เกณฑ์วิทยฐานะใหม่


ข่าวการจัดทำผลงานทางวิชาการตามเกณฑ์ใหม่

ไฟเขียวเกณฑ์วิทยฐานะใหม่

เริ่มใช้1ต.ค.52-ให้ก.ค.ศ.ทำคู่มือกก. ชี้ผู้ยื่นเก่า4หมื่นใช้เกณฑ์ประเมินเดิม

               เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)       เปิดเผยผลการประชุม ก.ค.ศ.ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ซึ่งปรับมาจากว 25/2548 และว 2/2551และได้นำไปประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว โดยที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบกรอบการประเมินวิทยฐานะตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอทุกอย่าง และให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปจัดทำคู่มือผู้ขอรับการประเมิน คู่มือกรรมการประเมินตลอดจนเครื่องมือในการประเมินวิทยฐานะ เช่น แบบฟอร์มการประเมินต่างๆ เป็นต้น ให้เสร็จก่อนที่นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 หรือปีงบประมาณ 2553 ระหว่างนี้ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.รายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ทุกเดือน ส่วนผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการประเมินวิทยฐานะ รวมถึงที่ยื่นความจำนงขอรับการประเมินวิทยฐานะใหม่เข้ามาแล้ว 2 รุ่น ตามหลักเกณฑ์ ว 25/2548 ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 40,000 คนนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.จะประเมินตามเกณฑ์เดิมต่อไป
                นายประเสริฐกล่าวว่า กรอบประเมินวิทยฐานะมีดังนี้ คุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน กำหนดให้ต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งวิทยฐานะตามมาตรฐานวิทยฐานะ และต้องมีภาระงานขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าภาระงานตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด ส่วนองค์ประกอบในการประเมินมี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งจะพิจารณาจากประวัติการรับราชการ (ก.พ.7) คำรับรองจากผู้บังคับบัญชา และกรรมการสถานศึกษา และเอกสารการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวินัย คุณธรรม จริยธรรม    ด้านที่ 2 ด้านความรู้ ความสามารถ พิจารณาจากเอกสารที่แสดงถึงการพัฒนาตนเอง หลักฐานที่แสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ในการจัดการเรียนการสอน เช่น สื่อการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แฟ้มสะสมงาน เป็นต้น และด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และผลงานทางวิชาการ โดยผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือผลการทดสอบของหน่วยงานที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีการพัฒนาด้านการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านอื่นๆ โดยคำนึงถึงปริมาณ คุณภาพ และสภาพของงาน สำหรับผลงานทางวิชาการ จะเป็นลักษณะของรายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือการวิจัยในชั้นเรียน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านการเรียนของผู้เรียน มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป

               นายประเสริฐกล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์การตัดสิน สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ด้านที่ 1 ด้านคุณธรรมฯ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ด้านที่ 2 ด้านความรู้ฯ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงานฯ ต้องได้คะแนนผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ผลงานทางวิชาการ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 รวมเฉลี่ยสองส่วนต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
               "การตั้งคณะกรรมการประเมินนั้น ในส่วนของวิทยฐานะชำนาญการ ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ตั้งกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษาของผู้ขอรับการประเมิน ผู้ทรงคุณวุฒินอกสถานศึกษา และข้าราชการครูฯ ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะชำนาญการ ส่วนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ตั้งกรรมการจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.เห็นชอบ ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ตั้งคณะกรรมการจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.เห็นชอบ โดยกำหนดให้มีกรรมการ 3 คน ต่อผู้ขอรับการประเมิน 1 คน ประเมินทั้ง 3 ด้าน ยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้ง ถ้ายื่นคำขอแล้วภายใน 1 ปี ยังไม่ทราบผล สามารถยื่นขอใหม่ได้ ขอข้ามวิทยฐานะได้ (จากวิทยฐานะชำนาญการไปเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญได้) ถ้าผลงานอยู่ในเกณฑ์ที่ปรับปรุงได้ ให้ปรับปรุงได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 6 เดือน ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 3 เดือน ส่งให้กรรมการชุดเดิมพิจารณา" นายประเสริฐกล่าว
                นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กรณีที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ และมอบให้นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจฯ ไปจัดทำรายละเอียด เพื่อประกาศในวันที่ 1 ตุลาคม นั้น สำหรับเกณฑ์การตัดสินมีดังนี้ วิทยฐานะชำนาญการ จะประเมินทั้ง 3 ด้าน โดยแต่ละด้านต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 โดยในด้านที่ 3 คือการประเมินผลการปฏิบัติงาน จะประเมินเฉพาะผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเท่านั้น ไม่ต้องประเมินผลงานทางวิชาการ, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ด้านที่ 1 และ 2 ต้องได้คะแนนแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ส่วนด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนในส่วนผลการพัฒนาผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 คะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 โดยเมื่อรวมคะแนน 2 ส่วนนี้ ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70, วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ด้านที่ 1 และ 2 ต้องได้คะแนนแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ส่วนด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนในส่วนผลการพัฒนาผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และคะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยคะแนนสองส่วนนี้จะต้องรวมกันเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75, วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ด้านที่ 1 และ 2 ต้องได้คะแนนแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยในด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนในส่วนผลการพัฒนาผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และคะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และต้องได้คะแนนสองส่วนนี้เฉลี่ยรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

                 "ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่างจากเกณฑ์เดิม โดยให้ค่าน้ำหนักผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนถึงร้อยละ 60 ส่วนผลงานทางวิชาการจะให้ค่าน้ำหนักเพียงร้อยละ 40 และต้องเป็นผลงานทางวิชาการที่เน้นทำวิจัยในห้องเรียนเป็นหลัก ส่วนเงินวิทยฐานะนั้น ชำนาญการได้รับเดือนละ 3,500 บาท ส่วนวิทยฐานะตั้งแต่ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 2 เท่า จากอัตราเดิม ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยชำนาญการพิเศษจะได้รับเดือนละ 12,000 บาท เชี่ยวชาญได้รับเดือนละ 19,800 บาท และเชี่ยวชาญพิเศษได้รับเดือนละ 26,000 บาท และหากร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษามีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้เงินวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 31,000 บาท" นายจุรินทร์กล่าว

                                                                                                                                                       ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน

                       หากพิจารณาจากเกณฑ์การประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่เสมือนหนึ่งเป็นการให้โอกาสแก่คณะครูมากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีเกณฑ์การประเมินด้วยวิธีใดก็ตาม คุณครูที่มีความตั้งใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีผลงานที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างแท้จริง ยังคงมีโอกาสผ่านการประเมินมากเช่นเดิมขอให้กำลังใจ  เตรียมให้พร้อมครับ

   

 



หมายเลขบันทึก: 279230เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

คุณสมบัติของผู้รับการประเมินครูชำนาญการมีอย่างไรบ้าง ช่วยอธิบายความหมายของคำว่าดำรงตำแหน่งครู หมายถึง ครูเที่คยเป็นอัตราจ้างหรือพนักงานราชการมาก่อนด้วยหรือไม่ เพราะข้าพเจ้าเป็นครูอัตราจ้างและพนักงานราชการรวมกันแล้ว 7 ปีและบรรจุเป็นครูผู้ช่วย 2 ปีและพ้นจากครูผู้ช่วยเป็นครูมาเกือบ 2 ปีแล้ว ในกรณีนี้สามารถยื่นทำครูชำนาญการได้หรือไม่ ช่วยตอบให้กระจ่างด้วย ขอขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

ผมได้รับทราบทราบข้อปัญหาของท่านที่ใช้นามว่าสุรินทร์แล้วครับ ได้สอบถามไปที่เขตการศึกษา ฝ่ายบริหารงานบุคคลซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำผลงานทางวิชาการ ตอบว่า ผู้ที่จะทำผลงานครูชำนาญการ ต้องมีคุณสมบัติคือ

๑.ผู้ขอรับการประเมิน ขอให้มีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี, ๔ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาโท และ ๒ ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาเอก

ในคุณสมบัติข้อนี้ กล่าวคือ ผู้ที่จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ปัจจุบันจะต้องดำรงตำแหน่งครู (ตำแหน่งสายผู้สอนมี ๒ ตำแหน่ง คือ ครูผู้ช่วย กับ ครู) และมีประสบการณ์สอนตามที่กล่าวไว้ข้างต้นที่ผันแปรตามคุณวุฒิ ซึ่งประสบการณ์สอนนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำหน้าที่สอนติดต่อกันก็ได้ และสามารถนำประสบการณ์ ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการสอนทั้งในสายงานการศึกษาของรัฐและเอกชนมานับรวมได้ หากประสบการณ์การดำรงตำแหน่งครูไม่ครบตามหลักเกณฑ์ เช่น คุณครูบางท่านก่อนที่จะมารับราชการครู อาจจะเคยเป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชน เคยเป็นครูอัตราจ้าง หรือพนักงานราชการ ทั้งนี้ควรจะเตรียมเอกสารหลักฐานไว้ เพื่อการตรวจสอบ

๒. เงินเดือนในอันดับ ค.ศ.๒ คือ ๑๕,๔๑๐ บาท จึงสามารถยื่นขอประเมินวิทยฐานะชำนาญการได้

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางเขตพื้นที่การศึกษากำลังรอเกณฑ์ใหม่อยู่ โดย ก.ค.ศ.ได้แก้ไขมาตรฐานครูชำนาญการใหม่ ผ่าน ก.ค.ศ.เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอแจ้งสถานศึกษาทราบและดำเนินการ ซึ่งผมได้ค้นจากเวบไซด์ ครูไทย มาให้ทราบจากการชี้แจงของสุบัน ประทุมทอง ผู้แทนใน ก.ค.ศ. ว่าไว้ดังนี้

สุบัน ประทุมทอง ผู้แทนครูใน ก.ค.ศ. ว่า

ก.ค.ศ.ได้ทำการแก้ไขมาตรฐานวิทยฐานะครูชำนาญการ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอเพียงการแจ้งให้สถานศึกษาทราบ

โดยรายละเอียดของการแก้ไขนั้น ก.ค.ศ.ได้ทำการตัดข้อความในส่วนของการได้รับเงินเดือนของผู้ที่ได้รับวิทยฐานะครูชำนาญการออกไป จากเดิมนั้นกำหนดไว้ว่า "ผู้ที่ได้รับวิทยฐานะครูชำนาญการ ให้ได้รับเงินเดือนใน อันดับ คศ.๒" ซึ่งปัจจุบันนี้คือขั้น ๑๕,๔๑๐ บาท

การตัดข้อความ การให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๒ ออกไปนั้น เพื่อต้องการให้เกิดความยุติธรรมเรื่องเงินเดือน เช่นกรณีตัวอย่าง

ครู ก. (วุฒิ ป.ตรี) บรรจุเป็นครู รับราชการมาแล้ว ๑๐ ปี รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๑ ขั้น ๑๔,๖๓๐ บาท กับ

ครู ข. (วุฒิ ป.ตรี) บรรจุเป็นครูผู้ช่วย เมื่อ ๑ กันยายน ๒๕๔๙ รับราชการมาแล้ว ๒ ปี รับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วย ขั้น ๙,๔๘๐ บาท โดยครบ ๒ ปีเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ (ผ่านการประเมินอย่างเข้ม) ดังนั้นตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๑ ครู ข. จะเปลี่ยนตำแหน่งจากครูผู้ช่วย เป็นตำแหน่งครู โดยตำแหน่งครู จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่บรรจุ คือ ๑ กันยายน ๒๕๔๙ นอกจากนี้ ก่อนที่ครู ข.จะได้รับการบรรจุ ครู ข. เคยเป็นครูอัตราจ้าง + พนักงานราชการ รวมกันแล้ว ๔ ปี เมื่อนำประสบการณ์การเป็นครูอัตราจ้าง + พนักงานราชการ รวมกับอายุราชการ ๒ ปี รวมเป็น ๖ ปี (มีประสบการณ์สอน)

ดังนั้น ทั้งครู ก. และ ครู ข. มีคุณสมบัติสำหรับการยื่นประเมินวิทยฐานะครูชำนาญการ ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ เพราะเกณฑ์ประเมินกำหนดไว้ว่า จะต้องดำรงตำแหน่งครู หรือมีประสบการณ์สอน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๖ ปี สำหรับ ป.ตรี

ถ้าทั้ง ๒ ท่านผ่านการประเมินวิทยฐานะครูชำนาญการ จะได้รับเงินเดือน ดังนี้

- มาตรฐานวิทยฐานะ (เดิม) จะได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๒ ขั้น ๑๕,๔๑๐ บาท และได้รับเงินวิทยฐานะ ๓,๕๐๐ บาท ได้รับเงินเดือนเท่ากันทั้ง ๒ ท่าน แตกต่างกันเพียงอายุราชการเท่านั้น

- มาตรฐานวิทยฐานะ (ตัวใหม่ที่แจ้งในข่าวนี้) ครู ก. และครู ข. จะได้รับเงินเดือนเท่าเดิม (ไม่คิดการเลื่อนขั้นเงินเดือนช่วงเดือน ตุลาคม ๒๕๕๑ ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการยกตัวอย่าง) แต่จะได้เพิ่มในส่วนของเงินวิทยฐานะ เดือนละ ๓,๕๐๐ บาท

ครับถ้าเกณฑ์ใหม่นี้ประกาศใช้คุณสุรินทร์จะสามารถเข้าสู่กระบวนการประเมินได้เลย อย่างก็ตามเรื่องนี้คงต้องสอบถามทางเขตพื้นที่ของท่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบสิทธิในการสมัครเข้ารับการประเมิน

ขอให้ท่านโชคดีในการเข้ารับการประเมิน และประสบความสำเร็จนะครับ

ครูไพ

เรียนผู้รู้และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ดิฉันอยากรบกวนขอคำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิยื่นประเมินวิทยฐานะชำนาญการ (3,500) ดิฉันอยากทราบว่าประสบการณ์ในการสอนเนี่ยรวมของเอกชนด้วยได้ไหมคะหรือว่าเฉพาะพนักงานราชการหรืออัตราจ้างของทางราชการเท่านั้น คือ ดิฉันมีประสบการณ์ในการสอนโรงเรียนเอกชนมา 5 ปี ต่อเนื่องกันจนกระทั่งถึง 31 ตุลาคม 2548 ได้ลาออกจากโรงเรียนเอกชนแล้วเข้ารับราชการในวันที่ 1 พ.ย. 2548 เมื่อนับรวมถึงปัจจุบันก็จะถือเป็นประสบการณ์ในการสอนรวม ประมาณ 8 ปีกว่า ๆ ถ้ากรณีอย่างนี้ดิฉันจะสามารถขอยื่นรับการประเมินได้ไหมค๊ะ ขอรบกวนท่านผู้รู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยให้ความกระจ่างด้วยนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ

ดิฉันขอรบกวนท่านในเรื่องชำนาญการเกณฑ์ใหม่ด้วย ว่าดิฉันสามารถยื่นประเมินได้ไหม

ดิฉันเป็นครูตั้งแต่ปี 2541 ตำแหน่ง ครู 1 และได้เลื่อนตำแหน่ง อาจารย์ 1 เมื่อ 18 ม.ค.2545 ปัจจุบันเงินเดือน 16480.- ตำแหน่ง ครู คศ.1 ตอบให้ด้วยนะคะ

ขอรบกวนถามเรื่องชำนา

ดิฉันขอรบกวนท่านในเรื่องชำนาญการพิเศษเกณฑ์ใหม่ค่ะ ดิฉันสอนมัธยมปลายตั้งแต่ 23 กย 39 และย้ายมาสอนประถมเมื่อ 29 มิ ย 52 อยากทราบว่าดิฉันจะยื่นขอชำนาญการพิเศษเกณฑ์ใหม่ โดยนำเอาผลO-net ปีท่แล้ว(ของมัธยม ) และผล NT ( จะสอบในเดือน ม ค )ของประถม นำมาใช้ได้หรือไม่คะ เพราะเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ใช้ ผลO-net หรือผล NT ของโรงเรียนที่เราทำการสอน 2 ปีย้อนหลังค่ะ

ดิฉันอยากทราบว่าเกณฑ์ชำนาญการที่จะใช้ในเดือน ต.ค. 52 นี้ ยังต้องดูเงินเดือนอยู่รึเปล่าดิฉันรับราชการมา 6 ปีกว่า จบปริญญาตรี แต่เงินเดือนแค่ 11930 ไม่ทราบว่าจะยื่นได้ไหมคะช่วยตอบที

ดิฉันยากทราบว่าจะฟ้องใครดีคะ ที่ทำให้ดิฉันเสียสิทธิในการเข้ารับประเมินวิทยฐานะครูชำนาญการ ด้วยกรณีนี้คะ 1. เขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้โรงเรียนทราบในการขอรับการประเมิน 2 เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ตรวจสอบคุณสมบัติผิดทั้งที่ข้าพเจ้ามีสิทธิในการขอรับการประเมิน แต่ให้ชฃอไว้ก่อน กรุณาช่วยแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณคะ

เรียน คุณครูทุกท่านที่แสดงความเห็นเข้ามาครับ

เรื่อง หลักเกณฑ์ในการประเมินครูชำนาญการ นั้นผมพยายามสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่เพื่อความชัดเจน เพื่อนำมาตอบคุณครู เมื่อวาน (๒๒ กันยายน ๒๕๕๒) ได้ไปที่ สำนักงาน ก.ค.ศ. ที่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่ค่อยชัดเจน เพราะขณะนี้ท่านให้รอเกณฑ์ใหม่ เพราะเกณฑ์เก่าจะหยุดใช้ในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ผมพยายามถามหาเกณฑ์ใหม่ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ คงจะประกาศเร็ว ๆ นี้ กระมัง หรือจะยังไง สิ้นเดือนกันยายนนี้คงจะทราบครับ จะใช้เกณฑ์ใหม่ หรือจะต่ออายุเกณฑ์เก่าไปอีก ...ถึงตอนนั้นเราคงต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์กันต่อไป สำหรับกรณีการขอประเมินผลงานชำนาญการของแต่ละคน ซึ่งอาจเคยมีประสบการณ์การสอนจากโรงเรียนเอกชนมา จะนำมารวมคิดได้หรือไม่อย่างไร เราจะขอได้เมื่อเงินเดือนเท่าไร หรือทำงานมาแล้วกี่ปี เพื่อไม่ให้เราเสียสิทธิ์เราคงต้องติดตามเกณฑ์ใหม่ครับ หากมีข้อสงสัย ทาง ก.ค.ศ.บอกว่าต้องสอบถามเขตพื้นที่ เพราะทาง ก.ค.ศ.มอบให้เขตพื้นที่ดำเนินการครับ โดยให้ผู้เสนอขอเป็นคนสอบถามเอง หากมีปัญหาคงต้องเสนอให้ทาง ก.ค.ศ.พิจารณาเป้นราย ๆ ไป ครับ ผมก็พยายามติดตามข้อมูลเหล่านี้อยู่เพื่อนำมาเสนอแนะเพื่อนครู แต่ก็กำลังรอเกณฑ์ใหม่อยู่เหมือนกันครับ เพราะหากตอบคุณครูไปผิด ๆ ก็จะทำให้เข้าใจผิดได้ คงต้องอดใจรออีกสักระยะครับ

ครูน้อยจริง จริง ค่ะ เข้าใจยากมาก

สรุปง่าย ง่าย เลยได้มั้ย

คำถามค่ะ ... จะตัดเรื่องกำหนดเงินเดือนทำวิทยฐานะชำนาญการมั้ยค่ะ...

ถ้าไม่ตัดเงินเดือนเท่าใหร่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

หลักเกณฑ์ในการประเมินวิทยฐานะชำนาญการครู ที่ว่า 6 ปีสำหรับผู้มีวุฒิ ป.ตรี 4 ปี สำหรับผู้มีวุฒิ ป.โท และ 2 ปี สำหรับผู้มีวุฒิ ป.เอก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอัตราเงินเดือน 10,470 บาท มีตำแหน่งครูผู้ช่วย 2 ปี และได้รับประเมินให้ได้รับตำแหน่งครู ค.ศ.1 เมื่อ 1 พ.ย. 50 จบการศึกษาปริญญาโท รวมอายุการรับราชการ 4 ปี มิทราบว่าจะเข้าเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะชำนาญการสำหรับผู้มีคุณวุฒิ ป.โท หรือไม่ เพราะได้ยินข่าวลือว่านับอายุราชการจากการเป็นครูเท่านั้น ไม่นับครูผู้ช่วย ช่วยให้ความกระจ่างด้วย ขอบคุณค่ะ

ชำนาญการพิเศษเกณฑ์ใหม่ แบบประเมินด้านที่ 1,2 เปลี่ยนใหม่หรึอเปล่าคะ หรึอยังใช้แบบเดิม

ดิฉันดำรงตำแหน่ง อ.1 ตั้งแต่ 22 พย.45 และมาเปลี่ยนเป็นครู(คศ.1) 24 ธค.47 เงินเดือน 19,010 บาท ไม่ทราบว่าเข้าเกณฑ์ในการยื่นทำวิทยฐานะได้เมื่อไรค่ะ เพราะตอนนี้สับสนในการรับข่าวสารข้อมูล อย่างไรใคร่ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบให้ชัดเจนหน่อยค่ะ จะขอบคุณมากเลยค่ะ เพราะส่งไปขอรับการประเมินหน่วยงานจะบอกว่าขาดคุณสมบัติ ทำไหมไม่บอกว่าคนถึงเมื่อควรจะยื่นได้นะค่ะจะได้ไม่เสียเวลา

ขอขอบคุณมากนะค่ะ

นา

ดิฉันบรรจุปี 44 ปัจจุบันเงินเดือนรับ 14,690 ส่งขอรับประเมินแล้วตั้งแตลา 52 จนปัจจุบันนี้ ( สิงหาคม 2553)ยังไม่ได้รับการประเมินเลย เห็นแจ้งว่าติดที่ภาระงานการสอน ดิฉันสอนสัปดาห์ละ 21 ชั่วโมง รวมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย เขตใหนประเมินเสร็จไปแล้วบ้าง

คุณมามี่ ดิฉันก็บรรจุปี 44 เงินเดือน 14690 เท่ากัน สพท เชียงใหม่ เขต 5 จะประเมินดิฉัน ปลายเดือนตุลาคม 53 แล้วนะคะ ตอนนี้ กำลังให้ส่งแบบประเมินมีแบบ กคศ4 กคศ5 กคศ6/1.1 กคศ7/1 กคศ8/1 กคศ11/1.1 กคศ14/1.1 กคศ15/1 เพื่อให้กรรมการกรอกผลการประเมินที่โรงเรียนของเราค่ะ

หลักเกณฑ์อายุราชการป.ตรี 6 ปี ไม่ทราบว่ารวมตำแหน่งอาจารย์ 1ระดับ3 หรือเปล่าค่ะ ดิฉันบรรจุตำแหน่ง อ.1ระดับ3 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.46 ขณะนี้รับเงินเดือน 14,690 บาท ไม่ทราบว่ายื่นคำขอได้หรือยังค่ะ ช่วยตอบด่วนๆน่ะคะ ขอบคุณค่ะ

" 4 ปี สำหรับวุฒิ ป.โท แปลว่า จบแล้วจะนับเวลาย้อนหลังให้มั๊ยค่ะ

ดิฉันขอเรียนถามว่า บรรจุตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด 27 ธ.ค.36

สังกัดสำนักงานประถมศึกษาอำเภอ และเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการสพท.อุดรธานี เขต 3 และโอนออกมาเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 5 เมื่อ 1 ธ.ค.46 และทำการสอนมาจนถึงปัจจุบัน เงินเดือน 21,410 บาท เมื่อครั้งที่เริ่มมีวิทยฐานะใหม่ก็ได้ยื่นคำขอพร้อมคณะครูคนอื่น แต่มีหนังสือแจ้งกลับบอกว่าไม่เข้าเกณฑ์การประเมิน พอครบ 6 ปี เสนอขอรับการประเมินไปที่เขต จนกระทั่งประเมินเสร็จเรียบร้อย ออกคำสั่งแต่งตั้งวิทยฐานะชำนาญการก็ดีใจเรียบร้อย  แล้วอยู่ๆเขตก็แจ้งกลับให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว บอกว่าไม่ครบ 8 ปีต้องอยู่ในสายงานตำแหน่งครู 8 ปี ดิฉันสับสนและไม่เข้าใจ ทำไมเขตอื่น ๆ ซึ่งเพื่อนโอนออกพร้อมกัน เขาทำอาจารย์ 3 กันแล้ว ดิฉันต้องรอและเสียสิทธิ์ไปอีก 2 ปี และเสียความรู้สึกมากกับความไม่ชัดเจน ทำไมแต่ละเขตถึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆที่สังกัดกระทรวงเดียวกัน เขตเขาบอกว่าต้องรอให้ครบ 8 ปีแล้วแต่งตั้งกรรมการประเมินใหม่

ในกรณีของดิฉันต้องเป็นอย่างนั้นหรือค่ะ ซึ่งเพื่อนๆดิฉันเขตอื่นจังหวัดเดียวกันหรือต่างจังหวัด เขาได้กันหมดแล้ว ช่วยให้ความกระจ่างกับดิฉันด้วยค่ะ ซึ่งเสียเวลา เสียโอกาส และเสียความรู้สึกมากที่ผู้ใหญ่ไม่ดูแลหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร รับราชการมาสายการศึกษา 10 กว่าปีก็น่าจะเทียบประสบการณ์ได้

ขอบพระคุณสำหรับความกระจ่างล่วงหน้าค่ะ

 

ขอเรียนถามผลงานด้านที่3ค่ะ

เรียน ถามค่ะ

การรายงานผลการปฏิบัติงานด้านที่ 3 ค่ะ  อยากทราบขั้นตอนการหาคะแนน ทีเฉลี่ยค่ะ ว่าเอาคะแนนดิบมาจากส่วนไหน ขั้นตอนทำอย่างไรบ้าง และการรายผลพัฒนาสุขภาพ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ค่ะ ว่าให้รายงานอย่างไรบ้าง ขอความกรุณาตอบให้ด้วยค่ะ [email protected]

ดิฉันอยากทราบว่าการส่งผลงานครูชำนาญการพิเศษแบบใหม่นี้ที่ว่าให้ทำงานเสร็จทั้ง3ด้านก่อนแล้วค่อยส่ง นั้นหมายความว่าอย่างไร แล้วถ้าดิฉันทำผลงานของปี2553 แต่พร้อมส่งในปี2555 ไม่ทราบว่าจะได้หรือเปล่าคะเพราะทำไปเรียนรู้ไปเรื่อยกล้วว่าถ้าเสร็จช้าแล้วจะเลยเวลาที่ส่ง กังวลมากๆ เลยค่ะ

เรียนผู้เกี่ยวข้อง

            ด้วยดิฉันเคยอบรมเชี่ยวชาญเมื่อปี 2552 มีอายุของการอบรม 5 ปี ซึ่งอบรมสมัยนั้นยังเป็นเกณฑ์เก่า และในปีการศึกษา 2555 นี้ ดิฉันมีความพร้อมในการส่งผลงานแต่ติดที่ว่าเป็นเกณฑ์ใหม่ ซึ่งดิฉันไม่เข้าใจว่าจะต้องเข้ารับการอบรมใหม่หรือไม่...ขอให้ผู้รู้ช่วยไขความกระจ่างให้ด้วยนะคะ หวังว่าคงได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้รู้้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท