องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


เป็นเรื่องที่ท้าทายและควรมีการศึกษาเพื่อเครื่องมือและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ไปสู่การปฏิบัติอย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรม

ความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร และปัญหาการจัดการกับผลกระทบของนโยบายสาธารณะ หลายกรณีได้ขยายจากระดับชุมชนไปสู่ระดับประเทศ  ทั้งในเชิงของความคิดเห็นที่แตกต่าง และการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นของสังคม  หลายครั้งการชุมนุมของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งจากผู้ก่อการชุมนุมและผู้สลายการชุมนุม


ในขณะเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ ยังมีอย่างจำกัด เช่น การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องคุณภาพของรายงานและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนต่างๆอยู่หลายประการ และการทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และบางกรณีได้ทำประชาพิจารณ์เมื่อภาครัฐได้ทำข้อตกลงผูกพันทางกฎหมายกับเจ้าของโครงการ หรือตัดสินใจดำเนินโครงการไปแล้ว การใช้เครื่องมือการมีส่วนร่วมโดยการทำประชาพิจารณ์ จึงเป็นการดำเนินการเพียงเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือทำให้ครบตามข้อกำหนดเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดความระแวงสงสัยและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน


ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อมนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ต่อเนื่องมาถึงฉบับปี 2550 ได้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในหลายมาตรา ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 67 วรรคสอง ได้บัญญัติว่าจากนี้ไปการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการ 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ
  1. ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน
  2. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และ
  3. ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว


ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานเพียง 2 ขั้นตอนคือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และจัดรับฟังความคิดเห็นตามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เท่านั้น ส่วนองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ที่จะทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินโครงการนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งแต่อย่างใด จนนำไปสู่ทางตันและทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งจากองค์กรภาคประชาชนที่ได้อ้างสิทธิการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญในการคัดค้านไม่ให้มีการดำเนินโครงการเกิดขึ้น หน่วยงานอนุมัติอนุญาตก็ชะลอการอนุมัติอนุญาตไม่ให้ดำเนินโครงการต่างๆต่อไปได้ ทั้งที่โครงการเหล่านั้นได้ผ่านความเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว เพราะหวั่นเกรงว่าจะผิดกฎหมายเนื่องจากยังดำเนินการไม่ครบองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการด้วย ในขณะที่ภาคเอกชนก็หวั่นเกรงว่าความไม่ชัดเจนในวิธีปฏิบัติของภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างรุนแรง


10 ปีผ่านไปยังไม่มีการจัดตั้งองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากการดำเนินนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 272986เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

  • ผมทราบข่าวมาว่าสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่นะครับ ที่นี่ครับ http://www.cstp.or.th/cstp/
  • แต่รายละเอียดผมไม่แน่ใจว่าจะออกมาแล้วเป็นอย่างไร ผมมองเรื่องว่าเขาน่าจะทำการประเมินและถายภาพไปข้างหน้าของผลได้ผลเสียเพื่อการวางมาตรการที่รัดกุมด้วยเท่านั้น 

สวัสดีครับอาจารย์ชายขอบ อันที่จริงผมก็มีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายนี้มาตั้งแต่ช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ร่างเป็นพระราชบัญญัติเลย ใช้ชื่อว่า "พระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" แต่พอเสนอผ่านช่องทางของภาครัฐไปแล้วก็รู้สึกว่าจะไปรอดยาก

แต่เห็นว่าเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ถูกละเลยไม่มีการนำมาปฏิบัติ องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรต้องเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนใหม่ โดยการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายให้ได้ 10,000 รายชื่อ เพราะคาดหวังว่าองค์การนี้

  • จะเป็นส่วนเสริมให้มีมุมมองต่อการพัฒนาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปปิดกั้นการพัฒนา
  • เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาสังคม และลดความขัดแย้งในชุมชน

  • และเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าไปร่วมติดตามตรวจสอบโครงการที่เกิดขึ้นแล้ว

ทีมที่มาช่วยกันก็มีหลายฝ่ายทั้งผู้แทนหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน นักวิชาการทั้งด้านสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ จนได้หน้าตาออกมาแบบนี้ล่ะครับ

 

หลังจากยืดเยื้อมายาวนาน สุดท้ายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็เกิดขึ้นจนได้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศการจัดตั้งองค์การอิสระ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท