ให้โอกาสผมสักครั้ง...ได้มั้ยครับ


เวลาที่เหลือของชีวิตอาจมีไม่มากนัก ถ้าสักครั้งหนึ่งที่เราจะสามารถทำความหวังอันน้อยนิดของเขาให้สมหวัง โดยไม่ขัดต่อการรักษาใดๆ เราก็น่าจะทำให้

          วันนี้เป็นวันหยุดราชการ   ดิฉันมีหน้าที่เป็นตรวจการณ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโรงพยาบาลแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาล  เมื่อดิฉันเดินข้าไปในตึกผู้ป่วยในชาย ก็พบว่า น้องเกดนั่งร้องไห้อยู่ในห้องพักพยาบาล

  เกดสงสารผู้ป่วยห้องพิเศษ 5 ค่ะ  นี่คือคำตอบที่ได้จากน้องเกด จริงๆแล้วน้องเกดไม่ใช่คนอ่อนแอหรือขี้แย แต่อย่างใด  แต่วันนี้น้องเกดร้องไห้เพราะสงสารและเข้าใจผู้ป่วย เนื่องจากภรรยาผู้ป่วยต้องกลับไปทำงานต่อที่ประเทศมาเลเซีย ผู้ป่วยเองประกอบอาชีพรับจ้างตัดยางพาราในหมู่บ้านแต่ภรรยารับจ้างขายอาหารที่มาเลเซีย มีบุตรด้วยกัน 2 คนซึ่งอาศัยอยู่กับผู้ป่วย แต่ช่วงนี้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียและมีไข้ ภรรยาจึงเดินทางกลับมาดูแลครอบครัว และอีกไม่กี่วันก็จะถึงเดือนรอมฎอมแล้ว (เป็นเดือนถือศีลอดสำหรับชาวมุสลิม) ซึ่งเป็นช่วงที่ร้านอาหารในประเทศมาเลเซียขายดีกันมาก ทำให้ภรรยาผู้ป่วยรายนี้ต้องกลับไปทำงานที่มาเลเซียเช่นเดิมและจะไม่ได้อยู่ดูแลสามีของตน           

            คนไข้ขอหมอกลับบ้านแป๊ปนึง เพื่อจะไปกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว แล้วจะกลับมานอนโรงพยาบาลต่อ โดยสัญญาว่าจะมาให้ทันฉีดยาช่วงหกโมงเย็น แต่หมอไม่อนุญาตให้กลับ เกดสงสารคนไข้ เพราะคนไข้พูดว่า นี่อาจจะเป็นมื้อสุดท้ายที่เค้า...จะได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ปอซอปีหน้า ไม่รู้ว่าเค้าจะมีชีวิตอยู่อีกมั้ย?”

 และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้น้องเกดคนแกร่งของเราร้องไห้ในวันนี้

            ดิฉันรับทราบปัญหาของผู้ป่วยรายนี้จากน้องเกด และไม่สามารถเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยได้ เพราะแค่รับรู้ก็รู้สึกสงสารจับใจจนแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่  ในที่สุดดิฉันจึงตัดสินใจที่จะพูดคุยกับแพทย์เวรในวันนี้  บอกปัญหาและความต้องการให้แพทย์เวรรับทราบ แต่ก็ได้รับคำตอบว่า

ผมไม่กล้าให้กลับบ้านหรอก กลัวแพทย์เจ้าของไข้จะเล่นงานผม  ถ้าพี่จะอนุญาตก็ตามใจพี่แล้วกัน   คำตอบนี้ทำให้ดิฉันคิดอยู่พักใหญ่ จึงตัดสินใจเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วย สีหน้าของผู้ป่วยอิดโรยนัยตาแห้งผากไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงเลย ทั้งๆที่อาการและโรคของผู้ป่วยในช่วงนี้ เพียงแค่นอนรอฉีดยาให้ครบ dose เท่านั้น ดิฉันยิ่งรู้สึกเครียดและสงสารผู้ป่วยมาก ในที่สุดดิฉันจึงตัดสินใจแจ้งแพทย์เวรว่าดิฉันขออนุญาตให้ผู้ป่วยรายนี้กลับบ้านประมาณ  4  ชั่วโมง โดยให้เซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐานและให้ผู้ป่วยกลับมานอนพักรักษาต่อ โดยกำหนดให้มาทันได้รับยาฉีดในช่วงเวลา 18.00   ซึ่งแพทย์เวรก็บอกแต่เพียงว่า ตามใจพี่แล้วกัน

            งานนี้น้องเกดดีใจออกนอกหน้า เขียนบรรยายใน Doctor  order  ทันที ว่าผู้ป่วยขอกลับบ้านโดยแจ้งเวรตรวจการณ์รับทราบ.....รู้สึกสังหรณ์ใจว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้นกับดิฉันอย่างแน่นอน......

            วันรุ่งขึ้นเมื่อดิฉันมาทำงาน ได้รับรายงานจากน้องๆพยาบาลว่าผู้ป่วยพิเศษ 5 กลับมาตามที่สัญญาไว้จริง  และที่สำคัญที่สุดผู้ป่วยมีสีหน้าสดชื่นขึ้นมาก  ดิฉันไม่รอช้ารีบเข้าไปเยี่ยมทันที

สีหน้าในวันนี้ต่างจากเมื่อวานอย่างเห็นได้ชัด สดชื่นมีชีวิตและนอนยิ้มอย่างมีความสุข....ดิฉันคิดว่าดิฉันทำถูกแล้ว...ผู้ป่วยได้รับการรับรักษาทางใจ....และเป็นความปรารถนาที่เขาต้องการเพียงแค่นี้เองหรือ..ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอาการของผู้ป่วยได้

..และแล้วลางสังหรณ์ที่รู้สึกได้เมื่อวานนี้ก็เป็นจริง เมื่อตรวจสอบเวชระเบียนผู้ป่วย พบว่ามีลายมือเขียนคำถามใน Doctor  order  ของผู้ป่วยพิเศษ 5  ถามว่าใครมีหน้าที่ในการตรวจรักษาผู้ป่วย เป็นเวรตรวจการณ์ใช่หรือไม่?????

            ช่วงเที่ยงดิฉันจึงเข้าไปพบแพทย์เจ้าของไข้รายนี้ ทุกคนรู้ว่าท่านเป็นแพทย์ที่มีความมุ่งมั่นมากในการดูแลรักษาผู้ป่วย ท่านสอบถามดิฉันถึงหน้าที่ของ เวรตรวจการณ์ ว่ามีหน้าที่รักษาผู้ป่วยหรือไม่? และเหตุใดจึงได้มาสั่งการรักษาผู้ป่วยรายนี้?”

 ดิฉันยอมรับ..........แล้วแต่ท่านจะว่ากล่าวอย่างไร เพียงแต่บอกให้ท่านทราบถึงสีหน้าของผู้ป่วยว่าสดชื่นขึ้นมาก หลังจากที่เขาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง.......ในที่สุดแพทย์คนเก่งของดิฉันก็เดินจากไป โดยไม่พูดอะไร..... และอีก 2 วันต่อมา ผู้ป่วยรายนี้ก็ได้กลับบ้านไปใช้ชีวิตกับครอบครัวตามเดิม

            จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น... ได้เรียนรู้ว่าการรักษาด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว..ไม่เพียงพอสำหรับการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยรายนี้ ...เวลาที่เหลือของชีวิตอาจมีไม่มากนัก ถ้าสักครั้งหนึ่งที่เราจะสามารถทำความหวังอันน้อยนิดของเขาให้สมหวัง โดยไม่ขัดต่อการรักษาใดๆ เราก็น่าจะทำให้...เพื่อความสุขซึ่งอาจเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิตก็ได้

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 269279เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2009 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

แม้จะเป็นเรื่องจริงแห่งชีวิตที่ลิขิตไว้แล้ว

แต่เรื่องราวทั้งหลาย ทำให้อีกหลายชีวิต

ได้ฉุกคิดถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ยิ่งขึ้น

ขอบคุณเรื่องจริงที่ได้นำมาตีแผ่ให้คติเตือนใจ

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ..ขอบคุณจริงๆ.

ได้อ่านแล้วรู้สึกดีใจมากเลยค่ะ ที่ตีแผ่การดูแลคนอย่างเข้าใจถึงหัวใจความเป็นมนุษย์

ถ้าหากว่า ชาวสาธารณสุขเรา..ตระหนักการถึงการดูแลผู้ป่วยแบบนี้ทุกคน คิดว่า เราคงไม่ต้องหายาแพงๆ มารักษาหรอกค่ะ เพราะยาที่สามารถใช้รักษา คือ ยาใจนี่เองค่ะ

ขอบคุณน่ะค่ะ..

จากทุกกำลังใจที่ได้รับ..จะพยายามเขียนเรื่องเล่าดีดีที่เกิดขึ้น

ให้อีก..ในโอกาสต่อไป

ขอบคูณมากมากค่ะ

sharaman

ตามมาเชียร์คนชงชา รพ. รามัญ เคยแวะไปหลายปีมาแล้ว ช่วยกันสร้างเครือข่ายครับ

ทีมศูฯย์มนามัยมาประชุมวิชาการด้วย คนเชียงใหม่คงกลับแล้วน่ะ

สวัสดีค่ะ..คุณวอญ่า

ขอบคุณค่ะที่ให้กำลังใจ

อยากให้มาเที่ยวรามันอีก..ยินดีต้อนรับน่ะค่ะ

ถูกต้องแล้ว..การดูแลรักษาทางด้านจิตใจก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าจิตใจดีก็จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้นด้วย ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งถึงรักษายังไงก็อาจไม่ดีขึ้น ดีแล้วล่ะที่ให้ผู้ป่วยรายนั้นกลับบ้านเค้าไป เค้าจงจะดีใจมายมายทีเดียว ซึ้งอ่ะ

เป็นกำลังใจให้ชาว ER ทุกคนนะครับ โดยเฉพาะนางฟ้าชุดขาวในใจผมคนนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท