x-ray สุขภาพ : โรคนิ้วล็อก งอไม่เข้า เหยียดไม่ออก เจ็บปวดทรมาน


อาชีพที่มีความเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ คือ แม่บ้านที่หิ้วถุงหนัก ๆ ซักบิดผ้า คนทำสวน ขุดดิน ใช้กรรไกรเล็มกิ่งไม้ คนขายของ ขายผ้าที่ต้องหิ้วสินค้าเดินเร่ขาย ช่างไฟฟ้า ช่างโทรศัพท์ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างทำผม ช่าง เจียระไนพลอย คนขายน้ำ คนส่งน้ำอัดลม เบียร์ โซดา พนักงานธนาคาร ที่ต้องนับแบงก์บ่อย ๆ หรือหิ้วถุงเหรียญหนัก ๆ เป็นประจำ นักกอล์ฟ นักแบด มินตัน คนทำขนมนวดแป้ง และซาลาเปา หมอฟัน นักเขียน ครู นักบัญชี นักดนตรี ผู้บริหาร
นิ้วล็อกถ้าเกิดวันหนึ่งนิ้วมือทั้ง 10 นิ้วที่เราใช้งานอยู่เป็นประจำ มีนิ้วหนึ่งนิ้วใด หรือหลาย ๆ นิ้วเกิดใช้การไม่ได้ขึ้นมา จะเหยียดจะงอแต่ละทีมันช่างเจ็บปวดเสียนี่กระไร สันนิษฐานได้เลยว่า เป็นอาการของ โรคนิ้วล็อก ที่มีคนอยู่จำนวนไม่น้อยกำลังเป็นอยู่ "X-RAY สุขภาพ" วันนี้ น.พ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนิ้วล็อก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความกระจ่างกัน คุณหมอวิชัย อธิบายว่า โรคนิ้วล็อก หรือที่บางคนเรียกว่า เอ็นนิ้วมือยึด หรือ นิ้วเหนี่ยวไกปืน เป็นความผิดปกติของนิ้วมือ พบได้บ่อยที่สุดในคนแข็งแรงปกติ อาการที่ปรากฏจะเริ่มต้นเจ็บบริเวณฐานนิ้ว ขยับนิ้วมือจะรู้สึกเจ็บ การงอ และการเหยียดนิ้วฝืด สะดุด งอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็ง บวมชา นิ้วเกยกัน กำมือไม่ลง นิ้วโก่งงอ หากไม่ได้รับการรักษา นิ้วข้างเคียงก็จะยึดติดแข็ง ใช้งานไม่ได้เปรียบเสมือนมือพิการ สาเหตุของนิ้วล็อก เกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง ในการบีบกำ หิ้วของหนัก ๆ ซ้ำ ๆ จนปลอกหุ้มเอ็นบวมหดรัด ขาดความยืดหยุ่นเป็นผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก โรคนี้เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยในเด็กมักเป็นมาแต่กำเนิด สาเหตุมาจากเข็มขัดรัดเส้นเอ็นไม่ยืดหยุ่น ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มักเกิดในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะแม่บ้าน ที่ใช้มือทำงานหนัก เช่น หิ้วถุงพลาสติก หนัก ๆ หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ช้อปปิ้ง หิ้วถังน้ำ บิดผ้า กำมีดสับหมู หรือสับอาหารประเภทต่าง ๆ ในผู้ชายมักจะพบในอาชีพที่ต้องใช้งานมือหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ใช้จอบ เสียม มีด ฟันต้นไม้ ช่างที่ใช้ไขควง สว่าน หิ้ว หรือ ยกของหนักเป็นประจำ เช่น คนส่ง แก๊ส คนส่งน้ำขวด น้ำอัดลม กระบะผลไม้ และมักพบได้บ่อยในคนที่ตีกอล์ฟ รุนแรง ดังนั้นอาชีพที่มีความเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ คือ แม่บ้านที่หิ้วถุงหนัก ๆ ซักบิดผ้า คนทำสวน ขุดดิน ใช้กรรไกรเล็มกิ่งไม้ คนขายของ ขายผ้าที่ต้องหิ้วสินค้าเดินเร่ขาย ช่างไฟฟ้า ช่างโทรศัพท์ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างทำผม ช่าง เจียระไนพลอย คนขายน้ำ คนส่งน้ำอัดลม เบียร์ โซดา พนักงานธนาคาร ที่ต้องนับแบงก์บ่อย ๆ หรือหิ้วถุงเหรียญหนัก ๆ เป็นประจำ นักกอล์ฟ นักแบด มินตัน คนทำขนมนวดแป้ง และซาลาเปา หมอฟัน นักเขียน ครู นักบัญชี นักดนตรี ผู้บริหาร คนที่เป็นโรคนิ้วล็อกอาจจะเป็นที่นิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือข้างใดข้างหนึ่ง ในบางคนก็เป็นทั้ง 2 ข้าง และเป็นหลายนิ้ว หรือเป็นเกือบทุกนิ้ว จากที่หมอให้การรักษามาเป็นเวลา 2 ปี มีคนไข้มาใช้บริการไปแล้ว กว่า 3,500 คน ซึ่งบางคนเป็นนิ้วล็อกถึง 8 นิ้วก็มี งอมือเหยียดมือไม่ได้เลย ทรมานมาก จากที่วิเคราะห์และพูดคุยกับคนไข้ พอจะสรุปได้ว่าคนที่เป็นแม่บ้านมักจะเป็นที่นิ้วกลาง และนิ้วนาง มากที่สุด ช่างตัดเสื้อ ตัด ผม คนที่เขียนหนังสือ เซ็นงาน หรือจับปากกานาน ๆ มักเป็นที่นิ้วโป้งขวา คนที่เป็นหมอ นวดแผนโบราณ เป็นที่นิ้วหัวแม่มือ 2 ข้าง คนที่ทำสวน ส่งน้ำอัดลม แม่ค้าขายข้าวแกงต้อง ยกหูหม้อหนัก ๆ ทุกวัน มักจะเป็นที่นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คนที่เล่นกอล์ฟ จะเป็นที่นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยซ้ายมือ ในส่วนของนิ้วก้อยข้างขวา อาจพบได้ในผู้ที่มีอาชีพช่างกลึง ที่ต้องขันนอต ประแจ โดยไม่มีการป้องกัน ทำให้ฐานนิ้วบวม เกิดพังผืด และเป็นนิ้วล็อกในที่สุด มาถึงวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกนั้น ถ้าเป็นในระยะเริ่มแรก มีอาการเจ็บเพียงฐานนิ้ว คุณหมอวิชัย บอกว่า ควรพักการใช้งานที่รุนแรง และแช่นิ้วมือใน น้ำอุ่น ใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด หรือฉีดยาสเตียรอยด์ ซึ่งมักจะได้ผลในระยะปานกลาง แต่ถ้าเป็นรุนแรง การฉีดยาสเตียรอยด์ อาจจะได้ผลในระยะสั้น 2-3 เดือนเท่านั้น จากนั้นจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก คนไข้จำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด แต่เนื่องจากคนไข้บางคนกลัวการผ่าตัด อีกทั้งเมื่อผ่าตัดจะต้องเปิดแผลที่ฐานนิ้วมือ คนไข้ต้องใช้เวลาพัก หรือ หยุดงานหลายวันกว่าแผลจะหายและใช้มือได้ตามปกติ หมอจึงได้คิดค้นวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยวิธีการเจาะผ่านผิวหนังไปตัดเข็มขัดรัดเส้นเอ็น โดยวิธีนี้แผลจะเล็ก ใช้เวลารักษาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น ในการเจาะผ่านผิวหนังนั้น คุณหมอวิชัย ได้อธิบายไปพร้อม ๆ กับรักษาคนไข้ไปในตัว โดยคุณหมอได้ใช้เครื่องมือทำฟันที่เรียกว่า carver ซึ่งใช้ในการอุดฟัน และตกแต่งฟัน โดยนำมาเจียให้ได้ความคมตามต้องการที่จะใช้งานให้เหมาะสมกับแต่ละนิ้ว ก่อนการรักษาคนไข้จะต้องล้างมือให้สะอาดก่อน คุณหมอจะถามคนไข้ซ้ำอีกครั้งว่านิ้วไหนที่มีปัญหา แล้วให้คนไข้งอนิ้ว และเหยียด นิ้วให้ดู จากนั้นจะให้คนไข้กำมือแล้วใช้ผ้ากอซพันมือเป็นการไล่เลือดออกจากบริเวณมือที่จะทำการเจาะก่อนทำการห้ามเลือด โดยใช้หนังยางรัดที่บริเวณเหนือข้อมือ เมื่อห้ามเลือดเสร็จแล้ว ก็จะแกะผ้ากอซที่พันออก ทาเบตาดีนให้ทั่วมือ และทาแอลกอฮอล์ซ้ำอีกรอบเพื่อฆ่าเชื้อ ทำการฉีดยาชา ก่อนตามด้วยยาแก้อักเสบเข้าไปตรงฐานของนิ้วล็อก และใช้เครื่องมือทำฟันที่ดัดแปลงแล้วเจาะผ่านผิวหนัง และทำการตัดเข็มขัดรัดเส้นเอ็นที่เป็นพังผืดออก ซึ่งขณะที่ขยับเครื่องมือไปมาจะมีเสียงดังแควก ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลา หลังจากใช้เวลาประมาณ 5-6 นาที จากนิ้วมือที่งอ เหยียดไม่ได้ คนไข้ก็สามารถขยับมือได้ ร่องรอยของแผลที่ปรากฏนั้นก็มีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น จากนั้นก็ทำความสะอาดแผล ใช้ผ้าพันแผลปิดแผลไว้ ตามด้วยผ้ากอซพันซ้ำอีก เอาหนังยางรัดออก เป็นอัน เสร็จสิ้นกระบวนการ คนไข้กลับบ้านได้ โดยหมอจะจ่ายยาแก้ปวด และแก้อักเสบให้ไปรับประทานที่บ้าน และแนะนำให้เอาผ้ากอซออกในตอนกลางคืน และพยายามขยับนิ้วอยู่เรื่อย ๆ สิ่งสำคัญที่คนไข้จะต้องไม่ลืม คือ ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะมาให้หมอ ดูแผลอีกครั้งระหว่างนี้ห้ามให้แผลโดนน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อได้ กรณีที่คนไข้เป็นนิ้วล็อกทั้งข้างซ้ายและข้างขวา คุณหมอวิชัย บอกว่า จะต้องมาทำข้างใดข้างหนึ่งก่อน เมื่อหายดีแล้วค่อยกลับมาทำอีกข้าง เพราะถ้าทำทั้ง 2 ข้างไปพร้อม ๆ กัน คงเป็นไปไม่ได้ที่คนไข้จะไม่ใช้มือเลย เพราะไหนจะต้องเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หยิบจับโน่น หยิบจับนี่ คุณหมอวิชัย เตือนว่า การป้องกันโรคนิ้วล็อกวิธีที่ดีที่สุด คือ ต้องระมัดระวังการใช้งานของนิ้วมืออย่างถูกสุขลักษณะ ก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของปลอกหุ้มเอ็น และโรคนิ้วล็อกได้ โดยใน คนที่ต้องหิ้วถุงหนัก ๆ ก็ควรใช้ผ้าขนหนู หรือกระดาษห่อเป็นที่จับ หรือแทนที่จะหิ้วตะกร้าเวลาไปจับจ่ายซื้อของ ก็ใช้รถเข็น หรือรถลาก แทน การตัดกิ่งไม้ ก็ควรใส่ถุงมือ หรือแม่บ้านที่ซักผ้าบิดผ้าบ่อย ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องซักผ้าแทน ในคนที่ตีกอล์ฟ ส่งของก็ควรใส่ถุงมือ ท้ายนี้หวังว่าผู้อ่าน "X-RAY สุขภาพ"ที่เป็นโรคนิ้วล็อกอยู่ คงจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปพอสมควร และขอบอกว่า โรคนี้มีโอกาสเกิด ขึ้นได้กับทุกคน เพราะเท่าที่ไปดูคนไข้ที่มาให้หมอรักษา มีทั้งทันตแพทย์ ผู้พิพากษา อาจารย์สอนหนังสือ ค้าขาย ดังนั้น เมื่อเป็นแล้วไม่ต้องกลัว ที่จะไปพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ย่อมดีกว่าปล่อยทิ้งไว้แล้วนิ้วตายใช้งานไม่ได้เลย.
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27604เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

goodssss.................ดีมากเลยคับ.............กระจ่างอีกเรื่อง............ถ้ามีราคาในการรักษาต่อครั้ง/ข้าง.....คงดีคับ ขอบคุณคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท