" ทิฐิ "...สนิมในหัวใจที่กัดกร่อนองค์กร


ทิฐิ”…สนิมในหัวใจที่กัดกร่อนองค์กร

* ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน

และผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

 

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน มีน้องที่รักมากคนหนึ่งไปเดินเที่ยวตลาดจตุจักรและได้ส่งของฝากจากจตุจักรมาให้หนึ่งกล่อง...แถมยังกำชับคนที่ถือของมาส่งด้วยว่า อยากให้เปิดดูทันที

จากรูปพรรณสัณฐานและน้ำหนักของกล่อง ก็เดาได้ทันทีว่าคงเป็นกรอบรูปขนาดโพสท์การ์ดเก๋ๆ สักอัน แต่ก็ยังนึกในใจว่ามันจะพิเศษเก๋ไก๋สักแค่ไหนถึงต้องรีบร้อนอยากให้เปิดดูทันที

เมื่อแกะกล่องดู ก็ปรากฏว่าเป็นกรอบรูปไม้ขนาดโพสท์การ์ดจริงๆ...แต่รูปที่อยู่ในกรอบไม้นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ขนลุกซู่ไปทั้งตัว ความรู้สึกตื้นตันท่วมท้นในความหมายของภาพทั้งกว้างขวางและลึกล้ำเกินกว่าที่จะซึมซับเก็บไว้ได้โดยเร็ว...ต้องใช้เวลานั่งซาบซึ้งกับภาพนั้นอยู่อีกเป็นเวลานาน กว่าที่จะวางไว้หน้าโต๊ะทำงานเพื่อให้เตือนใจตัวเองอยู่เสมอ

ภาพที่อยู่ในกรอบไม้ เป็นภาพพระเจ้าอยู่หัวในชุดสูทสีเทา นั่งบนเก้าอี้ไม้เก่าๆ ก้มลงผูกเชือกรองพระบาท ข้างๆ มีแผนที่พิงไว้..บริเวณนั้นดูแล้วเหมือนจะเป็นชั้นสองของชานบ้าน หรือไม่ก็อาคารเรียน แต่แน่นอนว่าคงเป็นดินแดนห่างไกล และออกจะโกโรโกโสนิดหน่อย

คำอธิบายที่แสนสั้น แต่มีความหมายยิ่งใหญ่มหาศาลของภาพที่เกิดขึ้นในหัวใจขณะนั้นคือความปราศจาก ทิฐิ”...จริงๆ แล้วภาพนั้นเป็นภาพที่พระมหาราชา ทรงก้มลงผูกเชือกรองพระบาท เนื่องจากทรงถอดรองพระบาทก่อนขึ้นบ้านเรือนประชาชน ในระหว่างที่ทรงเยี่ยมเยือนสำรวจทุกข์สุขของราษฏร์ในถิ่นทุรกันดาร...เห็นอย่างนี้แล้วคนสามัญที่ไหนยังจะกล้าถือทิฐิอีก

ปราการกั้นปัญหา

คำว่าทิฐิจริงๆ แล้วมีทั้งที่เป็นสิ่งดี ที่เรียกว่า สัมมาทิฐิและที่เป็นสิ่งไม่ดีที่เรียกว่า มิจฉาทิฐิ แต่ถ้าทิฐิอยู่เดี่ยวๆ แล้วมักจะ หมายถึง ความอวดดี อวดดื้อ ถือดี ถือตัว อันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการบริหารองค์กร ตลอดจนการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นทิฐิ เป็นเหมือนปราการที่คอยปิดกั้นความรู้ ความเห็นของคนอื่น ด้วยเห็นว่าสิ่งที่ตนเองคิด สิ่งที่ตนเองเข้าใจ เป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการปิดกั้นปัญญา รวมทั้งข้อมูลสำคัญๆ ที่ควรทราบ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ทิฐิ เป็นเหมือนฐานที่คอยหนุนให้คนรู้สึกว่าตนเองสูงกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น เหนือกว่าคนอื่น...จะว่า

ไปแล้ว ทิฐินี้เองที่เป็นเครื่องตัดความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับคนอื่น และทำให้ผู้มีทิฐินั้น โดดเดี่ยวโดยไม่รู้ตัว

การแก้ไขปัญหาขององค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันย่อมต้องอาศัยความคิดใหม่ๆ ไม่ว่าความคิดนั้นจะมาจากตนเอง จากผู้บังคับบัญชา จากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือกระทั่งจากคนที่ไม่ชอบขี้หน้า แม้แต่คู่แข่ง...

และสิ่งหนึ่งที่จะปิดกั้นไม่ให้คนได้ประโยชน์จากความคิดดีๆ ที่หลากหลายเหล่านั้นก็คือทิฐิของคนนั่นเอง ใครที่สามารถลดหรือดับทิฐิลงได้ ก็ย่อมได้ประโยชน์จากข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น และความคิดสร้างสรรค์อีกมากมาย

นอกจากการปิดกั้นความคิดเห็น และข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาขององค์กรแล้ว ทิฐิ ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างทีม และการทำงานเป็นทีมอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากหัวใจของการทำงานเป็นทีมคือการ

ที่สมาชิกในทีมมีความเคารพในสถานะและคุณค่าของแต่ละคนในทีม ซึ่งจะทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองมีความหมาย และมีคุณค่าในการทำงาน เป็นบุคคลที่ทีมต้องการ และอยากจะทุ่มเทเพื่อร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา แต่หากคนในทีมเกิด

มีทิฐิ ถือว่าตนเองดีกว่า เก่งกว่า และมักจะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับความคิดของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ตนเองเห็นว่าด้อยกว่า หรือไม่อยากยอมรับด้วยกลัวว่าจะเสียหน้า ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทุ่มเถียง ซึ่งไม่ใช่เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

แต่เพื่อให้ความคิดเห็นของตนเองได้รับการยอมรับ และไม่เสียหน้า....หากเป็นเช่นนี้แล้วองค์กรก็จะไม่ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด หรืออาจได้รับข้อสรุปที่เหมาะสมก็จริงแต่กลับมีความแตกแยกกันในทีมอยู่ดี

ฝึกตน : หลุดพ้นจากทิฐิ

วงจรการเกิด การลด และการดับของทิฐิ ในแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกและการตระหนักรู้ตัวเองของแต่ละคน ใครที่ฝึกได้มากทบทวนใคร่ครวญตนเองได้บ่อย วงจรทิฐิก็จะสั้นหรือถึงกับไม่มีทิฐิเลย ส่วนใคร

ที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีทิฐิ หรือรู้แต่กลับหลงในทิฐิ ก็จะยิ่งทำให้ทิฐิพอกพูนหนาขึ้นสูงขึ้น จนความคิดและความรู้สึกของใครๆ ก็เข้าไม่ถึง สุดท้ายต้องคิดเอง ทำเองแก้ปัญหาเอง ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ และไม่สามารถสร้างทีมได้

จริงๆ แล้ว ทิฐิ มีกำเนิดจากสิ่งที่ดีๆ ทั้งสิ้น ลองคิดดูว่า การที่คนหนึ่งจะมีความมั่นใจในตนเองอย่างสูง จนถึงกับอวดดื้อ ถือดีได้นั้นย่อมจะต้องมีดีในตัวบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเรียนความสำเร็จในการทำงาน ความมีชื่อเสียงดี การกำเนิดในตระกูลดีแม้กระทั่งการมีรูปร่างหน้าตาดี และในทางกลับกัน คนที่หาความโดดเด่น

ความสำเร็จ ความเก่ง ความดี ใดๆ ในตัวเองไม่ได้ ก็ย่อมจะมีทิฐิน้อยหรือกระทั่งไม่มีเลย

ในวัยเด็กซึ่งผ่านประสบการณ์มาน้อย และด้วยความด้อยประสบการณ์ก็ย่อมจะมีการล้มลุกคลุกคลานอยู่มาก ทำให้วัยเด็กมีทิฐิอยู่น้อยแต่เมื่อชีวิตผ่านไปแต่ละคนก็จะค่อยๆ สั่งสมความดี ความเด่น และความสำเร็จ ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะค่อยๆ ทำให้ทิฐิค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้น

ดังนั้น คนที่มีความเสี่ยงต่อการมีทิฐิสูง คือคนที่มีดีอยู่ในตัวเองอย่างมาก ประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า ได้รับความไว้วางใจจากคนในกลุ่ม หรือจากผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ทิฐิสั่งสมในตัวเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ความสำเร็จเหล่านั้นล้วนเกิดจากความพยายามตั้งใจในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างดี อย่างรอบคอบ และเมื่อทำจนสำเร็จ

แล้วก็ได้รับรางวัล และความไว้วางใจตามหลักการสร้างแรงจูงใจ

การดับทิฐิ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นถ่อมตัวและถ่อมความคิดของตนเองลง และทำให้สามารถอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ต้องอาศัยการฝึกเองรู้เองทั้งสิ้น

หลายครั้งที่ทิฐิของตนเองอาจทำให้เกิดความเสียหายใหญ่โต ทั้งนี้เพราะผู้มีทิฐิสูงก็จะไม่มีใครกล้าตักเตือน และไม่มีใครกล้าขัดแย้ง จนเมื่อทิฐิทำให้เกิดปัญญาคับแคบแล้วตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้น สำหรับคนที่มีการทบทวนใคร่ครวญตัวเอง ก็จะเริ่มเห็นว่าทิฐิเป็นสาเหตุ และค่อยๆ ลดทิฐิลง ถ่อมตัว ถ่อมใจรับฟังผู้อื่นมากขึ้น

แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า ทิฐิมีวงจรแห่งการเกิดและการดับ ดังนั้น คนที่เคยดับทิฐิได้เกลี้ยงเกลาแล้วทิ้งไว้อีกไม่นานเมื่อทำอะไรสำเร็จ ได้รับคำยกย่อง ชมเชย มากเข้า ทิฐิก็อาจกลับมาเกาะเขรอะเหมือนทิ้งเหล็กไว้นานๆ ก็จะมีสนิมเกาะ และยิ่งทิ้งให้สนิมเกาะนานเท่าไหร่ สนิมนั้นก็จะยิ่งกัดกินเหล็กไปมากเท่านั้น ดังนั้น แต่ละคนจะต้องคอยเตือนตัวเอง และคนอื่นๆ ให้ตรวจสอบทิฐิของตนเอง เมื่อพบว่าสนิมแห่งทิฐิเกาะมากไปแล้ว ก็ควรต้องมีการเคาะทำความสะอาดกันเป็นระยะ

ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่เจ้าชายกลุ่มหนึ่ง

ซึ่งทรงสดับพระธรรมเทศนาพร้อมกับเจ้าพนักงานภูษามาลา เมื่อทรงฟังพระธรรมเทศนาเสร็จแล้ว ทั้งหมด

เกิดความเลื่อมใสและขอออกบวช

เจ้าชายทั้งสี่พระองค์ทรงขอให้เจ้าพนักงานภูษามาลาผู้นั้นได้ออกบวชก่อน เพื่อจะได้มีพรรษาสูงกว่า

และเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นบวชเสร็จแล้วเจ้าชายทั้งสี่พระองค์จึงก้มลงกราบเจ้าพนักงานภูษามาลาผู้ซึ่งออกบวชแล้วนั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำลายทิฐิของตนเอง ไม่ให้ในใจถือความเป็นเจ้า เป็นไพร่ อีกต่อไป

สนิมแห่งทิฐิเกาะที่ความคิด และจิตใจ แต่สิ่งที่ถูกกัดกร่อนคือประสิทธิภาพ และศักยภาพขององค์กรการสร้างกุศโลบายใดๆ เพื่อให้ทั้งหัวหน้าและลูกน้องได้มีการสำรวจทิฐิของตนเอง ลด และดับทิฐิของตนเองเป็นระยะๆ ก็จะเหมือนการตรวจสุขภาพองค์กรอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

สำหรับคนที่มีการทบทวนใคร่ครวญตัวเอง ก็จะเริ่มเห็นว่าทิฐิเป็นสาเหตุ และค่อยๆ ลดทิฐิลง

ถ่อมตัว ถ่อมใจรับฟังผู้อื่นมากขึ้น__

หัวใจของการทำงานเป็นทีมคือการที่สมาชิกในทีมมีความเคารพในสถานะและคุณค่าของแต่ละคนในทีมซึ่งจะทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองมีความหมาย และมีคุณค่าในการทำงาน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 280439เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

คุณแมวพี่อ่านข้อความนี้ทุกตัวอักษรเลยนะ อ่านทวนถึงสองรอบพี่ชอบมาก เป็นการให้แง่คิด และมุมมองที่มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ใช้ภาษาได้ดีอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย มองเห็นตัวตนของตัวเราเอง เรื่องของทิฐิพี่ว่ามีด้วยกันทุกคนมากน้อยต่างกัน แต่อ่านเรื่องนี้แล้วอยากปรับปรุง ในกลุ่มบริหารของพวกเราถ้าทุกคนปราศจากทิฐิ ไม่ยึดติด เปิดใจให้กว้าง ยอมรับซึ่งกันและกัน พี่ตักเตือนน้อง น้องท้วงติงพี่ เราก้าวไปพร้อม ๆ กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างนี้พี่ว่าเยี่ยมยอดเลย หวังว่าเราทุกคนจะเรียนจบพร้อมกันนะ

  • แวะมาเรียนรู้ค่ะ
  • ความถ่อมตนและเคารพซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างทีมที่เข้มแข็ง จะจดจำใส่ใจไว้เสมอค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

การมีสัมมาทิฐิย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า มิจฉาทิฐิ แน่นอนคะ

บางครั้ง" สนิม " นี้ อาจหมายรวมถึงอคติ ด้วยกรือเปล่า

เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

เป็นบทความที่ดีมากเลยค่ะพี่

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความครับ

PPPPP

อาจารย์แมว พี่ซาบซึ้งมาก เป็นบทความที่น่าอ่านมาก ประทับใจจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท