“ความรู้เรื่องไต...สำหรับคนที่รักแม่ที่สุดในโลก”


“....เป็นคนหนึ่งที่รักแม่มาก แม่เป็นโรคไตเหมือนกัน หมอบอกว่า แม่มีสิทธิ์เป็นไตวายได้ เราไม่รู้ต้องทำยังไง พี่ๆ พอจะมีคำแนะนำมั๊ยค่ะ ตอนนี้เป็นห่วงแม่มากค่ะ ร้องไห้ตาบวมเลย...”

วันนี้ได้รับ contact mail เหมือนกันถึง 2 ฉบับ...และมีโพสต์ในบันทึกนี้ ประทับใจ...กับไตที่บริจาค (เพื่อ...ผ่าตัดเปลี่ยนไต) ของผู้เขียนอีกหนึ่งข้อความ...บ่งบอกถึงความทุกข์ใจอย่างที่สุดของผู้เป็นลูกสาว

 

“....เป็นคนหนึ่งที่รักแม่มาก แม่เป็นโรคไตเหมือนกัน หมอบอกว่า แม่มีสิทธิ์เป็นไตวายได้ เราไม่รู้ต้องทำยังไง พี่ๆ พอจะมีคำแนะนำมั๊ยค่ะ ตอนนี้เป็นห่วงแม่มากค่ะ ร้องไห้ตาบวมเลย...”

 

...ทำให้ผู้เขียนต้องวางทุกอย่างลงหมด...ไม่ว่างานราษฎร์  งานหลวงที่เคยทำไม่เลือกเวลาที่บ้าน...

 

วันนี้...ต้องเขียนบันทึกนี้ให้เสร็จ..ให้ได้...  ไม่เสร็จ  ไม่เลิก(แม้ไม่สมบูรณ์นัก)

อยากบอกท่านผู้ถามในเบื้องต้น ให้ครองสติให้อยู่  คุณหมอยังไม่สรุปว่า คุณแม่เป็นไตวายค่ะ เพียงบอกว่ามีสิทธิ์  ... มีข้อสงสัยสามารถถามคุณหมอท่านนั้นตรงๆได้เลยค่ะ  ท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้แน่นอนค่ะ

 

 

“ความรู้เรื่องไต...สำหรับคนที่รักแม่ที่สุดในโลก”...  เห็นหัวข้อเรื่องแล้วท่านที่มิได้อยู่ในฐานะแม่ที่ป่วยเป็นโรคไตอย่าเพิ่งน้อยใจนะคะ เพียงแต่ประโยคนี้กระตุกอารมณ์ผู้เขียนอย่างมาก... ก็เท่านั้นเอง

 

ในฐานะที่เป็นพยาบาล(เก่าแก่) ก็พอได้ร่ำเรียนเรื่องนี้มาบ้าง  แม้จะนาน 30 ปีแล้วก็ตาม... การค้นหาข้อมูลที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น ก็ไม่น่าจะยากจนเกินกำลังของผู้เขียน  และหากพอเลือกสกัดมาเล่าให้เพื่อนๆฟังอย่างง่ายๆ...ให้เพื่อนที่กำลังมีทุกข์เข้าใจและสบายใจในเวลาอันสั้นได้  คงทำให้คืนนี้ผู้เขียนนอนหลับลงได้ ...

 

เอาเป็นว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า...ไต ทำหน้าที่อะไร ...พอรู้ว่ามันทำหน้าที่อะไร  อย่างไรแล้ว ก็คงบอกได้ว่าถ้ามันป่วยแล้วมันจะทำอะไรไม่ได้  แล้วจะเกิดอะไร

 

…………………………………………………………………………………………………

พทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร กองโภชนาการ กล่าวถึง ความรู้เรื่องโรคไตไว้ ซึ่งพอที่จะดึงประเด็นสำคัญมาเล่าเป็นการทบทวนความรู้ตนเองไว้ได้ด้วย...คร่าวๆดังนี้

“...ไตมีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ


1. ขับถ่ายของเสีย อันเกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน (มีมากในเนื้อสัตว์ และอาหารจำพวกถั่ว) ซึ่งของเสียประเภทนี้ ได้แก่ ยูเรีย ครีเอตินีน กรดยูริค และสารประกอบไนโตรเจนอื่น ๆ หากของเสียประเภทนี้คั่งอยู่ในร่างกายมาก ๆ จะเกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะดังกล่าวว่า ยูรีเมีย
2. ควบคุมปริมาณน้ำ และเกลือแร่ น้ำและแร่ส่วนที่เกินควรจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เกลือแร่ดังกล่าว เช่นโซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียมฟอสฟอรัส เป็นต้น
3. ผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณของแคลเซียม ฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้น หากไตมีความบกพร่องมาก ๆ ผู้ป่วยอาจมีโรคโลหิตจาง หรือกระดูกผุ เป็นต้น

หากไตไม่ทำงาน หรือทำงานไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ หรือมีโรคแทรกจะทำให้ระดับของเสีย และปริมาณน้ำคั่งค้างในร่างกายหรือในเลือด จะปรากฏอาการเหล่านี้ คือ ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีเลือดในปัสสาวะ มีอาการบวมที่มือและเท้า ปวดหลังในระดับชายโครง ความดันโลหิตสูง...

 

แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร กล่าวว่า

 

“... การป้องกันโรคไต
การป้องกันมิให้เกิดโรคไตนั้นจะต้องมีการควบคุมความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติ ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหรืออาจใช้ยาร่วมในการควบคุม และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สม่ำเสมอ... 

 

 

“... โรคไตเป็นโรคที่รักษาไม่หาย จริงหรือไม่
โรคไตบางชนิดก็รักษาให้หายขาดได้ ถ้ารักษาถูกวิธี และเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรก เช่นโรคไตอักเสบติดเชื้อ นิ่วในไต ไตวายเฉียบพลัน ถ้าหากเป็นโรคไตวายเรื้อรังก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต(เฉพาะผู้ป่วยบางราย)…”

มีการอธิบายความรู้เรื่องโรคไตประเภทต่างๆที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายมาก ของคุณ นวรัตน์ รักชาติ (หน่วยไตเทียม โรงพยาบาลสงขลา เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2551)  

ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ(บางส่วน) ดังนี้

 

โรคไตเรื้อรัง (ไตเสื่อมเร็วกว่าปกติ) และไตวายคืออะไร
เมื่ออายุมากกว่า 30 ปีไตจะเริ่มทำงานลดลง หรือเสื่อมไปตามอายุขัยตามธรรมชาติ ไตเสื่อมจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉลี่ยการทำงานของไตจะลดลง
ประมาณ 1% ต่อปี แต่บางภาวะที่ไตเกิดโรค พบว่าไตจะเสื่อมลงเร็วกว่าการ เสื่อมตามธรรมชาติ

 

กรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหรือหยุดทันทีเรียกว่า “โรคไตวายเฉียบพลัน” ซึ่งไตอาจจะกลับมาเป็นปกติได้ถ้า ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

แต่ถ้าไตเสื่อมลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่องทำให้ไตเกิดความผิดปกติถาวร เรียกว่า
“โรคไตเรื้อรัง”

 

ในกรณีที่ไตเกิดความเสื่อมอย่างมาก (ไตทำงานได้น้อยกว่า 15%ของไตคนปกติ) จะเรียกว่า “โรคไตวายระยะสุดท้าย”...

 

การชะลอโรค

·        ความดันโลหิตสูง <130/80 มิลลิเมตรปรอท

·        เบาหวานควบคุมให้น้อยกว่า 110 มิลลิกรัม เปอร์เซนต์

·        งดสูบบุหรี่

·        การบริโภคอาหารที่ถูกต้อง

·        การใช้ยาลดความดันบางชนิดที่สามารถ ชะลอความ เสื่อมของไต

·        ระดับไขมันในเลือด (แอล ดี แอล <100 มก/ดล.)

·        รักษาโรคที่ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต

·        ไม่ใช้ยาแก้ปวดที่มีผลต่อไตพร่ำเพรื่อ

 

การดูแลตนเอง
ท่านจำเป็นต้องดูแลตัวท่านเองในหัวข้อต่อไปนี้
1. การตรวจเลือดและพบแพทย์สม่ำเสมอ
2. การควบคุมความดันเลือด
3. การรับประทานอาหารให้ถูกวิธี
4. เตรียมความพร้อมเพื่อรับการบำบัดรักษา ทดแทนทางไตกรณีที่เข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย


อาหารที่ท่านต้องใส่ใจเป็นพิเศษได้แก่
1. จำกัดอาหารที่มีรสเค็ม หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน
2. ควบคุมอาหารที่มีรสหวาน
3. โปรตีนจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท ต้องได้รับในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
4. ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง เช่น มันหมู ไข่แดง กะทิ เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

 

และมีคำแนะนำมากมายให้ได้อ่านศึกษาค่ะ ผู้เขียนเกรงว่าหากนำมาเล่าต่ออาจขาดความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่ควรได้รับ...จึงขอแนะนำ website ที่อ่านเข้าใจง่ายๆมาให้ได้เปิดอ่านกัน

 

ขอขอบคุณคุณศศิประภา [IP: 61.19.65.161] ที่ให้เกียรติไว้วางใจผู้เขียนโดยเขียนจดหมายมาเล่าความทุกข์ให้ได้รับทราบ  ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนความรู้และนำมาเล่าให้เพื่อนๆที่สนใจได้รับทราบต่อกันไป

 

...ขอให้คุณแม่ของคุณมีกำลังใจที่ดี หายป่วยโดยไวและขอให้คุณผู้เป็นลูกกตัญญูประสบโชคดีค่ะ 

...เข้มแข็งเข้าไว้นะคะและรักษาสุขภาพของคุณด้วยเพื่อคุณแม่ของคุณและตัวคุณค่ะ

 

                                                                  โชคดีนะคะ

                                                                

                                                                   กฤษณา สำเร็จ.

       

ขอขอบคุณ

1.     พทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร กองโภชนาการ  http://www.zeedasia.com/forums/thread-12857-1-1.html

2.     นวรัตน์ รักชาติ.หน่วยไตเทียม โรงพยาบาลสงขลา เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2551) จาก  http://www.sk-hospital.com/skmessage/viewtopic.php?t=3746&sid=ba5002254bdb0af7dfe9d45a06919910 

3.     http://www.nephrothai.org/webboard/wb-list.asp    

4.     ความรู้เรื่องไตเรื้อรัง :http://www.vibhavadi.com/web/health_detail.php?id=239 (...มีรูปภาพและคำอธิบายละเอียดมาก ออกจะลงลึกไปในทางการแพทย์)

หมายเลขบันทึก: 269122เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท