ตอนที่ ๑
ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยตกต่ำลงในทุกด้าน รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมพยายามทำความเข้าใจสาเหตุ และพบว่ามี ๒ สาเหตุใหญ่ คือ (๑) ความผิดพลาดในการจัดการระบบการศึกษาในภาพรวม หรือกล่าวว่าเป็น systems failure) (๒) ผลิตครูวิทยาศาสตร์ผิด คือวิธีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ผลิตศึกษาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกวิทยาศาสตร์ ได้ครูที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไม่แน่นพอ ไม่รู้จริง
รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล เข้าไปค้นใน internet พบว่าในประเทศที่การศึกษามีคุณภาพสูงเขาผลิตครูต่างจากของเรา คือเขาผลิตครูวิทยาศาสตร์โดยให้เรียน วท.บ. ก่อน แล้วจึงต่อด้วยวิชาครู ๑ ปี จึงได้ครูวิทยาศาสตร์ที่ฐานแน่น
ครูราเฟ ครูเพื่อศิษย์ในดวงใจของผม เล่าวิธีสอนวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาดของตน และได้แก้ไขจนประสบความสำเร็จสูงมากไว้
ที่นี่
ผมคิดว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ควรมีส่วนกระตุ้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องในทุกระดับ ให้คนไทยไม่ว่าจะเรียนสาขาใดมีพื้นฐานการคิดเชิงวิทยาศาสตร์
กระทรวงวิทยาศาสตร์ควรมีวิธีทำงานเพื่อร่วมสร้าง “scientific thinking” ในคนไทยทุกอายุ ทุกระดับการศึกษา ไม่ควรถือว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่ล้ำเส้นเข้าไปทำ เรื่อง scientific thinking ของคนไทยสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้กระทรวงเดียวดำเนินการ ควรต้องดำเนินการในหลากหลายทาง
วิจารณ์ พานิช
ก.ค. ๕๒
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
“scientific thinking” สำคัญเกินกว่ากระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเพียงลำพัง ควรดำเนินการในหลากหลายหนทางเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ที่โรงเรียนมีครูวิทยาศาสตร์ ๙ คน จบ วทบ.มาเพียงคนเดียว ขณะนี้พยายามยกระดับครูด้วยการส่งเข้าไปร่วมพัฒนากับ สอวน.และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในรูปแบบโครงการร่วม
ด้วยหวังที่จะให้ครูมีฐานแน่น ไม่เช่นนั้นคงลำบากโดยเฉพาะโรงเรียนรอบนอก ที่การพัฒนาครูยังเป็นแบบ Training Mode มากกว่า Learning Mode ยอมรับว่า
เหนื่อยและลำบากมากในระดับโรงเรียน ในเรื่องนี้ ดีใจที่ท่านสนใจเรื่องนี้อย่างตรงเป้า