อนาคตขึ้นกับปัจจุบัน


สร้างอนาคตได้บนพื้นฐานของทรัพยากรที่เรามีในปัจจุบัน

เมื่อกล่าวถึงแบบจำลองและการสร้างแบบจำลอง (Simulation Models and Modeling) ผู้รับฟังส่วนใหญ่จะมีจินตนาการถึงสมการทางคณิตศาสตร์ที่ยาก เห็นภาพของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน และจะคิดถึงภาพการใช้แบบจำลองเพื่อคาดการณ์สภาพที่จะเกิดในอนาคต ยิ่งทำให้สนใจแต่เรื่องในอนาคต แต่จริง ๆ ผู้อยู่ในวงการแบบจำลองทั้งหลายมีความกังวลกับสภาพในปัจจุบันมากกว่าเพราะว่าสิ่งที่เราทำ (หรือไม่ทำ) ในปัจจุบันจะมีผลต่อสภาพในอนาคต

ความมุ่งหมายของการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติแบบจำลองและการสร้างแบบจำลองมาใช้ในทางการศึกษา สอนและวิจัยทางเกษตรในประเทศไทยเป็นเพราะความพยายามของเหล่านักวิชาการเกษตรในการทำความเข้าใจสภาพและสถานภาพปัจจุบันของระบบเกษตรไทย ต้องการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ของระบบเกษตร ต้องการทดสอบความสามารถของแบบจำลองในการคำนวณตัวแปรต่าง ๆ ของระบบเกษตรไทยในสภาพการจัดการโดยเกษตรกรไทยและใช้ความเข้าใจที่ได้ร่วมกับการใช้แบบจำลองในการศึกษาสภาพที่ควรจะเป็นหรือสภาพที่อยากจะเป็น เป็นการลดช่องงว่างความเข้าใจระหว่างสภาพปัจจุบัน (Where we are?) และสภาพที่อยากจะเป็น (Where we want to be?)

สภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือที่อยากจะให้เกิดนั้นเป็นสภาพที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่จะเป็นสภาพที่เกิดโดยที่เรามีสมมุติฐานบางประการ (Assumptions) ในปัจจุบัน เช่น สมมุติว่าฝนตกในช่วงตอนห้าโมงเย็นในพื้นที่ตอนกลางของกรุงเทพมหานครจะส่งผลให้เตรียมการและนำร่มกันฝนหรือเสื้อกันฝนติดตัวไปทำงาน หรือ เราจะมีล้อและยางอะไหล่สำรองไว้ในรถหนึ่งล้อด้วยมีสมมุติฐานว่าสภาพยางแบนอาจจะเกิดได้ไม่ได้มีล้อและยางสำรองเพราะว่าคาดการณ์ว่าล้อยางจะแบนอีกสองวันข้างหน้า เป็นต้น

เราสามารถใช้แบบจำลองที่พัฒนาได้และทดสอบแล้วในพื้นที่ของประเทศไทยช่วยคำนวณค่าตัวแปรของสภาพที่จะเกิด (Possibilities) ได้ หากมีเหตุการณ์ ... เกิดขึ้น แต่แบบจำลองไม่สามารถบอกได้ว่าสภาพดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดขึ้นเท่าใดคือไม่เกี่ยวกับการคาดการณ์และไม่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่จะเกิด (Probabilities) ของสภาพที่จะเกิด

ผลผลิต (Output) หนึ่งของกระบวนการวิจัยได้แก่แบบจำลองระบบเกษตร เมื่อถึงการนำไปใช้ในการพัฒนาให้เกิดผลผลิตระดับสองหรือผลลัพธ์ (Outcome) ของกระบวนการวิจัยซึ่งมีส่วนทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลประกอบการใช้งานแบบจำลองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไปให้ถึงจุดสูงสุดได้แก่การสร้างผลกระทบหรือ Impact ซึ่งเป็นเป้าหมายของวิจัยได้แก่การพัฒนาสังคม ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Development ซึ่งเป็นกระบวน (is a process) การสร้างสรรสิ่งใหม่ให้กับสังคมเป็นสิ่งพึงปรารถนาของแหล่งทุนวิจัย Impact ที่เกิดจากการใช้แบบจำลองได้แก่การลดระยะเวลาในการทดลองกับระบบจริง ความสามารถในการใช้แบบจำลองเพื่อสร้างสภาพที่จะเกิดหากมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยและทรัพยากรการผลิตในระดับไร่นาถึงระดับนโยบาย

อาจารย์อาวุโสทั้งหลายหยุดการเจริญ (Growth) แล้ว แต่มีการพัฒนาสิ่งใหม่ (Development) อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือเป็นบุคคลที่มีคุณภาพชีวิต (Quality of life) ในระดับดีเยี่ยม การใช้แบบจำลองระบบในทางเกษตรมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มพูนด้านคุณภาพของชีวิตของคนในระบบเกษตรและที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตร คุณภาพชีวิตเป็นดัชนีชี้พัฒนาการของสังคมและแตกต่างจากคำว่ามาตรฐานการดำรงชีพ (Standard of living) ซึ่งเป็นดัชนีชี้การเติบโตของสังคม พัฒนาการสิ่งใหม่ ๆ เป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้ ไม่ได้มาจากการทำงานรับเงินเดือน (Earning) เพิ่มขึ้นทุกปีเพียงอย่างเดียว และไม่ได้สะท้อนว่าบุคคลจะมีทรัพยากรมากมายแตกต่างกัน แต่สะท้อนความสามารถของบุคคลในการสร้างสรรสิ่งใหม่

บุคคลและองค์กรสามารถใช้แบบจำลองประกอบการเรียนรู้ โดยการตัดสินใจที่ผิดพลาดผ่านแบบจำลองระบบ เนื่องจากตัดสินใจที่ผิดพลาดในระบบจริงมีการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลามาก หากเราสามารถใช้แบบจำลองระบบได้ตามตรรกที่กล่าวได้ น่าจะทำให้เราสามารถสร้างอนาคตได้บนพื้นฐานของทรัพยากรที่เรามีในปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 280761เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาชม

มาเชียร์นะครับ

มองให้เห็นเป็นปัจจุบันดีจริง

ยินดีครับ

อรรถชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท