จับภาพ สถาบันบำราศนราดูร (ตอนที่ 1)


การได้รับโอกาสที่ดีในการเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในสังคมเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต

     

     ในวันพฤหัสบดี 4 พฤษภาคม  2549 ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับโอกาสอันดีมั๊กมากที่เข้าร่วมทีมกับคุณจิราวรรณ เศลารักษ์  ซึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ของ สคส. ในการเข้าไปจับภาพที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเรามีกำหนดการกิจกรรมกันทั้งวัน ดังนี้

  • การเข้าสังเกตการณ์ OR Morning talk
  • การสอนผู้ป่วยนอกออกกำลังกาย
  • การดูแลผู้ป่วยใน AB Care
  • สัมภาษณ์ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร
  • การใช้หนอนรักษาแผล
  • การเข้าสังเกตการณ์การประชุมกลุ่มผู้ป่วย ARV (Anti Retro Viral)
  • การนำเสนอการประชุมของกลุ่มกุมารเวช
  • Micro after talk ของกลุ่มเทคนิคการแพทย์
     เมื่อทีมเราไปถึงในเวลาเช้าตามกำหนดการก็ได้การต้อนรับอันดีจากคุณชนกพรรณ ดิลกโกมล ที่มีชื่อเล่นว่านก และน้องติ๋ม ซึ่งพี่นกและน้องติ๋มจะให้อำนวยความสะดวกกับทีมเราทั้งวัน....เมื่อได้ฟังดังนั้น....ทีมเราก็รีบฝากเนื้อฝากตัวกับพี่นกและน้องติ๋มเป็นการยกใหญ่..... พี่นกได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นของสถาบันฯ และเมื่อถึงเวลา 7.30 น. ตามที่ได้นัดไว้สำหรับกิจกรรมแรกคือการเข้าสังเกตการณ์ OR Morning talk ณ ตึก 4 ศัลยกรรม  เมื่อทีมเราไปถึงก็ได้การต้อนรับอันดีจาก คุณศุภลักษณ์  หิริวัฒนวศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผ่าตัดและ คณะทีมงานได้นั่งล้อมวงเพื่อ OR Morning talk และคุณศุภลักษณ์  หิริวัฒนวศ์ เป็นผู้ดำเนินการประชุมในวันนี้ และก่อนที่จะเริ่มประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้นั่งสมาธิ 5 นาที หลังจากนั้นหนึ่งในทีมงานได้รายงานการผ่าตัด (OR Morning talk มีทุกวัน) เช่น ใครผ่า ผู้ดูแลผู้ที่รับการผ่าตัด การรับนัด การไปเยี่ยมผู้ป่วย รายงานการตรวจสอบความดันก่อนผ่าตัด ในวันนี้มีคนไข้ที่จะได้รับการผ่าตัดกี่คน การตรวจสอบประวัติของผู้ป่วยก่อนผ่า เหตุการณ์ผิดปกติระหว่างผ่าตัด เช่น การติดตำแหน่งผิดในการผ่าตัดตา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความเสี่ยง และเพื่อป้องกันการผ่าตัดผิดตำแหน่ง  คณะทีมงานได้ระดมความคิดว่าถึงแนวทางในการแก้ไข ซึ่งในทีมได้ทบทวนการปฏิบัติก่อนทำการผ่าตัดว่าจะมีการตรวจสอบ 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นแรก การสอบถามคนไข้ และดู OPD  เซ็นกำกับ
ขั้นที่ 2 เมื่อมาถึงห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบอีกครั้ง เซ็นกำกับ และ
ขั้นที่ 3 ก่อนรมยา เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง เซ็นกำกับ
และทางคณะทีมงานเสนอความคิดว่าควรเชิญแพทย์และวิสัญญีมาระดมความคิดและแลกเปลี่ยนกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป
     หลังจากนั้นมีการรายงานเรื่องต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติงานในวันนี้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และ AARของคณะทีมงาน ก่อนจบประชุม
ซึ่งในกิจกรรมแรกนี้ดิฉันมีข้อคิดที่น่าสนใจคือ
  • การที่ผู้นำการประชุมสรุปผลการประชุมให้อีกครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจของทีมงานให้ตรงกัน และผู้บันทึกจะได้จดรายละเอียดของการประชุมให้ครบถ้วน ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับกรณีของผู้ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัด
  • ในการประชุมมีการให้คนที่ปฏิบัติงานจริงเป็นคนรายงานการประชุม ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
  • มีการช่วยกันระดมความคิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันการเกิดซ้ำ โดยทุกคนมีส่วนร่วมระดมความคิด
  • มีการจัดทำ VCD ช่วยสอน เพื่อใช้ทบทวนความรู้ของนักปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำ 3 เรื่องคือ การใส่สายยางสวนปัสสาวะ การผ่าตัดกระดูกสันหลัง การผ่าตัดกรวยไต โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์ในสถาบันเดียวกัน
  • การสร้างนวัตกรรม โดยการส่งผลงานเข้าประกวดตั้งปี 46 เช่น การสร้างเตียงที่มีถังก๊าซออกซิเจนติดอยู่เพื่อช่วยในการทำงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นต้น
  • ในการประชุมมีการจดบันทึกทุกครั้งเป็นหลักฐาน และมีการตรวจสอบความถูกต้องอยู่ตลอดโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถหยิบอ่านได้
  • มีเจ้าหน้าที่ทดแทนเมื่อเกิดกรณีผู้นำการประชุมติดภารกิจอื่น
  • มี Blog (www.gotoknow.org/supalukbi

        หลังจากกิจกรรมแรกเสร็จสิ้นทางทีมงานจับภาพก็ต้องเริ่มกิจกรรมที่สองตามเวลานัดหมาย 8.30 น. คือกิจกรรมการสอนผู้ป่วยนอกออกกำลังกาย ที่ตึก OPD เพื่อชมการออกกำลังกายของผู้ป่วยนอก และเมื่อการออกกำลังกายเสร็จสิ้น คุณอำนวยพร ชัยมงคล หัวหน้าทีมออกกำลังกายได้กรุณาให้ข้อมูลว่า “ได้เริ่มโครงการนี้เมื่อเดือนมกราคม 2549 โดยใช้เวลา 8.30 - 9.00 น. วัตถุประสงค์ของโครงการคือการออกกำลังกายของผู้ป่วยนอกระหว่างรอการตรวจจากแพทย์  เบี่ยงแบนความสนใจในการจดจ่อรอการตรวจ  การผ่อนคลายความเครียด และสร้างความเข้าใจก่อนการตรวจ การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยในการปฏิบัติตนโดยทีมพยาบาล  ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยนอกและพยาบาล ซึ่งได้ผลการตอบรับดีจากผู้ป่วยนอก และทางเราก็ได้มี Blog เป็นของแผนกคือ www.gotoknow.org/OPDMEDBI และเป็นที่น่าเสียดายที่ดิฉันยังไม่ได้เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ป่วยนอกที่ออกกำลังกายเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา ก็ต้องไปกิจกรรมที่ 3 ตามที่ได้นัดหมายไว้
         กิจกรรมที่ 3 ที่ว่านั่นคือ การดูแลผู้ป่วยใน AB Care ที่ตึก 7 AB Care ชั้น 1 (Ambulatory Care Unit) เราได้รับการต้อนรับจากนพ. สมสิทธิ์ ตันสุภสวัสดิกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ได้กรุณาให้ข้อมูลว่า “เปิดบริการมาได้ 8 ปีแล้ว ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยในระยะเริ่มแรกจะมีผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีอาการค่อนข้างหนักเข้ามารักษา ในปัจจุบันผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จะมีสภาพดีกว่าแต่ก่อน เนื่องจากมีการดูแลตนได้ดีขึ้น และเข้ามารับยาต้าน โดยในแต่ละวันจะมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์มาพบแพทย์ โดยเฉลี่ย 25-30 คนต่อวันและจะเป็นกลุ่มเดียวกันที่มาเจอกันในวันที่แพทย์นัด และเป็นกลุ่มเดียวกันที่ได้รับการอบรมการดูแลตนจากแพทย์ ทำให้ได้รู้จักกัน เช่น กลุ่มที่แพทย์นัดวันจันทร์ กลุ่มนี้จะมาเจอกัน เพราะผู้ป่วยเอดส์นี้จะเข้ารับการรักษาตลอดชีวิตและจากการมาพบเจอกันนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ  ในการปฏิบัติตน และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เสมือนญาติเป็นพี่เป็นน้อง  เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน” และจากการพบคุณหมอ สมสิทธิ์ ตันสุภสวัสดิกุล ทำให้ทราบว่าเป็นแพทย์คนเดียวที่ดูแลใน AB Care และมีพยาบาลเป็นผู้ช่วยอีก  2 คน และคุณหมอจะอยู่ตลอดทั้งวันตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ซึ่งผู้ป่วยที่มาหาคุณหมอจะสนิทสนมกับคุณหมอเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนต้องมาพบแพทย์เป็นปีๆ
        และในโอกาสนี้เรายังได้เข้าเยี่ยมทีมให้คำปรึกษา ที่ตึก 7 AB Care ชั้น 2  ซึ่งอยู่ในกลุ่มงานแนะแนวทางการแพทย์และสวัสดิการสังคม ซึ่งคุณปัทมาวดี เติมวิเศษ หัวหน้าทีมให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลว่า “ทีมให้คำปรึกษาของเรามีสมาชิก 9 คนคือ นักจิตวิทยา 2 คนและพยาบาลวิชาชีพ 7 คน จะบริการให้คำปรึกษาในเรื่อง งานสังคมสงเคราะห์ จิตวิทยา ยาเสพติด และชมรมแสงเทียน ซึ่งจะเน้นผู้ป่วยโรคเอดส์ กิจกรรมการให้สุขศึกษา (Counselling) ได้แก่เรื่องของ อาหาร (Nutrition),  การดูแลสุขภาพ (Personal Hygiene),  การพักผ่อน (Rest) และมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในเวลาหลังกินข้าว แต่ยังไม่มีการจดบันทึก และทางเราก็ได้มี Blog เป็นของแผนกคือ www.gotoknow.org/mcswcop ทำให้เกิดการเปลี่ยนวัฒนธรรมของทีมงานเราอย่างมาก เพราะว่าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 2 เครื่อง และทุกเช้า เที่ยงและในเวลาว่างหลังการทำงาน ทีมงานหลายคนของเราจะแวะเวียนเข้ามาอ่านข้อมูลใน Blog และนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นการสื่อสารที่ทำให้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมงาน และเนื่องจากเราไม่มีคู่มือ เราจึงมีกระบวนการพัฒนาคู่มือการให้คำปรึกษา เพื่อลดการแพร่เชื้อในชุมชน เป็นการลดพฤติกรรมการเสี่ยง และอยากให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งระยะเวลาในการจัดทำคู่มือ 2 ปี โดยปีแรก เป็นการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษา ปีที่ 2 ลดการแพร่เชื้อในชุมชน ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการจัดทำคู่มือ เริ่มแรกคือการนำหนังสือต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ......... แปล.........ปรับปรุงให้ใช้เหมาะสมกับวัฒนธรรม (บริบทคนไทย)..ประเมินผล.....ทบทวนงานวิจัย (จากอินเตอร์เนต, ห้องสมุด, ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ในสถาบันฯ)....เชิญที่ปรึกษามาช่วยตรวจสอบกรอบในการทำงาน……การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้เวลาว่างจาการทำงาน ....แก้ไข.....และทดลองนำไปใช้งาน....หลักสูตร   ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระยะการปรับแก้ไขและทดลองนำไปใช้” เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยจะใช้เวลาหลังพักทานข้าว พูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงขาดการบันทึกซึ่งคุณปัทมาวดี เติมวิเศษ ยอมรับว่าจะต้องเริ่มทำแล้วเนื่องจากอยากเก็บข้อมูลเป็นคลังความรู้ของทีมงานให้คำปรึกษา

หมายเลขบันทึก: 27229เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2006 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจมั่กมาก...ที่ได้ทักทายน้องจ๊ะจ๋าอีกครั้ง ขอบคุณที่มาเติมกำลังใจให้บรรดาป้า ๆ นะ มีเรื่องรบกวนนิดหน่อยจ๊ะ Blog ของชุมชนคนชุดเขียวมีชื่อว่า www.gotoknow.org/supalukbi นะจ๊ะ ชื่อเดิมคลิกแล้วไม่ใช่ของพวกป้า ๆ จ้ะ

ขอบคุณคะพี่ศุภลักษณ์ ที่กรุณาแจ้งบอกและจ๋าได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ขอให้ทำ KM ต่อไปนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท