แนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์


พฤติกรรมศาสตร์

แนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์

                พฤติกรรม หมายถึงการกระทำหรือการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตทั้งที่ปรากฏออกมาให้เห็นหรือสัมผัสได้ และไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตกระทำหรือปฏิกิริยาต่างๆแสดงออก ซึ่งแสดงออกทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้พฤติกรรมสามารถสังเกตได้และสังเกตไม่ได้หรือสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5หรือสามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือ

องค์ประกอบของพฤติกรรม

ตามทฤษฏีของ Bloom ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ

  1. ด้านความรู้หรือพุทธิปัญญา เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความเข้าใจ ความคิด
  2. ด้านความรู้สึกนึกคิดหรือเจตคติพิสัย  บ่งชี้ถึงสภาพจิตใจที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นนามธรรม เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของบุคคล มีรายส่วนประกอบย่อยๆอีก 3 ประการคือ ทัศนคติ/เจตคติ ค่านิยม และความเชื่อ
  3. ด้านการปฏิบัติหรือทักษะพิสัย คือ พฤติกรรมที่แสดงออกทางร่างกาย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์

                พัฒน์ สุจำนงค์ แบ่งองค์ประกอบที่มีผลต่อพฤติกรรมของคนเป็น 10 ประการ คือ กลุ่มสังคม บุคคลที่เป็นแบบอย่าง สถานภาพ ความเจริญด้านเทคนิค กฎหมาย ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพแวดล้อม ทัศนคติ การเรียนรู้ในทางจิตวิทยาสมัยใหม่

ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของมนุษย์

สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลักๆคือ ด้านปัจจัยด้านพันธุกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทั้ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้บุคคลมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา 

สิ่งที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ คือ ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล และกระบวนการทางสังคมอื่นๆ ซึ่งลักษณะนิสัยนั้นประกอบด้วยความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติและบุคลิกภาพ ส่วนกระบวนการทางสังคมที่ไม่เกี่ยวกับลักษณะนิสัยของมนุษย์ คือสิ่งกระตุ้นพฤติกรรมและความเข้มข้นของสิ่งกระตุ้น สถานการณ์ จึงถือได้ว่าปัจจัยทั้งหมดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์

การเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ถาวร หรือเปลี่ยนแปลงศักยภาพในการเกิดพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลจากประสบการณ์ไม่ได้มาจากวุฒิภาวะหรือสัญชาตญาณ

องค์ประกอบการเรียนรู้

                ตามความหมายดังกล่าวการเรียนรู้มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง 5 ประการคือ

  1. การเรียนรู้เป็นกระบวนการ ที่มีลำดับขั้นตอนของการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยการจูงใจ และการตั้งเป้าหมายของผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อเกิดพฤติกรรมที่สามารถตอบสนองตามเป้าหมายก็จะเกิดการสะสมสิ่งที่เรียนรู้นั้นแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ต่อไป และเมื่อได้รับการเสริมแรงพฤติกรรมนั้นก็จะยิ่งคงทนและเกิดบ่อยขึ้น
  2. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปของพฤติกรรมภายนอกที่สังเกตได้
  3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนแปลงทางบวกแต่อย่างเดียวแต่หมายถึงทางลบด้วย
  4. การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรหรือค่อนข้างถาวรสามารถทำซ้ำๆได้ไม่ใช่เกิดเพียงชั่วขณะซึ่งไม่ถือเป็นการเรียนรู้
  5. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือศักยภาพของพฤติกรรมจะถือว่าเป็นการเรียนรู้ เมื่อเป็นผลจากพฤติกรรมเท่านั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุอื่น

ทฤษฏีการเรียนรู้

ทฤษฏีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม  ประกอบด้วย

ทฤษฏีการวางเงื่อนไข หลักการคือการให้เงื่อนไขบางอย่างกับสิ่งเร้าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ  ที่เน้นการกระทำของผู้รับการทดลองหรือผู้ที่เรียนรู้มากกว่า และผลที่ตามมานั้นจะเรียกว่าการเสริมแรง ตัวเสริมแรงนี้มีทั้งตัวเสริมแรงทางบวก และทางลบ

ทฤษฏีสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ซึ่งสรุปกฎการเรียนรู้นี้ไว้ 3 ประการ คือกฎความพร้อม กฎการฝึกหัด และกฎความพอใจ ซึ่งทั้ง 3 กฏนี้จะส่งผลต่อการทำให้พันธะหรือสิ่งเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองมีความเข้มแข็งมั่งคงขึ้นหรืออ่อนกำลังลง

                ทฤษฏีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่เน้นองค์ประกอบด้านการสร้างความคิดมากกว่าด้านพฤติกรรม

                ทฤษฏีการเรียนรู้ปัญญาสังคม กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า พฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับผลของการร่วมกันระหว่างกระบวนการทางปัญญาของบุคคลและสิ่งแวดล้อม  ยกตัวอย่างเช่น

                ทฤษฏีปัญญาสังคม ของ Bandura  ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ ประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ในสภาพธรรมชาติ ประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมและประเด็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้กับผลงาน

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้นั้นมี 3 ประการด้วยกัน คือ แม่แบบในรูปพฤติกรรมต่างๆ   ผลกรรมจากพฤติกรรมของแม่แบบ และกระบวนการทางปัญญาของผู้เรียน

ซึ่งหากจะมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทางปัญญาและผลการกระทำที่แม่แบบได้รับ จะเรียกว่า กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ในทรรศนะของ Blandura มี 4 ขั้นตอน คือ

1.ผู้เรียนเกิดความสนใจ เอาใจใส่ 2. การจดจำ 3. กระบวนการปฏิบัติตามแม่แบบ 4. กระบวนการจูงใจ

ทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow’

                ลำดับขั้นความต้องการนี้  เรียกว่า Hierarchy of needs มี  5 ลำดับขั้นตอน คือ

  1. ความต้องการระดับต่ำสุดคือความต้องการทางกายภาพ
  2. ความต้องการทางด้านความมั่นคงปลอดภัย
  3. ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและองค์การยอมรับและรักใคร่
  4. ความต้องการที่จะได้รับการยกย่อง นับถือในตัวเอง และจากบุคคลอื่น
  5. ความต้องการบรรลุเป้าหมายและทำการให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือความต้องการทางความสำเร็จเป็นความต้องการสูงสุด

 

ความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้

ความแตกต่างระหว่างบุคคล หมายถึง ลักษณะของบุคคลแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน แตกต่างกันมีลักษณะหรือแบบไม่ซ้ำใครและไม่เหมือนใคร ความแตกต่างระหว่างบุคคลทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา ซึ่งความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้บุคคลมีเอกลักษณ์ของตนเอง

การเรียนรู้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิมไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวรอันเป็นผลมาจากประสบการณ์หรือการฝึกฝน

ดังนั้นความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้หมายถึง ความแตกต่างของแต่ละบุคคล หรือลักษณะเฉพาะตนในเรื่องการเรียนรู้ หรือการสร้างพฤติกรรมใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถทางด้านร่างกาย สติปัญญา ความคิด ความจำ การแก้ปัญหา ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แวดล้อมได้อย่างเหมาะสม และอาจหมายรวมถึงลักษณะเฉพาะตนของบุคคลในเรื่องการเรียนรู้ การแปรความหมาย และการสื่อสาร ตลอดจนระดับความสามารถทางสัมฤทธิ์ผลของบุคคล ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วย  ซึ่งความแตกต่างระหว่างบุคคลยังสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท คือ ความแตกต่างด้านร่างกาย และความแตกต่างด้านอารมณ์

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

  1. พันธุกรรม คือ ลักษณะต่างๆที่ถ่านทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลาน โดยผ่านทางยีน
  2. สิ่งแวดล้อม คือ ผลรวมของการกระตุ้นต่างๆที่บุคคลได้รับตั้งแต่เริ่มการมีชีวิตจนกระทั่งตายและมีอิทธิพลทำให้บุคคลแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมีอยู่ดังนี้

2.1      สภาพแวดล้อมก่อนเกิด คือสภาพภายในมดลูกเป็นสภาพที่ดีสำหรับการพัฒนาการของทารก

2.2      สภาพแวดล้อมขณะเกิด คือ ขณะเกิดต้องมีความปลอดภัย

2.3      สภาพแวดล้อมหลังเกิด มีอิทธิพลและสำคัญมากต่อชีวิตของบุคคล ดังรายละเอียดดังนี้

-          ความแตกต่างทางสังคม คนที่มาจากสังคมที่แตกต่างกันย่อมมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

-          ครอบครัว คนจะมีพฤติกรรมอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู และความสัมพันธภาพภายในครอบครัว

-     ความแตกต่างทางเพศ  ความแตกต่างในเรื่องต่างๆทางเพศชายและหญิง การกำหนดบทบาททางสังคม วัฒนธรรม  รวมถึงยังส่งผลไปยัง อารมณ์ และระเบียบวินัย อีกด้วย

-     ความแตกต่างทางด้านอายุ  หรือวัยของคนเรามีส่วนเกี่ยวข้องและทำให้เกิดความแตกต่างในด้านประสบการณ์ ความรับผิดชอบ ความสนใจ ความรอบรู้ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความคิด บุคลิกภาพและวุฒิภาวะด้านต่างๆ

-     ความแตกต่างด้านสติปัญญา คือความสามารถทางด้านระดับไอคิว คนเราแต่ละคนย่อมมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆแตกต่างกัน

คำสำคัญ (Tags): #พฤติกรรมศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 273959เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2009 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดี มั๊ก มั๊กน้า คร้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท