การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ตอน 5


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (9)

กระบวนการในการจัดการความรู้

          จากรูปแบบในการจัดการความรู้ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ยังมีบางส่วนที่ขาดหายไป นั่นคือวิธีการที่เราจะใช้จัดการกับความรู้ หรือที่เรียกว่า กระบวนการในการจัดการความรู้ (KM Process) นั่นเอง

          กระบวนการในการจัดการความรู้ คือ กระบวนการ หรือวิธีการที่ใช้จัดการกับความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร ซึ่งจะประกอบด้วย 5 กระบวนการด้วยกันคือ

1.   การกำหนดองค์ความรู้ (Define) คือ การกำหนดองค์ความรู้ที่จำเป็น หรือมีความสำคัญกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นความรู้สำหรับการปฏิบัติงานในแต่ละหน้าที่ ความรู้ที่ใช้เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์ ความรู้หลักขององค์กร (Core Competency) ความรู้ที่ใช้ในการสร้างความแตกต่าง รวมถึงการสำรวจ และค้นหาว่าองค์ความรู้ที่จำเป็นและต้องการนั้นมีอยู่หรือไม่ในองค์กร ถ้ามี อยู่ที่ใคร และความรู้ที่จำเป็นตัวใดที่เรายังขาด ซึ่งอาจดำเนินการโดย การทำแผนที่ความรู้, การวัดสมรรถนะและการปฏิบัติงาน, การกำหนดทุนทางปัญญา ,การกำหนดสมรรถนะหลัก, การกำหนดสมรรถนะของคนในแต่ละตำแหน่งงาน และการกำหนดหน้าที่ในแต่ละตำแหน่งงานเป็นต้น

2.   การสร้างองค์ความรู้ (Create) คือ การจัดหา หรือสร้างความรู้มาเติมเต็มส่วนที่องค์กรยังขาดหายไป โดยอาจสร้างหรือต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่เดิม เรียนรู้จากประสบการณ์ หรือการจัดหาความรู้จากแหล่งภายนอก ซึ่งอาจทำได้โดย การจ้างที่ปรึกษา, การเรียนและการฝึกอบรม, การทำวิจัย, การค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี และการเทียบเคียงเป็นต้น

          3. การเสาะแสวงหาและจัดเก็บองค์ความรู้ (Capture) คือ การจัดเก็บความรู้ที่มีทั้ง ความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้ง ให้อยู่ในรูปของฐานความรู้ (ทุนองค์กร) ที่มีการจัดระเบียบ โครงสร้าง ให้ง่ายต่อการสืบค้น ค้นคืน แบ่งปัน และยกระดับ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร และสารสนเทศเข้ามาช่วยในการจัดการ เช่น ฐานข้อมูลแนวทางปฏิบัติที่ดี, สมุดหน้าเหลืองผู้เชี่ยวชาญ, ฐานความรู้ และคู่มือการปฏิบัติงานเป็นต้น

ภาพกระบวนการในการจัดการเรียนรู้

4. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share) คือ การกระจาย แบ่งปัน แลกเปลี่ยน ความรู้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยช่องทาง และรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์, จดหมายข่าว, กระดานข่าว ยังรวมถึงการจัดสถานที่ ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เช่น การจัดงาน Expo วิชาการ, เวทีสัมมนา, การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และ Show & Share เป็นต้น

           5. การใช้ความรู้ (Use) คือ การนำความรู้มาใช้ประโยชน์ หรือนำไปสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนางาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างนวัตกรรม การพัฒนาความรู้ความสามารถของคน และการตัดสินใจ

 ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการในการจัดการความรู้จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของโครงการจัดการความรู้ที่องค์กรได้ตั้งขึ้น ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องดำเนินการจนครบทั้ง 5 กระบวนการ เช่น เป้าหมายของการจัดการความรู้ เพื่อต้องการจัดเก็บองค์ความรู้ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ดังนั้นกระบวนการในการจัดการความรู้อาจดำเนินการเพียง Capture, Share และ Use เป็นต้น

 การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์

ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3  ตอน 4  ตอน 5  ตอน 6  ตอน 7

หมายเลขบันทึก: 274653เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท