จิตสำนึกของสื่อมวลชน


การชี้นำที่ไม่เหมาะสมของสื่อมวลชน

       เรื่องราวของหมีแพนด้ากลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ทุกฉบับกว่า 1 เดือนล่วงมาแล้ว ทั้งรัฐบาลทั้งชาวบ้านร้านตลาดพูดถึงกันจนเกือบจะกลายเป็น "วาระแห่งชาติ"  แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีอีกเรื่องที่ดังและมีคนพูดถึงไม่แพ้กันนั่นแต่ก็คือเรื่อง "รักต่างวัย"ของคุณยายวัย 73 และชายหนุมวัย 26  ที่ออกอากาศในรายการ "ตีสิบ"ของคุณวิทวัส สุนทรวิเนตร์ ทางช่อง 3

       และก็คงเป็นเพราะซีเรียสเกินไปกับเรื่องที่ใครๆคิดว่าสนุกเฮฮาของความรักต่างวัยระหว่างหนุ่มชาวลาวผู้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า "สมพร จันทวงศ์"ที่อายุ 26 ปี และแม่เฒ่า "ทองสุข พุทธวันท์" วัย 73 กะรัต ที่ออกมาบอกกล่าวเล่าความรักที่พรหมลิขิตขีดเขียนให้มาพบกันในช่วงอายุที่ห่างกันถึง 4 รอบปี กับการอยู่กินในฐานะสามีภรรยากันมาได้ 2 สัปดาห์ คิดคำนวณดูอายุแล้วลงตัวที่ความห่างต่างกันถึง47 ปี ในขณะที่ลูกคนโตของคุณยายอายุปาเข้าไปตั้ง 55 ปีแล้ว มันเหมาะสมและสมควรแล้วหรือ? ที่จะนำเสนอเรื่องดังกล่าว

       บางคนอาจเห็นว่าผมคิดมากจนเกินไปหรือเปล่า ? แต่กับบางบทบางตอนในการสัมภาษณ์ภายในรายการซึ่งมีพิธีกรคือคุณวิทวัส เป็นผู้สัมภาษณ์ดูจะเป็นการชักนำคำถาม หรือที่เรียกหลายคนเรียกว่า "การชี้นำของสื่อ"ไปในทางหมิ่นเหม่ที่ไม่สมควรเท่าไหร่ บางคำพูดที่สมควรเซ็นเซอร์ก็กลับปล่อยให้มีการออกอากาศ คำพูดอย่างประโยคที่ว่า "ไม่มีปัญหา มีแต่ตัณหา" หรือ คำว่า "ธัมมะ ทำโมะ" มันสมควรแล้วหรือที่จะให้มีการออกอากาศให้ประชาชนได้ยินได้ฟัง มันสมควรแล้วหรือกับการนำเสนอเรื่องราวที่อาจเรียกได้ว่าทำให้สังคมวิปริต

       รายการตีสิบถือได้ว่าเป็นรายการที่มีเรตติ้งดีเป็นอันดับหนึ่งของรายการในประเภทเดียวกัน มีคนดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากเรียกได้ว่าเป็นรายการของครอบครัวอีกรายการหนึ่ง ที่นำเสนอเนื้อหารายการเพื่อคนดูทุกช่วงวัย ทั้งช่วง "ดันดารา" ที่ส่วนใหญ่จะนำเด็กๆหนูน้อยน่าตาน่ารักมาร่วมการแข่งขันการประกวด เมื่อเป็นรายการของครอบครัวแล้วทำไมผู้จัดจึงไม่คิดคำนึงถึงเวลาที่เด็กนั่งดูกับพ่อแม่บ้าง เพื่อการจรรโลงสังคมที่ดีก็ไม่ควรนำเสนอเรื่องราวอย่างนี้ อย่าดูถูกคนดูจนเกินไปนัก

        ที่ผ่านมาเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงในการดึงเรตติ้งของรายการระหว่างสองค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรายการโชว์และสถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ ผลประโยชน์ที่ได้มาจากการดึงเรตติ้งนั้นมีมูลค่ามากมายมหาศาล แต่เพียงเพื่อผลประโยชน์กลับกลายเป็นว่าการทำให้คนซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชนนั้นขาดจิตสำนึกที่ดี เพราะเงินเพียงแค่ตัวเดียว

         ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลการออกอากาศของรายการกลับหายหน้าหายตาไม่ลงมาดูแล แล้วอย่างนี้จะตอบสังคมว่าอย่างไร อย่างภาพยนตร์บางเรื่องนำเสนอสิ่งที่เป็นจริงต่อสังคมกลับถูกตัดตอนคุมกำเนิดไม่ให้ฉาย หรือเพราะเส้นไม่ใหญ่เงินไม่ถึงพอ เห็นที่ผ่านมาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านออกมาป่าวประกาศเรื่องของการสร้างสังคมที่ดี มีคุณภาพ ตัวอย่างของรายการในตอนดังกล่าว "ดอกปีบ"ขอถามหน่อยเถอะว่า แล้วมันสร้างเสริมสังคมตรงไหน นี่กลับกลายเป็นการตีแผ่ว่าสังคมทุกวันนี้มันยิ่งฟอนเฟะ เน่าเป็นหนองจนเกินเยียวยารักษาได้แล้ว

         บทบาทของสื่อสารมวลชนที่ควรมีหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมกลับกลายเป็นผู้ละเลงระบายสีดำเป็นรอยด่างพร้อยให้กับสังคมเอง แล้วจิตสำนึกของคนพวกนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่เงินเพียงตัวเดียวหรืออย่างไร หากจะเริ่มการสร้างสรรค์สังคมที่ดี สื่อมวลชนที่มีบทบาทเป็นฐานันดรที่ 4 ของสังคมควรจะเป็นตัวอย่างของการมีจิตสำนึกที่ดี หากขาดคุณสมบัติข้อนี้แล้วก็ไม่ควรเรียกตนเองว่า "สื่อมวลชน"

 

หมายเลขบันทึก: 270056เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตรงใจมากเลยครับ วันที่ดูเรื่องนี้ ผมพูดกับภรรยาว่าคอยดูต้องมีคนออกมาตำหนิ เพราะผมก็ตำหนิว่ามันเป็นประโยชน์อะไรกับสังคมหรือการที่คนแก่อายุ ๗๓ มาแต่งงานกับเด็กคราวหลาน มันไม่มีเรื่องอื่นที่จะนำเสนอแล้วหรือ

บางครั้งสื่อต้องคิดต้องไตร่ตรองให้ดี อย่างที่คุณบุปผาชนว่า บางทีก็แม้แต่โฆษณาก็ยังต้องตำหนิในโฆษณาที่เกี่ยวกับการอาละวาดขว้างปาสิ่งของเมื่ออกหัก การสรางความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เช่น เล่นเตะบอลกระดาษโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร หรือดีดฝาเบียร์เฉี่ยวหัวชาวบ้าน

เรามาช่วยกันสร้างสังคมที่ดี อย่ามัวแต่แสวงหาผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินโดยไม่คำนึงถึงสังคมกันอีกเลย รู้จักคำว่า "รับผิดชอบต่อสังคม"กันบ้างไหม...

ขอบคุณครับ คุณอัยการชาวเกาะ ที่นำเสนอความคิดเห็น ความจริงเรื่องดังกล่าวที่เขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ที่ผมเขียนอยู่ในนสพ.สยามธุรกิจ แต่ไม่ได้ลงตีพิมพ์

ผมคิดว่าเรื่องราวเหล่านี้มันมีค่ามากกว่าจะอยู่เฉยๆเป็นไฟล์ในคอมฯ นำมาลงเพื่อให้คนอื่นได้อ่านบ้างน่าจะดีกว่า

แล้วก็เจอคนแสดงความคิดเห็น ตอนแรกผมทำใจแล้วว่าอาจจะมีคนด่าที่เขียนอย่างนี้

แต่ก็ขอขอบคุณ คูอัยการชาวเกาะอีกครั้งครับที่แสดงความเห็นด้วย

เงินก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้มันดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนะครับ แต่การแสวงหามันมาจากทางที่ไม่สมควร เงินที่ได้มาก็ไม่มีความหมายอะไร มันจึงเศษกระดาษเปื้อนคาวโสมมที่ใช้ทำร้ายสังคมให้เลวร้ายลง...

มาขอบคุณท่านบุบผาชนนะครับ  ขอบคุณในไมตรีจิตที่เข้าไปทักทายผมขอบคุณอีกครั้ง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท