จดหมายจากน้าถึงหลานฉบับที่ 5: 17 มิถุนายน 52 วันที่ห้างานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


สำหรับคนที่ทั้งชีวิตอยู่แต่ในรั้วลวดหนาม ภาษาอังกฤษกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ อีกหลายคนก็จบเพียงชั้นประถมศึกษา ประกอบกับความสามารถทางภาษาที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น แถมยังต้องแข่งขันกับคนจำนวนมาก ทำให้หลายคนต้องทำงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ และกลายเป็น “แรงงานข้ามชาติระดับล่าง” ในประเทศที่สามต่อไป

ฉบับพิเศษ

จัดทำขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล บินข้ามลวดหนามตอน 2 เชียงใหม่

จดหมายจากน้าถึงหลาน  ฉบับที่ 5: 17 มิถุนายน 52

วันที่ห้า งานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


โยกย้ายไปถิ่นฐานใหม่ ประเทศที่สาม

 

ยัยหนู เด็กหญิงธิ๋ง ธิ๋ง และเด็กชายป่าไม้ จ๋า

 

เมื่อเดือนที่แล้ว ฮ่าน ยุ่นต์ เพื่อนสนิทของน้าได้ส่งรูปเด็กชายริน ริน ลูกชายวัยแบเบาะมาให้ดู เห็นรูปของฮ่าน ยุ่นต์ กับ พิว พิว (แม่ของริน ริน) แล้ว ทำให้น้าอดคิดถึงบางเรื่องราวเมื่อสองปีก่อนไม่ได้


พี่บอมครับ พี่บอมครับ ผมอยู่ประตูสี่แล้ว พี่อยู่ตรงไหนครับ ผมอยากเจอพี่เป็นครั้งสุดท้าย


คืนวันนั้นเสียงโทรศัพท์ของลุงบอมดังเป็นระยะๆ ทั้งๆ ที่เราก็อยู่ตรงที่ประตูสี่แห่งนี้ แต่เราก็หาฮ่าน ยุ่นต์ไม่เจอ ใกล้เวลาที่เครื่องบินจะทะยานขึ้นน่านฟ้าสู่กรุงอัมสเตอร์ดัม นครหลวงของเนเธอร์แลนด์แล้ว น้าทั้งคู่จึงตัดสินใจวิ่งหา ฮ่าน ยุ่นต์ ทุกประตูในอาคารผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ (เพราะเดินหา มันจะไม่ทันแล้วค่ะ) ในที่สุดเราเจอฮ่าน ยุ่นต์ ในเวลาเกือบเที่ยงคืน ที่ประตูสิบค่ะ ประตูสิบ ไม่ใช่ ประตูสี่ (อันนี้เป็นปัญหาของน้าและลุงบอมที่จนบัดนี้เราก็ไม่สามารถแยกภาษาของเพื่อนจากพม่าเวลาพูดคำว่า สิบ กับ สี่ ได้) พร้อมๆกับที่ทุกคนในกลุ่มนั้นต่างถือถุงพลาสติกสีขาวที่ได้รับแจกติดโลโก้ “IOM” คนละ 1 ใบ

 


น้ามาส่งฮ่าน ยุ่นต์ กับ พิว พิว และเพื่อนผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงคนอื่นๆ เดินทางไปใช้ชีวิตใหม่ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ค่ะ

 


ฮ่าน ยุ่นต์ เป็นผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านต้นยาง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มาตั้งแต่ปี 2536 อย่างที่หนูก็รู้นั่นล่ะค่ะ บางครั้งผู้ลี้ภัยหลายคนก็แอบหนีออกมาทำงานนอกแคมป์ ฮ่าน ยุ่นต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น และวันหนึ่งเราก็ได้มารู้จักกัน มาทำงานร่วมกัน

 


ชีวิตภายในรั้วลวดหนามที่ปราศจากอนาคต ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรมไปวัน ๆ ไม่สามารถออกทำงาน อยู่ในสถานที่ที่แออัดยัดเยียด ความเครียด ความกดดันที่ต้องเผชิญ รวมถึงสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น ขณะที่คลื่นขบวนอพยพของชาวบ้านที่หนีภัยประหัตประหารก็ไม่เคยลดน้อยลง ความหวังที่จะได้กลับบ้านเกิดดูริบหรี่ลงทุกที พอๆกับการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัยแค่การส่งกลับกับการส่งต่อเท่านั้น ฉะนั้นการโยกย้ายไปอยู่ประเทศที่สามจึงเป็นเหมือนความหวังเดียวที่ชีวิตผู้ลี้ภัยจะได้รับอิสรภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 


ปี 2527 ค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงได้ถูกตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกริมชายแดนตะวันตก ผ่านมากว่า 25 ปี วันนี้ประเทศไทยมีค่ายผู้ลี้ภัยชนเผ่าจากพม่ารวม 9 ค่าย ตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามแนวชายแดนไทย พม่า ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนจรดราชบุรี สิ้นเดือนพฤษภาคม 52 มีผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ลงทะเบียนกับ UNHCR และกระทรวงมหาดไทย อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดน 116,523 คน เป็นชาวกะเหรี่ยง 65,040 คน และชาวกะเรนนี 51,438 คน

 


            ผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนกับ UNHCR เท่านั้น ซึ่งก็คือ กลุ่มที่มีเลขประจำตัว จึงจะสามารถขอลี้ภัยหรือในชื่อทางการว่า ขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม (Resettlement) ได้ ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่จะไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนี้ โดยทั่วไปแล้วการเปิดรับสมัครผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศแถบยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้ว คือ ออสเตรเลีย แคนาดา ฟินแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สวีเดน  เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย  อเมริกา จะไม่มีกำหนดเวลารับสมัครและจำนวนที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความจำนงของรัฐบาลประเทศปลายทางว่ามีความประสงค์จะรับผู้ลี้ภัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามในแต่ละปีๆ จึงมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัย มากกว่าจำนวนที่ประเทศที่สามต้องการรับไปอยู่ด้วย จึงทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องรอไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดเวลา บางครั้งนานหลายปี จนมีผู้ลี้ภัยบางคนทนรอต่อไปไม่ไหว ตัดสินใจหนีออกมาเป็น แรงงานข้ามชาติ

 


เมื่อความต้องการมีมากกว่าการตอบรับ  UNHCR ได้รายงานว่าตั้งแต่ปี 2548 ที่มีผู้ลี้ภัยจากพม่าเริ่มต้นโยกย้ายถิ่นฐานใหม่ จนมาถึงปลายปี 2550 มีผู้ลี้ภัยเพียง 19,138 คน จาก 9 แคมป์เดินทางไปประเทศที่สามแล้ว ส่วนใหญ่มาจากค่ายแม่หละ โดยมีอเมริกาเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยมากถึง 12,046 คน ตามด้วยออสเตรเลีย 2,291 คน แคนาดา 2,253 คน และประเทศอื่นๆ ตามที่น้าเล่ามาข้างต้น

 


เมื่อประเทศที่สามตกลงใจรับผู้ลี้ภัยแล้ว ทาง UNHCR และตัวแทนรัฐบาลของประเทศที่สามจะเรียกสัมภาษณ์ ตรวจสอบประวัติผู้ลี้ภัยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกระบวนการสัมภาษณ์สิ้นสุดลงและผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปประเทศที่สาม จะมีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เข้ามาดูแลรับผิดชอบต่อ มีการพาผู้ลี้ภัยไปตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพ ตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ หากผลการตรวจไม่ผ่านจะต้องรักษาจนกว่าจะตรวจผ่านหรือหายเป็นปกติ นอกจากนั้นแล้ว IOM ยังต้องให้คำแนะนำ ความรู้ ประเพณีวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และความเป็นอยู่ต่างๆ ในประเทศที่สาม ให้ผู้ลี้ภัยได้เข้าใจด้วย เพราะหลายอย่างอาจเป็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยไม่เคยเห็น หรือรับรู้มาก่อน เช่น การโดยสารเครื่องบิน การใช้ห้องน้ำ เป็นต้น หลังสิ้นสุดกระบวนการทุกอย่าง ผู้ลี้ภัยก็เพียงแต่รอกำหนดการวันเดินทาง

 


ชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะเข้ามาดูแลต่อ ทั้งเป็นผู้จัดหาสถานที่สำหรับการอยู่อาศัย เครื่องอุปโภคบริโภค และความต้องการต่างๆ รวมทั้งจะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือต่อไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สำหรับคนที่ทั้งชีวิตอยู่แต่ในรั้วลวดหนาม ภาษาอังกฤษกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ อีกหลายคนก็จบเพียงชั้นประถมศึกษา ประกอบกับความสามารถทางภาษาที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น แถมยังต้องแข่งขันกับคนจำนวนมาก ทำให้หลายคนต้องทำงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ และกลายเป็น แรงงานข้ามชาติระดับล่างในประเทศที่สามต่อไป

 


 

ด้วยความรัก

น้าป่าน

17 มิถุนายน 52

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 269117เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท