ข้อมูลไข้หวัด 2009


รับข้อมูลมาช่วยเผยแพร่ต่อค่ะ

เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่คณะก็ช่วยกันรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 โดยสั่งซื้อหน้ากากมาแจกให้กับบุคลากร และนักศึกษาค่ะ ก่อนหน้านี้มีนักศึกษาที่คณะป่วยเป็นไข้หวัด 2009 จำนวน 3 คน แต่ตอนนี้หายเรียบร้อยแล้วค่ะ

ส่วนคนใกล้ตัว คือ น้องของน้องที่ทำงานป่วยเป็นไข้หวัด 2009 น้องที่ทำงานก็มีอาการหวัด แต่ตรวจแล้วไม่ใช่ 2009 แต่ก็ให้น้องเขาพักงานจนกระทั่งหายดีแล้วมาทำงานต่อ

อีกคนคือ สามีของลูกศิษย์ปริญญาโทป่วยเป็นไข้หวัด 2009 เข้าโรงพยาบาล ในระหว่างรักษาลูกสาวของลูกศิษย์ก็ป่วยตามพ่อ แต่ตรวจเช็คแล้วปรากฎว่าไม่ได้เป็น 2009 แต่ลูกศิษย์ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงลางานพักอยู่ที่บ้านดูแลลูกกะสามี วันก่อนมาปรึกษางานก็แข็งแรงดีค่ะ ...

มีข้อสังเกตแปลกๆว่า คนใกล้ชิดคนที่ป่วยเป็น หวัด 2009 ก็ป่วยเป็นหวัด แต่เป็นหวัดธรรมดา...ยังไงก็ระวังและรักษาสุขภาพกันนะคะ

ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับหวัด 2009 มา จากอาจารย์หมอ ขอนำมาเผยแพร่ต่อนะค่ะ

 

ไข้หวัดใหญ่

สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1

 Influenza A (H1N1)

 

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอ เอช1เอ็น1 เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เริ่มพบที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้แพร่ออกไปยังอีกหลายประเทศ

 

เชื้อสาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อน  เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก 

 

การแพร่ติดต่อ

เชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ  น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย  แพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ  โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป  หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู  โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก 

ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย  ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน

 

อาการป่วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ  อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย  

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง  หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

การรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที  ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส  คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir)  เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วยจะให้ผลการรักษาดี 

ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ  และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก  หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้านโดย

-  รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น  และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น

-  ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ  งดดื่มน้ำเย็น 

-  พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น  หากรับประทานอาหารได้น้อย  อาจต้องได้รับวิตามินเสริม

-  นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี

-  ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ  ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง  เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา

 

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่   

- หากต้องดูแลผู้ป่วย  ควรสวมหน้ากากอนามัย  เมื่อดูแลเสร็จ  ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที

- ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ  ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น  โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

-  ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง  เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

-  หมั่นล้างมือบ่อยๆ  ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังไอ จาม

 -  รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้  ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา

การป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ

        - หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่  ควรลาหยุดงาน  หยุดเรียน เป็นเวลา 3 - 7 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก

        - พยายามหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับคนอื่น ๆ   

        - สวมหน้ากากอนามัย  เมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูกปากทุกครั้งที่ไอจาม  ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด  แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่

ใส่ใจ  ห่วงใยคนรอบข้าง

สวมหน้ากากอนามัย  และล้างมือบ่อย ๆ

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่  กรมควบคุมโรค

http://beid.ddc.moph.go.th

4 พฤษภาคม 2552 

 

 

หมายเลขบันทึก: 280844เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ

ขอบคุณที่เผยแพร่ข้อมูลครับ

ครอบคลุม อ่านเข้าใจง่ายดีครับ

ช่วงนี้ข้อมูลไหลทะลัก บางทีก็กรองจนเหนื่อยเหมือนกัน

รักษาสุขภาพนะครับ

สวัสดีค่ะ อ.ธ.วัชชัย

ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลก็มากันทุกสายเลยค่ะ คนที่มีประสบการณ์ตรง น่าจะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลได้ชัดเจนมากที่สุด ลูกศิษย์บอกว่า พอคนที่ทำงานรู้ว่าสามีของเขาป่วย แล้วเขาใส่หน้ากากไปทำงาน ทุกคนที่ทำงาน ตกอกตกใจกันไปหมด เขารู้สึกเหมือนถูกรังเกียจ แต่เขาก็ไม่ได้ป่วยอะไร เพราะดูแลตัวเองดี เขาดูแลตัวเอง ลูกและหลาน รวมถึงคุณยาย และเช็ดบ้านทำความสะอาดตามที่ได้รับคำแนะนำจากโรงพยาบาลอย่างดีค่ะ...

อ่านข้อมูลนี้แล้ว ก็ส่งต่อๆให้คนรู้จักด้วยค่ะ
เข้าใจง่ายเลยนะคะ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

ไม่ได้พบกันนานเลยนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ

มีคนบอกว่า สังคมไทยเป็นสังความความคิดเห็นค่ะ ไม่ค่อยอาศัยความรู้ พอคิดกันไป คิดกันมา เห็นกันไปเห็นกันมา ก็เลยสับสนกันไปหมด เรื่องไข้หวัด 2009 นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งค่ะ ... เมื่อสื่อออกมาบอกว่า จะไม่เป็นหากหาหมอทัน ปรากฎว่า มีบางคนยังไม่ป่วยไม่เป็นอะไรเลยก็ไปหาหมอให้หมอตรวจ แต่ก็คงไม่ทันนึกมังค่ะว่าการไปโรงพยาบาลนั่นแหละ ที่จะทำให้ได้รับเชื้อสูงมาก ... เราคงต้องระวังให้มาก แต่ไม่ควรตื่นตระหนก ...

ข้อมูลนี้ได้รับการส่งต่อมาจากคุณหมอท่านหนึ่งค่ะ ส่งต่อๆ ได้เลยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ คุณหมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท