แลกเปลี่ยนเรียนรู้


การพูดแสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างการพูดแสดงความคิดเห็นทั่วไป

การพูดแสดงความคิดเห็นทั่วไป วิจารณ์ละครโทรทัศน์เรื่องแม่นาคพระโขนง

สวัสดีท่านผู้ฟัง
          วันนี้ดิฉันขอพูดถึงนวนิยายเรื่อง แม่นาคพระโขนง จากบทประพันธ์ของเสน่ห์ โกมารชุน เนื้อเรื่องแนวเร้นลับเกี่ยวกับภูต ผี วิญญาณ เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมานานแล้ว แต่ก่อนเคยมีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และได้รับความสนใจจากผู้ชม ยุคนั้น ปรียา รุ่งเรือง แสดงเป็น นาค สาวชาวบ้านตายทั้งกลม แต่วิญญาณไม่ยอมไปตามวิถีกรรมเนื่องจากห่วงสามี จึงแสดงอิทธิฤทธิ์หลอกหลอนชาวบ้าน ปรียาจึงมีชื่อเสียงด้านการแสดงหนังผีเรื่อยมา พอถึงยุคนี้ อัครมีเดีย ได้นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวมาปัดฝุ่นใหม่สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ทางช่อง ๕ แรกๆ แพร่ภาพทุกวันจันทร์ - อังคาร เวลาหลังข่าวภาคค่ำ ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ เปลี่ยนวันแพร่ภาพเป็นทุกวันพุธและวันพฤหัสบดีเวลาดังเดิม นันทนา วีระชน ประพันธ์บทโทรทัศน์ สุริยัน ปฏิพันธ์ กำกับการแสดง วรุฒ วรธรรม ลีลาวดี วัชโรบล แสดงนำ
          ละครเรื่อง แม่นาคพระโขนง เกิดขึ้นที่อำเภอพระโขนง นาค หลานสาวป้าเงินรักใคร่กับมาก หนุ่มบ้านเดียวกัน ต่อมาทั้งสอง แต่งงานกันทำให้ เพลิง นักเลงจากอำเภอหัวตะเข้ไม่พอใจ เพราะเขาหลงรักนาคเช่นกัน เพลิงอาฆาตมากและคิดแก้แค้นอยู่ตลอดเวลา มากอยู่กับนาคได้ไม่นานก็ต้องเกณฑ์ทหาร เวลานั้นนาคท้องแก่เธออยู่ตามลำพัง เมื่อครบกำหนดคลอด นาคเจ็บท้องจนตาย วิญญาณของนาคไม่ยอมไปไหน วนเวียนอยู่ในหมู่บ้านเพื่อรอคอยมาก และมักปรากฏตัวให้ชาวบ้านเห็นบ่อยๆ จนใครๆ พากันหวาดผวา
          มากไปเป็นทหารรับใช้ที่บ้านของชมนาด ชมนาดหลงรักมากทั้งๆ ที่เธอมีคู่หมั้นแล้ว แต่มากไม่ได้สนใจใคร ยังคงซื่อตรง ต่อนาคคนเดียว เมื่อมากพ้นจากรับราชการทหารจึงกลับบ้าน โดยที่เขาไม่รู้ว่านาคได้ตายไปแล้ว พอถึงบ้านกลางดึกเขาจึงพบนาครออยู่
          โพล้งและทุ้ย เพื่อนๆ ของมากรู้ข่าวว่ามากกลับบ้าน จึงไปดักพบเพื่อบอกข่าวเรื่องนาคตายแล้ว แต่ทั้งสองถูกวิญญาณแม่นาค ขัดขวางหลอกหลอนจนโพล้งและทุ้ยหวาดกลัว เพลิงยังไม่หายแค้น เขาวางแผนปองร้ายมาก แต่ก็ถูกนาคหลอกหลอนเช่นกัน ทำให้เพลิงไปเสาะหาหมอผีมาปราบวิญญาณแม่นาคแต่ไม่สำเร็จ หมอผีถูกวิญญาณแม่นาคฆ่าตายคนแล้วคนเล่า ภายหลังมากรู้ความจริง ไม่ต้องการให้นาคสร้างกรรมเวรอีกต่อไป จึงร่วมมือกับเณรจิ๋วจับวิญญาณนาคใส่หม้อถ่วงน้ำสำเร็จ หวังจะให้นาคไปผุดไปเกิด
          หลังจากนั้นอีกหลายปี มากแต่งงานใหม่กับพิม สาวชาวบ้านแถวนั้น วันหนึ่งมีสองตายายยากจนออกไปทอดแหในลำคลอง พบหม้อที่ใส่วิญญาณของนาคจึงนำขึ้นฝั่ง เพราะคิดว่าเป็นหม้อใส่ทรัพย์สมบัติ เมื่อสองตายายเปิดฝาหม้อ วิญญาณของนาคจึงถูกปลดปล่อย และตามมารังควานมากกับพิมด้วยความหึงหวง ป้าเงิน บวชเป็นแม่ชีอุทิศส่วนกุศลให้นาค จึงขอร้องนาคให้ยุติสร้างกรรมเวรอีกต่อไป วิญญาณของนาคจึงสำนึกต่อบาปบุญคุณโทษ ยอมไปสู่สุคติแต่โดยดี
          ละครเรื่องแม่นาคพระโขนงยุคนี้ แม้ว่าเนื้อเรื่องไม่เพี้ยนไปจากเค้าโครงเรื่องเดิมเท่าไรนัก แต่ผู้ผลิตได้เพิ่มตัวละคร ฉากประกอบมากขึ้นเพื่อช่วยให้ละครมีสีสัน สมยุคสมัยและครื้นเครง ทำให้บางฉากไม่น่าสะพรึงกลัวเท่าที่ควร กลับเห็นภาพที่เรียกเสียงหัวเราะแทน อีกทั้งผู้ผลิตมีเจตนาจะให้ผู้ชมเห็นภาพภูต ผี วิญญาณ มีเทคนิคพิเศษที่ช่วยให้ละครตื่นเต้นชวนหวาดผวา จึงมักมีแต่ภาพในบรรยากาศของช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ฉากครูฝึกทหารที่มีกิริยากระตุ้งกระติ้ง กระเดียดไปทางผู้หญิง ไม่น่าชม แม้ว่าฉากนี้ผู้กำกับจะมีเจตนาเรียนเสียงหัวเราะจากผู้ชม ช่วยให้ละครครื้นเครงก็ตาม แต่ภาพนั้นทำให้ภาพลักษณ์ของทหารหมดสง่า ละครมีดาราหลายรุ่นประชันบทบาท เช่น วรุฒ วรธรรม รับบท มาก ลีลาวดี วัชโรบล แสดงเป็น นาค ชุดาภา จันทร์เขต แสดงเป็น พิม โยโกะ ทานาดะ รับบท ชมนาด บดินทร์ ดุ๊ก รับบท เพลิง กรุง ศรีวิไล รับบท กำนัน พงษ์ลดา พิมลพรรณ แสดงเป็น ป้าเงิน ชลิต เฟื่องอารมณ์ แสดงเป็น มัคนายก ฯลฯ
          น่าชมผู้ผลิตที่เปิดโอกาสให้นักแสดงตลกหลายคนได้แสดงฝีมือ เช่น สีเทา ดี๋ ดอกมะดัน หนู เชิญยิ้ม ฯลฯ ละครพิถีพิถันเรื่องเครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียม เห็นภาพพิธีแต่งงานแบบไทย สาวหนุ่มก่อเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ ฯลฯ ฉากประกอบสมบรรยากาศ
          ชมละครเรื่อง แม่นาคพระโขนง แล้วไม่ค่อยตื่นเต้นหรือน่าสะพรึงกลัวเท่าที่ควร แต่กลับเห็นภาพการดำเนินชีวิตแบบไทยในยุคสมัยที่ยังไม่ได้พัฒนาทางด้านวัตถุ การสื่อสารคมนาคมไม่สะดวก ผู้คนยุคนั้นมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ เครื่องแต่งกายมักประดับประดาด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ บ่งบอกฐานะความเป็นอยู่ และเป็นละครอีกเรื่องที่มีผู้แสดงมาก แต่ตัวละครมีบทบาททั่วถึงกัน เรียกความสนใจจากผู้ชม โดยเฉพาะ ชลิต เฟื่องอารมณ์ ในเรื่องนี้เขามักพูดคำว่าพุทธบริษัทจำกัดบ่อยๆ จนติดปาก คำนี้ก็สามารถติดหูผู้ชมบางส่วนได้เหมือนกัน

(คอลัมน์มุมทีวี จากนิตยสารสตรีสาร ปีที่ ๔๗/๔๓)

ข้อสังเกต
          การพูดแสดงความคิดเห็นและการวิเคราะห์ วิจารณ์ จากการดูละครโทรทัศน์ อาจสรุปได้ดังนี้
๑. ผู้พูดมีจุดมุ่งหมายในการวิจารณ์ละครโทรทัศน์ทั้งข้อดีและข้อด้อย ผู้พูดเล่าถึงที่มาของเรื่องและวิจารณ์ละครเรื่องแม่นาคพระโขนง ยุคใหม่ว่า เนื้อเรื่องแม้จะไม่ผิดเพี้ยนจากเดิมไปมากนัก แต่ผู้ผลิตได้เพิ่มตัวละครและฉากประกอบมากขึ้น ทำให้ละครมีสีสันสมยุคสมัย และครื้นเครง ก่อให้เกิดความสนุกสนานมากกว่าความน่าสะพรึงกลัว ผู้พูดตำหนิฉากครูฝึกทหารที่มีกิริยากระตุ้งกระติ้ง ทำให้ภาพลักษณ์ของทหารเสียหายไป
๒. ตัวละคร ผู้พูดได้แนะนำผู้แสดงซึ่งมีดาราหลายรุ่นประชันบทบาทกัน โดยเฉพาะนักแสดงตลกหลายคน และตัวละครมีบทบาททั่วถึงกัน มิใช่ไม้ประดับ
๓. เครื่องแต่งกาย ผู้พูดชื่นชมความพิถีพิถันในเรื่องเครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยๆ ในสมัยก่อน ฉากประกอบ สมบรรยากาศ
๔. ผู้พูดแสดงความคิดเห็นด้วยใจจริง ชมเชยในส่วนที่ดีและตำหนิในข้อด้อย ใช้ภาษากะทัดรัดชัดเจน ใช้ศิลปะในการพูดอย่างมีชีวิตจิตใจ

 

หมายเลขบันทึก: 269482เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2009 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่เต๊าะเข้ามาให้กำลังใจนะจ๊ะ..หลากหลายรสชาติดีค่ะ

เป็นกำลังใจหั้ย ในการเขียน Blog ต่อไปนะจ๊ะพี่ปัท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท