การจัดการความรู้ในภาคราชการ ตอน 2


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (22)

กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยท่านอธิบดีนัทธี จิตสว่าง  วางแนวทางให้เป็นองค์กรแห่งความพอเพียง  โดยใช้ภาวะผู้นำและความสามารถในการบริหารพลิกโฉมและปรับภาพลักษณ์ของกรมราชทัณฑ์ได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรให้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและความพอเพียง ปรับทัศนคติในการปฏิบัติงานอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน เสริมสร้างแรงจูงใจผู้ปฏิบัติงานด้วยกระบวนการต่างๆ จนทำให้มีผู้ขอเข้าศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก  ทั้งที่งานของกรมราชทัณฑ์มีลักษณะพิเศษที่ต้องดูแลผู้ต้องขัง  ก่อนที่จะให้ออกไปเป็นคนดีเพื่อประกอบสัมมาชีพเหมือนคนทั่วไป  การปรับองค์กรและบทบาทของกรมราชทัณฑ์  ที่มีผู้ปฏิบัติงานกระจายอยู่ทั่วประเทศจึงต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการ  จัดทำสมรรถนะของบุคลากร  ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง  ตลอดจนการปรับวัฒนธรรมองค์กร  การฝึกอบรมข้าราชการจึงผสมผสานเรื่องการจัดการความรู้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  และถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างรุ่น  เพื่อให้ข้าราชการรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรที่นำร่องโดยสำนักงานการเกษตรทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร น่าน อ่างทอง อุบลราชธานี สตูล นครศรีธรรมราช นครพนม นครนายก และสมุทรสงคราม  วางแผนนำการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบท  ปัจจุบันได้ขยายไปในอีกหลายจังหวัดด้วยการวางแผนดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน คือ  ระยะที่ 1  ฝึกใช้ทักษะการใช้เครื่องมือ  สร้างทีม  และลงมือปฏิบัติ  เรียนรู้ในพื้นที่จริง  ระยะที่  2  ค้นหารูปแบบในการทำงาน  จัดกระบวนการกลุ่มเพื่อหาแนวทางการพัฒนา  ซึ่งในเบื้องต้นเกิดเครือข่ายผู้สนใจและเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่  ระยะที่  3  ยุคของการจัดการความรู้ในองค์กร  ฝึกทักษะการจัดทำแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่เจ้าหน้าที่  ฝึกเจ้าหน้าที่เป็นคุณอำนวย ฝึกทักษะการถอดบทเรียน (AAR)  เมื่อได้ดำเนินการเตรียมการทีมงานและเครือข่าย  ตลอดจนวางระบบกลไกการสนับสนุนเรียบร้อยแล้ว  จึงจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนทีมงานจากส่วนกลาง จัดระบบการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้ความรู้ภายในของเกษตรกรหมุนเวียนแลกเปลี่ยนกับความรู้ภายนอกของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกิดการเรียนรู้และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ภายในมากจากากรปฏิบัติ เช่น เรียนรู้เรื่องการปลูกแตงโมโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง การใช้เกษตรอินทรีย์ การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน การผลิตมะม่วงปลอดสารส่งออก การปรับปรุงคุณภาพส้มโอ การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ขณะเดียวกันก็มีความรู้จากหลักวิชาและข้อแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ตลอดจนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่ประสบความสำเร็จมากน่าจะเป็นสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร โดยคุณวีรยุทธ สมป่าสัก หรือนามแฝง สิงห์ป่าสัก นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่ใช้ KM ในการสอนงานเพื่อพัฒนาสู่นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ จัดเวทีเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อนำไปประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วมแล้วนำไปปรับใช้และขยายผลในระดับจังหวัดต่อไป สร้างเครือข่ายและจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกรอย่างได้ผล เช่น โครงการผลิตพืชปลอดภัย การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง ผู้ที่สนใจแนวคิดและวิธีการของคุณวีรยุทธ ติดตามได้ที่ http://gotoknow.org/blog/yutkpp

จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำการจัดการความรู้ในการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน นำโดยท่านวิชม ทองสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สวมบทบาท คุณเอื้อ อย่างจริงจัง ด้วยการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรจังหวัด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ให้ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนได้อย่างดี โดยจัดโครงสร้างการจัดการความรู้เมืองนคร 3 ระดับ ได้แก่ คุณเอื้อจังหวัด คุณเอื้ออำเภอ คุณเอื้อตำบล  นอกจากนี่ยังได้ขยายผลโครงการไปทั้งจังหวัดโดยสร้างวิทยากรกระบวนการที่เรียกว่า เครือข่ายคุณอำนวย 2 ระดับ คือ คุณอำนวยอำเภอและคุณอำนวยตำบล เพื่อจัดทำข้อมูลครัวเรือน แผนชุมชนพึ่งตนเอง จัดกระบวนการกลุ่มและภาคีเครือข่ายในกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และเงินออม เน้นการพึ่งตนเองและดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มีกระบวนการติดตามประเมินผลเป็นประจำ และที่สำคัญจัดสรรงบประมาณให้ตามสมควร ทำให้สามารถขยายผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งได้เต็มพื้นที่ เป็นแบบอย่างและได้รับความสนใจจากส่วนราชการต่างๆ เป็นอย่างมาก

ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ใช้พื้นที่บ้านทุ่งขาม ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจพอเพียง พ้นความยากจนและยกระดับการศึกษาประชาชนแรงงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยใช้ยุทธศาสตร์ 5 ประการ คือ ลุยถึงที่ ตอบโจทย์ในใจผู้เรียน ขยายแหล่งเรียนรู้ ผนึกกำลังเครือข่าย และบริการเปี่ยมคุณภาพ ด้วยการค้นหาความต้องการของชุมชนโดยการจัดเวทีประชาคมและการปรึกษาหารือแบบมีส่วนร่วม ช่วยกันจัดทำแผนที่และผังชุมชน กำหนดปณิธานและเป้าหมายการพัฒนาในประเด็นสำคัญ แล้วทำแผนปฏิบัติการ เพื่อยกระดับการผลิตสวนลำไย สวนส้ม และพริก การเลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ กลุ่มพัฒนาสวัสดิการสังคมของชุมชน เสริมสร้างการเรียนรู้ตามหมวดวิชาต่างๆ ทั้งในห้องเรียนและจาการปฏิบัติ หลักสูตรต่างๆ เกิดจากครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนา ผลการดำเนินงานเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งในชุมชน เกิดการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ยกระดับความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง มีสุขภาวะดี เป็นชุมชนน่าอยู่ และมีการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

หน่วยงานดังกล่าวนี้มีความสำเร็จในการใช้การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาได้ดี และเชื่อว่ายังมีหน่วยงานราชการอีกมากที่สามารถดำเนินการได้ดีในทำนองเดียวกัน เป็นเครื่องยืนยันประการหนึ่งว่า การจัดการความรู้สามารถนำมาใช้กับระบบราชการได้ เพราะระบบราชการเป็นกระบวนการที่ใช้คนทำงาน คนทำงานเหล่านี้ผ่านการคัดเลือกและสรรหามาเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถดีพอสมควร ขั้นตอนการทำงานราชการเป็นกระบวนการทำซ้ำ จึงน่าจะมีแนวทางหรือวิธีปฏิบัติที่ดีได้ โดยที่ผู้ที่ปฏิบัติงานรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หากใช้การจัดการความรู้ให้ถูกวิธี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้จากการปฏิบัติงานที่เรียกว่า ความรู้ฝังลึก ผสมผสานหมุนเวียนกับความรู้ชัดแจ้งที่เกิดจากกฎ ระเบียบ ของทางราชการ ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติงานดีขึ้น เช่น ลดรอบระยะเวลาการปฏิบัติงานลง เกิดการประหยัดงบประมาณ ผู้ปฏิบัติงานมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ อยู่ที่ผู้นำสูงสุดของหน่วยราชการนั้นๆ ว่า มีทัศนคติและความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้หรือไม่ เพียงไร ขณะที่ปัจจัยความไม่สำเร็จก็อยู่ที่ผู้นำสูงสุดเช่นเดียวกัน ว่า ยึดติดในวัฒนธรรมราชการแบบเดิมหรือไม่ ทำงานแบบ เห็นชอบมอบรอง เห็นด้วยผู้ช่วยทำ ผู้รับกรรม คือ ผู้ปฏิบัติ หรือไม่ นอกจากนี้การที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานประจำต้องโยกย้ายและสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันประจำปี ย่อมมีผลต่อการจัดการความรู้ขององค์กรเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้

โจทย์ท้าทายของการจัดการความรู้ในภาคราชการ คือ ตัวผู้นำหรือผู้บริหารขององค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจ และสนใจในการใช้ KM ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จะส่งผลให้องค์กรนั้น น่าจะประสบความสำเร็จ และวัฒนธรรมการใช้ KM ขององค์กรว่า สามารถซึมซับหรือคงอยู่ได้ดีหรือไม่ หากผู้บริหารโยกย้ายสับเปลี่ยนซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบราชการ จะทำให้องค์กรนั้นใช้ KM ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนหรือไม่ ขณะที่องค์กรที่มีวัฒนธรรมการใช้ KM ที่ถูกต้อง เห็นผล หากผู้บริหารไม่สนใจ ไม่เข้าใจ และไม่ เล่น ในเรื่องนี้ ผลจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามความรู้เรื่อง การจัดการความรู้ เกิดการเผยแพร่และขยายตัวในวงกว้างในภาคราชการแล้วเกือบทุกระดับ สิ่งที่สำคัญคือ อะไรคือความรู้ที่เหมาะสมและนำไปปฏิบัติในภาคราชการที่มีความแตกต่างในโครงสร้าง กำลังคน และงบประมาณ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน และผู้ปฏิบัติงานมีความสุขในการปฏิบัติงาน

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในภาคราชการ  ตอน 1  ตอน 2

การจัดการความรู้ในภาคเอกชน

หมายเลขบันทึก: 278294เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท