ข้อมูลครั้งที่ 23: กระทรวงแรงงานกำลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ร่างที่ปรับแก้ไขใหม่)ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ


มาตรา ๓ ให้ ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ (๑) ข้าราชการ และลูกจ้างประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (๒) ครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (๓) นักเรียน นักเรียนพยาบาล นิสิตหรือนักศึกษา หรือแพทย์ฝึกหัด ซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถานพยาบาลนั้น (๔) ลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปประจำทำงานในต่างประเทศ (๕) ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ (๖) หน่วยงานของรัฐ กิจการ หรือลูกจ้างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา”

ข้อมูลส่งให้ทีม ครั้งที่ 23: วันที่ 31 กรกฎาคม 2552

ประเด็น :      กระทรวงแรงงานกำลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ร่างที่ปรับแก้ไขใหม่)ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ วันอังคารที่จะถึงนี้ (4 สิงหาคม 52)

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตดังนี้

มีการระบุเรื่องสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับกลุ่มแรงงานนอกระบบในมาตรา 15 ว่า

ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา ๔๐ บุคคลอื่นใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามมาตรา ๓๓ จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงาน

หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ประเภทของประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับตามมาตรา ๕๔ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง

 

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

เหตุผล

โดยที่กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่ใช้บังคับในปัจจุบันมีบทบัญญัติบาง ประการไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการเพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นไป ตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนและนายจ้างเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

หลักการและเหตุผล

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ดังต่อไปนี้

 

(๑) ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔)

 

(๒) แก้ไขบทนิยามคำว่า ลูกจ้างเพื่อให้มีความหมายครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด แก้ไขบทนิยามคำว่า ทุพพลภาพเพื่อให้ชัดเจน และกำหนดบทนิยามคำว่า ภัยพิบัติเพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับยกเว้นการออกเงินสมทบ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕)

 

(๓) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง โดยให้เลือกกันเอง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๘)

 

(๔) กำหนดอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ (เพิ่มมาตรา ๘/๑ มาตรา ๘/๒ และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๔)

 

(๕) กำหนดให้กองทุนต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการ (เพิ่มมาตรา ๒๔/๑)

 

(๖) แก้ไขระบบการเสนองบการเงินกองทุนให้ชัดเจนและสอดคล้องกับความเป็นจริง และกำหนดให้สำนักงานจัดทำรายงานประมาณการรายรับและรายจ่ายของกองทุน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๗ และเพิ่มมาตรา ๒๗/๑)

 

(๗) แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้างและแบบรายการ ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และแก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบให้สอดคล้องกับการ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๖ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๙ วรรคสอง)

 

(๘) แก้ไขหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทเงื่อนไขการรับประโยชน์ทดแทน และการสนับสนุนจากรัฐของแรงงานนอกระบบ และแก้ไขระยะเวลาการขาดส่งเงินสมทบซึ่งมีผลทำให้สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา ๓๙ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑)

 

(๙) แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในแบบรายงาน และกำหนดให้ ผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ ซึ่งส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบเดือนได้รับการลดอัตราเงิน สมทบ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๖)

 

(๑๐) กำหนดยกเว้นหรือลดหย่อนการออกเงินสมทบในกรณีเกิดภัยพิบัติ (เพิ่มมาตรา ๔๖/๑)

 

(๑๑) ปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๖ เกี่ยวกับการนับระยะเวลานำส่งเงินสมทบ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๗)

 

(๑๒) แก้ไขการคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบ และกำหนดให้คิดเงินเพิ่มได้ไม่เกินเงินสมทบที่ค้างชำระ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๔)

 

(๑๓) กำหนดให้การได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ตามกฎหมายอื่น (เพิ่มมาตรา ๕๔/๑)

 

(๑๔) แก้ไขระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดเวลาที่เลขาธิการกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๖)

 

(๑๕) แก้ไขวิธีการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ และกำหนดให้ผู้ประกันตนมีหน้าที่เลือกสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับบริการทางการ แพทย์ และกำหนดสิทธิหากมีเหตุจำเป็นกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับบริการทางการ แพทย์ในโรงพยาบาลที่เลือกได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๗ และมาตรา ๕๙)

 

(๑๖) กำหนดให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ บุคคลอื่นกระทำให้ถึงแก่ความตาย และกำหนดให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดเพียงประเภทเดียวในกรณีที่ ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามมาตรา ๖๔ และมาตรา ๗๑ ในเวลาเดียวกัน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๑ ทวิ)

 

(๑๗) แก้ไขวิธีการนับระยะเวลาการเกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๕)

 

อ่านต่อทั้งหมด : ดาวน์โหลด

และ

ท่านสามารถดูรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงแต่ละมาตราได้ที่นี่

http://203.78.110.199/Dialog.asp?Mode=2&ID=787#

ดูตรงคำว่า : รายละเอียดของร่าง

คำสำคัญ (Tags): #ประกันสังคม
หมายเลขบันทึก: 281949เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2009 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท