศึกษาปีที่ 6
ที่โรงเรียนนันทนศึกษา เขตดุสิต อุปสมบท ณ วัดอัมพวัน
เมื่ออายุ 20 ปี เป็นเวลา 1 พรรษา สมรสกับคุณสุพรรณี สิงหราชา
เมื่อปี 2494 มีบุตรสาว 1 คน คือ น.ส.ดรรชนี (ถึงแก่กรรม เมื่อปี 2529)

ครูชาญ เย็นแข เป็นผู้พิการที่กระดูกขาซ้าย เนื่องจากรถคว่ำเมื่อวัยหนุ่ม
ครูชาญ เย็นแข มีความรักในการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก
สมัยสงครามโลก พ.ศ.2486-2488 การมหรสพในบ้านเรามีแต่รำวง
และการประกวดร้องเพลงตามงานวัด ครูชาญได้แอบหนีไปสมัคร
ประกวดร้องเพลงทุกวัดที่มีงาน โดยใช้ชื่อว่า "เอี่ยวพญา"
และมักจะกวาดถ้วยรางวัลเป็นเสียส่วนมาก โดยเข้าประกวดรุ่นเดียวกับ
เบญจมินทร์ ,คำรณ สัมบุณณานนท์ ,เลิศ ประสมทรัพย์ และนริศ อารีย์

เพลงที่ประกวดงานวัดครั้งแรกในชีวิตคือเพลง กลางสายลม พ.ศ.2484
ขณะมีอายุเพียง 16 ปี ที่วัดจอมสุดาราม (วัดไพรงาม) สถานีรถไฟสามเสน
ผลการประกวดได้รางวัลที่ 3 เพลงแรกที่ชนะเลิศการประกวด คือ
เพลง รำพันรัก เมื่อปี พ.ศ.2488 ที่งานภูเขาทอง วัดสระเกศวรวิหาร
เมื่อสงครามสงบระยะนี้ละครเวทีกลับมาเฟื่องฟู มีโรงละครเกิดขึ้น
หลายโรง ส่วนโรงภาพยนตร์ต่างๆก็มีการแสดงดนตรีของวงดนตรีต่างๆ

ครูชาญ เย็นแข ได้รับการสนับสนุนจาก สมพงษ์ พงษ์มิตร
ให้เข้าเป็นนักร้องร้องเพลงหน้าม่านระหว่างเปลี่ยนฉากละคร
ประจำคณะละครศิวารมย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 โดยมี สง่า อารัมภีร
เป็นผู้ควบคุมวงดนตรี และมีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก
ในชีวิตด้วยเพลง ค่าน้ำนม ผลงานเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน
แผ่นเสียงบริษัท นำไทย จำกัด ตราสุนัขสลากเขียว เป็นแผ่นครั่ง
ความเร็ว 78 รอบต่อนาที

ครูชาญ เย็นแข นั้นได้ชื่อว่า “เกิด” จากเพลงค่าน้ำนมก็ว่าได้
ทั้งๆที่เขาเกือบจะไม่ได้ร้องเพลงนี้อยู่แล้ว โดยตอนแรกมีการวางตัวให้
บุญช่วย หิรัญสุนทร (บุญช่วย กมลวาทิน) นักร้องดังอีกคนของยุคนั้น
เป็นคนร้อง แต่ปรากฏว่าบุญช่วยไม่มาห้องอัดตามนัด จึงมีการนำเพลงนี้
มาให้หนุ่มที่เพิ่งชนะการประกาศขับร้องมาไม่เท่าไหร่ เป็นผู้ขับร้องแทน
และเขาก็ทำได้ดีมาก

สมัยนั้น เป็นการบันทึกเสียงแบบร้องสดๆไปกับวงดนตรี
ซึ่งเขาก็ร้องอยู่ 4 - 5 เที่ยวก็ผ่าน
ครูชาญ เย็นแข เล่าเอาไว้ว่า ช่วงนั้นเขาอายุ 20 ปี เป็นนักร้องหัดใหม่
อยู่ทีคณะศิวารมณ์ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมนคร ตอนนั้นเขายังไม่เคยเห็น
กระบวนการบันทึกแผ่นเสียง และอยากเห็นมาก มาวันหนึ่ง
สง่า อารัมภีร ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของเขาคนหนึ่งมาชวนเขาไปดู
การบันทึกเสียง

วันนั้นเป็นวันที่ 4 มิถุนายน 2492 บุญช่วย หิรัญสุนทร ที่โด่งดังมาจาก
เพลง น้ำตาแสงไต้ ซึ่งเดินทางไปเชียงใหม่ มีนัดจะต้องมาอัด
เพลงค่าน้ำนมที่ห้องอัดตอน 10 โมงเช้าที่ห้องอัดเสียงชั้นบน
ของโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย

หลังจากที่รออยู่จนถึงบ่ายโมง นักร้องดังก็ยังไม่มา แพ็ท ซิเกรา
ผู้อำนวยการอัดแผ่นเสียงของบริษัทนำไทย ก็เลยนำเรืองมาปรึกษา
กับสง่า อารัมภีร เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับทางไพบูลย์ บุตรขัน
ผู้แต่งเพลงได้ สง่า อารัมภีร จึงมีหน้าที่ตัดสินใจแทน และสง่า อารัมภีร
ก็ตัดสินใจให้ชาญ เย็นแข ร้องแทน ซึ่งเขาก็เคยฝึกร้องเพลงนี้
มาก่อนแล้วกับสง่า อารัมภีร เนื่องจากทำงานที่คณะละครศิวารมณ์ด้วยกัน

ตอนแรก แพ็ท ซิเกรา ไม่ยอม เนื่องจากเห็นว่าเป็นเด็กใหม่
กลัวแผ่นจะขายไม่ได้ และตัดสินใจรอบุญช่วย แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจ
และยอมให้เขาลองร้องเพลงให้ฟัง และหลังจากที่ชาญ เย็นแข
ที่ยืนตัวสั่นเพราะความตื่นเต้นร้องให้ฟังแค่ท่อนเดียว เขาก็ตัดสินใจ
ให้ชาญ เย็นแข เป็นคนบันทึกเสียงเพลงนี้ทันที

งานนี้เขาได้ค่าเหนื่อยมา 50 บาท (สมัยนั้นดอลล่าร์ละ 7 บาท )
ปี 2500 ชาญ เย็นแข ร่วมเดินทางไปประเทศจีนกับคณะศิลปินไทย
48 คนที่เดินทางไปแสดงที่นั่น ซึ่งนำโดยสุวัฒน์ วรดิลก เมื่อกลับมา
จึงถูกทางการไทยจับกุมทั้งคณะ แต่ได้รับการประกันตัวทั้งหมด

เพลงดังเพลงหนึ่งของชาญ เย็นแข ก็คือเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย
แต่งโดยไพบูลย์ บุตรขัน แต่เนื้อหาของเพลงไม่เป็นที่พึงใจของทางการ
ในยุคนั้น จึงประกาศให้เป็นเพลงต้องห้าม ประกอบกับสถานีวิทยุ
ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนำเพลงนี้มาเปิดทุกวัน
ก็เลยทำให้ชาญ เย็นแขต้องหยุดร้องเพลงไปโดยปริยาย และออกไป
รับงานพากษ์หนังอยู่ในต่างจังหวัดอยู่ 4 - 5 ปี จึงกลับมาเล่นละครวิทยุ
กับคณะกันตนา หลังจากหมดยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี 2506
ชาญ เย็น แข จึงกลับมาร้องเพลงอีกครั้ง

เขาร้องเพลงเป็นอาชีพ และยังเดินทางร่วมไปกับคณะละครเร่
ตามต่างจังหวัด นอกจากนั้นก็ยังร้องเพลงตามคลับตามบาร์มากมาย
เขามีผลงานเพลงที่บันทึกเสียงเอาไว้มากกว่า 800 เพลง

ครูชาญ เย็นแข เสียชีวิตเมื่อ 5 ตุลาคม 2531 ด้วยโรคหัวใจ
ขณะแต่งตัวเตรียมจะขึ้นเวทีร้องเพลง รวมอายุได้ 62 ปี

ผลงานเพลงบางส่วน

1.กลิ่นโคลนสาปควาย 2.ค่าน้ำนม. 3.แม่ศรีเรือน 4.ตรางดวงใจ
5.มนต์รักเมษา 6.คนจรคนจน 7.ค่ำไหนนอนนั่น 8.นางไสยาสน์
9.สายลมพัด 10.สาริกาลิ้นทอง 11.สายชลแห่งชีวิต 12.เป็นโสดดีกว่า
13.เสียงกระซิบสั่ง 14.ทูลหัวหลอกพี่ 15.รักพี่นะ 16.กลับมาหาพี่เถิด
17.กลิ่นไม้แซมผม 18.แม่ศรีคนสวย 19.จำปาทองเทศ 20.คนเดนคน
21.มนต์เรียกรัก 22.ศรดอกสุดท้าย 23.คืนโสมส่องฟ้า 24.สายในแห่งรัก





นี่ก็เป็นเนื้อเพลง " ค่าน้ำนม"
คำร้อง/ทำนอง โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน
ขับร้องโดย ครูชาญ เย็นแข


แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล
แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่
กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเห ไปจนไกล

เมื่อเล็กจนโตโอ้แม่ถนอม
แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดจากรักลูกปักดวงใจ
เติบ โตโอ้เล็กจนใหญ่
นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม

ควร คิดพินิจให้ดี
ค่าน้ำนมแม่นี้ จะมีอะไรเหมาะสม
โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม
เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน

ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง
แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน
บวช เรียนพากเพียรจนสิ้น
หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย


( ขอขอบพระคุณทุกผลงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอครั้งนี้ด้วยครับ )

 

คำสำคัญ (Tags): #ค่าน้ำนม
หมายเลขบันทึก: 282696เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2009 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาติ แก้ไขนิดนึงนะคะจาำกข้อความที่ว่า

" เพลง ค่าน้ำนม ที่ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข นั้น

เดิมทีครูไพบูลย์ แต่งเพื่อให้ บุญช่วย กมลวาทิน เป็นคนร้อง "

ครู บุญช่วย กมลวาทินไม่ได้เป็นนักร้องนะคะ

ครูบุญช่วย เป็นคนละคนกับคุณ บุญช่วย หิรัญสุนทร ซึ่งเป็นนักร้องค่ะ

แกเป็นครูเพลง ซึ่งแต่งเพลงให้กับ คุณจินตนา สุขสถิตย์

ที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง คิดจะปลูกต้นรักอีกกอ

และตัว ครูบุญช่วยเอง ก็ได้รับ

แผ่นเสียงทองคำพระราชทานด้วยเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท