มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : ๗. โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อบังคับและกฎระเบียบ



          ผมมองเงิน ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท และกิจกรรมที่ใช้เงินก้อนนี้ในเวลา ๓ ปี ต่อการก่อสร้างระบบมหาวิทยาลัยวิจัยของชาติ    เปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน   ว่าเงิน ๑๒,๐๐๐ ล้าน กับเวลา ๓ ปี เป็นช่วงของการ “ตอกเสาเข็ม”  หรือวางฐานราก   หรือวางรากฐานของระบบมหาวิทยาลัยวิจัย ที่จะต้องดำเนินการระยะยาว    จึงจะเกิดผลดีต่อสังคมอย่างเต็มที่   ซึ่งก็ต้องแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลนี้ และ รมต. ศึกษาธิการท่านนี้ ที่มุ่งทำงานระดับวางรากฐาน 


          รากฐานอย่างหนึ่งคือกฎเกณฑ์กติกาทางวิชาการ ที่จะเป็นพลังขับดันการทุ่มเททำงานวิจัยคุณภาพสูง ที่เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการนานาชาติ    ที่จะต้องปรึกษาหารือนักวิชาการระดับยอดในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น   ว่าสำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ) ๗ – ๑๐ แห่งนี้ ควรมีกฎระเบียบกฎเกณฑ์กติกาทางวิชาการที่ใช้จำเพาะในมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง


          ย้ำว่า เราต้องการกติกาวิชาการที่จะช่วยขับดันการทำงานวิชาการยากๆ    ทั้งที่จะมีผลชิงความเป็นหนึ่งในโลก   และที่จะมีผลขับเคลื่อน real sector ของสังคมไทย  


          ผมขออภัยที่จะขอกล่าวว่า กติกาหลายอย่างที่ใช้อยู่ เหมาะต่อการสร้าง mediocre มากกว่าการสร้าง excellence เมื่อมองจากมุมของมหาวิทยาลัยวิจัย   ดังนั้น หากต้องการให้เกิดมหาวิทยาลัยวิจัยจริงๆ จึงควรปรับกฎระเบียบหลายส่วน สำหรับใช้กับมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ


          สำหรับท่านที่ร้องชโย ว่าต่อนี้ไปตนจะได้เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการง่ายขึ้น   ขอแสดงความเสียใจ ว่าท่านเข้าใจผิดครับ   การแก้กฎกติกานี้ ไม่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของบุคคล    แต่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม คือความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก    ดังนั้น กติกาวิชาการจะต้องเข้มขึ้น   เน้นคุณภาพที่สูงขึ้น


          แต่กติกาใหม่ จะช่วยเอื้อให้การทำงานสร้างสรรค์วิชาการระดับที่ยาก คุณภาพสูง ทำได้ง่ายขึ้น   มีการรวมตัวเป็นทีมของคนเก่งได้ง่ายขึ้น    ส่งเสริมการทำงานวิชาการเป็นทีม   และให้การยอมรับนับถือความเก่งของคนที่ความสามารถจริงๆ ไม่ใช่เทความเชื่อไปที่ที่กระดาษหรือผลงานตีพิมพ์    ดังนั้น การแบ่งส่วนเปอร์เซ็นต์ผลงานจึงควรยกเลิก   หันไปใช้วิธีประเมินความสามารถจริงๆ ของบุคคลแทน  


          กฎระเบียบบางอย่าง ที่ยกร่างขึ้นด้วยเจตนาดี เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพของอุดมศึกษา    แต่กลับมีพิษร้ายต่อการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยก็มี   ยกตัวอย่าง ระเบียบที่กำหนดให้หลักสูตรปริญญาโท จะจบได้ต้องมีผลงานตีพิมพ์เสียก่อน    ดูผิวเผินน่าจะดี   แต่เอาเข้าจริงกลับก่อผลลบ    เพราะ นศ. ป. โท รียน ๒ ปี รอให้ได้คำตอบรับตีพิมพ์จากวารสารดีๆ ไม่ไหว    ก็หันไปส่งวารสารหยวนๆ หรือส่งตีพิมพ์ใน proceedings   ระเบียบนี้จึงกลายเป็นไม่ดี สำหรับมหาวิทยาลัยวิจัย  


          ระเบียบนี้กำหนดอยู่บนฐานคิดแบบ pre-audit   แต่โดยหลักการแล้ว เราสามารถใช้ฐานคิด post-audit และความไว้วางใจในปณิธานคุณภาพของมหาวิทยาลัยวิจัย    โดยกำหนดหลักการว่า การตีพิมพ์ให้ทำหลังจบแล้วได้   โดยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง นศ., อาจารย์ที่ปรึกษา และบัณฑิตวิทยาลัย


          มหาวิทยาลัยวิจัย ต้องการการสังคายนากฎระเบียบอีกมากเพื่อใช้เป็นคานงัดคุณภาพวิชาการ    ถ้าไม่จับทำเรื่องนี้ ก็จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัยได้ยาก   และต้องเชิญนักวิจัยเก่งๆ มาร่วมกันสังคายนา    คือต้องให้น้ำหนักความเห็นของผู้ปฏิบัติให้มาก

วิจารณ์ พานิช
๓๐ มิ.ย. ๕๒
          
         
         

หมายเลขบันทึก: 273208เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอยากให้เห็นผลเร็ว ๆ (โดยเฉพาะงานวิจัยกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ขอให้แจงหัวข้องานวิจัยที่หลากหลายมากกว่านี้จะได้เป็นการเปิดประเด็นงานวิจัยที่หลากหลายเนื้อหา รูปแบบ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท