CBNA ฉบับที่ 18 : จดหมายถึงม่วง : ไถ่ถามถึงการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย


ตอนนี้ประเทศไทยเองมีกฎหมายฉบับใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ กฎหมายการค้ามนุษย์ เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าวันนี้คนจำนวนมากข้ามพรมแดนเข้ามา เพื่อหางานทำ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเอง การบังคับใช้กฎหมายก็ควรจะต้องเอื้อต่อภาวะดังกล่าว แม้แรงงานจำนวนมากจะตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ แต่เบื้องหลังการเดินทางนั้นหลายคนมีภาระหนี้สินผูกติดตัวมา การส่งกลับโดยไม่คำนึงถึงลักษณะดังกล่าว ก็เป็นการเริ่มต้นวงจรของการค้ามนุษย์อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ฉบับที่ 18 (9 เมษายน 2552)

จดหมายถึงม่วง : ไถ่ถามถึงการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย

 

หนูม่วง จ๋า


วันนี้ครบรอบ 1 ปีพอดีเลยค่ะที่ทำให้น้ารู้สึก ใจไม่ปกติสุขนักเหตุการณ์วันนั้นไม่เคยเลือนไปจากความทรงจำ กลับตอกย้ำฝังแน่นชวนให้หวนคิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ที่ผู้คนต่างตื่นเต้นเพียงชั่วขณะ แล้วสักพักก็กลับเลือนหายเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงความฝันที่ผ่านมาชั่วยาม (อันนี้ไม่เกี่ยวกับสีเหลือง สีแดงนะม่วง หนูอย่าพึ่งไขว้เขว!)




          วันนั้น 9 เมษายน 51 ที่ระนอง มีแรงงานข้ามชาติถึง 121 คน หลบซ่อนตัวมาในรถตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นรถห้องเย็นบรรทุกอาหารทะเล พวกเขาและเธอทั้งหลายกำลังจะเดินทางไปทำงานที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ระหว่างที่รถแล่นมาถึงบริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ต.นาคา อ.สุขสำราญ แรงงานที่ต่างเบียดเสียดแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศหายใจนานกว่า 1-2 ชั่วโมง



          ม่วงรู้ไหม ! น้าคิดว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกฝ่ายในสังคมไทย ที่จะร่วมกันยอมรับความจริงได้แล้วว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าเมืองได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานจากพม่า เราจะไม่ยอมหรี่ตาอีกต่อไปแล้ว และปล่อยให้การย้ายถิ่นจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งอยู่ในชะตากรรมของผู้นำพาหรือนายหน้าเพียงเท่านั้น



          แต่เหตุการณ์นี้ก็คงเป็นแค่เรื่องเล่าหรือเรื่องราวที่ผ่านมา จนใครหลายคนลืมเลือนไปแล้ว จนทำให้ขาดการไตร่ตรองและร่วมกันหาหนทางใหม่ๆในการจัดการปัญหาแบบนี้ (หนึ่งในนั้น คือ น้าบอมค่ะ เมื่อเช้านี้ น้าถามว่าจำได้ไหมวันนี้วันอะไร น้าบอมทำหน้างงๆ และบอกว่าคิดถึงแต่เรื่องเสื้อสีแดงเพียงเท่านั้น)



ผ่านมาไม่นานเพียง 3 เดือน



18 กรกฎาคม ที่กำแพงเพชร คนขับรถพาแรงงานจากพม่า 12 คน มุ่งหน้าสู่กรุงเทพ เพราะรู้ว่ากำลังทำความผิด กลัวถูกจับกุม จึงขับด้วยความเร็วสูง ปิดไฟหน้า และยิ่งเดินทางตอนกลางคืน ชีวิตจะเหลืออะไร รถกระบะอีกคันซึ่งขับสวนมา มองไม่เห็นและชนประสานงากัน ทำให้แรงงานทุกคนบาดเจ็บ และคนขับเสียชีวิตทันที



6 ตุลาคม ที่ปราจีนบุรี ครานี้เป็นแรงงานจากกัมพูชาเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 4 คน กำลังจะเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย พอรถแล่นมาถึง อ. ศรีมหาโพธิ เกิดยางระเบิดและเสียหลักพลิกคว่ำหลายตลบจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ



15   ธันวาคม ที่กาญจนบุรี รถกระบะพาแรงงานจากพม่าจำนวน 16 คน เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ขับมาด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเชิงสะพานและทางโค้ง ได้เสียหลักแหกโค้งและพุ่งชนต้นไม้ข้างทาง ส่งผลให้แรงงานเสียชีวิตทันที 8 คน อีก 8 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส



ลองมาดูปีต่อมา

16 มกราคม กองทัพเรือได้ผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปกลางทะเลโดยเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ และปราศจากน้ำและอาหารในการดำรงชีวิต


22 กุมภาพันธ์ ที่กาญจนบุรี รถกระบะพาแรงงานจากพม่ามุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุแหกโค้งตกถนน บริเวณบ้านทิโคร่ง ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี เพราะหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างเข้าจับกุม มีแรงงานได้รับบาดเจ็บ 8 คน



27 กุมภาพันธ์ ที่พัทลุง กรณีนี้ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ เพราะแรงงานข้ามชาติกัมพูชาที่หลบซ่อนตัวมาในรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ เพื่อจะเดินทางไปทำงานประมงที่ปัตตานี จำนวน 52 คน รู้สึกตัวเสียก่อน ว่าคนขับขับรถอย่างน่าหวาดเสียวมากเหมือนอาการเมายา จึงร้องให้คนภายนอกช่วยเหลือ เพราะกลัวอุบัติเหตุ



2   มีนาคม ที่ตาก กรณีนี้ยังไม่เกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน เพราะคนขับ ซึ่งเป็นตำรวจอำเภอ
ท่าสองยางได้ทิ้งรถหลบหนีไปก่อน ตำรวจ 2 นาย กำลังพาแรงงานจากพม่า 14 คน มุ่งหน้ามากรุงเทพฯ ระหว่างถึงด่านตรวจบ้านห้วยยะอุ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด รถดังกล่าวได้ขับฝ่าด่านหลบหนี และปล่อยแรงงานไว้บนรถ ตนเองหลบหนีเข้าป่าข้างทาง



          เหล่านี้คือเฉพาะในประเทศไทยนะคะ

          ถ้ามาดูในต่างประเทศบ้าง ก็ยิ่งพบความหดหู่ไม่แตกต่าง



          29 มีนาคม 52 ที่ประเทศลิเบีย เรือประมง 2 ลำ บรรทุกแรงงานอพยพชาวแอฟริกันประมาณ 600 คน จมลงในน่านน้ำห่างจากฝั่งลิเบียไปประมาณ 30 กม. แรงงานเสียชีวิตทันที 21 คน ที่เหลือยังหาศพไม่พบ เรือทั้ง 2 ลำกำลังเดินทางจากลิเบียมุ่งหน้าไปยังประเทศอิตาลี เพื่อพาแรงงานเข้าไปหางานทำในประเทศแถบยุโรป แต่เรือกลับจมลงเสียก่อน เนื่องจากเรือรับน้ำหนักคนจำนวนมากไม่ไหว



          4 เมษายน 52 แรงงานอพยพชาวอัฟกานิสถาน (แม่ของม่วงมักชอบใช้คำนี้เรียกขาน) จำนวน 110 คน ที่กำลังซ่อนตัวมาในรถบรรทุกขนส่งสินค้า เพื่อมุ่งหน้าไปยังอิหร่านและเดินทางต่อไปยังยุโรป เพื่อหางานทำ ต้องเสียชีวิตลง เพราะขาดอากาศหายใจถึง 62 คน อีก 45 คน เป็นลมหมดสติถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลายคนในกลุ่มนี้เป็นเด็กอายุประมาณ 15 ปี



          น้าป่านขอถอนหายใจดัง ๆ และถามน้าบอม (ด้วยเสียงดังๆเหมือนกัน) และหวังว่าเสียงดังนี้จะไปถึงใครสักคนที่เกี่ยวข้องบนโลกใบนี้ ว่าเมื่อไหร่คนย้ายถิ่นจะปลอดภัยจากการข้ามพรมแดนเสียที



          น้าบอมตอบเสียงค่อยๆ แผ่วเบา เหมือนละเมอว่า อีกยาวนานม่วงเอ๋ย ! กว่าการเดินทางข้ามพรมแดนของผู้คนทั้งหลายจะเป็นการย้ายถิ่นที่ปลอดภัย เพราะการเดินทางไปเกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องมีการวางแผนระยะยาว และต้องมองทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นอย่างรอบด้าน ที่คงไม่ใช่เพียงเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น



รวมทั้งที่ตอนนี้ประเทศไทยเองมีกฎหมายฉบับใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ กฎหมายการค้ามนุษย์ เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าวันนี้คนจำนวนมากข้ามพรมแดนเข้ามา เพื่อหางานทำ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเอง การบังคับใช้กฎหมายก็ควรจะต้องเอื้อต่อภาวะดังกล่าว แม้แรงงานจำนวนมากจะตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ แต่เบื้องหลังการเดินทางนั้นหลายคนมีภาระหนี้สินผูกติดตัวมา การส่งกลับโดยไม่คำนึงถึงลักษณะดังกล่าว ก็เป็นการเริ่มต้นวงจรของการค้ามนุษย์อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ปล. น้าทั้งสองภาวนาว่า ม่วงจะเติบโตขึ้นมาในโลกของการย้ายถิ่นที่ปลอดภัยนะคะ

 

ด้วยความรัก

น้าป่านและ น้าบอม

9 เมษายน 52 เมืองหลวง

 

หมายเลขบันทึก: 270903เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท