K II
มังกรนิทรา- คนเก่งฟ้าประทาน

การควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค


การควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค

การควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค

ระบาดวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการกระจายและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคในประชากร การบรรยายการเกิดโรคและการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนั้น อาศัยเทคนิคต่าง ๆ 3 วิธี คือ การสังเกตการเกิดโรคตามธรรมชาติ การวิเคราะห์ผลการสังเกตด้วยวิธการทางสถิติ และการสร้างแบบจำลอง (ทางคณิตศาสตร์) เมื่อนำผลการศึกษาทางระบาดวิทยาประกอบการศึกษาทางคลินิกพยาธิวิทยา หรือการทดลอง ทำให้สามารถประมาณอัตราการป่วย (mordibity) และอัตราการตาย (mortality) ระบุสาเหตุของโรค เข้าใจลักษณะตามธรรมชาติของโรค เช่น การติดต่อ การคงอยู่ในประชากร และสามารถศึกษาประสิทธิภาพของวิธีการควบคุมโรค

การควบคุมโรค (control) หมายถึงการลดอัตราการป่วยและอัตราการตายจากโรค หรือการขัดขวางการแพร่กระจายของโรค ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดอย่างต่อเนื่อง การควบคุมโรคอาจทำได้โดยการรักษาเพื่อลดจำนวนของสัตว์ป่วย และการป้องกัน เป็นการลดความชุกของสัตว์ป่วยและการป้องกันซึ่งสามารถลดทั้งอัตราการเกิดโรค (อุบัติการณ์) และความชุก อีกนัยหนึ่งคือ การรักษาประชากรให้มีสุขภาพดีโดยรวมนั่นเอง มีสุภาษิตจีนกล่าวว่า หมอชั้นสูงรักษาประชากร หมอชั้นกลางรักษาคน หมอชั้นต่ำรักษาโรค งานระบาดวิทยา คืองานสุขภาพของประชากร จึงเป็นวิชาการแพทย์ชั้นสูงวิชาหนึ่ง

หลักการควบคุมโรคทางระบาดวิทยา ได้แก่ การทำลายแหล่งของเชื้อโรค เช่น การทำลายหรือตรวจรักษาสัตว์ป่วย ตลอดจนการตรวจคัดกรองสัตว์ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดแหล่งของเชื้อโรคในประชากร การขัดขวางห่วงโซ่ของการติดต่อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากแหล่งของโรค ไม่ว่าจะเป็นพาหะหรือตัวสัตว์ป่วยไปยังสัตว์ที่ยังไม่ติดเชื้อ เช่น การทำลายพาหะของโรค การกักกันสัตว์ป่วย หรือการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น และสุดท้ายได้แก่ การสร้างภูมิต้านทาน เพื่อให้สัตว์สามารถต้านทานต่อการติดเชื้อได้ด้วยตนเอง แม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อก่อโรคได้ เช่น การใช้วัคซีน เป็นต้น

ส่วนการป้องกันโรค (prevention) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่กระจายของโรค อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ การป้องกันระดับปฐมภูมิ (primary prevention) เป็นการป้องกันการสัมผัสเชื้อหรือสิ่งก่อโรคต่าง ๆ โดยการทำลายแหล่งของเชื้อ หรือขัดขวางการติดต่อ การป้องกันระดับทุติยภูมิ (secondary prevention) เป็นการป้องกันการป่วยหรือการเกิดอาการทางคลินิก อาจทำได้โดยการสร้างภูมิต้านทาน และการป้องกันระดับตติยภูมิ (tertiary prevention) เป็นการป้องกันความสูญเสียจากการเกิดโรค อาจทำได้โดยการรักษาอาการป่วยด้วยยาหรือการผ่าตัด

การกำจัดโรค (eradication) เป็นคำที่เริ่มใช้กันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อแสดงการกำจัดโรคไข้เห็บ (babesioses) ในอเมริกา โรคปอดบวม (pleuroneumonia) และโรคมงคล่อ (glanders) ในทวีปยุโรป    คำว่า eradication นี้อาจมีความหมายแตกต่างกัน 4 แบบ คือ

1.หมายถึงการสูญพันธุ์ของเชื้อที่ก่อโรคในธรรมชาติ ในความหมายนี้การกำจัดโรคจะสำเร็จก็ต่อเมื่อไม่มีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ในที่ใดในธรรมชาติ

2.หมายถึงการลดความชุกของการเกิดโรคในประชากรในบริเวณหนึ่งจนโรคนั้นไม่สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ (R0 = 0)

3.หมายถึงการลดความชุกของโรคในประขากรให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ทั้งนี้อาจมีการติดต่อของโรคแบบกระจายอยู่ทั่วไป (0<R0 <1)

4.หมายถึงการสูญพันธุ์ของเชื้อก่อโรคในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้กันมากสุดในทางสัตวแพทย์

กลยุทธ์การควบคุมและกำจัดโรค

การกักกันโรค

            การกักกันโรค (quarantine) เป็นการแยกสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อจากสัตว์ปกติที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อได้ การกักกันโรคนี้เป็นวิธีการควบคุมโรคที่ใช้ได้ผลดีมาตั้งแต่โบราณ มักใช้กับการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศซึ่งมีโรคประจำถิ่นที่ไม่มีในประเทศนำเข้า นอกจากนี้ ยังหมายถึงการแยกสัตว์ที่สงสัยว่าติดเชื้อจนกว่าจะมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ยืนยันความปลอดเชื้อ ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้สามารถกำจัดโรคได้ โดยการกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อทีละตัว ระยะเวลากักกันโรคนั้น ขึ้นกับระยะฟักตัวของโรค (incubation period) ระยะเวลาที่ใช้ในการยืนยันการปลอดโรคและระยะเวลาที่สัตว์ป่วยจะหายและปลอดจากเชื้อไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม

 

การทำลายสัตว์ป่วย

            โดยทั่วไปประสิทธิภาพการผลิตของสัตว์ใด ๆ จะลดลงเมื่อป่วย และหากเป็นโรคติดเชื้อ สัตว์นั้นอาจเป็นแหล่งของโรคที่ติดต่อไปยังสัตว์อื่น ในสถานการ์ดังกล่าวการทำลายสัตว์ป่วยอาจเป็นวิธีการที่ดีสำหรับการควบคุมโรค ในการรณรงค์เพื่อกำจัดโรค อาจใช้มาตรการทำลายสัตว์ที่ติดเชื้อเพื่อกำจัดแหล่งของโรค การกำจัดโรคใดโรคหนึ่งจากฝูงสัตว์ อาจใช้เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งในการทำลายสัตว์ป่วย ได้แก่

-Test and removal เป็นการตรวจการติดเชื้อของสัตว์ทั้งฝูงแล้วกำจัดตัวที่ติดเชื้อออกไปจากฝูง เช่น การกำจัดวัณโรคออกไปจากฝูงวัว หรือ PRRS ในฝูงสุกร เป็นต้น

-Pre-emptive slaughter หมายถึงการทำลายสัตว์ที่อาจสัมผัสกับสิ่งก่อโรค หรือมีความเสี่ยงที่จะป่วยแม้ว่าจะยังไม่แสดงอาการป่วย และไม่มีผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ เช่น การทำลายสัตว์ปีกในฟาร์มที่เกิดโรคไข้หวัดนกทั้งหมด ไม่ว่าจะแสดงอาการป่วยหรือไม่ เป็นต้น

-Blanket culling หมายถึงการทำลายสัตว์ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณที่เกิดโรค เป็นวิธีการที่ออกแบบเพื่อดำเนินการควบคุมโรคล่วงหน้าไปก่อนการแพร่กระจายของโรค เช่น การทำลายสัตว์ปีกในรัศมี 5 กิโลเมตรจากฟาร์มที่เกิดโรคไข้หวัดนกเพื่อควบคุมการกระจายของโรคเป็นต้น วิธีการนี้อาจใช้ได้ผลดีกับโรคที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจมีค่าใช้จ่ายสูง

-Stamping out หมายถึงการทำลายสัตว์ร่วมกับการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคด้วยวิธีอื่น เช่น การทำลายซาก การพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณโรงเรือนและอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ตามข้อกำหนดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal หรือ Office International des Epizooties: OIE) วิธี stamping out จะครอบคลุมการทำลายสัตว์ป่วย และสัตว์ที่สงสัยว่าจะป่วยทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดต่อของเชื้อ สัตว์ที่ไวต่อเชื้อ ไม่ว่าจะใช้วัคซีนหรือไม่ และทำลายซากสัตว์โดยการเผาหรือฝังเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายต่อไปได้ ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย

 

 

 

การใช้วัคซีน

                วัคซีน (vaccine) หมายถึงสารที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อการสัมผัสเชื้อโรคได้ ปัจจุบันมีรูปแบบโรคที่ร่างกายสามารถต้านทานได้เมื่อได้รับวัคซีนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถป้องกันการเกิดและการแพร่กระจายของโรคได้อย่างสมบูรณ์ เทคนิคการป้องกันและควบคุมโรคด้วยการใช้วัคซีนอาจทำได้หลายวิธี ได้แก่

1.การใช้วัคซีนตามยุทธศาสตร์ (strategic vaccination) เป็นการใช้วัคซีนกับประชากรในบริเวณที่มีโรคเกิดขึ้นประจำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคจากบริเวณที่โรคเกิดขึ้นประจำไปยังบริเวณอื่น

2.การใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน (Emergency vaccination) เป็นการใช้วัคซีนกับประขากรที่มีการระบาดของโรค เพื่อลดอัตราการเกิดโรค และป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังบริเวณอื่น ซึ่งมีกลยุทธ์ดำเนินการได้ 3 แบบคือ

  2.1 การใช้วัคซีนแบบวงแหวน (ring vaccination) เป็นการใช้วัคซีนรอบบริเวณที่เกิดการระบาดของโรค เพื่อเป็นแนวป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อของโรคระหว่างประชากรที่เกิดโรคระบาดกับประชากรในบริเวณอื่น โดยที่ไม่ต้องใช้วัคซีนในประชากรทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อโรคระบาดสงบลงจะสามารถทำให้ประชากรทั้งหมดปลอดโรคตามนิยามของ OIE (ต้องปลอดจากภูมิต้านทานจากวัคซีนด้วย) ได้สะดวกกว่าการทำวัคซีนในประชากรทั้งหมด

2.2 การใช้วัคซีนตามแนวป้องกันโรค (barrier vaccination) เป็นการใช้วัคซีนกับประชากรที่อยู่ในบริเวณที่ติดต่อกับประชากรที่เกิดโรคระบาด แต่ไม่สามารถใช้วัคซีนล้อมรอบได้ เช่น ตามแนวชายแดน เป็นต้น

2.3 การใช้วัคซีนเพื่อลดอัตราการเกิดโรค (suppressive หรือ dampening down vaccination) เป็นการใช้วัคซีนทั้งในประชากรบริเวณที่เกิดโรคและบริเวณรอบ ๆ ด้วย

 

 

 

การใช้เคมีบำบัด

                การใช้เคมีบำบัดหรือป้องกัน (therapeutic หรือ prophylactic chemotherapy) สารเคมีที่ใช้ในการบำบัดหรือป้องกันโรค ได้แก่ ยาต้านจุลชีพ hyper-immune serum เป็นต้น สารเหล่านี้สามารถใช้ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดสูง เพื่อป้องกันการเกิดโรคและส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต การป้องกันโรคด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การคัดเลือกเชื้อที่สามารถต้านทานต่อยาต้านจุลชีพ เนื่องจากการใช้ยาในระดับ (dose) ต่ำ ทำให้สามารถอยู่รอดและแพร่กระจายความสามารถในการต้านทานต่อยาต้านจุลชีพไปยังเชื้ออื่นได้

การเคลื่อนย้ายสัตว์

การเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังบริเวณที่มีพาหะของโรคน้อย สามารถใช้การป้องกันโรคที่มีพาหะของโรคเพิ่มขึ้นตามเป็นฤดูกาล โดยเมื่อถึงฤดูกาลที่มีพาหะของโรคเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจทำการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงยังที่ที่มีพาหะของโรคน้อย หรือเคลื่อนย้ายสัตว์ไปเลี้ยงในโรงเรือนที่สามารถป้องกันพาหะของโรคได้

การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์

            การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ มักเป็นวิธีการควบคุมการเกิดโรคในภาวะของการเกิดโรคระบาดหรือในการรณรงค์เพื่อกำจัดโรค ป้องกันการนำสัตว์ที่ติดเชื้อจากบริเวณหนึ่งไปยังบริเวณอื่น และป้องกันการนำสัตว์ที่ยังไม่ติดเชื้อไปสู่บริเวณที่มีการระบาดของโรค ซึ่งจะทำให้อัตราการป่วยสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้อาจควบคุมการเคลื่อนย้ายเฉพาะรอบ ๆ บริเวณที่เกิดโรคระบาด เช่น ในการควบคุมโรคไข้หวัดนก จะห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในระยะ 50 กิโลเมตรจากจุดที่เกิดโรค เป็นต้น สำหรับรัศมีบริเวณที่ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อตามธรรมชาติ ดังนั้นโรคที่สามารถติดต่อผ่านอากาศ (air borne) อาจต้องทำการควบคุมการเคลื่อนย้ายเป็นระยะทางที่มากกว่าโรคที่ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง เป็นต้น  โดยทั่วไปแล้วการควบคุมการเคลื่อนย้ายจะไม่ดำเนินการควบคุมทั้งประเทศ เนื่องจากไม่มีความจำเป็น และมักส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจและสังคมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อาจมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเข้าสู่ประเทศได้

 

 

การจัดการทุ่งหญ้า

            กรณีที่มีการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยให้หากินเองในทุ่งหญ้า สัตว์อาจติดเชื้อโดยเฉพาะพยาธิจากสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การควบคุมพยาธิโดยการจัดการทุ่งหญ้าร่วมกับการควบคุมพาหะของโรคและการใช้วัคซีน อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการต้านทานต่อยาต้านพยาธิได้อีกด้วย ซึ่งการควบคุมการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้โดยการจัดการทุ่งหญ้าแบบใดแบบหนึ่งได้แก่

                1.การผสมสัตว์ที่ใช้ทุ่งหญ้า (mixed grazing) เป็นการผสมการใช้ทุ่งหญ้าระหว่างสัตว์ที่ไวต่อโรคกับสัตว์ที่สามารถต้านทานการติดเชื้อได้ดี เพื่อลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้แม่โคที่สามารถต้านทานต่อการติดเชื้อเล็มหญ้าในทุ่งหญ้าพร้อมกับลูกที่อาจไวต่อการติดเชื้อมากกว่า

                2.การสลับการใช้ทุ่งหญ้า (alternate grazing) ระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจลดการปนเปื้อนและการเพิ่มจำนวนของเชื้อที่ปนเปื้อนในทุ่งหญ้าได้ เช่น การสลับการใช้ทุ่งหญ้าระหว่างแกะกับโคนม ที่ช่วยให้สามารถควบคุมพยาธิ Ostertagia sp. และ Nematodius sp. ที่ติดต่อเฉพาะในแกะได้

                3.การจัดลำดับการใช้ทุ่งหญ้า (sequential grazing) ระหว่างสัตว์ชนิดเดียวกันที่ไวต่อโรคกับสัตว์ที่ต้านทานต่อโรค เป็นการลดการปนเปื้อนของทุ่งหญ้า เช่น หากให้แม่โคใช้ทุ่งหญ้าก่อนจะลดการปนเปื้อนพยาธิ Trichostrongyle sp. ซึ่งมักติดต่อไปสู่ลูกโคจากทุ่งหญ้า

 

การควบคุมพาหะ

            การควบคุมพาหะของโรค (vector control) เป็นการตัดห่วงโซ่ของการติดต่อ ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถติดต่อกับสัตว์ป่วยไปยังสัตว์ปกติในบริเวณอื่นได้ พาหะของโรคอาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิต เช่น แมลงต่าง ๆ รวมถึงคนที่อาจนำเชื้อมาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การควบคุมพาหะของโรคที่มีชีวิต อาจทำได้โดยการใช้ยาฆ่าแมลง การใช้สิ่งมีชีวิตที่แย่งที่อยู่อาศัยหรืออาหารของพาหะของโรค หรือใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อทำลายเชื้อโรคที่อาจติดอยู่ตามร่างกาย สำหรับพาหะของโรคที่ไม่เป็นสิ่งมีชีวิต อาจทำลายด้วยการเผาหรือล้างด้วยยาฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น มาตรการควบคุมการติดเชื้อผ่านพาหะของโรคนี้ มักเรียกรวม ๆ กันว่า ระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สามารถป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อหลาย ๆ โรคได้ในเวลาเดียวกัน จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์เพื่อบริโภค

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการควบคุมและป้องกันโรค

            ในการป้องกันและควบคุมโรคนั้น มีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จของการดำเนินการหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่

1.ความรู้เกี่ยวกับการเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ ชนิดของสัตว์ที่สามารถติดเชื้อ วิธีการติดต่อของโรคและระยะฟักตัวของโรค  ทั้งนี้หากมีชนิดของสัตว์ที่ติดเชื้อได้น้อยอาจเลือกวิธีการทำลายสัตว์ เนื่องจากสามารถระบุสัตว์ที่ติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่หากมีชนิดของสัตว์ที่ติดเชื้อได้มาก เช่น โรคพิษสุนัขบ้า อาจต้องอาศัยการทำวัคซีนในสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น

2.การสนับสนุนงานสัตวแพทย์จากรัฐ จำเป็นสำหรับการรณรงค์ควบคุมและกำจัดโรค โดยมีบทบาทที่สำคัญ คือเป็นผู้ที่เข้าไปทำการตรวจวินิจฉัยโรค ทั้งนี้ต้องมีความสามารถในการเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่เกิดโรคได้อย่างรวดเร็ว และสามารถวินิจฉัยตลอดจนทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเกิดโรคได้ ในประเทศที่มีสัตวแพทย์จำนวนจำกัด อาจพิจารณาอบรมเรื่องการควบคุมโรค และพัฒนาความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการแก่อาสาสมัครในพื้นที่ และในระยะยาวควรจัดให้มีระบบการรายงานโรค ตลอดจนการสร้างแบบจำลองการเกิดโรคเพื่อให้สามารถวางแผนการควบคุมและป้องกันโรคล่วงหน้าได้

3.ความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรค อาจทำได้โดยการตรวจทางคลินิก การชันสูตรซาก การแยกเชื้อที่ทำให้เกิดโรค การตรวจระดับภูมิต้านทาน หรือการเปลี่ยนแปลงปัจจัยเสี่ยงทางระบาดวิทยา เช่น การลดลงของประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น

4.ระบบการเฝ้าระวังโรค เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการเกิดโรคและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาทำการวิเคราะห์และกำหนดเป็นมาตรการควบคุมป้องกันโรคและอาจใช้ในการติดตามผลของมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวอีกด้วย

5.การผลิตสัตว์ทดแทน การควบคุมและการกำจัดโรคโดยการทำลายสัตว์ทั้งหมด อาจทำให้อุตสาหกรรมที่ผลิตสัตว์เพื่อบริโภคหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการผลิตหรือซื้อสัตว์ทดแทนล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบทางเศรฐกิจของมาตรการควบคุมโรคดังกล่าว

6.ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง จำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมโรคให้ได้ผลดี ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมโรคไข้หวัดนก ในระยะแรกประสบปัญหาเกี่ยวกับการหลบซ่อนและเคลื่อนย้ายสัตว์ที่จะต้องถูกทำลาย อาจเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรฐกิจ แต่ในระยะต่อมาเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายจากโรคไข้หวัดนก และมีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนสัตว์ที่ถูกทำลายอย่างทันท่วงที ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7.ความเห็นของสาธารณชน อาจมีผลกระทบต่อมาตรการควบคุมและป้องกันโรคได้เช่นกัน ทั้งนี้การให้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็นในการปรับความเห็นของสาธารณชนต่อมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่จำเป็นต้องดำเนินการ เช่น การทำลายสัตว์ ซึ่งอาจเป็นภาพลบที่ทำให้สาธารณชนไม่เห็นด้วยและไม่ให้ความร่วมมือ

8.ผลกระทบทางสาธารณสุข เนื่องจากโรคติดเชื้อกว่า 70% เป็นโรคที่ติดต่อได้ทั้งในคนและสัตว์ (zoonoses) ดังนั้นในการควบคุมโรคในสัตว์อาจต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการควบคุมโรคในคน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระหว่างสัตว์และคน ทำให้เชื้อเพิ่มความรุนแรงหรือระบาดได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

9.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้ยาฆ่าแมลงที่อาจทำลายสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไปด้วย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดการตกค้างสะสมของสารเคมีต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในระยะยาวอีกด้วย

10.การสนับสนุนงบประมาณ เป็นสิ่งจำเป็นในการณรงค์ควบคุมและกำจัดโรค ทั้งนี้งบประมาณอาจมาจากทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิต ตลอดจนเจ้าของสัตว์ ซึ่งในภาพรวมแล้วจะต้องประเมินความคุ้มค่าของมาตรการควบคุมและกำจัดโรคก่อน

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว หากจะดำเนินการกำจัดโรคออกจากประเทศ (eradication) รัฐบาลอาจต้องมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ทรัพยากรต่าง ๆ ตั้งแต่บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณในการดำเนินงาน ความสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการกระทำที่ผิดกฎหมายที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของการควบคุมโรคลดลง ความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดน และความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรค

 

มาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

            สืบเนื่องจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานอื่นได้กำหนดมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนก โดยมีมารตรการหลัก 4 มาตรการคือ การทำลายสัตว์ป่วยและซากสัตว์ การเก็บตัวอย่างตรวจรอบจุดเกิดโรค การทำลายเชื้อโรค และการควบคุมการเคลื่อนย้าย

                การทำลายสัตว์ป่วยและซากสัตว์ ดำเนินการโดย

1. ปศุสัตว์สั่งทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในฟาร์มที่เป็นโรค  และพิจารณาสั่งทำลายสัตว์ปีกในฟาร์มอื่น ๆ ที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าได้รับเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งประเมินจากข้อมูลการสอบสวนโรค โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทำลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2547

                2. ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการทำลายสัตว์และซากสัตว์

                3. คณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ทำการประเมินราคาสัตว์ปีกโดยให้เจ้าของได้รับค่าชดเชยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499   ในอัตรา 75% ของราคาสัตว์ ซึ่งอาจขายได้ในตลาดท้องถิ่นที่ก่อนเกิดโรคระบาด ในกรณีที่จับกุมสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกได้ในด่านกักกันสัตว์ มีอำนาจสั่งทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสงสัยว่าเป็นพาหะของโรคระบาด โดยไม่ต้องชดใช้ค่าทำลายสัตว์และซากสัตว์นั้น ทั้งนี้อาจดำเนินการร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่

                4. ให้เจ้าของลงลายมือชื่อในบันทึกสั่งทำลายสัตว์และซากสัตว์

                5. คณะกรรมการทำลายสัตว์และซากสัตว์ควบคุมการทำลายสัตว์ปีกด้วยวิธีที่เหมาะสมดังนี้

                5.1 การทำลายสัตว์ มี 2 วิธี คือ

                     5.1.1 วิธีดมก๊าซ

                                - คาร์บอนไดออกไซด์ ทำลายสัตว์โดยเอาสัตว์ปีกใส่ถุงหรือภาชนะที่บรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10% หรือโดยการค่อย ๆ พ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในภาชนะที่บรรจุสัตว์ปีกอยู่แล้ว (อัตราส่วนการใช้ : ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 1.75 กิโลกรัม ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ในสถานที่ปิดเป็นเวลา 30 นาที)

                                - คาร์บอนมอนอกไซด์ วิธีใช้เช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (อัตราส่วนการใช้ : ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 8 กิโลกรัม ต่อ 100 ลูกบาศก์เมตร ในสถานที่ปิดเป็นเวลา 30 นาที)

                     5.1.2 วิธีการทำลายสัตว์ปีกทางกายภาพ (physical method) เป็นวิธีการทำให้สัตว์สูญเสียความรู้สึกอย่างทันทีทันใด โดยการทำลายส่วนของสมองและไขสันหลัง เช่นการดึงคอให้หลุดออกมาอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ (cervical dislocation) หรือการตัดส่วนหัวออก (decaption)

                5.2 การทำลายซาก

                      5.2.1 ขุดหลุมฝังซากสัตว์ปีก มูลสัตว์ปีก วัสดุรองพื้น และวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว โดยสิ่งที่ฝังจะต้องอยู่ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ทั้งนี้หลุมฝังซากจะต้องไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง

                       5.2.2 ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนซากสัตว์ปีกก่อนกลบฝังซาก

                       5.2.3 พูนดินให้สูงกว่าระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

                       5.2.4 ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่กลบฝังและบริเวณโดยรอบภายหลังกลบฝัง

                ในการดำเนินการทำลายสัตว์และซากสัตว์ ให้เจ้าหน้าที่ป้องกันการสัมผัสเชื้อไข้หวัดนกโดย

  • 1. สวมชุดแต่งกายสำหรับควบคุมโรค เช่น
  • - ชุดควบคุมโรค หรือเสื้อผ้าที่รัดกุม มีแขนและขายาวรัดข้อ มีหมวกคลุมป้องกันร่างกายไม่ให้สัมผัสกับเชื้อ
  • - ที่ปิดจมูกและปากที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้
  • - แว่นตาที่ปิดมิดชิด
  • - ถุงมืออย่างหนาสำหรับจับสัตว์ปีกโดยไม่ขาดง่าย
  • - รองเท้าบูต
  • 2. ล้างร่างกายส่วนที่สัมผัสกับสัตว์ปีกทันทีด้วยน้ำสบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  • 3. ภายหลังดำเนินการทำลายสัตว์ปีกแล้ว ให้ผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดร่างกายตามหลักสุขอนามัย
  • 4. เมื่อดำเนินการทำลายสัตว์ปีกแล้ว ให้คณะกรรมการทำลายสัตว์และซากสัตว์ลงบันทึกการทำลายสัตว์และซากสัตว์ เพื่อรายงานให้ปศุสัตว์จังหวัดทราบ
  • 5. ปศุสัตว์ดำเนินการขอเบิกเงินค่าชดใช้ให้เกษตรกรต่อไป

การเก็บตัวอย่างตรวจรอบจุดเกิดโรค ดำเนินการโดย

1.ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเฝ้าระวังทางอาการและเก็บตัวอย่างในสัตว์ปีกที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่เกิดโรคระบาด ตามเป้าหมายหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำหนด โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอตามหลักเกณฑ์การเก็บตัวอย่าง ดังนี้

    1.1 ไก่เนื้อ ไก่พันธุ์ และไก่ไข่ ที่มีลักษณะการเลี้ยงเป็นฟาร์มให้เก็บตัวอย่างจากทุกฟาร์ม ตามวิธีการดังนี้

                - สุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระ (cloacal swab) กระจายทุกโรงเรือน จำนวน 9 ตัวอย่าง ต่อ 1 ฟาร์ม (cloacal swab 1 ตัวอย่าง หมายถึง polled sample จากไก่ 5 ตัว ดังนั้น 9 ตัวอย่างจะมาจากไก่ 45 ตัว ความเชื่อมั่น 99% ประมาณการความชุก 10%)

                - ฟาร์มไก่เนื้อส่งออกและไก่พันธุ์ ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างโดยบริษัทเอกชนภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์

                - ฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มอิสระ ที่ไม่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท  ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างโดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์

    1.2 ไก่พื้นเมืองและสัตว์ปีกอื่น ๆ ที่อาจเป็นพาหะของโรค ให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากทุกหมูบ้านในพื้นที่โดย

                - สุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระ (cloacal swab) จากสัตว์ปีกในพื้นที่ จำนวน 4 ตัวอย่าง ต่อ 1 หมู่บ้าน (cloacal swab) 1 ตัวอย่าง หมายถึง pooled sample จากไก่ 5 ตัว ดังนั้น 4 ตัวอย่างจะมาจากไก่ 20 ตัว ความเชื่อมั่น 99% ประมาณการความชุก 25%

                - ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์

                - เมื่อได้รับตัวอย่างจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดให้ดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรค  และแจ้งผลการจตรวจวินิจฉัยโรคให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและกรมปศุสัตว์ผ่านสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคทราบ  เพื่อวางแผนการควบคุมโรคและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมโรค

การทำลายเชื้อโรค  ดำเนินการโดย

1.ทำลายเชื้อโรคในฟาร์มที่เกิดโรคหรือควบคุม ให้เกษตรกรดำเนินการทำลายเชื้อโรคดังนี้

                1.1 ยานพาหนะ

                      ใช้เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อบนรถและล้อรถให้ทั่วทุกซอกทุกมุมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มฟอร์มัลดีไฮด์ กลุ่มควอเทอร์นารีแอมโมเนีย กลุ่มฟีนอล หรือสารประกอบคลอรีน

                1.2 วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรือน

                    - แช่ ล้าง และขัดวัสดุอุปกรณ์ในน้ำผงซักฟอกเพื่อขจัดคราบไขมันและสิ่งสกปรกต่าง ๆ 

                    - แช่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในน้ำยาฆ่าเชื้อ (กลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเทอนารีแอมโมเนีย กลุ่มฟีนอล หรือกลุ่มกลูตารอลดีไฮด์)

                1.3 โรงเรือน

                       - ล้างและขจัดคราบไขมันและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในน้ำผงซักฟอก

                       - ฉีดพ่นบริเวณโรงเรือนและรอบ ๆ โรงเรือนทุกวัน เช้า-เย็นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับที่ฉีดพ่นยานพาหนะ

                1.4 ถาดไข่

                     - แช่ถาดไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเทอนารีแอมโมเนีย กลุ่มฟีนอล น้ำสบู่เข้มข้น หรือผงซักฟอก เป็นระยะเวลา 10-30 นาที หรือ

                      - รมถาดไข่ในห้องแบบปิดหรือใช้ผ้าพลาสติกคลุม

                1.5 ไข่

                      - ไข่บริโภค จุ่มไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มไฮโปคลอไรด์ 20 ppm

                     - ไข่ฟัก ใช้วิธีรมควัน

2. ติดตามการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคระบาด เช่น โรงฆ่าสัตว์ สถานที่รับซื้อสัตว์ปีก

การควบคุมการเคลื่อนย้าย ดำเนินการโดย

1.ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกภายในรัศมี 10 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรคเด็ดขาด โดยสั่งกักกันสัตว์ปีกทั้งหมดในพื้นที่ที่กำหนดอย่างน้อย 90 วัน หรือจนกว่าโรคจะสงบ และให้สัตวแพทย์ประจำอำเภอเข้าตรวจสอบพื้นที่ทุก 3 วัน หากพบโรคระบาดให้พิจารณาทำลายต่อไป

2.เมื่อผลการตรวจวินิจฉัยยืนยันว่าสัตว์ปีกเป็นโรคไข้หวัดนก ให้ปศุสัตว์จังหวัดพิจารณาเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตโรคระบาดนกไข้หวัดสัตว์ปีกหรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดชนิดไข้หวัดนกในสัตว์ปีก โดยอาศัยมาตรการตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ตามแบบฟอร์ม หรือประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวไข้หวัดนกในสัตว์ปีก โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งพระราขบัญญัติโรคระบาดสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในพื้นที่เกิดโรคระบาด และควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ตามแบบฟอร์มประกาศกำหนดเขตโรตระบาดชั่วคราว

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 274289เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2009 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกำลังใจให้น้าเก่งครับ ขอบคุณที่มาส่งเราถึงขอนเเก่นด้วยความปลอดภัย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท