ลักษณะของสัญญาค้ำประกัน


ลักษณะของสัญญาค้ำประกัน

มาตรา 680 บัญญัติว่า อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้ บังคับคดีหาได้ไม่

อาจแยกสาระสำคัญของสัญญาค้ำประกันออกได้เป็น 5 ประการ คือ

1. สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์

2. ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก

3. บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นจะชำระ

4. การค้ำประกันนั้นเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับบุคคลภายนอกผู้ค้ำประกัน

5. กฎหมายมิได้กำหนดแบบของสัญญาค้ำประกันไว้

1. สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์  จากบทบัญญัติที่ว่า .... ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นสัญญาค้ำประกันจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีหนี้ผูกพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้หรือที่เรียกว่าหนี้ประธานหรือสัญญาประธานอยู่ก่อนแล้ว หนี้ตามสัญญาค้ำประกันจึงเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์หรือสัญญาอุปกรณ์ซึ่งโดยหลักแล้วสัญญาอุปกรณ์จะสมบูรณ์หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธาน ตามบทบัญญัติ มาตรา 681 ว่าอันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์คือต้องมีหนี้ผูกพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้และต้องเป็นหนี้อันสมบูรณ์เท่านั้น ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นตามมูลหนี้ที่ค้ำประกันจะเป็นหนี้อะไรก็ได้ เช่น กู้ยืม เช่าทรัพย์ ซื้อขาย จ้างทำของ เช่าซื้อ ฯลฯ  แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกหนี้ต้องปฏิบัติชำระหนี้ด้วยตนเอง เช่น แสดงภาพยนตร์ทีวี ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนไม่ได้ แต่อาจค้ำประกันในทำนองให้เบี้ยปรับ หรือค่าเสียหายก็ได้ เช่น นาย ก. ไปศึกษาต่อต่างประเทศ จึงทำสัญญากับกรมเจ้าสังกัดว่าเมื่อศึกษาจบแล้วจะกลับมารับราชการเป็น 2 เท่าของเวลาที่รับทุน มิฉะนั้นจะให้ปรับเป็นเงิน 2 เท่าของเงินทุนและเงินเดือนที่ได้รับไประหว่างลาและมี นาย ข. เป็น  ผู้ค้ำประกันโดยตรงลงว่า ถ้านาย ก. ผิดสัญญาตนจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนี้เป็นสัญญาค้ำประกัน

2. ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก ลูกหนี้จะทำสัญญาค้ำประกันตนเองไม่ได้ หมายถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ในกรณีที่หนี้รายใดมีลูกหนี้รายหลาย หรือเจ้าหนี้หลายคน ก็ต้องไม่ใช่บุคคลที่เป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เหล่านั้น นอกจากนั้นบุคคลที่จะเป็นผู้ค้ำประกันอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

                คำพิพากษาฎีกาที่ 2223/2539 แม้การที่โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้ไว้แก่ ธนาคารผู้ให้กู้ จะมิใช่การค้ำประกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ก็ตาม แต่เป็นเรื่อง ความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญา อีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อจำเลยยอมรับว่าโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลย และจำเลยรับจะชำระเงินคืนให้โจทก์ จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงไว้

3. บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นจะชำระ ความรับผิดของค้ำประกันเป็นความรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นที่สอง คือจะต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้ตามมูลหนี้ประธานผิดนัดไม่ชำระ ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระนั้นแล้วผู้ค้ำประกันตกลงจะเป็นผู้ชำระแทน แต่ทั้งนี้ไม่หมายรวมถึงกรณีที่รับรองว่าลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนั้นไม่ใช่ผู้ค้ำประกันเพราะมิได้ผูกพันตนว่าจะ ชำระแทนให้

ด้วยเหตุที่ความผูกพันของผู้ค้ำประกัน คือชำระหนี้ให้แทน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หนี้เป็นประกันนั้นจึงต้องเป็นหนี้ที่บุคคลภายนอกกระทำการชำระหนี้ให้แทนได้ หากเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ต้องปฏิบัติชำระหนี้ด้วยตนเองจะมีผู้ค้ำประกันไม่ได้ดังกล่าวมาแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 1239/2505 จำเลยขอให้โจทก์ค้ำประกันบุคคลผู้ส่งข้าวไปขายต่างประเทศต่อกระทรวงเศรษฐการ  โดยจำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์  ถ้าโจทก์ต้องเสียหายอย่างใดๆ ในการค้ำประกันนั้น  ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680  แต่เป็นสัญญาธรรมดาระหว่างโจทก์จำเลย  เมื่อโจทก์ต้องเสียหายโดยชำระหนี้ค่าข้าวแทนบุคคลนั้นไปโดยสุจริต ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้เงินนั้นได้ภายใน 10 ปีตามมาตรา 164  ไม่ใช่ 5 ปี ตามมาตรา 165

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1088/2530 หนังสือสัญญาที่ ร. กับจำเลยทำไว้ให้กับโจทก์ว่า หากโจทก์

 ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์เข้าค้ำประกันในการที่ ร. จะปฏิบัติตามสัญญาขนส่งไม้สักที่ ร. ทำไว้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร. กับจำเลยจะร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิ้นนั้น ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป... มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญา จะนำบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้อายุความฟ้องร้องจึงต้องนำอายุความทั่วไปมาใช้บังคับตาม ป... มาตรา 164 คือ 10 ปี โดยอายุความฟ้องร้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไป

                คำพิพากษาฎีกาที่ 243/2522  ธนาคารโจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อองค์การสะพานปลายินยอมใช้เงินให้แก่องค์การสะพานปลาในกรณีที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาในการนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาไว้แก่ธนาคารโจทก์มีข้อความว่าตามที่ธนาคารโจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1ไว้กับองค์การสะพานปลานั้น ถ้าองค์การสะพานปลาเรียกร้องให้ธนาคารโจทก์ชำระเงินจำนวนที่ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบให้ธนาคารโจทก์ไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้ในจำนวนเงินที่ชำระไปนั้น เอกสารดังกล่าวมิใช่สัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเท่านั้น

                4. การค้ำประกันนั้นเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับบุคคลภายนอกผู้ค้ำประกัน ดังนั้นไม่จำเป็นที่ลูกหนี้จะต้องรู้เห็นยินยอมในการค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันก็มีผลสมบูรณ์ ผู้ค้ำประกันจะยกเอาการที่ลูกหนี้ไม่ได้ยินยอมนี้เป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ หรือหากผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไปตามสัญญาค้ำประกันแล้ว การใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ ลูกหนี้จะอ้างการที่ตนไม่ได้ยินยอมด้วยในการเข้าทำสัญญาค้ำประกันนั้นไม่ยอมให้ค้ำประกันใช้สิทธิไล่เบี้ยไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 762/2519 สัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความว่าลูกหนี้ยินยอมด้วยเจ้าหนี้ ก็บังคับผู้ค้ำประกันได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 762/2512 การค้ำประกันนั้นหาจำต้องให้ลูกหนี้ยินยอมให้ผู้ค้ำประกันเข้าค้ำประกันหนี้นั้นก่อนไม่ สัญญาค้ำประกันจึงไม่จำต้องมีข้อความว่าลูกหนี้ยินยอมให้ผู้ค้ำประกันแล้ว  (หลักฐานแห่งการค้ำประกันนั้น)

5. กฎหมายมิได้กำหนดแบบของสัญญาค้ำประกันไว้ มาตรา 680 วรรค 2 บัญญัติไว้เพียง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้ บังคับคดีหาได้ไม่หมายความว่ากฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเท่านั้น เพียงแต่ผู้ค้ำประกันลงชื่อ แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญานั้นด้วย ก็ฟ้องสามารถร้องบังคับคดีได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 992/2546 หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103, 104 และ 118 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 9742/2539 ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแก่เจ้าหนี้เป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้ค้ำประกันไว้แล้ว จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย เจ้าหนี้หาจำต้องลงลายมือชื่อแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3847/2541กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ให้ต้องมีข้อความบรรจุอยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจเป็นข้อความที่รวบรวมจากเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันได้ และหนังสือนั้น ๆ เมื่ออ่านดูแล้วต้องมีข้อความให้พอเข้าใจได้ว่าเป็นการค้ำประกันด้วย ข้อความก็คือ ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะต้องชดใช้ให้แทนหรือข้อความใด ๆ ให้เข้าใจได้ตามนี้ จึงจะเข้าลักษณะของสัญญาค้ำประกันการทำสัญญาค้ำประกัน 

คำพิพากษาฎีกาที่ 7103/2539 ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุถึงการที่โจทก์ประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา เนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 410,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และมีจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์นั้น ย่อมแสดงให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จะยอมชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์นั่นเอง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารดังกล่าวในช่องที่ระบุว่าผู้ค้ำประกัน รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน

 

หมายเลขบันทึก: 280294เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนบล็อกค่ะ

ตามมาเรียนกฏหมายอ่ะค่า ^__^

มีข้อสงสัยเรื่องสัญญาค้ำประกันนิดหน่อยด้วยค่ะ

เหตุการณ์เป็นงี้ค่ะ สหกรณ์ออมทรัพย์ต้องมีผู้ค้ำประกัน 3 คนค่ะ

ถ้าเราเป็นหนึ่งใน 3 นั้น แล้วผู้กู้บังเอิญเสียชีวิตแต่เงินกู้ยังคงค้างจำนวนมากค่ะ

สหกรณ์ต้องตามทวงหนี้ที่เหลือกับผู้ค้ำทั้ง 3 คน หารเท่ารึปล่าวคะ

หรือจะไปตามทวงหนี้กะทายาทอ่ะคะ และกรณ๊นี้ผู้กู้ไม่มีลูกค่ะ

มีแต่สามี ซึ่งไม่ได้จดทะเบียน ถ้าเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องทำไงบ้างคะ

สวัสดีครับ K.Hana

โอ้ อย่างนี้ตอบยาวหน่อยครับ ต้องพูดถึงมรดกก่อน กฎหมายกำหนดไว้ว่ากองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้เช่นความสามารถส่วนบุคคล (มาตรา 1600)แต่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน (มาตรา 1601)แล้วมาดูต่อว่าจะต้องฟ้องเมื่อไรเพราะหนี้อาจยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ได้ เจ้าหนี้จะต้องฟ้องร้องทายาทหรือกองมรดกของเจ้าหนี้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้ว่าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกจะมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปีก็ตาม (มาตรา 1754)ก็คือเรียกกับทายาทหรือกองมรดก ส่วนสัญญาค้ำประกันสัญญานั้น ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น (มาตรา 680) ก็คือถ้าทายาทหรือกองมรดกไม่ชำระผู้ค้ำประกันต้องรับผิด ที่สอบถามว่าหารกันตามส่วนหรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ครับ ต้องรับผิดเต็มตามจำนวนที่ค้ำประกันครับ เว้นแต่จะจำกัดจำนวนเงินในความรับผิดที่ค้ำประกัน เช่น หนี้ 1 แสนบาท แต่ผู้ค้ำประกันจำกัดจำนวนเงินในความรับผิดเพียง 5 หมื่นบาท ถ้าถามว่าจะทำไงบ้างหรือ ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ ผมเคยสอนนักศึกษาว่าอย่าค้ำประกันให้ใครเว้นแต่พ่อกับแม่เท่านั้นเพราะเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง กระดูกแขวนนคอ แต่ถ้าชำระหนี้แล้วสามารถไล่เบี้ยได้จากทายาทหรือกองมรดก แต่โดยทั่วไปเจ้าหนี้จะฟ้องทั้งทายาทและผู้ค้ำประกันครับ

หวัดดีค่ะ รบกวนด้วยน๊าค๊า

เรื่องค้ำประกัน

ฎีกาที่ 1088/30 and ฎีกาที่ 2223/39

เพราะอะไรศาลฎีกาถึงตัดสินว่าไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม มาตรา 680

ด่วนมากค๊า

ขอบคุณณณณณณ ค๊า

ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น แต่ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1088/2530 จำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลภายนอกอีกคนหนึ่ง ทำหนังสือสัญญาให้กับโจทก์ (ผู้ค้ำประกันของร.ลูกหนี้) หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์เข้าค้ำประกันในการที่ ร. (ลูกหนี้)จะปฏิบัติตามสัญญาขนส่งไม้สักที่ ร. ทำไว้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (เจ้าหนี้) จำเลยกับ ร. (ลูกหนี้)จะต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิ้นนั้น คุณจะเห็นได้ว่าไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 เพราะจำเลยมิได้ทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้(องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ (ร.)ไม่ชำระหนี้ แต่จำเลยกับ ร. (ลูกหนี้) ทำสัญญากับโจทก์ (ผู้ค้ำประกัน) จึงมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่เป็นสัญญาเพื่อความรับผิดต่อผู้ค้ำประกันหาก ร.(ลูกหนี้ไม่ปฏิติตามสัญญากับเจ้าหนี้) ต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ครับ

จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2223/2539 แม้การที่โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้ไว้แก่ ธนาคารผู้ให้กู้ จะมิใช่การค้ำประกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ก็ตาม แต่เป็นเรื่องความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญาอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อจำเลยยอมรับว่าโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลย และจำเลยรับจะชำระเงินคืนให้โจทก์ จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงไว้ (ใช่หรือเปล่า)ก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า มาตรา 680 บัญญัติว่า อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ค้ำประกันเป็นสัญญาซึ่ง "บุคคลภายนอกคนหนึ่ง"แต่ในคดีนี้เรื่องความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญาอีกรูปแบบหนึ่ง (มิใช่เป็นเรื่องการประกันด้วยบุคคลครับ) จึงมิใช่สัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680

ทำไมถึงไม่มีปรเภทของสัญญาค้ำประกัน

กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายครับ

สัญญาค้ำประกัน (การเช่าซื้อรถยนต์) ได้พิมพ์อายุของผู้ค้ำประกันจาก 55 เป็น 50 ปี

จะมีผลกระทบอย่างไรในมุมของบริษัทเช่าซื้อครับ และควรดำเนินการแก้ไขอย่างไร

ขอบคุณครับ

กรณี

นาง ก. รับจ้างสร้างบ้านให้ นาย ข.

นาง ก. ทำหนังสือค้ำประกันกับธนาคารให้กับผู้รับสิทธิ นาย ข.

เมื่อบ้านเสร็จและหมดอายุสัญญาแล้ว นาย ข.ไม่คืนหนังสือค้ำประกันให้กับ นาง ก.

1. หนังสือค้ำประกันยังมีผลบังคับใช้หรือไม่

นาย ข. สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจาก นาง ก. ได้หรือไม่

2. หากในหนังสือค้ำประกันมีข้อความว่า

"การเรียกร้องให้ชำระใดๆต้องกระทำก่อนวันที่หมดสัญญา ไม่เช่นนั้นสัญญาจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

แม้ว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันหรือไม่ก็ตาม"

กรณีนี้ นาย ข. ยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจาก นาง ก. ได้หรือไม่

ขอบคุณค่ะ

"เมื่อบ้านเสร็จและหมดอายุสัญญาแล้ว นาย ข.ไม่คืนหนังสือค้ำประกันให้กับ นาง ก."

สัญญามีการจำกัดระยะเวลา ก็ต้องเป็นตามระยะเวลาที่จำกัดนั้น หากความเสียหายเกิดขึ้นหลังระยะเวลานั้น ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใดๆจาก นาง ก. ได้ ตามมาตรา 683 บัญญัติว่า อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ย และค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภารติดพันอัน เป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย กล่าวคือสัญญาค้ำประกันจำกัดความรับผิด หมายความว่า รับผิดตามที่จำกัดไว้ไม่มากไปกว่านั้น

ช่วยตอบคำถามหน่อย

คือ เพื่อนผมซื้อเครื่องซักผ้าและให้ผมเป็นผู้ค้ำ ปรากฏว่าเพื่อนผมไม่ได้จ่ายค่างวดเลย จนมีหมายศาลมาถึงบ้าน อยากทราบว่าผมควรทำไงดี ส่วนเพื่อนตัวดีของผมก็ไม่ได้หายไปไหน ก้อยังเจอหน้ากันอยู่ แต่มันไม่ยอมใช้หนี้ ตัวผมจะเดือดร้อนไหมคับ

ช่วยตอบหน่อย

สวัสดีครับ ธนพล

คำว่า "ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น" หมายถึงถ้าเพื่อคุณไม่จ่ายคุณก็ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนเพื่อนในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน ส่วนควรทำอย่างไรนั้นเมื่อมีหมายศาลมาก็ต้องไปตามนัดไปลองเจรจากับเจ้าหนี้ดูครับ แต่ปรกติควรปรึกษาทนายความ จะได้ทำคำให้การด้วยครับ

คือเรื่องมีอยู่ว่า ถ้าภรรยานำที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสไปขายฝากไว้จนที่ดินโดนยึดไปและเพิ่งจะมาบอกสามีทางฝ่ายสามีจะสามารถเรียกร้องนำสินสมรสคืนได้รึเปล่าครับรบกวนช่วยทีนะครับ

สามีภรรยาในที่นี้หญ่าร้างกันแล้วแต่ยังอยู่กินกันปรกติจนมีบุตร1คนและที่ดินผืนนั้นหาได้ระหว่างสมรสกันอยู่และยังไม่เคยมีการแบ่งสินสมรสกันครับ


 

 

สัญญาค้ำประกันมีรอยลบรอยแก้ไขมีผลทางกฎหมายมั้ยค่ะ

ขอโทษนะค่ะอาจเป็นคำถามเดิมๆ. คือถ้าเราได้ไปคำ้ประกันรถยนต์ แต่เราต้องการถอนคำ้ประกันโดยที่ลูกหนี้ไม่ได้มีการผิดสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใดยังคงส่งค่างวดมาได้ดีตลอดเป็นระยะเวลา15เดือน แต่โดยทั้งนี้ ลูกหนี้ได้แสดงอาการผิดสัญญาที่เคยให้ไว้กับผู้คำ้ประกันโดยการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในการส่งเอกสารใบแจ้งค่างวด โดยที่ไม่ได้มีการบอกผู้คำ้ ซึ่งเป็นการผิดสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบ อย่างนี้เราสามารถยื่นคำร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งไปยังเจ้าหนี้เพื่อทำการส่งหนังสือไปยังลูกหนี้ ว่าให้มีการเปลี่ยนแปลงคนคำ้ประกันเนื่องจากคนคำ้ไม่สามารถจะคำ้ประกันต่อไปได้

มีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ คือว่า หนูเป็นนักศึกษาปี 2 ไม่มีรายได้เปนของตัวเอง แต่ได้ไปเซ็นค้ำประกันให้พี่สาวที่ได้ยักยอกเงินบริษัทไปเป็นจำนวน 300,000บาท และได้ทำสัญญากันว่าจะจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ เดือนละ 3000 บาท แต่พี่สาวไม่ทำตามสัญญา และเจ้าหนี้ได้ทำเรื่องดำเนินคดี แต่พี่สาวก้อบอกแต่ว่าไม่มีจ่ายและไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง อย่างนี้หนูจะต้องได้รับผิดชอบแทน หรือ รับผิดชอบร่วมกับพี่สาวไหมคะ? ตอนนี้หนูก้อไม่มีรายได้และกำลังกู้เรียนอยู่ค่ะ

ถ้าผู้ค้ำประกันเสียชีวิตลงสัญญาค้ำประกันนั้น จะมีผลตกแก่ทายาทหรือไม่ค่ะ เพราะเหตุใด

หนูอยากทราบจริงๆค่ะ

อยากถามว่า หากผู้กู้ยืม หนี ไม่รับผิดชอบในหนี้ที่กู้นั้น ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในหนี้สิน แทนแล้ว ถ้าเกิด

ผู้ค้ำประกัน เสียชีวิต บุตรของผู้ค้ำประกันต้องรับผิดหนี้แทนผู้ค้ำไหมค่ะ

แล้วถ้ากรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิต แต่ลูกหนี้ยังอยู่แล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันที่เสียชีวิตไปแล้วต้องรับผิดชอบอะไรต่อไหมครั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท