โครงการนวัตกรรมแห่งชาติ กับภาพดวงจันทร์
เมื่อวันที่
18 ส.ค.48 ผมไปประชุมที่อาคาร สวทช.
เก่าถนนโยธี จึงแวะไปเยี่ยมคุณศุภชัย
หล่อโลหการ ผอ. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
คุณศุภชัยกับผมชอบพอกันมากว่า 10 ปี ผมชอบวิธีคิดแผลง ๆ
ของคุณศุภชัย (แผลง ๆ ในที่นี้แปลว่า lateral thinking) พอมาเป็น ผอ.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติผมนึกในใจว่าคุณศุภชัยรุ่งแน่
ๆ เพราะเป็นงานที่ตรงกับความถนัด
แล้วก็รุ่งจริง ๆ
คุณศุภชัยเป็นนักทำหนังสือ
และรู้ว่าผมชอบหนังสือ
จึงให้หนังสือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมา 2 เล่ม
เล่มหนึ่งคือเล่มที่เอาหน้าปกมาให้ดู
ผมอ่านด้วยความชื่นชม ว่าคุณปรีดา
ยังสุขสถาพร
ได้ศึกษาวิธีการจัดการนวัตกรรมในต่างประเทศและเสนอแนวทางของประเทศไทยไว้อย่างดียิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมในประเทศไทยในหน้า
73 ดังนี้
“แนวความคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่จะเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มีบทบาทต่าง
ๆ (ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชน
มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย
สถาบันการเงิน และสมาคมการค้าและอุตสาหกรรม)
ในแง่ของการสร้าง การแพร่กระจายและใช้ความรู้
เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
นอกจากนั้นยังมีไอเดียดี ๆ ในหนังสือเล่มนี้มากมาย
น่าชื่นชม
ดีเหมือนภาพดวงจันทร์
คือเห็นภาพซีกเดียว
เห็นเฉพาะภาพนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจแข่งขัน
ไม่เห็นภาพนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง
เรื่องนี้จะไปโทษสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือโทษคุณศุภชัยก็ไม่ได้
เพราะถ้ามัวไปสนใจนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงก็จะไม่ได้งบประมาณ
หรืออาจไม่ได้เกิดด้วยซ้ำ
ทั้ง ๆ
ที่รัฐบาลประกาศนโยบาย dual track ด้านเศรษฐกิจ
แต่กลไกและกระบวนทัศน์ของการบริหารมีอยู่ track เดียว
คือสายเศรษฐกิจแข่งขัน
มุมมองต่อนวัตกรรมในประเทศไทยจึงเป็นภาพดวงจันทร์ด้วยประการฉะนี้
วิจารณ์ พานิช
20 ส.ค.48