• ท่านนายกฯ อานันท์ ได้รับการร้องขอจาก ดร. โคฟี่
อันนันเลขาธิการองค์การสหประชาชาติให้เป็นประธานคณะทำงานยกร่างการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติเมื่อประมาณปีครึ่งมาแล้ว
• รายงานนี้ระบุชัดเจนว่ารูปแบบการบริหารของ ยูเอ็น
ที่ใช้มานานกว่า ๕๐ ปี ล้าสมัยและทำให้ ยูเอ็น
ด้อยประสิทธิภาพ
มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมากเกินไป
โดยที่บุคลากรจำนวนมากเป็นผู้ไม่มีความสามารถในการทำงานให้ ยูเอ็น
เนื่องจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกส่งหัวคะแนนของตนมาเป็นเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น
เป็นการตอบแทนทางการเมือง
นี่เป็นตัวอย่างของสาเหตุเดียวของความด้อยประสิทธิภาพ
ที่บทนำในบางกอกโพสต์ (๕ พค. ๔๙) ระบุ
แต่ผมว่าตันเหตุของความด้อยประสิทธิผล/ประสิทธิภาพมีอีกมากมาย
• ยกแรกของการขยับเพื่อปฏิรูป ยูเอ็น
คณะกรรมการงบประมาณลงมติไม่รับข้อเสนอด้วยคะแนนเสียง 108 : 50
โดยงดออกเสียง 3 ประเทศ
• กลุ่มประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เรียกว่า "กลุ่ม 77"
โดยเวลานี้ขยายจำนวนเป็น 134 ประเทศ
ไทยเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ด้วย
เหตุที่ไม่เห็นด้วยก็เพราะคิดว่าการปฏิรูปนี้เป็นวิธีที่ประเทศมหาอำนาจจะเข้าไปยึดครองยูเอ็นยิ่งขึ้น
และทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสได้รับประโยชน์จากยูเอ็นลดลง
• ผมอ่านบทความนี้แล้วไม่ตัดสินว่าควรให้ความเห็นชอบข้อเสนอปฏิรูปยูเอ็นหรือไม่
เพราะไม่ได้อ่านข้อเสนอนั้น
และถึงแม้ได้อ่านผมก็จะไม่เข้าใจความหมายได้ลึกซึ้ง
• แต่ผมมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับองค์การชำนัญพิเศษของยูเอ็นอยู่บ้าง
พบว่าในองค์การนั้นมี "การเมือง" อยู่ไม่ใช่น้อย
ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา
หลายครั้งทำให้กิจกรรมที่ทำไม่ค่อยก่อประโยชน์ในระดับประเทศสมาชิก
• "การเมือง" ที่ว่าก็คือต้องหันไป "มองหน้า"
ลูกพี่ใหญ่อย่างอเมริกา ก่อนจะตัดสินใจทำ
หรือไม่ทำอะไร และวิธีคิดหลายๆ
อย่างก็คิดบนฐานของประเทศพัฒนาแล้ว
ทำให้ข้อตัดสินใจขององค์การไม่ก่อผลต่อประเทศกำลังพัฒนาเท่าที่ควร
วิจารณ์ พานิช
5 พค. 49
สนามบินขอนแก่น
ไม่มีความเห็น