การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ


นโยบายและการวางแผน

การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ

                                                                                                   อนงค์    เชื้อนนท์

                คนส่วนใหญ่คิดว่า การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือเป็นเรื่องง่าย ๆ  แต่โดยแท้จริงแล้วการนำภาษาไทยมาวิเคราะห์สังเคราะห์และสอนภาษาไทยแบบง่าย ๆ สำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ

เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ควรเริ่มสอนด้วยการให้ผู้เรียนหัดเขียน ก  ข  ค   ก่อน เพราะผู้เรียนจะเริ่มเรียนสิ่งที่ยากก่อน ควรเริ่มจากสอนจากเรื่องง่าย ๆ ก่อน 

                วิธีสอน 5 ขั้นตอน

                1.  เริ่มสอนการฟังก่อน   ถ้าเป็นเด็กควรเริ่มหัดฟังสิ่งต่าง ๆจากง่าย ๆ รอบตัวก่อน เช่น เสียงไก่ขัน เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงรถยนต์  แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ควรเริ่มฟังเป็นคำ ๆ ประกอบท่าทาง

ครูออกเสียงคำให้ฟัง

การแสดงท่าทางประกอบ

    สวัสดี   ขอบคุณ  ขอโทษ 

ยกมือไหว้

    หู  ตา  จมูก  ปาก  แขน  ขา

ชี้ที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

   หน้าต่าง ประตู โต๊ะ เก้าอี้

   สมุด  ดินสอ  ปากกา  ไม้บรรทัด

ชี้ไปที่สิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องเรียน

  นก  หมู  เป็ด  ไก่  หมา  มด  แมว

ชี้ไปที่สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณโรงเรียน

  ดีพอ  จออา  พะชู  ชูพอ  จะคา

  ครู นักเรียน 

ชี้ไปที่คนตามชื่อที่ครูเรียก  หรือครูอาจฝึกเรียกชื่อทุกวันเพื่อให้ทุกคนสามารถจำชื่อตนเองได้

  ดอกไม้  ต้นมะขาม ต้นก้ามปู ต้นเฟื่องฟ้า

ชี้ไปที่ต้นไม้ในบริเวณโรงเรียน หรือพาผู้เรียนออกนอกห้องเรียนไปดูต้นไม้ใกล้ ๆ แล้วครูออกเสียงภาษาไทยให้ผู้เรียนฟัง

ผัก  ผลไม้ 

ชี้รูปภาพ หรือของจริง

                การแนะนำคำต่าง ๆ พร้อมท่าทางประกอบควรพูดแนะนำ 3-5 ครั้ง ให้ผู้เรียนจดจำได้  อย่ารีบร้อนให้ผู้เรียนพูด ครูควรแน่ใจว่าผู้เรียนสามารถฟังได้ดี เรียกว่า หูกระดิก ฟังจนจับใจความเสียงที่ครูเปล่งชัดเจนดีแล้ว จึงเริ่มสอนขั้นตอนต่อไป 

                ควรสอนการฟังสอดแทรกวันละ 15-20  นาที  และควรสอนคำวันแรกไม่เกิน 10 คำ (เช้า 5 คำ บ่าย 5 คำ)  วันหนึ่งถ้าสอนมากไปจะจำไม่ได้เลยเพราะสับสน  วันที่สองและวันต่อ ๆ มา ก็เพิ่มศัพท์ขึ้นเรื่อย วันแรก 10 คำ วันที่สอง 10 คำใหม่ (บวก 10 คำวันแรก สอนทบทวน) เพราะฉะนั้นวันที่สองจะได้รู้คำศัพท์ 20 คำ  วันที่สามและสี่เพิ่มคำศัพท์ขึ้นเรื่อย ๆ จนครอบคลุมวงคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน(สำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ควรสอนประมาณ 600 คำ)

 

                2.  ฝึกสอนการพูด      ให้ฝึกสอนพูดจากสิ่งใกล้ตัวผู้เรียนก่อน ได้แก่คำทักทาย  สวัสดี

ขอโทษ   ขอบคุณครับ(ค่ะ) 

                ต่อมาให้รู้จักพูดชื่อครูและชื่อตนเอง  พูดเกี่ยวกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้า ผม ตา จมูก มือ เท้า แขน ขา  และอิริยาบถต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น  ยืน เดิน นั่ง นอน วิ่ง  ต่อมาให้ผู้เรียนสามารถ เรียกชื่อวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด   หน้าต่าง ประตู โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ กระดาษ ฝึกสอนพูดเป็นคำก่อน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจับคู่คำที่พูดและภาพได้

                3.  ฝึกอ่าน  อาจฝึกอ่านได้หลายวิธี แล้วแต่ความพร้อมของผู้เรียน ครูบางคนอาจฝึกอ่านจากตัวอักษร เริ่มจาก  ก  ไปจนถึง  ฮ  แต่ให้สอนอ่านวันละ 5-10 ตัว  พอครบ 4 วัน สอนเสร็จหมด 44 ตัวอักษร วันที่ 5  ก็ให้ทบทวนตัวอักษรทั้งหมด โดยชี้แบบไม่เรียงตัว  แต่ถ้าจะให้สนุกต้องร้องเพลงประกอบจะทำให้จำได้ดี

                อาจฝึกอ่านจากคำจากภาพ  เช่น ไก่   ไข่  ฃวด   ควาย  ระฆัง  งู  จนถึงนกฮูก วิธีนี้ผู้ใหญ่อาจจะชอบ ที่สำคัญต้องสังเกตว่าถ้านำเด็กและผู้ใหญ่มาเรียนด้วยกัน ต้องอย่าให้ผู้ใหญ่รู้สึกอายมิฉะนั้น การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จ

                ต่อมาฝึกอ่านประโยค และอ่านเรื่อง ตามลำดับ แต่ครูของตระหนักไว้เสมอว่าครูต้องเป็นต้นแบบอ่านให้ฟังก่อน 2-3 ครั้ง แล้วจึงให้ทุกคนอ่านพร้อมกันทั้งห้อง  ครูสุ่มอาสาสมัคร 2-3 คน ออกมาอ่านหน้าชั้น  แล้วให้ทุกคนอ่านพร้อมกันทั้งห้องโดยครูไม่อ่านนำให้ทุกคนอ่านเองตามที่ครูชี้ให้อ่าน  และถ้าครูมีเวลาอาจให้ฝึกฝนอ่านเป็นรายบุคคล

                4.  ฝึกเขียน   

                เริ่มตั้งแต่ฝึกเขียนพยัญชนะ   ก ถึง ฮ ซึ่งวิธีนี้มักนิยมกันอย่างแพร่หลาย  หรืออาจลองฝึกหัดเขียนโดยเน้นเขียนตัวที่ฝึกง่ายก่อนก็ได้  หรือตัวที่เขียนคล้าย ๆ กันก่อน เพราะฝึกเขียนง่ายและเป็นรูปแบบใกล้เคียงกัน

 

ก    ถ    ภ    ฎ    ฎ    ฌ    ณ    ญ

ข   ฃ    ช    ซ

ค   ศ    ฅ    ต     ด      ฒ 

ง    จ   ฐ 

ฉ   ม   ฆ    น    ย   

ว   ร

ท   ฑ   ห   ธ   

 บ    ป    ษ

พ    ฟ   ฬ   ผ   ฝ

 ล    ส    อ     ฮ

 

 

 

               

นอกจากนั้นอาจฝึกเขียนตัวที่มีเสียงคล้ายคลึงกัน หรือเสียงเหมือนกัน

 

ก  

ข  ฃ     

ค   ฆ  ฅ

ช   ซ  ฉ   ฌ

ย   ญ

ด   ฎ

ต   ฏ

ฐ    ถ        

ท   ฑ   ธ   ฒ

น   ณ

ผ 

ภ  พ 

ร   ล   ฬ  

ส   ษ   ศ

ห   ฮ

 

                เพิ่มเติมฝึกเขียนสระ และวรรณยุกต์  ตามแบบฝึกอ่านหนังสือไทย กศน.

                5.  ฝึกคิดและวิเคราะห์    ครูอธิบายตัวอักษรแต่ละตัวจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจ ไม่ได้ท่องจำเท่านั้น  แต่ครูจะต้องทราบพื้นฐานของผู้เรียนว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์(กลุ่มกะเหรี่ยง)ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแรก บางคนพูดภาษาแม่ก่อน จึงมาเรียนมาไทยทำให้ต้องมีวิธีการเรียนภาษาไทยที่แตกต่างจากผู้เรียนที่พูดภาษาไทยตั้งแต่เกิด โดยมีข้อควรคำนึงสำหรับสอนกลุ่มชาติพันธุ์(กะเหรี่ยง)  ดังนี้

                • พยัญชนะในภาษากะเหรี่ยงเป็นเสียงกลางทั้งหมด ไม่มีเสียงสูง และเสียงต่ำเหมือนภาษาไทย  เพราะฉะนั้น ผู้เรียนกลุ่มนี้จำเป็นต้องเรียนรู้และต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับหลักภาษาไทยมากเพียงพอ เนื่องจากภาษาไทยแบ่งกลุ่มตัวอักษร 3 กลุ่ม คือ อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ

                • พยัญชนะบางตัวไม่มีเสียงในภาษากะเหรี่ยง  ดังเช่น     ข   ฉ   ถ  ฐ   ผ   ฝ   ส   ษ   ศ  ห 

ต้องฝึกฝนเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เรียนไม่มีเสียงเหล่านี้ในภาษาแม่ของตนเอง  นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มักพูดภาษาไทยไม่ชัด จนเป็นที่ล้อเลียน ถ้าครูภาษาไทยทราบจุดอ่อนของผู้เรียนสามารถแก้ไขได้ทันตั้งแต่แรกก็จะแก้ปัญหาการพูดไม่ชัดได้

                • พยัญชนะภาษาไทยมีแม่ตัวสะกด  กง กน กม เกย เกอว กก กด กบ  แต่สำหรับภาษากะเหรี่ยงไม่มีตัวสะกด มีแต่อักษรควบกล้ำ  ทำให้ต้องเพิ่มเติมรายละเอียดและเน้นเพิ่มเติมเนื่องจากผู้เรียนจะต้องรู้จักวิธีออกเสียงและใช้ปากให้ถูกต้อง ครูภาษาไทยจะต้องฝึกฝนและเพิ่มความสังเกตผู้เรียนมากเป็นพิเศษ

                • ระดับเสียงในภาษาไทยมีครบ 5 เสียง  คือ  เสียงสามัญ  เสียงเอก เสียงโท  เสียงตรี และเสียงจัตวา   แต่ในภาษากะเหรี่ยงมีเพียง เสียงสามัญ เสียง เอก เสียงโท เสียงตรี  ทำให้ผู้เรียนมีปัญหาในการใช้เสียงจัตวา  ประกอบกับระดับเสียงเอก และเสียงโท ของภาษากะเหรี่ยงก็ออกได้เพียงเสียงกล้ำกึ่งเสียงเอก และเสียงโท ของภาษาไทย  ทำให้เสียงพูดเหมือนอยู่ในลำคอออกเสียงกลาง ๆ ไม่ใช่เสียงเฉียบขาดแบบภาษาไทย  ฉะนั้นครูต้องใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจภาษาไทย

                • เนื้อหาวิชาของภาษาไทยควรเน้นเนื้อเรื่องที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้เรียน จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพชัด และคิดออกง่าย ๆ  ถ้าสอนผู้เรียนเรื่องไกลตัวในสิ่งที่ชุมชนผู้เรียนไม่มี ไม่เคยเห็น ทำให้นึกภาพไม่ออก ไม่เข้าใจ จะสับสนแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนยากเกินไป

ทำให้ไม่สนใจอยากจะเรียน เกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากมาเรียนภาษาไทย และไม่รักโรงเรียน

               

นอกเหนือจากวิธีสอน 5 ขั้นตอนแล้ว  ครูสอนภาษาไทยสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องมีความเป็นกันเองทำให้ผู้เรียนไว้วางใจ มีความตั้งใจ และความเอาใจใส่เป็นพิเศษ  สิ่งสำคัญครูต้องรักภาษาไทยและรักษาการสอนภาษาไทยเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อนั้นแหละ  การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ     สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก  http://www.oknation.net/blog/anong

หมายเลขบันทึก: 277648เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท