พลังและศักยภาพของนิสิตระดับปริญญาตรี


เรามีนิสิตปริญญาตรีกว่า 20,000 คน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลงานวิจัย หรืองานนวัตกรรมอะไรก็แล้วแต่ ขอเพียงแต่ว่าต้องช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้สนับสนุน ให้เขาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ แล้ว “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” หรือ “มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้” จะไม่ไกลเกินฝันจริง ๆ ครับ
         ช่วงบ่าย 18 ส.ค. 48 มีการประชุมปรึกษาหารือกันภายในงานวิจัย มีหลายเรื่องที่พูดคุยกัน รวมทั้งเรื่องกำหนดการขนย้ายที่ทำงานจากตึกมิ่งขวัญไปอยู่ที่ตึก CITCOMS ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 27-28 ส.ค. 48 นี้ด้วย วันนี้อยู่กันไม่พร้อมหน้า เนื่องจากผู้ช่วยอธิการบดี (ดร.เสมอ) นำทีมเจ้าหน้าที่และนิสิตบางส่วนไปเชียงใหม่เพื่อเข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมของนิสิตระดับปริญญาตรีในระดับภูมิภาค

         ผลงานที่เป็นตัวแทนไปประกวดที่เชียงใหม่นั้น เคยได้รับรางวัลในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้วเมื่อ 14 ก.พ. 48 และถ้าไปชนะระดับภูมิภาคอีกก็จะได้เป็นตัวแทนไปประกวดในระดับประเทศที่กรุงเทพฯในเดือน ต.ค. 48 กำหนดการของการประกวดจะเป็นประมาณนี้ เป็นประจำทุกปี (ก.พ. -> ส.ค. -> ต.ค.)

         ช่วงค่ำผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานของนิสิตระดับปริญญาตรีเช่นกันที่คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งกำลังจัดงาน “นิทรรศการ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น จ.พิษณุโลก” เห็นผลงานแล้วน่าชื่นชมและรู้สึกประทับใจมาก มี 6 โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนให้ผลิตผลงานเพื่อนำเข้ามาประกวดกัน แต่ที่สำคัญที่ผมสนใจมากกว่าคือ การได้รับทราบว่าประสบความสำเร็จมากในเรื่องของการมีส่วนร่วมของนิสิต มีนิสิตและคณาจารย์สนใจเข้ามาร่วมงานมาก ที่ผมสนใจเป็นพิเศษเพราะอยากได้วิธีการปรับปรุงการจัดงานประกวดผลงานนวัตกรรมของนิสิตในระดับมหาวิทยาลัยที่จะต้องจัดทุกปีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีปัญหาตรงที่มีผู้สนใจเข้าร่วมน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาเกือบทุกปี ลองถามวิธีการจัดงานของคณะศึกษาศาสตร์ดูแล้วมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะเรื่องการดึงเอานิสิตเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้น มีการให้รางวัลหลายประเภททั้งประเภทยอดเยี่ยม ความคิดสร้างสรรค์ และ popular vote ประเภท popular vote นี้ เห็นว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมได้อย่างดียิ่ง

         งานเพิ่งเริ่มเป็นวันแรกครับ ยังมีต่อไปอีกจนถึงวันเสาร์นี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านไปร่วมชมและให้กำลังใจนิสิตและผู้จัดงานกันด้วยครับ ที่คณะศึกษาศาสตร์

         นอกจากนี้ ยังมีอีกที่ครับ ที่คณะวิทยาศาสตร์ กำลังมีงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมีจนถึงวันเสาร์นี้เช่นกัน มีผู้สนใจเข้าร่วม โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ มาเข้าร่วมกันคับคั่งจนทำให้มหาวิทยาลัยรถติดและเล็กไปถนัดตา พยายามหาโอกาสไปเยี่ยมชมให้กำลังใจกันครับ

         สุดท้ายผมอยากจะแสดงความคิดเห็นอีกครั้งครับว่า เรามีนิสิตปริญญาตรีกว่า 20,000 คน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลงานวิจัย หรืองานนวัตกรรมอะไรก็แล้วแต่ ขอเพียงแต่ว่าต้องช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้สนับสนุน ให้เขาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ แล้ว “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” หรือ “มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้” จะไม่ไกลเกินฝันจริง ๆ ครับ ขอขอบคุณ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 2693เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2005 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

ผมเห็นด้วยเรื่องการเป็น"มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย" แบบของอาจารย์ครับ แต่คณาจารย์ส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนความคิดในการ สร้างคน(นิสิต) ใหม่ครับ รวมทั้งการบริหารจัดการงบประมาณ ต้องอยู่บนพื้นฐานความสำเร็จของงานเป็นหลักครับ

เห็นด้วยกับการใช้พลังนิสิต    โดยต้องเข้าใจทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของนิสิต    จึงต้องออกแบบการจัดการและการโค้ช นิสิตที่ทำวิจัยให้พอดี    น่าจะเชิญ ดร. สุธีระ ผอ. ฝ่าย ๕  ของ สกว. มาบรรยายให้ทีมนำของ มน. ฟังครับ

ช่วงนี้ นับตั้งแต่รับหน้าที่หัวหน้าภาค ต้องทำงานหนักขึ้นค่ะ จึงไม่มีเวลาเขียน Blog งานเร่งด่วนขณะนี้ คือ ปรับปรุงหลักสูตร ป.ตรี ซึ่งต้องส่งให้ทันเดือนนี้ และก็เพราะเหตุที่อยากใช้พลังของนิสิต ป.ตรี ให้เป็นประโยชน์นี่เอง จึงพยายามจะออกแบบหลักสูตร ให้ฉีกแนวไปจากเดิม ที่ปรับแบบพลิกฝ่ามือเลย ก็มีเช่น จัดแผนการศึกษาให้รายวิชาโครงงาน จาก ปี 4 เทอมต้น เป็น ปี 1 เทอมปลาย เพราะที่ผ่านมา ประสบปัญหาหลายประการ เช่น

1. ไม่สามารถบูรณาการการสอนกับการวิจัยแก่นิสิตได้ตั้งแต่ชั้นปีแรก

2. ชั้นปี 4 เป็นปีสุดท้ายแล้ว นิสิตมีเวลาสร้างงานวิจัยเพียงเทอมเดียว ซึ่งน้อยเกินไป

3. การประกวดผลงานของนิสิตจัดตอนนิสิตใกล้จบ ทำให้พวกเขาสนใจเรื่องหางานมากกว่ากลับมาประกวดโครงงาน

4. ถ้าผลงานของเขาได้รับรางวัล และส่งเข้าประกวดระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศต่อไป ก็ต้องติดตามหาตัวกันจ้าละหวั่น ต้องลางานไปประกวด บางที่เจ้านายก็ไม่ยอมให้ไป เพราะเพิ่งจะรับเข้าทำงานก็มีเรื่องลาไปโน่นนี่เสียแล้ว ฯลฯ

การเรียนรายวิชานี้ ถ้าจัดให้ต่อเนื่องไปจนถึง ปี 2 และสิ้นสุดตอน ปี 3 ได้ ก็จะสวยมาก  อาจารย์ก็มีเวลาสอนให้เขาทำวิจัยได้มากขึ้น อาจารย์เองก็อาจได้งานวิจัยแตกแขนงมากขึ้นด้วยเช่นกัน อาจารย์ว่าเข้าท่าไหมค่ะ

      

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท