ผู้เชี่ยวชาญแนะฆ่าตัวตาย-กันดีกว่าแก้


ไทยรัฐ 3 สิงหาคม 2552 ตีพิมพ์เรื่อง "ฆ่าตัวตาย ความสูญเสียที่ป้องกันได้" [ ไทยรัฐ ]

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้... ขอความกรุณาแวะไปให้กำลังใจ โดยอ่านข่าว สาระบันเทิง หรือคลิกโฆษณาให้เว็บไซต์ไทยรัฐกันครับ [ ไทยรัฐ ]

...

[ ข้อความคัดลอก ] > [ ไทยรัฐ ]

ชีวิตคนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในสังคมมนุษย์เรา การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

เพราะเป็นการสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ ร้อยละ 90 ของผู้ที่ลงมือกระทำการฆ่าตัวตายเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้

... 

เพียงแต่ผู้ป่วยเองหรือผู้ใกล้ชิด ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น

องค์การอนามัยโลกพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง มีผลกระทบต่อคนใกล้เคียงอย่างน้อย 6 คน หากเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือโรงงานจะมีผลกระทบต่อคนได้เป็นจำนวนร้อย

...

นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว

เพราะจากสถิติพบว่าความถี่ของปัญหานี้มีมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งอาจเป็นเพราะความเครียด ความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคม แต่่ความแข็งแรงของสุขภาพจิตลดลง

... 

หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่คนรู้จักหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมาแล้ว รวมทั้งมีประสบการณ์จากการสูญเสียซึ่งมีผลต่ออารมณ์ จิตใจและครอบครัวของตัวเอง

ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ความรู้เกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการผิดปกติ และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและถ้าถูกนำไปปฏิบัติ จะช่วยลดความสูญเสียของผู้คนในสังคมได้

...

จิตแพทย์ระบุว่า คนที่มีลักษณะเสี่ยงต่อปัญหาดังกล่าว ได้แก่ คนที่มีความสามารถในการปรับตัว และแก้ปัญหาในชีวิตได้ไม่ดี

คนที่เพิ่งประสบกับความผิดหวัง ล้มเหลวหรือสูญเสียในชีวิตที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก คนในครอบครัว การล้มเหลวด้านการงาน การเงิน การเรียน ทำให้เกิดอาการท้อแท้ คนที่ต้องประสบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางกาย เช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง

...

“คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ารุนแรง มักมีการแสดงออกในผู้ที่อยู่ใกล้ชิด

สังเกตเห็นเป็นสัญญาณได้หลายอย่าง เช่น คิดว่าตัวเองไร้ค่า มีแต่ความล้มเหลว ทำอะไรไม่สำเร็จ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ...

... 

... ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คิดถึงคนที่ตายไปแล้ว สนใจข่าวการตาย ขาดความสนใจในตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ดูแลตัวเอง ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ชอบเก็บตัวตามลำพัง

แยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่รู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้าจัด ขับรถเร็ว พูดบ่น  หรือเขียนข้อความเกี่ยวกับความคิดอยากตาย จัดการกับภาระสุดท้ายต่างๆ เช่น ทำพินัยกรรมยกสมบัติส่วนตัวให้ผู้อื่น เป็นต้น”

...

สำหรับข้อแนะนำถึงวิธีการช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย รวมถึงแนวทางในการป้องกันนั้น นพ.ไกรสิทธิ์ บอกว่า

เมื่อพบว่าคนใกล้ชิดมีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ต้องรีบให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์

... 

คนที่คิดฆ่าตัวตายมักมองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ เราจึงควรเป็นฝ่ายเข้าหาเขามากกว่ารอให้เขาร้องขอ 

เพราะคนที่คิดฆ่าตัวตายต้องการความเห็นอกเห็นใจ และต้องการผู้เข้าใจปัญหา เข้าใจความรู้สึกของเขา ท่าทีในการสนทนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

... 

นอกจากนี้ยังควรฟังด้วยท่าทีที่พร้อมรับฟังในสิ่งที่เขาเล่า ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไม่มีท่าทีตำหนิ หรือด่วนสรุปตัดสินว่า เขาไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้

ท่าทีที่สนใจสามารถช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นว่ามีคนแคร์ ถ้าประเมินแล้วว่ามีความคิดอยากตายค่อนข้างรุนแรง ต้องอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว

...

สุดท้ายคือ ควรให้มีคนอยู่ด้วยตลอด เก็บของมีคม ยาหรือสารเคมีที่อาจใช้ทำร้ายตัวเองได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ อาจต้องนำส่งที่โรงพยาบาล เพื่อรับการช่วยเหลือที่ถูกต้องปลอดภัยต่อไป

โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชได้ เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสถานที่ บุคลากร และวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

...

นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ควรใส่ใจสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตายต้องอยู่บนพื้นฐานของทัศนคติที่ว่า “ทำมากเกินไป ดีกว่าทำน้อยเกินไป”

เพราะการได้ช่วยเหลือคนให้พ้นจากวิกฤติการฆ่าตัวตายได้ถือเป็นบุญกุศลใหญ่ ยังเท่ากับเป็นการช่วยคนใกล้ชิดอีกหลายชีวิตให้พ้นจากความทุกข์ใจจากการสูญเสีย

... 

เพราะยังมีคนใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ ที่ยังอยู่ต้องเศร้าโศกเสียใจ และอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ใกล้ชิดได้

เพราะการป่วยใจก็เหมือนกับการป่วยทางกาย การไปพบจิตแพทย์ก็ถือเป็นเรื่องปกติและไม่ควรจะอาย

[ ข้อความคัดลอก ] > [ ไทยรัฐ ]

[ แนะนำให้ทำแบบทดสอบ ]

  • (1). แบบทดสอบซึมเศร้า > [ Click ]
  • (2). แบบทดสอบความเครียด > [ Click ]

...

หมายเลขบันทึก: 282618เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2009 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท