12 บัญญัติแห่งความมั่งคั่ง


 

...

นิตยสารสรรสาระ Reader's Digest มิถุนายน 2552 ฉบับ 06/09 หน้า 153 ตีพิมพ์เรื่อง "บัญญัติ 12 ประการแห่งความมั่งคั่ง" จาก 'The Richest Man in Town'

แปลเป็นภาษาไทยคือ เรื่อง "คนที่รวยที่สุดในเมือง" เขียนโดยอาจารย์ W. Randall Jones. ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยจะขยายความเข้าไป เนื่องจากต้นฉบับมีแต่หัวข้อครับ

...

(1). ถ้าหาเงินเพื่อให้ได้เงิน คุณจะไม่มีเงิน

  • หัวข้อนี้ฟังเหมือนพูดให้งง ทว่า... จุดอ่อนอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจการงาน คือ ความโลภที่มากเกินพอดี เรื่องนี้คล้ายๆ กับสำนวนที่ว่า 'Big bites live no long.' = "กินคำใหญ่ อยู่ได้ไม่นาน"
  • ตัวอย่างของคนที่ "กินคำใหญ่" เช่น คนที่หากินด้วยการปนปลอม หรือหลอกลวง ฯลฯ มีที่รวยเหมือนกัน แต่มีน้อย

...

  • คนที่ประสบความสำเร็จจากความโลภมากมีอยู่จริง ทว่า... เป็นกรณียกเว้น (exception) หรือเป็นพวกกินบุญเก่าที่เรียกว่า ความสำเร็จไม่ได้จีรังยั่งยืนอะไร
  • คนที่ประสบความสำเร็จจากการทำงาน ผลิตสินค้าหรือบริการได้ดีมีแนวโน้มจะเป็นพวก 'sum-sum game' มากกว่า (sum = ผลบวก ผลรวม) คือ ทำงานให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

...

(2). รู้ระดับของตัวคุณเอง (รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตน)

  • คนที่มั่งคั่งมีแนวโน้มจะรู้เขารู้เรา และรู้จักจุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเองดีกว่าคนทั่วไป ทำให้ใส่ใจหรือโฟกัส (focus) ได้ว่า ควรจะทำงานหรือลงทุนด้านใด จึงจะสอดคล้องกับจุดแข็งที่มีอยู่
  • ขณะเดียวกันก็ต้องระวังจุดอ่อน เช่น ถ้ารู้ว่า ตัวเองเป็นคนโกรธง่าย(เจ้าโทสะ)ต้องระวังอันตรายจากคนใกล้ชิดที่ประจบสอพลอ ฯลฯ
  • ถ้ารู้ว่า ตัวเองโลภมาก(มักมาก)อาจต้องชะลอการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ไว้สัก 7 วัน หรือระวังอย่าตัดสินใจอะไรคนเดียว เพื่อป้องกันการพลาดไปฮุบเหยื่อจากพวกลวงโลก
  • ถ้ารู้ว่าจะทำการใหญ่ หรืองานของส่วนรวม ต้องหาที่ปรึกษาดีๆ อย่าทำอะไรบนความสะใจ ขอให้ทำการตัดสินใจบนฐานของข้อมูลข่าวสาร และรับฟังความเห็นจากผู้รู้เสมอ

(3). เป็นนายตนเอง

  • ความจริงอย่างหนึ่งของโลก คือ คนส่วนใหญ่เกิดมาเป็นลูกน้องหรือลูกจ้าง ไม่ใช่หัวหน้าหรือนายจ้าง
  • ทว่า... ถึงจะเป็นลูกน้องหรือลูกจ้างก็ควรมีความมั่งคั่งจากภายใน คือ ขวนขวายใส่ใจให้งานส่วนของเราออกมาดี ให้งานส่วนน้อยมาจากเจ้านายหรือหัวหน้าสั่ง และงานส่วนใหญ่มาจากตัวเราสั่งงานตัวเอง
  • ไม่ใช่สักแต่ทำ ทำไปสักพักก็หยุด จนต้องมีคนมาคุมงานตลอดเวลา เพราะนั่นจะเป็นการทำงานที่ไม่มีทางเป็นนายของตัวเองเลย

(4). ทะเยอทะยานอยู่เสมอ

  • ยุคนี้ใครทำงานดี (good) คงจะไม่พอ... ต้องขอดีขึ้นอีกหน่อย (better) หรือขวนขวายหาทางพัฒนาให้ดีขึ้นอีกสักนิดเสมอ
  • คนที่ไม่มั่งคั่งอาจจะทำงานได้ดี (good), แต่คนที่มีความมั่งคั่งจากภายในจะมองหาหนทางทำอะไรให้ "ดีขึ้น (better)" และมีความสุขจากการทำอะไรให้ดีขึ้นแม้ในเรื่องเล็กน้อย

(5). ตื่นแต่เช้า ต้องไปถึงก่อนเวลา

  • คนที่มั่งคั่งส่วนใหญ่... ถ้าไม่ไปก่อนเวลาก็จะเลิกหลังเวลาพอประมาณ หรือทำงานให้เกินคุ้มค่าจ้างไว้เสมอ ถ้าเป็นกิจการส่วนตัวก็จะสนใจ ใส่ใจ 

(6). อย่าเอาแต่ฝัน ให้ลงมือทำ มิฉะนั้นจะล้มเหลว

  • คนที่ประสบความสำเร็จฝันกลางคืน-ลงมือทำกลางวัน ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จฝันกลางคืนด้วย ฝันกลางวันด้วย และชอบคิดชอบเสนอโครงการให้คนอื่นทำ ตัวเองไม่ค่อยทำ (พบบ่อยตามหน่วยงานทั่วไป) 

(7). ล้มเหลววันนี้เพื่อสำเร็จวันหน้า

  • คนที่มั่งคั่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ทว่า... เกิดมาบนเส้นทางที่ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง คละเคล้ากันไป
  • ความต่างกันอยู่ที่ว่า คนที่มั่งคั่งยืนหยัดหลังล้มเหลวหลายๆ ครั้งได้ เรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ทนรอจนถึงวันแห่งความมั่งคั่งได้

(8). ทำเลไม่สำคัญ ความสำเร็จเกิดได้ทุกที่

  • ทำเลเป็นเรื่องสำคัญ ทว่า... คนที่มั่งคั่งมักจะทำให้ทำเลที่มีอยู่ดีขึ้นได้ถ้าจำเป็น

(9). ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง

  • พวกเราคงจะเห็นคนที่กินบุญเก่า โกง กอบโกย หรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น และประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคน แต่นั่นเป็นคนส่วนน้อย
  • คนส่วนใหญ่ที่มั่งคั่งได้นาน และสืบทอดความมั่งคั่งไปยังคนชั้นลูกชั้นหลานได้ มักจะเป็นคนที่ไม่เอาเปรียบสังคม ทำงานที่ดีกับส่วนรวม และลงทุนด้านการศึกษาให้ลูกหลาน 

(10). พยายามขายทุกครั้งที่มีโอกาส

  • คนที่มั่งคั่งมักจะมีความพยายามคิดเป็นจำนวนครั้งสูงกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือเรื่องอื่น เช่น ถ้าปลูกต้นไม้ก็จะใส่ใจ เรียนรู้เรื่องต้นไม้ ดูแลต้นไม้มากหน่อย ทำให้องค์ความรู้แตกสาขาออกไปเรื่อยๆ ฯลฯ

(11). เรียนรู้จากสิ่งที่ดีที่สุดและเลวที่สุด

  • คนที่ไม่มั่งคั่งมักจะเรียนรู้จากความสำเร็จหรือชัยชนะด้านเดียว ส่วนคนที่มั่งคั่งมักจะเรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จหรือชัยชนะได้ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้ได้ทั้งสองด้าน

(12). อย่าหยุดทำงาน

  • คนที่มีความรู้ดีคือ คนที่เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไปตลอดชีวิต ทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ หรืออับเฉาง่าย
  • เรื่องการทำงานก็เช่นกัน... คนที่มีความสุขกับงานพอสมควร ไม่มองงานในแง่ร้ายจนเกินไป มักจะมีความมั่งคั่งกว่า
  • โจทย์ข้อหนึ่งที่ควรถามตัวเองถ้าอยากจะมั่งคั่ง คือ ถ้าวันนี้เราเกิดตกงาน... คุณสมบัติหรือความสามารถที่เรามีทั้งหมดตอนนี้ พอที่จะหางานใหม่ได้หรือไม่ ถ้าได้... นั่นเป็นลักษณะของคนที่มีความมั่งคั่งจากภายใน
  • และโจทย์ข้อสองที่ควรถามตัวเองถ้าอยากจะมั่งคั่ง คือ ถ้าเราเกษียณจากงาน... เราจะหาอะไรทำต่อจากนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเต็มเวลา เป็นงานทำเป็นบางเวลา หรืองานอาสาสมัครที่มีคุณค่าก็ได้, ข้อนี้ถ้าตอบได้... นั่นเป็นลักษณะของคนที่มีความมั่งคั่งจากภายในเช่นกัน

...

อย่าลืมว่า คนเรามักจะทำอะไรดีๆ ได้มากกว่าที่คิดเสมอ (ถ้าลงมือทำ ยืนหยัด และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง)

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 

ที่มา                                                                  

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >  > 1 สิงหาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 282222เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทความที่น่าสนใจมากค่ะคุณหมอ

แวะมาอ่าน ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท