การเทียบระดับการศึกษา :


นโยบายและการวางแผน

การเทียบระดับการศึกษา :

โอกาสดีๆ สำหรับผู้ที่สั่งสมการเรียนรู้จากอัธยาศัย

 

 

นางศุทธินี  งามเขตต์

กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน

                                                                                               

การเทียบระดับการศึกษา คำใหม่ที่หลายคนยังไม่คุ้นเคย แต่การเทียบระดับการศึกษา เป็นคำที่อยู่ใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวดระบบการศึกษา มาตรา 16 วรรคสี่

                ถ้าเช่นนั้น การเทียบระดับการศึกษา คืออะไร

                เมื่อเรายอมรับว่า บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา  ได้ทุกสถานที่ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในระหว่างการเดินทาง การดูโทรทัศน์ การฟังวิทยุ การสนทนา หรือจากการทำงาน ฯลฯ การเรียนรู้นั้นมีหลากหลายเรื่องราว หลากหลายสาขาความรู้  การเทียบระดับให้ความสำคัญและให้คุณค่าการเรียนรู้เหล่านั้น สามารถนำ มาเทียบให้ได้ระดับการศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย

                การเทียบระดับการศึกษา เป็นภารกิจหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงโดยประกาศให้สถานศึกษาระดับจังหวัดในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 21 แท่ง ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548

 

 มีจำนวนผู้ผ่านการประเมินทั่วประเทศ 550 คน จากจำนวนผู้เข้าประเมิน 1,740 คน คิดเป็นร้อยละ 31.61

                คุณสมชาย  ตั้งศิริพัฒน์ภรณ์  อายุ 50 ปี นักธุรกิจ เจ้าของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ย่านรังสิต และผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านให้บริษัทในเครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นกรรมการสโมสรโรตารีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าของคำพูดว่า "วุฒิ...เป็นความภาคภูมิใจ นี่เป็นสิ่งเดียวที่เราหามาได้ด้วยตนเอง อย่างอื่นเราเอาเงินทองซื้อได้" สมัครเข้ารับการประเมินเทียบระดับการศึกษาที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครราชสีมา ในระดับประถมศึกษา และสามารถผ่านการประเมินในครั้งนี้ได้เล่าให้ฟังว่า "ผมเป็นคนชอบทำงาน พอเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็เลิกเรียน ทั้งที่ทางบ้านก็อยากให้เรียน แต่ผมชอบทำงานมากกว่า จึงออกมาช่วยทางบ้านทำงาน" เมื่อถามว่า ในเวลานี้  คุณสมชายก็มีความสำเร็จแล้ว ทำไมคุณสมชายไม่กลับมาเรียนใหม่ ซึ่งมีวิธีการเรียนที่ไม่ต้องใช้เวลาเรียนทุกวัน เรียนเฉพาะวันเสาร์หรืออาทิตย์เท่านั้น ไม่สนใจบ้างหรือ?

 

 

 

                คุณสมชาย มีคำตอบที่ทำให้นักจัดการศึกษาต้องกลับมาทบทวนวิธีการจัดการศึกษา ว่า "ธุรกิจของผม มิได้มีเวลาว่างที่แน่นอนตายตัวว่า ทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์ เวลา 9.00 -12.00 น. จะต้องว่างเสมอ ดังนั้น การศึกษาในลักษณะดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับผม แต่ถ้าระบบการศึกษายอมรับให้คนเราเรียนรู้

จากชีวิตจริง จากการทำงานแล้ว สามารถนำความรู้ ความสามารถที่เกิดขึ้น มาเทียบระดับการศึกษาได้ วิธีการแบบนี้เหมาะสมกับผม และผมคิดว่าเหมาะสมกับคนอีกหลาย ๆ คนด้วย"

                คำพูดของคุณสมชาย ยืนยันได้ เมื่อเรามาพบคุณสุวิทย์  กิตติธรานนท์ อายุ 56 ปี นายกสมาคม                  หินอ่อนและหินแกรนิตแห่งประเทศไทย ผู้บรรยายพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับหิน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎ                สวนสุนันทา นายกสโมสรโรตารี่ดอนเมือง  ครูสอนเพลงไทย สากล (เคยเรียนดนตรีที่ประเทศฟิลิปปินส์)  คุณสุวิทย์สมัครเข้ารับการประเมินในระดับประถมศึกษา ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 1 คุณสุวิทย์ เคยจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 แต่หาใบแสดงวุฒิไม่ได้ จึงสมัครเข้าประเมินใหม่    เดิม ไม่สนใจเรื่องวุฒิ แต่เมื่อมีความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ชีวิตและครอบครัวแล้ว จะทำงานเพื่อสังคมบ้าง ก็ขาดคุณสมบัติเรื่องวุฒิ จึงต้องมาแสวงหา เติมในส่วนที่ขาด

                คุณศุภกร .... เป็นอีกท่านหนึ่งที่เข้าประเมินในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 1 คุณศุภกรเป็นเจ้าของธุรกิจการขนส่งทางน้ำ ดูแลเรือขนส่งมากกว่า 100 ลำ มีพนักงานในบริษัทมากกว่า 100 คน

                ในวัยเด็กตนเองไม่มีใครชี้แนะทางการเรียน พ่อกับแม่ก็ล่องไปกับเรือ ใช้ชีวิตตามลำพังกับพี่ ๆ น้อง ๆ เมื่อจบ มศ. 2 ก็เลิกเรียนมาช่วยพ่อแม่ แล้วเริ่มสร้างธุรกิจการขนส่งทางน้ำขึ้น

                คุณศุภกร บอกว่า ที่มาเรียน เพราะตระหนักว่า การทำธุรกิจถ้าอาศัยแต่ความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอแล้ว ต้องมาเรียนเพื่อนำความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง

                ตอนนี้ คุณศุภกร ผ่านการประเมินในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาแล้ว

                นี่คือตัวอย่างของผู้เข้าประเมินครั้งแรก ที่สะท้อนความจริงว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีการสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง การประเมินเทียบระดับการศึกษาได้นำความรู้ ความสามารถที่มีอยู่มารวบรวม ร้อยเรียงลำดับขั้นตอน และนำเสนอให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาที่กำหนด

                ผู้สนใจขอรายละเอียดได้ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดทุกแห่ง ทั่วประเทศ

หมายเลขบันทึก: 277650เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท