Learning to QE: การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESD: Education for Sustainable Development)


การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการเปลี่ยนแนวคิดของการสอน เป็นการร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน การทำให้ผู้เรียนได้เห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้อย่างให้เกียรติกันในระหว่างการพัฒนา

เมื่อวาน (26 มิ.ย.52) ได้เข้าฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย อาจารย์หมอปัตพงษ์ เกษมสมบูรณ์ และ อาจารย์หมอสมเดช พินิจสุนทร กับ Professor จากญี่ปุ่น คือ Dr.Yuko Takeda, M.D.,Ph.D.FACP แห่ง Mie University, Faculty of medicine, Department of Community Medicine (บันทึกไว้แล้วครั้งหนึ่งที่ Learning to QE: ผลลัพธ์สุขภาพตามตัวชี้วัดดี จะดีจริงหรือ?) โดยอาจารย์หมอปัตพงษ์ ฯ ได้นำเสนอแนวคิดของทางประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นมีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ให้แนวทางไว้ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of the "Sufficiency Economy") ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับทุกเรื่องที่เป็นการพัฒนาประเทศ ที่นักพัฒนาทั้งหลายได้น้อมนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิด ใช้เป็นแนวทางกันอย่างกว้างขวาง ขยายผลไปยังต่างประเทศอีกหลายประเทศ องค์กรระหว่างประเทศเองก็ได้สนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลอย่างต่อเนื่อง


(คลิ้กเพื่อดูรายละเอียดต่อและอ้างอิงภาพ)

ในส่วนของภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ได้จัดทำโครงการที่ให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ได้ลงไปสัมผัสกับชุมชนจริง ๆ ได้เรียนรู้พูดคุยกับชาวบ้าน รวมถึงได้ทำการศึกษาวิถีชุมชน โดยพบว่า นักศึกษาแพทย์สามารถเข้ากับชุมชนและชาวบ้านได้รวดเร็ว ได้เรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านอย่างแท้จริง มาถึงตอนนี้ก็ได้สรุปในประเด็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าต้องเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนให้มีแนวคิดต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ประชาชนและใช้ชุมชนเป็นฐานหลักของการพัฒนา

ในส่วนของ Professor Dr.Yuko Takeda ก็ได้นำเสนอในแนวคิดของโรงเรียนแพทย์ที่จะจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศญี่ปุ่นว่ามีวิสัยทัศน์ที่มุ่งจะให้เกิดการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) แก่กลุ่มประชาชนในการที่จะดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อคงามต้องการของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างสรรค์อะไร ๆ ได้เองในอนาคตได้อย่างยั่งยืนกว่าที่ภาครัฐจะต้องทำให้ตลอดไป สำหรับการกล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นครั้งแรก ๆ ในช่วงปี 1987 ใน Brundtland Report ต่อมาก็ได้มีการนำไปใช้และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนมาถึงปี 1992 โดย UNCED (United Nations Conference on Environment and Development) ได้สรุปไว้ว่ามี 27 หลักการเพื่อการพัมนาอย่างยั่งยืน (คลิ้กอ่านรายละเอียดต่อ) สำหรับการศึกษาเพื่อการพัฒนานี้ท่านได้แนะนำให้เรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ ESD: Education for Sustainable Development ของ UNESCO

สำหรับคำถามที่วงเรียนรู้ได้ตั้งขึ้นคือใครมีประสบการณ์ที่จะเล่าแลกเปลี่ยนกันบ้าง ก็ได้มีเพื่อนนักศึกษาคือคุณดวงใจ วิชัย จาก สอ.บ้านเปือย อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ได้เล่าเรื่องการพัฒนาสุขภาพชุมชนที่เป็นการทำเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งโดยสรุปคือเมื่อชาวบ้านเขาคิดเอง ทำเอง โดยมี จนท.เป็นเพียงพี่เลี้ยงร่วมเรียนรู้ ไม่ชี้นำทั้งหมด จะพบความยั่งยืนของชาวบ้านในการดำเนินงานและการขยายผล

สำหรับผมมองว่าการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการเปลี่ยนแนวคิดของการสอน เป็นการร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน การทำให้ผู้เรียนได้เห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้อย่างให้เกียรติกันในระหว่างการพัฒนา หากเมื่อจบการศึกษาไปทำงานก็ยังไม่ลืมกระบวนการเรียนรู้ร่วมไปกับชุมชน ไม่ทำตัวเป็นผู้สอนให้ชุมชนทำตามที่เราคิด หรือไม่ชี้นำชุมชนในฐานะที่คิดว่าตัวเป็นผู้รู้มากกว่า ต้องเรียนรู้ไปกับเขาและพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ดังตัวอย่างที่ได้เคยทำงานกับคนพิการ และ ศวพถ.

หมายเลขบันทึก: 271496เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีคะ พี่ชายขอบ

ยกตัวอย่างงานคนพิการ กับการทำงานของศวพถ ทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น คะ เราเรียนรู้ไปด้วยกัน และ เชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีดีไปคนละอย่าง แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง และคนอื่นในกลุ่ม แต่ที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดเลยคือความจริงใจ และ ซื่อสัตย์ต่อกัน

สวัสดีครับคุณก้ามปู

  • เมื่อได้เรียนรู้เรื่อง ESD ทำให้นึกย้อนไปครับ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่คนอื่นทำแล้วเข้าข่าย ESD อย่างที่ภาควิชาฯ ที่นี่ทำกับ นศพ. หรือที่คุณดวงใจ วิชัย ที่ อ.หนองเรือ ทำกับกลุ่มเกษตรกร ครับ ทำให้มั่นใจได้เลยว่า ESD นี่แหละคือของแท้แน่จริงในการพัฒนาชุมชน

สวัสดีครับอาจารย์

ขอรายงานความคืบหน้างานที่ศวพถ. ไปสัญจรที่ปากพะยูนว่

ขณะนี้ทาง สกว.ให้ทำโครงการแก้ปัญหาขยะในชุมชนเทศบาลปากพะยูน

โดยผ่านงบประมาณมาทาง ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนพัทลุง เป็นโครงการเชิงวิจัยครับ

สวัสดีครับบังหีม
  • ดีใจมาก ๆ ครับที่มีความก้าวหน้า แม้ใช้เวลาหน่อยเราก็รอกันได้ครับสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • มีอะไรใช้ช่วยหรือให้ร่วมเรียนรู้แจ้งด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

  • ไม่ค่อยได้เข้ามาบ่อยนัก
  • หลากเรื่อง หลายปัญหา กำลังท้าทายปัญญา ว่าจะจัดการให้ลุล่วงได้อย่างไร
  • คิดถึงเสมอครับ .. ไม่เคยลืม "คนแรกของพี่บ่าว"
  • อิ อิ อิ

สวัสดีครับอาจารย์พี่บ่าว

  • เป็นแรงเชียร์ครับ
  • วันก่อนแอบไปอ่านเครื่องจ่ายน้ำอัตโนมัติ แต่ทิ้ง คห.ไว้ไม่ทัน net ตัดเสียก่อนครับ (วันนั้นเปิดที่สนามบิน ใช้ของ CAT ที่เขาให้บริการ)
  • อาจารย์พี่สบายดีนะครับ

ติดตามอ่านอยู่ แต่ไม่ค่อยทิ้งรอยไว้ครับ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแบบย่อ ผมก็เคยใช้ประกอบการสอนครับตามรูป

ของมูลนิธิชัยพัฒนา

สวัสดีครับ อาจารย์ Panda

  • ขอบคุณมาก ๆครับ ภาพชัดเจนดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท