ธรรมชาติคือครู (ตอนที่ 2) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กวี วรกวิน


ธรรมชาติคือครู (ตอนที่2) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กวี วรกวิน

                  ธรรมชาติคือครูตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความสมดุลว่าเป็นธรรมชาติ คนเราเรียนรู้ความสมดุลจากธรรมชาติ เช่น ความพอดี ความพอเพียง ฯลฯ สำหรับครั้งนี้ ธรรมชาติคือครูได้แก่ความว่างเปล่า ซึ่งบางคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงเป็นความว่างเปล่า รูปธรรมก็มองไม่เห็น นามธรรมก็ไม่มี แล้วจะมาเป็นครูได้อย่างไร

                   แต่อาจกล่าวได้ว่า ความว่างเปล่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง หากเราหันกลับมามองพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่างที่บางครั้งที่คนเรามองข้ามไป หรือว่าไม่มีใครมากระตุ้น คนที่ไม่สนใจอะไรก็ไม่ทราบ แม้แต่สิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่เป็นรูปธรรม บางครั้งหลายคนก็มองข้ามสิ่งเหล่านั้นไปมีคนบอกให้ อย่างเช่น นักเรียนต้องคอยมีครู บอกให้ว่าสิ่งนี้น่าสนใจ เธอสังเกต เธอเรียนรู้สิ ศึกษากระบวนการต่างๆเหล่านี้สิ ยิ่งไม่มีตัวตนความว่างเปล่ายิ่งไม่มีใครสนใจ

                   ดังนั้น หากคนไทย นักเรียนไทยรุ่นใหม่ได้มีสำนึกได้หันมามองเห็นความสำคัญต่างๆก็จะเห็นคุณค่า ในประเทศไทยนี่ยังมีธรรมชาติยังมีสิ่งต่างๆอีกมากมายเหลือเกินที่คนไทยไม่มอง ไม่สนใจ หากว่าเราไม่สนใจ ไม่ทำความรู้จัก ไม่ทำความเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อความหมายของสิ่งต่างๆไม่เกิดขึ้น คุณค่าที่จะเห็นก็ไม่มีทางเกิดขึ้น เมื่อคุณค่าไม่เห็นก็จะไม่เกิดความรักชอบพอ ความรักชอบพอก็จะไม่เกิดความยั่งยืน คือการอยู่นานๆอยู่ไม่ได้ไม่มีใครบำรุงรักษา

                    ความว่างเปล่า อาจยกตัวอย่างได้เช่นสิ่งต่างๆนั้นสิ่งที่มีดอกทั้งหลาย การที่ดอกจะปรากฏชัดเจนหรือไม่นั้น สิ่งที่จะขับดอกขึ้นก็คือพื้น เสื้อผ้าเรามีดอกก็ใช้ได้ ดอกสีแดงอาจทำรูปต้นไม้ ถ้ารูปดาวจุดๆ แดงๆ ขาวๆ เหลืองๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ดอกจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมีพื้นเป็นเบื้องหลัง มีพื้นเป็นสีขาว มีพื้นเป็นสิ่งแวดล้อมเป็นตัวปรากฏ ในการทำดอกดวงทำลักษณะเด่น ต่างๆ ความจริงดอกนั้นจะปรากฏชัดเจน สวย ไม่สวย นั้นเป็นตัวช่วย เพราะฉะนั้นดอกนั้นจะอยู่ได้ก็ต้องมีพื้นเป็นเบื้องหลัง

                    ในธรรมชาติจะปรากฏจริงโลกเราหรือสิ่งแวดล้อม หรือในสังคมเรานี้สิ่งที่ปรากฏนั้นมีความว่างเปล่าเป็นพื้น ความว่างเปล่าเป็นเบื้องหลัง หากเราลองหันมาสนใจความว่างเปล่าดูบ้างสิ เราจะไม่เคยรู้สึกว่างเปล่า เราไม่เคยสนใจความว่างเปล่า เราไม่เห็นความหมายความว่างเปล่า เราก็ไม่เห็นคุณค่าความว่างเปล่า

                   เท่าที่ฟัง เท่าที่สังเกต คนที่ใช้ความว่างเปล่าเป็นประโยชน์หรือเห็นคุณค่ามากที่สุดก็เป็นทางศาสนธรรม คือ ศาสนา ไปหาหลวงพ่อต่างๆตามวัด เขาจะแนะนำให้เราตั้งสติ ตั้งสมาธิ แล้วเราก็ไปสู่ความว่างเปล่า เพื่อที่เราจะได้ลืมเรื่องต่างๆที่ทำให้เราเครียด สับสน วุ่นวายตอนอยู่ที่บ้าน

                   เมื่อพบปะมีเรื่องราวต่างๆกับคนมากมาย จนกระทั่งเกิดความเครียด มีผลทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดความสับสน ทรมาน ท้ายที่สุดพอมาวัด หลวงพ่อก็จะเทศน์ให้เราฟังว่า ลองหันไปดูความว่างเปล่า ทำตัวให้วางเปล่า ปล่อยทิ้ง อย่ามายึดอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อใช้ประโยชน์การทำใจให้ว่างเปล่า เพื่อให้คนนั้นพ้นทุกข์ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ตนเอง

                    ความจริงความว่างเปล่าไม่ใช่มีไว้เพื่อทางศาสนาอย่างเดียว ในทางโลกทางมนุษยวิทยาหรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ ความว่างเปล่าก็ยังใช้ประโยชน์ได้ ถ้าคนนั้นรู้จัก เห็นความหมาย คนนั้นเห็นคุณค่า หากเราหันมาสังเกต หันมาสนใจ ลองมองสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้มอง มาพิจารณาในสิ่งที่คนอื่นไม่คิด

                    มีหลายๆสิ่งที่อยู่ในตัวเรา แต่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าเราเอามาใช้ประโยชน์ก็ตีเป็นทรัพยากร ถ้าคนเราหันมาเอาความว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ ก็ถือว่าความว่างเปล่าเป็นทรัพยากรได้ วิธีคิดของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่คนรุ่นใหม่ต้องคิด รัฐบาลใหม่กำลังสร้างคนที่มีความคิดเหลากหลายให้คิดเป็น เราลองหันมาคิดความว่างเปล่า หลวงพ่อต่างๆในทางศาสนาสอนให้เรารู้จักปล่อยวาง ปลดสิ่งต่างๆให้ออกจากพันธนาการ ความว่างเปล่ามันเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของความเป็นมาทางโลก

                  ถ้าเราพิจารณาความเป็นมาทางวิทยาศาสตร์ ความว่างเปล่าคือขีดความสามารถหรือปริมาตรที่จะนำสิ่งต่างๆมาใส่ให้ได้มากที่สุด ความว่างเปล่ามีปริมาณสูงสุด ใครมีความว่างเปล่ามาก ก็อาจจะมีโอกาสเติมเต็มสิ่งใดๆลงไปได้อีก

                     ถ้าเรามองในเชิงสังคม แง่คิดความว่างเปล่ามันทำให้เกิดอะไรได้มาก มันก่อให้เกิดบริบทเชิงทางสังคม หรือในเชิงที่เกี่ยวข้องในแง่ของปริมาณ ความว่างเปล่ามันสะอาดไม่มีดอก ไม่มีดวง พูดง่ายๆ ไม่มีอะไรมลทินมา ปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าในห้องไม่มีอะไรเลยมันว่างเปล่า ว่างเปล่าก็ไม่มีอะไรรกรุงรัง เป็นภาพที่เห็นแล้วโล่ง โปร่ง สบาย

                   หากเราเอาความว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์นำมาใช้ในด้านของจิตใจ ในด้านของตัวมนุษย์เอง ทำให้สะอาด จิตใจสะอาดคือจิตใจว่างเปล่า ถ้าพูดถึงจิตใจหมายถึงจิตใจสะอาด ถ้าพูดถึงสถานที่ทั่วไปถ้าไม่มีอะไรปรากฏก็คือ สะอาด ว่างเปล่า ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งความว่างเปล่าเราเอามาคิดมาใช้ประโยชน์ได้อีก

               ต่อจากสะอาดก็คือสะดวก ความว่างเปล่าทำให้ไม่มีอะไรอยู่ในจิตใจ ถ้าในถนนว่างเปล่าไม่มีอะไรมากีดขวางก็สะดวก ในห้องไม่มีอะไร การเคลื่อนย้ายก็สบาย หากมองไปถึงอนาคตความว่างเปล่าทำให้สะดวก อย่างในสมองของเราในวิธีคิด ถ้ามีไม่มาก ไม่มีอะไรมามะรุมมะตุ้มทำให้เราแน่นไปด้วยความคิด การคิดน้อยๆ จะสะดวกกว่า เร็วกว่าบางเรื่อง เราจึงต้องจัดระบบความคิดไม่ให้มีอะไรมารกรุงรังทำให้เกิดความสะดวก

              ทีนี้เมื่อมองว่าในเมื่อว่างเปล่าถ้าเราพิจารณาในเรื่องของจิตใจก็ใช้ได้ ถ้าในแง่ของสังคมทั่วไปในแง่ปรากฏการณ์ต่างๆ พื้นที่ต่างๆ มีความสะอาด ความว่างเปล่ามาก ก็จะทำให้เกิดความสบาย ไม่เกะกะ ไม่สกปรก ทำให้เคลื่อนที่เร็ว ในทางศาสนา หลวงพ่อต่างๆบอกว่าเมื่อมันไม่มีอะไรมาถึงมันก็จะเบาตัว สบาย เพราะฉะนั้นความว่างเปล่าทำให้สบาย ทำให้ไม่วุ่นวาย ทำให้ไม่รกรุงรัง ทำให้บางตา

                 ถ้าพูดในเชิงเศรษฐกิจ ในเมื่อไม่มีอะไรเลย เราเอาความว่างเปล่ามาเป็นธรรมชาติ อันหนึ่งเพียงแค่ว่าเพียงแต่เราอาจไม่มีครูสอนมาแต่ก่อนไม่มีครูแนะนำว่าความว่างเปล่ามันเป็นคุณสมบัติอันหนึ่ง เพราะฉนั้นหากคนรุ่นใหม่คิดถึงธรรมชาติในความหมายของความสมดุลที่ได้กล่าวในคราวที่แล้ว และครั้งนี้ก็คือความว่างเปล่า ก็เท่ากับว่าธรรมชาติคือครูสอนเรา นอกเหนือไปจากความคิดเดิมที่ว่าธรรมชาติคือต้นไม้ ภูเขา ทะเล อากาศ และสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเรา ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27954เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เห็นด้วยครับ
  • ดีใจที่มีอาจารย์จาก มศว. เขียน blog ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท