วีรกรรมของธรณ์ ... อีกแล้ว


เมื่อ ด.ช.ธรณ์ โยนหินลงมาจากชั้น 14

วีรกรรมของธรณ์ ... อีกแล้ว  (23 มิ.ย. 51)

วันจันทร์ที่ 23 มิ.ย. 51   แม่ต้องไปหาหมอกระดูกที่คลินิกพิเศษ ร.พ. จุฬาฯ  ในช่วงเย็น    ซึ่งแม่ได้บอกที่บ้านไว้แล้ว       ราว  18.30 น.  พี่ทองโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า  "น้องธรณ์โยนหินจากสวนที่ระเบียงลงไปข้างล่าง ไปโดนรถยนต์ที่จอดอยู่  โยนลงไปเป็น 10 ก้อนเลย "        อย่างแรกที่นึกคือ  " มีใครเจ็บด้วยหรือไม่ "   เพราะห้องเราอยู่ที่ชั้น 14   ถ้าโดนคนละก็....น่าจะเจ็บหนัก   เป็นเรื่องใหญ่แน่   ซึ่งก็โชคดีมากๆ ที่ไม่มีใครเจ็บ         

สำหรับรายละเอียดของเรื่องที่เกิดขึ้นคือ พี่ทองทำกับข้าวอยู่ในครัว   ซึ่งพี่แหววเป็นคนดูน้อง  ตอนแรกธรรศกับธรณ์ก็ออกไปเล่นที่สวนตรงระเบียงและเข้าบ้านมาทั้งคู่แล้ว  และธรณ์ก็ออกไปที่ระเบียงคนเดียวอีกครั้ง โดยที่ไม่มีใครรู้   ซึ่งก็คงโยนหินลงไปช่วงนี้    พี่ทองมารู้อีกครั้งก็คือ ร.ภ.ป. ที่คอนโดขึ้นมาบอกว่า มีคนโยนหินลงไปโดนรถ  

แม่เลยบอกพี่ทองว่า ให้ไปถามรายละเอียดของเจ้าของรถ  และขอเบอร์โทรศัพท์มา  แม่จะได้โทรศัพท์ไปคุยด้วย    ถ้าอยู่ที่คอนโด พอกลับไปแม่จะไปหา    แต่ถ้าไม่ได้อยู่ที่คอนโด และเค้ามีธุระจะรีบไป พรุ่งนี้แม่จะรอพบ    และบอกเจ้าของรถว่า เราจะรับผิดชอบทุกอย่าง    โดยแม่ไม่ลืมที่จะบอกพี่ทองว่า  " พาธรณ์ลงไปด้วย  ให้ไปขอโทษเจ้าของรถ "     ซึ่งพี่ทองได้โทรศัพท์มาอีกครั้งว่า  เจ้าของรถไม่ได้อยู่ที่คอนโด แต่เค้ามาส่งแฟนที่ทำงานในออฟฟิสข้างล่าง    และเค้าจะรอเจอแม่ด้วย  ตอนนี้ออกไปทานข้าว

พอหาหมอเสร็จ  แม่ก็รีบกลับบ้าน   ก่อนถึงบ้านแม่ก็โทรศัพท์บอกพี่ทองให้พาธรณ์ลงมาเจอแม่ที่ข้างล่างด้วย     ซึ่งนายตัวดีก็คงรู้ตัวดีเช่นกัน  แม่จึงได้ยินเสียงธรณ์บอกว่า  " ธรณ์ไม่ลงไป "   แม่จึงขอคุยกับธรณ์

แม่   -  ทำไมธรณ์ไม่ลงไปข้างล่างละลูก   แล้ววันนี้ธรณ์ทำอะไร

ธรณ์ -  ธรณ์โยนหินไปโดนรถ    แต่น้องจะระบายสี

แม่   -  หยุดระบายสีก่อนนะ  ธรณ์ต้องไปช่วยแม่คุยกับพี่  เพราะแม่ไม่ได้โยนหิน  แม่ไม่รู้เรื่อง

ธรณ์ -  ธรณ์ไม่อยากคุย

แม่   -  ถ้าธรณ์ไม่ไปช่วยแม่คุย แม่จะให้ธรณ์ไปคุยเอง   เพราะธรณ์เป็นคนทำ  แม่ไม่ได้ทำ ธรณ์จะลงไปช่วยคุยรึเปล่าลูก

ธรณ์ -  (เสียงอ่อยๆ)   ธรณ์จะลงไป

เหตุที่แม่ต้องการให้ธรณ์ลงไปด้วยก็เพราะ แม่ต้องการให้ธรณ์ได้ร่วมรับทราบว่า ผลจากการกระทำของธรณ์เป็นอย่างไร    บางครั้งการที่ธรณ์ต้องไปร่วมอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหา  ตัวเองเป็นต้นเหตุทำให้คนอื่นเดือดร้อน จะทำให้ธรณ์จดจำได้ดีกว่าการถูกดุ หรือทำโทษจากแม่อย่างเดียว    แต่กรณีนี้แม่ก็คิดไว้แล้วว่าต้องทำโทษธรณ์ด้วย

พอเราได้เจอกับเจ้าของรถ  แม่ก็ขอโทษที่ทำให้เค้าเดือดร้อน    และถามธรณ์ว่า

แม่   -  ธรณ์ครับ    วันนี้ธรณ์ทำอะไรลูก 

ธรณ์ -  ธรณ์โยนหินลงมาโดนรถของพี่

แม่   -  ใช่   แล้วเห็นมั้ยรถของพี่เป็นรอยเลย    แล้วพี่ก็ต้องรอคุยกับคุณแม่จนค่ำ   พี่ก็ยังไม่ได้กลับบ้าน  พี่เค้าต้องเสียเวลา

ธรณ์ -  (ทำหน้าสลด  ตอบเสียงอ่อยๆ )    เห็นครับ

แม่   -  ขอโทษพี่แล้วยังลูก

ธรณ์ - ธรณ์ขอโทษครับ  (พร้อมกับยกมือไหว้)

 

รอยบุบที่กระโปรงรถ

 

หลังจากนั้นแม่ก็คุยกับเจ้าของรถ  สรุปได้ว่าพรุ่งนี้แม่จะติดต่อโบรคเกอร์ด้านประกันภัยเพื่อถามเรื่องอู่ซ่อมรถให้  แต่เราก็จะรับผิดชอบค่าเสียหายทุกอย่าง   ระหว่างที่คุยกันแม่ก็ยังให้ธรณ์อยู่รับฟังด้วย    พอคุยกับเจ้าของรถเรียบร้อยแล้ว   แม่ก็พาธรณ์ขึ้นมาบนบ้าน  พร้อมกับบอกว่า " เดี๋ยวคุณแม่อาบน้ำก่อนนะครับ    เรามีเรื่องจะต้องคุยกัน  และธรณ์ต้องถูกลงโทษด้วย  "

เมื่อแม่อาบน้ำเสร็จ   แม่ก็เรียกธรณ์มาคุย  แม่ชี้ให้เห็นว่า " สิ่งที่ธรณ์ทำนั้น ทำให้คนอื่นเดือนร้อน  ทั้งของเสีย และเสียเวลารอ  แล้วแม่ก็ต้องเสียเงินให้พี่ไปซ่อมรถด้วย    ถ้าธรณ์โยนหินโดนไปคน  คน เค้าก็จะบาดเจ็บมาก ซึ่งคุณตำรวจก็ต้องมาจัดการกับธรณ์ถ้ามีคนเจ็บ แม่ก็ช่วยธรณ์ไม่ได้ เพราะธรณ์ทำผิด "

ซึ่งธรณ์ก็ยอมรับว่า ธรณ์ทำผิด และต่อไปจะไม่ทำแบบนี้อีก   แม่ลงโทษธรณ์ด้วยการเอาปฏิทินแบบแขวนมาม้วนๆ แล้วก็ตีที่ก้น 3 ครั้ง    ที่ใช้ปฏิทินมาม้วนๆ เพราะเวลาตีมันเสียงดัง   แต่ไม่เป็นรอยเหมือนไม้เรียว  และไม่ได้เจ็บมาก   ตีเพื่อให้ธรณ์รู้สึกว่าถูกลงโทษ  จริงๆ แล้ว แม่ก็ไม่อยากตีลูก    แต่แม่คิดว่าในบางกรณีก็จำเป็นต้องทำเหมือนกัน  เพียงแต่แม่รู้ตัวว่าเวลาที่แม่ตีธรณ์นั้น แม่ "มีสติ" ไม่ได้ลุแก่โทสะ     

หลังจากตีธรณ์เรื่องที่ทำให้ของคนอื่นเสียหาย และทำให้พี่เสียเวลาแล้ว    แม่ก็มาคุยกับธรณ์เรื่องที่แม่เคยบอกไว้ว่า " เวลาจะออกไปที่สวน  ที่ระเบียง  ห้ามออกไปคนเดียว   ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย "       วันนี้ธรณ์ก็ไม่ได้ทำตามที่แม่เคยบอกไว้   ดังนั้นธรณ์ก็จึงต้องถูกลงโทษอีกเรื่องหนึ่ง       แม่ทำโทษธรณ์ด้วยการให้ไปนั่งคนเดียวที่สวน-ที่ระเบียง   สถานที่ที่ออกไปคนเดียวนั่นแหละ  อยากออกไปคนเดียว   คราวนี้ก็ให้ไปนั่งคนเดียว    ซึ่งแม่สั่งไว้ว่า " ห้ามลุกจากเก้าอี้จนกว่าแม่จะอนุญาต    ถ้าไม่เชื่อแม่จะให้นั่งนานๆ  หรือไม่ก็ไปนั่งที่บ้านพี่เจ้าของรถ "       แต่แม่ก็เปิดไฟทุกดวงที่ระเบียงให้สว่างไว้  เพราะแม่ไม่ต้องการให้ธรณ์กลัวความมืด  

หลังจากนั้นแม่ก็มานั่งทานอาหารเย็น (ตอน 20.30 น.)     ระหว่างนั้นแม่ก็จะไปแอบดูเป็นระยะ  ซึ่งแม่ก็เห็นธรณ์ร้องไห้    แต่ยังนั่งอยู่บนเก้าอี้อย่างเดิม       จนแม่ทานอาหารเสร็จ  แม่จึงอนุญาตให้ธรณ์เข้ามาในบ้านได้    โดยให้ล้างหน้า   แปรงฟัน  และเข้านอนเลย      ก่อนนอนธรณ์ก็บอกแม่ว่า  " คุณแม่ครับน้องไม่อยากโยนหินไปโดนรถพี่   น้องจะไม่ทำอีก "     แม่ก็ได้บอกธรณ์ว่า " ธรณ์เห็นแล้วใช่มั้ยลูกว่าการเล่นโยนหินมันเป็นอย่างไร  มันทำให้คนอื่นเดือนร้อน  และลูกก็ต้องถูกทำโทษด้วย  "    

วันรุ่งขึ้น เจ้าของรถตกลงที่จะซ่อมรถกับอู่ใกล้ที่ทำงาน   ซึ่งที่อู่คิดค่าซ่อม  3,500 บาท   แต่เจ้าของรถขอเป็น 4,000 บาท  เพราะช่วงที่ซ่อมรถ 2 วัน  เค้าก็ต้องนั่งแท็กซี่   ซึ่งแม่ก็ตกลงตามที่เค้าขอมา     เย็นวันนั้นแม่โทรศัพท์บอกเจ้าของรถ เพื่อขอถ่ายรูปรถไว้ด้วย  เพราะนึกได้ว่าเราทำประกัน PL ไว้    ซึ่งตอนถ่ายรูปแม่ก็ให้ก็ธรณ์ลงไปดูด้วย    ตอนที่แม่เตรียมเงินใส่ซองเพื่อให้เจ้าของรถ  แม่ก็ให้ธรณ์ดูด้วย  และบอกว่า  " เห็นมั้ยลูก   คุณแม่ต้องเอาเงินหลายแบ๊งค์ให้พี่เจ้าของรถ  เพื่อเป็นค่าซ่อมรถ  ลองนับดูซิมันมีแบ๊งค์กี่ใบ... 1 , 2 , 3 , 4       ที่ธรณ์อยากได้หุ่นยนต์ที่แปลงเป็นรถบรรทุกได้นั้น    ตอนนี้ยังซื้อไม่ได้นะครับ  เรายังไม่มีเงิน  เพราะเราต้องเอาเงินไปให้พี่ซ่อมรถก่อน    คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำงานหาเงินก่อน    และธรณ์ก็ต้องทำตัวให้ดีก่อนนะลูก  "   ธรณ์รับคำแบบซึมๆ  แต่ก็ไม่ได้ต่อรองอะไรเพราะรู้ว่าตัวเองผิดจริงๆ

หลังจากวันที่ธรณ์โยนหินมาโดนรถ      เมื่อธรณ์อยากได้อะไร  เช่น   อยากให้พาไปทานข้าวบนเรือใหญ่ๆ    แม่ก็จะบอกว่า

แม่   -  ยังไปไม่ได้ลูก   เพราะคุณแม่เอาเงินไปให้พี่ซ่อมรถแล้ว     คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำงานหาเงินก่อน    ต้องรอก่อน

ธรณ์ -  แต่น้องอยากให้คุณแม่พาไปวันนี้

แม่   -  เรายังไม่มีเงินไงลูก      แต่ถ้าธรณ์อยากทานวันนี้     คุณแม่ก็จะไปขอเงินค่าซ่อมรถคืนมาจากพี่  แล้วแม่ก็พาธรณ์ไปทานอาหารบนเรือ  แต่ธรณ์ก็ต้องไปอยู่กับพี่เจ้าของรถนะเพราะธรณ์ทำรถพี่เค้าเสีย     

ธรณ์ -  ธรณ์ไม่อยากอยู่กับพี่

แม่   -  งั้นธรณ์ก็ต้องเลือกว่า   จะไปทานอาหารบนเรือวันนี้  แต่ต้องไปอยู่กับพี่  หรือยังไม่ไปทานวันนี้   แต่ต้องรอให้คุณพ่อกับคุณแม่ทำงานหาเงินก่อน  

ธรณ์ -  วันนี้ธรณ์ไม่ไปทานอาหารบนเรือ  ธรณ์จะรอให้คุณแม่มีเงินก่อน

แม่   -  ใช่ลูก   เราต้องรอนะ    คนเราอยากได้ทุกอย่างพร้อมๆ กันไม่ได้  

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นบางคนอาจมองว่า   แม่ไม่น่าจะต้องเอาธรณ์ลงไปรับรู้  รับแรงกดดัน  ในหลายๆ ครั้ง  เพราะธรณ์ยังเด็ก  เหตุผลที่แม่ให้ธรณ์มาร่วมรับรู้ด้วยทุกๆ ครั้ง   เพราะแม่ต้องการให้ธรณ์เห็นผลจากการกระทำของตัวเองได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น  และชะลอสิ่งที่ธรณ์ต้องการโดยยกเรื่องที่ธรณ์ทำเพื่อเป็นเหตุผลที่จะไม่ให้สิ่งนั้นๆ  เพื่อให้ธรณ์จด และจำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น     เพราะอะไรก็แล้วแต่ที่มีผลกระทบต่อตัวเองโดยตรง น่าจะช่วยให้ลูกจำได้ดีกว่าที่ลูกไม่ได้รับรู้อะไรเลย

แม่มองว่าเราอย่าละเลยการสอนเพียงเพราะเหตุผลว่า ... ยังเด็ก      เพราะเราก็สามารถหาวิธีสอนในแบบที่.. เด็กๆ สามารถเข้าใจได้

ถ้าลูกโตขึ้นลูกคงรู้ว่า ...  ทุกอย่างที่แม่ทำที่เกี่ยวเนื่องกับลูก   ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม  แม่พยายามใช้สติกำกับการกระทำของตัวเองเสมอ   ไม่ว่าจะเรื่องการพูด  การสอน   โดยเฉพาะเรื่องการลงโทษ      ก็ด้วยเหตุผลประการเดียว  " แม่รักลูก " 


หลังจากส่ง email เรื่องนี้ออกไป   คุณหมอกิจจา (เป็นคุณหมอที่ดูแลธรรศกับธรณ์มาตั้งแต่เรกเกิด) ได้ส่ง email ตอบกลับมา  

From: Kitja Ruedeekajorn

To: Apichaya Vorapun

Sent: Tuesday, July 08, 2008 2:27 PM

Subject: RE: วีรกรรมของธรณ์ ... อีกแล้ว ( 23 มิ.ย. 51 )

คุณแป๊วครับ

เป็นตัวอย่างของ "การสั่งสอน" ที่ดีเยี่ยม และชัดเจนครับ เหมาะจะเป็นเยี่ยงอย่างให้กับหลายคนที่ ไม่กล้าสั่งสอนเพราะกลัวว่าลูกจะ..........สารพัดอย่าง(ข้ออ้าง) จนเกือบทำให้เราลืมไปว่า การสั่งสอน คือหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกคนเป็นดี แยกแยะผิด-ถูกเป็น และรู้จักการปรับตัวเข้าเข้าสังคม(โลก)

 
จุดเด่นของวิธีการที่ใช้ครั้งนี้คือ

1.การยอมรับความจริง และสอนให้เด็กเข้าใจ+ยอมรับความจริง และผลที่ต่อเนื่องจากการกระทำของตน โดยพาเด็กเข้าไปในเหตุการณ์นั้นด้วย  ข้อนี้สำคัญมากที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานของคุณธรรม ทำให้ในภายหน้าเขาจะเกิดความยับยั้งชั่งใจก่อนทำเรื่องไม่เหมาะ   พ่อแม่บางคนอาจติดว่า ควรลงไปจัดการเองให้เรียบร้อย แต่กรณีที่เด็กอายุเกิน3ปี เขาเริ่มเข้าใจเหตุผลง่ายๆแล้ว เขารู้จักหลักการของเหตุปัจจัยแล้ว ว่า สิ่งนี้เกิดขึ้น ทำให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดตามมา  การพาเด็กไปเห็นปรากฏการณ์ด้วยสายตา เป็นการสั่งสอนที่เห็นภาพและจดจำแม่นยำกว่า

2. ธรณ์ไม่ผิด  สิ่งที่ผิดคือพฤติกรรมของเขาในครั้งนี้  กระบวนการลงโทษจึงจำกัดอยู่ที่พฤติกรรมเจ้าปัญหาเท่านั้น   มีการย้ำว่า ธรณ์ทำแบบนี้ จึงเกิดสิ่งนั้นตามมา และมีคนเดือนร้อนตามมา (พีเจ้าของรถต้องเอาไปซ่อม  แม่เสียเงิน)    ท้ายสุดก็ส่งผลกระทบการถึงตนเอง  อดได้หลายๆ อย่างเพราะความซนของตน    เด็กไม่โดยตำหนิ โดนตำหนิแต่พฤติกรรม ตัวเขาจึงไม่เสียความมั่นใจ  ทำให้เกิดเปิดใจยอมรับความจริง ไม่หลบซ่อน   และไม่โกหกเหมือนเด็กที่โดยตำหนิที่ตัวตนมากกว่าพฤติกรรม  ถึงโดนทำโทษแบบนี้ เด็กก็ยังเข้าใจในความรักของพ่อได้เสมอ

3. ของแถมงานนี้ แม่กำลังสอนธรรมะเรื่องอิทัปปัตยตา (ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าหลักเหตุผลทั่วไป) แก่ลูก อย่างมีชั้นเชิง  โดยไม่ต้องใช้ภาษาธรรมะเลย แต่ลูกรู้ได้ชัดแจ้งเลยว่า โยนก้อนหินเล่นๆ  กระทบกระเทือนถึง หุ่นยนต์แปลงร่างที่ตนเองอยากได้ 

ขอบคุณเสมอสำหรับสิ่งดีดีที่มาแบ่งปันกัน

หมอกิจจา

อิทัปปัตยตา    ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ  เพราะสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้จึงเกิด 

หมายเลขบันทึก: 278576เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นแบบอย่างที่ดีของคุญแม่ทั่วไปที่ชอบใช้อารมณ์และโทสะในการทำโทษเวลาที่เด็ก ๆ ทำผิด

ขอบคุณค่ะคุณอำนาจ ดิฉันคิดว่า อารมณ์ในด้านลบและโทสะไม่เคยสอนในเรื่องสร้างสรรค์ แต่จะเป็นแบบอย่างให้เด็กทำตาม เด็กไม่ว่าวัยไหนก็รับ "เหตุผลตามวัย" ได้ ถ้าผู้ใหญ่พยายามจะหาเหตุผลให้สมกับวัยนั้นๆ และไม่คิดแต่ว่ายังเล็กอยู่ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท