หลักพุทธ


พุทธัง

หลักของชาวพุทธ

          กระผมในฐานะศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนคุณธรรมชั้นนำ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต๓  มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานโครงการประเมิน เสนอแนะ และพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมชั้นนำ เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะตัวแทนศึกษานิเทศก์ ภาคอีสานตอนล่าง(มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี) จังหวัดละ ๑ คน  ผู้สัมมนาประกอบด้วยศึกษานิเทศก์  พระสงฆ์ และตัวแทนของ สพฐ. โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ สพฐ. กับ มจร. การสัมมนาในครั้งนี้ มจร.เป็นเจ้าภาพ
         กระผมได้รับแจกเอกสารจากคณะวิทยากร  เป็นเอกสารซึ่งคัดมาจากการถอดคำบรรยายของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ อ่านแล้วได้ข้อคิด และประทับใจในข้อความหลายตอน คิดว่าหากเก็บไว้คนเดียวน่าจะไม่ค้มค่า  จึงถ่ายทอดมายังท่านผู้อ่านด้วย  ข้อความมีว่า  "ปัจจุบันนี้ปัญหารสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งซึ่งปรากฎชัดในสังคม คือ การที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันแต่เพียงในนาม โดยไม่มีทั้งความรู้และการปฏิบัติของชาวพุทธ"

        
อ่านและไตร่ตรองดูแล้ว  เป็นความจริงเหมือนท่านเจ้าคุณว่า  มันเป็นภัยร้ายแรงที่ชาวพุทธเราต้องตื่นตัวและลุกขึ้นมาแก้ไข
        เพราะชาวพุทธที่แท้จริง ต้องมีหลักการ มีคุณสมบัติประจำตัวและมีมาตรฐานความประพฤติที่เป็นชาวพุทธ  ซึ่งท่านเจ้าคุณได้เสนอหลักเพื่อการปฏิบัติสำคัญ  ๆ ดังนี้
๑.หลักการ 

     ๑. ข้าฯ มั่นในว่า มนุษย์จะประเสริฐได้ เพราะฝึกตนด้วยสิกขา คือการศึกษา
     ๒. ข้าฯ จะฝึกตนให้มีปัญหา มีความบริสุทธิ์ และมีเมตตากรุณาตามอย่างพระพุทธเจ้า
     ๓.ข้าฯ ถือธรรมะ คือ ความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่
     ๔. ข้าฯจะสร้างสังคมดีตั้งแต่ในบ้าน ให้มีความสามัคคีเป็นกัลยาณมิตรเกื้อกูลกันอย่างสร้างสรรค์
     ๕.ข้าฯจะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตนโดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท
๒. ปฏิบัติการ
       ข้าฯจะนำชีวิต และร่วมนำสังคมประเทศชาติไปสู่ความดีงามและความสุขความเจริญด้วยการปฏิบัติ ดัง
       ก)มีศีลวัตรประจำตน
           1.มีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดาครูอาจารย์และบุคคลที่ควรเคารพ
                   ๒
. สมาทานศีล  ให้เป็นนิจศีล คือ หลักความประพฤติประจำตัว ไม่มืดมัวต่ออบายมุข
                   ๓
. สวดสาธยายพุทธวจนะหรือบทสวดมนต์โดยเข้าใจความหมาย อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน
                   ๔.ทำจิตใจให้สงบ เจริญสมาธิ และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล วันละ ๕-๑๐ นาที
           ข) เจริญกุศลเนืองนิตย์
                  ๕.บำเพ็ญกิจวัตรวันพระด้วยการตักบาตร หรือแผ่เมตตา ฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรม โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัดหรือที่โรงเรียนร่วมกัน ประมาณ ๑๕ นาที
                  ๖.เก็บออมเงิน และแบ่งมาบำเพ็ญทานเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณ เพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
                ๗. เพิ่มพูนบุญกรรม บำเพ็ญประโยชน์อุทิศแด่พระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมในอดีต อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
                ๘. ไปวัดชมอารามที่รื่นรมย์และไปร่วมกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญทางครอบครัว
           ค) ทำชีวิตให้งามประณีต
               ๙.ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญา ให้กินอยู่พอดี
             ๑๐. ปฏิบัติกิจส่วนตัว ดูแลของใช้ของตนเอง และทำงานในชีวิตด้วยตนเอง
             ๑๑. ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน และมีวันปลอดการบันเทิง อย่างน้อยเดือนละ ๑ วัน
             ๑๒. มีสิ่งที่บูชาไว้สักการะประจำตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลกถึงพระคุณของพระรัตนตรัยและตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ

                ท่านเจ้าคุณยังได้สรุปไว้ว่า  บุคคลที่ถือปฏิบัติตาม หลักชาวพุทธ ดังกล่าวมาข้างต้น จะเป็นผู้มีภูมิธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธที่แท้จริง สมกับที่ได้รับการเรียกขาน

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักพุทธ
หมายเลขบันทึก: 281544เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท