ครูคือ นัก "เจียระไน" มิใช่ "ตุลาการ" ... (ว.วชิรเมธี)


ช่วงนี้อ่านหนังสือของท่าน ว.วชิรเมธี ได้ดีช่วงหนึ่ง คนเหนือจะเรียกว่า "อ่านแล้วม่วน" ไม่ได้ยืมห้องสมุดมาเหมือนแต่ก่อน ลงทุนด้วยกระเป๋าตัวเอง เล่มนี้เป็นเล่มที่สองแล้วในชุดนี้ ... กำลังคิดว่า ตังค์จะเหลือถึงปลายเดือนหรือเปล่าเนี่ย อิ อิ

 

ธรรมะเกร็ดแก้ว ของท่าน ว.วชิรเมธี

 

ตอนแรกที่ไปเลือก ๆ ดูไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เล่มไหนดี แต่พอมาเปิดเล่มนี้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มันการันตีอะไรได้บางอย่าง จึงเปิดดู พบว่า เป็นเกร็ดความคิดสั้น ๆ มิน่า คนไทยถึงชอบอ่าน อิ อิ มันสั้น และเข้าใจง่ายนี่เอง

ขอนำมาฝากท่านทั้งหลาย ๑ บท

 

ครูคือ นัก "เจียระไน" มิใช่ "ตุลาการ"

 

ยังจำคำปรามาสที่ครูคนหนึ่งประทับตราให้แก่ไอน์สไตน์ได้หรือไม่

สำหรับผู้เขียนแล้ว ครูคนนี้ไม่สมควรถูกตำหนิเสียทีเดียว แต่ควรได้รับคำชมด้วยเหมือนกัน ใครจะไปรู้ล่ะ ว่าที่ไอน์สไตน์พยายามสอบเข้านั่นสอบเข้านี่ตั้งหลายครั้งหลายหน บางทีนั่นอาจเป็นเพราะว่าเขากำลังต้องการเอาชนะคำปรามาสของครูคนนั้นอยู่ก็เป็นได้ และถ้านี่คือ วิธีคิดของไอน์สไตน์ ครูคนนี้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าพ่อผู้ซื้อเข็มทิศให้เขาตอนเด็ก ๆ ลุงผู้จุดประกายให้ไอน์สไตน์สนใจพีชคณิต และผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีแห่งซูริก สวิตเซอร์แลนด์ คนนั้น

ในทางกลับกัน ถ้าไอน์สไตน์ไม่คิดเอาชนะครูอย่างที่เราพยายามมองโลกในแง่ดีกันล่ะ จะเป็นอย่างไรต่อไป หากนักเรียนที่เคยถูกครูปรามาสอย่างเขา เกิดสรุปเอาเองว่าตนไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ ทึ่ม เข้ากับใครไม่ได้ ครูไม่รัก จะอยู่ไปทำไม

อะไรจะเกิดขึ้น

แต่โชคดีที่ไอน์สไตน์ไม่คิดเช่นนั้น แต่กับนักเรียนคนอื่นที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับเขาทั่วโลกเล่า ใครจะรับประกันได้ว่า "คำพิพากษา" ที่ครูบางคนมองให้จะไม่กลายเป็นชนวนแห่งการตัดสินใจได้ทำ "อัตวินิบาตกรรม" อย่างที่นักเรียนนักศึกษาไทยนิยมกระทำกัน

 

มีเรื่องทำนองนี้เช่นกันในพุทธประวัติ  คือ กุลบุตรคนหนึ่งเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ไม่นานท่านก็บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ความสุขจากชีวิตที่เป็นไททำให้ท่านนึกถึงน้องชาย จึงไปชวนเขามาบวชด้วย แต่โชคไม่ดีที่น้องชายของท่านเป็นคนหัวขี้เลื่อย พี่ชายให้เรียนอะไรไม่เคยจำได้สักที

พระพี่ชายมองคาถาที่ประพันธ์เป็น "กวีนิพนธ์" ให้ไปท่องหนึ่งบท บทหนึ่งมีสี่บาท พระผู้น้องใช้เวลาท่องกวีนิพนธ์สี่บรรทัดนี้อยู่สามเดือนก็จำไม่ได้ อยู่ไปก็หมดอนาคต สึกเสียเถิด พระน้องชายเสียใจมาก ใจยังรักที่จะบวชต่อไป แต่พี่ชายสั่งให้สึก เธอน้อยอกน้อยใจพาตัวเองขึ้นไปยืนอยู่เหนือปากเหว เตรียมฆ่าตัวตายประชดผู้เป็นพี่ พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุการณ์นี้โดยตลอด ก่อนที่นาทีสุดท้ายแห่งชีวิตจะมาถึงทรงปรากฎตัวขึ้นและตรัสว่า

"คนที่ท่องจำไม่เก่ง ไม่ได้หมายความว่าเอาดีอะไรไม่ได้ มาสิ ตามฉันมา"

 

ทรงมอบผ้าขาวผืนหนึ่งให้เธอไปพิจารณา ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน พระบวชใหม่หัวขี้เลื่อยผู้อาภัพก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์อย่างพลิกความคาดหมาย แถมมีฤทธานุภาพมากมายอีกต่างหาก พระพี่ชายทราบข่าวนี้อย่างชนิดไม่เชื่อหูตัวเอง

 

.....................................................................................................................................

 

เวลาครูสอนลูกศิษย์ ... อย่าได้ไปคิดว่า ลูกศิษย์ที่เรียนกับตัวเองไม่เข้าใจ เป็นเด็กหัวช้า สมองไม่ดี แต่สิ่งที่ครูควรคิด คือ การถามตัวเองว่า วิธีการสอนของครูนั้น เหมาะสมกับเด็กคนนั้นแล้วจริง ๆ หรือ เพราะเด็กทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีใครเหมือนใคร

อย่าลืมจิตวิทยาการเรียนรู้ เรื่อง "ความแตกต่างระหว่างบุคคล" โดยเด็ดขาด

อย่าเอาตัวครูเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่พอเด็กเรียนไม่รู้เรื่อง ไปโทษว่าเด็กไม่ดี เด็กมันโง่เอง

โปรดพิจารณาสิ่งที่พระพุทธองค์กำลังสอนท่านอยู่

บุญรักษา ครูดีครับ ;)

 

.....................................................................................................................................

หนังสือธรรมดี ๆ

ว.วชิรเมธี.  ธรรมะเกร็ดแก้ว.  พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2552.

 

หมายเลขบันทึก: 275693เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ Wasawat Deemarn
  • เป็นบันทึกที่สะกิดเตือนใจใครหลายคน
  • โดยเฉพาะคุณครูทั้งหลายที่เคยปฏิบัติเช่นนี้
  • หลักฐานยืนยันที่เห็นได้ชัดก็คือปัญหาสาเหตุ
  • ในการที่จะทำวิจัยในชั้นเรียนในแต่ละเรื่อง
  • เอาตัวครูเป็นศูนย์กลางของจักรวาลแทบทั้งสิ้น
  • เห็นแล้วละเหี่ยใจค่ะ

ขอบคุณครับ คุณ ครูแป๋ม ... ที่เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนท่านหนึ่งครับ ;)

สวัสดีค่ะคุณครูผู้เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ขอบคุณมากมากเลยค่ะท่ทำให้ครูแมวได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องท่ไม่เคยรู้ แล้วจะคอยติดตามอ่านค่ะ

ยินดีครับที่คุณ ครูแมว ได้แวะเข้ามาอ่าน ;)

จังหวัดเราอยู่ใกล้กันแค่นี้ ... เรียนเชิญเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน

เริ่มต้นจากบันทึกเก่า ๆ ของผมก็ได้ครับ

อยากให้คุณ ครูแมว เขียนบันทึกเยอะ ๆ ครับ อย่าหยุดเขียนนะครับ

ขอบคุณครับ ;)

อาจารย์ค่ะ

มีเรื่องปรึกษาค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ 

อันนี้เจอมาเหมือนกันค่ะ  การเจียรไนนี่ก็ยากเอาการนะคะ

ต้องใช้ความพยายามมากกับเพชรบางเม็ด ที่ไม่รู้และตระหนักใน

ศักยภาพและความแตกต่างของบุคคล  ต้องอธิบายและให้เหตุผลกัน

ยืดยาว  เพราะนักเรียนเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นว่าทำไมเขาทำได้

ทำไมเขาทำไม่ได้...ในฐานะครูลองแล้วว่าบางอย่างที่ยากเกินไป

สำหรับเขาเหล่านั้น...ก็เลี่ยงเสีย...เพราะคิดว่าเป็นความแตกต่าง

ระหว่างบุคคล...จนบางครั้งคิดว่า เอ..หรือเราประเมินเขาไม่ดีหรือ

เปล่านะคะ...แต่ก็บอกเสมอว่าทุกคนมีคุณค่าและศักยภาพในการ

พัฒนาในตนเอง...ที่เขาสามารถทำได้ก็ดีแล้ว...ไม่จำเป็นต้องเอา

เกณฑ์ของคนอื่นมาตัดสินตนเองเสมอไป  ใช่ไหมคะอาจารย์...

คงต้องใช้ความพยายามและความอดทนอีกมากในการเจียรไนเพชร

(มองว่าทุกคนคือเพชร) ให้เป็นเพชรที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

นะคะ...ขอบคุณคะ ^_^  เหนื่อยจัง...สู้ๆคะอาจารย์

ครับ คุณ ครูเอ ;) ... หลังไมค์ได้เลยครับ

ส่งเมล์กลับแล้วนะครับ คุณ ครูเอ ;)

พี่ลืมตอบน้องคุณครู เทียนน้อย อ่ะ ... ขออภัยด้วยนะครับ

เป็นครูไม่ยากไปกว่าการเป็นครูที่ดีไงครับ

สู้ สู้ ครับ ;)

ครูเป็นปุถุชนธรรมดานะ มิใช่พระผู้เป็นเจ้า การทำตัวเป็นครูแม่พระ พ่อพระ มากเกินไปใช่ว่าจะดี สอนโดยการให้ และนักเรียนคอยแต่รับ จะทำให้จิตเขาอ่อนแอ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ใจเสาะไร้เกราะป้องกันใจเจอกับสภาวะกดดันบีบคั้นเล็กๆน้อยๆก็คิดมาก จนบางคนคิดสั้นถึงกับฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้ คนถ้ารักดีไม่ต้องสอนมากถึงเขาจะไม่เก่งแต่ก็สามารถเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบันได้ แต่ก็ต้องระวังเหมือนกันอย่าดีเกินไปจนกลายเป็นเหยื่อของคนฉลาดที่คิดแต่จะทำเรื่องเลวๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท