CBNA ฉบับที่ 15 : เศรษฐกิจระดับกลาง


ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การผลิตนอกระบบจึงเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงให้สังคมเศรษฐกิจไทย ดำเนินได้มาจนถึงวันนี้ โดยดำรงเป็นฐานหล่อเลี้ยงให้แก่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกของไทย และขณะเดียวกันก็ค้ำจุนการผลิตภาคเกษตรให้ดำรงอยู่ต่อเนื่องมาได้

ฉบับที่ 15 (30 มีนาคม 2552)


เศรษฐกิจระดับกลาง


อรรถจักร สัตยานุรักษ์

เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 มีนาคม 2552

 

เพราะไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นจะลงสู่จุดต่ำสุดเมื่อใด ทุกๆ รัฐจึงพยายามที่จะพยุงพื้นฐานการผลิตของสังคมเศรษฐกิจของรัฐตนเองไว้ให้ต่อเนื่องต่อไปมากที่สุด กล่าวได้ว่าทุกรัฐก็จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบการผลิตและระบบการเงิน

 

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ความพยายามจะอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อพยุงฐานการผลิตเอาไว้เป็นความจำเป็นอันดับแรก ดังที่เราเห็นถึงการจ่ายเงินโดยตรงซึ่งจะกระตุ้นการใช้จ่ายและตลาดได้ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด และการกู้เงินอีกจำนวนมาก มาเอาไว้รอใช้ในยามที่การผลิตตกต่ำลงไปมากกว่านี้

 

ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ได้แก่ การส่งออกที่หดหายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งส่งผลทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมต้องชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คิด และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของการเลิกจ้างและการหยุดการจ้างงานใหม่

 

 

สิ่งแรกที่จะต้องเข้าใจกันให้ชัดเจนก่อน ก็คือ ในระบบเศรษฐกิจโลกเช่นทุกวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนประเทศใดจะอัดฉีดเงิน เพื่อพยุงการส่งออกมากมายเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกกระเตื้องขึ้นได้ เม็ดเงินที่แต่ละรัฐทุ่มเข้าสู่ระบบการผลิต เพื่อส่งออกไม่มีทางเทียบได้กับกำลังซื้อของทั้งโลกได้

 

ในกรณีประเทศไทย การผลิตเพื่อส่งออกที่ขยายตัวอย่างมากในสามสิบปีที่ผ่านมา ตกอยู่ในสภาพพึ่งพิงทั้งระบบการผลิตและตลาดโลกอย่างหนักหน่วง เพราะระบบการผลิตของเราเป็นระบบการรับจ้างผลิตสินค้า หรือพูดได้ว่าประเทศไทยนั้นเป็นเพียง "โรงงานประเทศไทย" ที่อยู่ในเครือข่ายสายพานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ ตลาดที่เราส่งออกก็เป็นตลาดที่บรรษัทข้ามชาติเป็นผู้ควบคุม ดังนั้น ความล้มเหลวของการส่งออกของไทย จึงเป็นความล้มเหลวโดยรวมของบรรษัทข้ามชาติที่ไม่มีทางที่เม็ดเงินขอ'ประเทศไทยจะเยียวยาได้


 

พร้อมกันนั้นหากพิจารณาการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจไทยหลัง ปี พ.ศ. 2540 จะพบการปรับตัวที่น่าสนใจของประชาชนไทยรับผลกระทบจากการจ้างงาน เพราะการจ้างงานในระบบนั้นลดลงหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ภาคการผลิตเพื่อส่งออกจำนวนมากหันไปสู่การใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น อาทิเช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แม้ว่าจะขยายการผลิตใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแต่การจ้าง งานกลับขยายตัวน้อยมาก

 

ขณะเดียวกัน การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิเช่น สิ่งทอ ก็ย้ายฐานการผลิตออกไปชายขอบของประเทศ อาทิเช่น แม่สอด เพื่อใช้แรงงานข้ามชาติข้ามพรมแดนราคาถูก หรือไม่อย่างนั้น ก็ย้ายไปขูดรีดแรงงานเพื่อนบ้าน อาทิเช่น เขมร (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาติเพื่อนบ้านถึงเกลียดคนไทย)

 


ความพยายามปรับตัวของประชาชนไทยที่น่าสนใจหลัง พ.ศ. 2540 ที่การจ้างงานลดลง ได้แก่ การขยายตัวของการผลิตนอกระบบ (Informal sector)

 

ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในระบบการผลิตนอกระบบนั้นคิดเป็นร้อยละหกสิบกว่าของจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศไทย "เทคโนโลยี" ที่ใช้ในการผลิตนั้นเป็นเทคโนโลยีระดับกลางที่ราคาไม่สูงมากและกลไกก็ไม่ สลับซับซ้อนนัก แรงงานธรรมดาสามารถที่จะควบคุมและกำกับการใช้งานได้ การใช้สัดส่วนของแรงงานต่อการประกอบการนั้นสูงกว่าการใช้เทคโนโลยีระดับสูง

 

นอกจากนั้นแรงงานนอกระบบระดับล่างสุดก็เป็นส่วนที่หล่อเลี้ยงการขยายตัวของการผลิตใน อุตสาหกรรมและภาคบริการในเขตเมืองใหญ่ทั้งสิ้น อาทิเช่น หาบเร่แผงลอย ทุกประเภท การขยายตัวของถนนคนเดินที่เกิดขึ้นในเขตเมืองได้ทำให้เม็ดเงินไหลเวียนกันใน กลุ่มการผลิตนอกระบบสูงมากทีเดียว

 

แม้ว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะดูเหมือนพึ่งพิงตลาด ต่างประเทศ แต่หากพิจารณาแล้วกลับมีสองระบบอยู่คู่ขนานกัน ในระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกที่ทำให้ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติที่สูงมาก ขึ้นนั้น กลับไม่ได้ตกลงมาสู่พี่น้องคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคมไทยสักเท่าไร เพราะจะต้องไหลออกกลับไปสู่เครือข่ายสายพานการผลิตของบรรษัทต่างชาติ เพราะสินค้าส่งออกของเรานั้น วัตถุดิบต้องนำเข้ามาประกอบภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละประมาณ 60-90 ของสินค้าหนึ่งชิ้น (น่าสงสัยว่ารถยนต์ที่เราส่งออกหนึ่งคันนั้น มีส่วนที่ตกสู่สังคมไทยจริงๆ สักกี่เปอร์เซ็นต์)

 

การดำรงอยู่ของชีวิตทางเศรษฐกิจของคนไทยจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจนอกระบบนี้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญสลายของ "สังคมชาวนา" ยิ่งทำให้แรงงานจากภาคเกษตรเข้ามาสู่การผลิตนอกระบบมากขึ้น จนทำให้รายได้จากการผลิตนอกระบบเป็นแรงผลักดันให้การผลิตในไร่นาดำเนินต่อไป ได้ หากปราศจากการผลิตนอกระบบแล้ว การผลิตภาคเกษตรน่าจะมีปัญหามากกว่านี้มากนัก

 

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การผลิตนอกระบบจึงเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงให้สังคมเศรษฐกิจไทย ดำเนินได้มาจนถึงวันนี้ โดยดำรงเป็นฐานหล่อเลี้ยงให้แก่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกของไทย และขณะเดียวกันก็ค้ำจุนการผลิตภาคเกษตรให้ดำรงอยู่ต่อเนื่องมาได้

 

ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ไปเรื่อยๆ รัฐบาลนี้ควรจะคิดถึงการเพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้ โดยพิจารณาจำเป็นต้องยกระดับความรู้ ความสามารถในการผลิตของการผลิตนอกระบบนี้เป็นภาคการผลิต "เศรษฐกิจระดับกลาง" ที่ไม่ใช่ภาคเกษตรและไม่ใช่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและบริการขนาดใหญ่ที่เป็นบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย

 

ทางเดินของสังคมเศรษฐกิจไทยไม่จำเป็นต้องเดินไปตามเส้นทางของการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เพราะแนวโน้มที่ผ่านมา เราทำไม่ได้ สังคมไทยต้องหาแนวทางจากความเป็นจริงและบนพื้นฐานศักยภาพที่สังคมได้สั่งสม มา อย่าลืมว่า ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจโดดเด่นขึ้นมาในทศวรรษ 1950 นั้น ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้ศักยภาพและพลังทั้งหมดของการผลิตระดับกลางของประเทศเป็นฐาน

 

การก้าวไปข้างหน้าโดยไม่รู้จักปัจจุบันและอดีต ก็เท่ากับการเดินไปสู่ความล้มเหลวนั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 270893เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท