อ๋อย
พิไลลักษณ์ อ๋อย ศรีประดิษฐ์

อยากจะบอกใครสักคน


มารดายอมรับโดยไม่รู้สึกตกใจใด ๆ ทั้งสิ้น และยังบอกอีกว่า “จะพาคนอื่นมาได้ยังไงเดี๋ยวเขาก็รู้กันหมด บอกแม่น่ะดีแล้ว จะได้ช่วยกันดูแล”

การพยาบาลผู้ป่วยเอดส์เป็นการทำงานที่ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและผู้ป่วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง กลัวความลับถูกเปิดเผย กลัวการถูกรังเกียจจากคนในครอบครัวและชุมชน ดิฉันจึงปฏิบัติงานการพยาบาลด้วยการเป็นผู้รับฟังปัญหา ร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือตามความสามารถที่มีอยู่ด้วยความเต็มใจ โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และการสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความมั่นใจ ดิฉันได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยชาย วัย 40 ปี สถานภาพโสด การศึกษาปริญญาตรี อดีตประกอบอาชีพรับจ้างเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน สอบสวน รู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีมาประมาณ 15 ปี พยายามดูแลตนเองและออกกำลังกายเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อนป่วยหนักด้วยวัณโรคต่อมน้ำเหลือง เข้ารักษารพ.ในกทม. ผู้ป่วยบอกว่าตอนนั้นคิดว่าคงจะไม่รอดแล้วถึงแม้ว่าจะรู้ผลเลือดมานานกว่า 15 ปีและเจ็บป่วยถึงขั้นแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ผู้ป่วยก็ไม่เคยบอกผลเลือดของตนเองให้ใครทราบ ซึ่งสาเหตุสำคัญคือกลัวถูกรังเกียจ ดิฉันจำได้ว่าครั้งแรกที่ผู้ป่วยมาติดต่อขอรับยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยลุกลี้ลุกลน สายตาวอกแวก ขาดความมั่นใจอย่างเห็นได้ชัด ดิฉันเข้าใจได้ทันทีว่าผู้ป่วยรู้สึกกลัวความลับเรื่องการติดเชื้อของตนเองถูกเปิดเผย สู้อุตส่าห์เก็บความลับมาอย่างยาวนาน ด้วยใจที่อยากให้ผู้ป่วยยอมรับการรักษาก่อนที่จะสายเกินเยียวยา ดิฉันจึงพยายามสร้างความไว้วางใจโดยตกลงบริการว่าข้อมูลที่เราพูดคุยกันเป็นความลับ จะมีเพียงทีมผู้ดูแลเท่านั้นที่รู้ จะไม่มีการขุดคุ้ยถึงอดีตของผู้ป่วยให้ลำบากใจแต่จะขอข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดูแลและรักษาต่อไปผู้ป่วยเริ่มผ่อนคลายลงและบอกกลับดิฉันว่าพยายามจะไปรักษาให้ไกลบ้านเพราะกลัวเจอคนรู้จักเวลามาโรงพยาบาล แต่ที่ต้องมาวันนี้เพราะว่าหมอที่กรุงเทพฯบอกว่าต้องมารับยาต้านไวรัสตามสิทธิ์การรักษา ไม่มีเงินซื้อยารับประทาน เพราะตอนนี้ไม่ได้ทำงาน กว่าจะตัดสินใจมาตามที่หมอบอกก็คิดอยู่นาน ไม่อยากให้ใครรู้ช่วง 2-3 เดือนแรกของการรักษา ผู้ป่วยมารับบริการตามนัดทุกครั้ง แต่มาแบบหลบ ๆ ไม่สบตาใครรีบมา รีบไป ไม่พูดคุยกลับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ดิฉันจะให้บริการปรึกษาทุกครั้งที่ผู้ป่วยมาตามนัดเพื่อสร้างความร่วมใจในการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และการให้บริการปรึกษาเพื่อการเปิดเผยผลเลือด เพื่อหาผู้ดูแล และจะได้ไม่ต้องหลบซ่อนการกินยา ผู้ป่วยบอกว่า ไม่รู้จะบอกใคร และไม่กล้าบอกใครดิฉันจึงให้ผู้ป่วยนั่งคิดว่า ใครคือคนที่คุณรัก และรักคุณที่สุดผู้ป่วยบอกว่ามีพี่สาวที่ไม่ได้แต่งงานอยู่บ้านเดียวกันหลังจากนั้นไม่นานผู้ป่วยมาติดต่อขอไปรักษาที่อื่นอ้างว่าทะเลาะกับพี่สาว มีปัญหาในครอบครัว ระหว่างพูดคุยกัน ผู้ป่วยร้องไห้และบอกว่ายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยผลเลือดของตนเองกับใครดิฉันจึงให้กำลังใจและบอกผู้ป่วยว่าคุณสามารถทำได้และดิฉันเชื่อว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้น ไม่ต้องรู้สึกหวาดระแวงอีก แต่เราจะรอจนกว่าคุณจะพร้อม แล้วจึงนัดให้คุณพาญาติมาโรงพยาบาลและแจ้งผลที่ห้องนี้ ดิฉันจะอยู่ข้างๆคุณเวลาที่คุณแจ้งผลเลือดกับญาติ ถ้าคุณยังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไรหลังจากผู้ป่วยกลับไปผู้ป่วยโทรศัพท์กลับมาบอกว่าจะพาเพื่อนบ้านมา ดิฉันจึงถามผู้ป่วยว่า คุณแน่ใจว่าเขารักคุณที่สุดใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็สามารถแจ้งได้ผู้ป่วยไม่ตอบว่าอะไร แต่บอกว่า จะมาพบในวันรุ่งขึ้นเมื่อถึงเวลานัดหมายผู้ป่วยมากับหญิงชรา วัย 70 ปี แล้วก็แนะนำว่าเป็นมารดาของตนเอง ระหว่างที่ดิฉันประเมินความพร้อมของมารดาถึงการรับฟังผลเลือดของลูกชาย สังเกตได้ว่ามารดาของผู้ป่วยรักผู้ป่วยมากบอกว่า ผู้ป่วยเป็นลูกชายคนเล็กเมื่อมารดาพร้อมจึงบอกให้ผู้ป่วยแจ้งผลเลือด มารดายอมรับโดยไม่รู้สึกตกใจใด ๆ ทั้งสิ้น และยังบอกอีกว่า จะพาคนอื่นมาได้ยังไงเดี๋ยวเขาก็รู้กันหมด บอกแม่น่ะดีแล้ว จะได้ช่วยกันดูแลจากการติดตามผลหลังจากการเปิดเผยผลเลือดวันนั้นผู้ป่วยมาตามนัดทุกครั้ง สดชื่นขึ้น ไม่มีร่องรอยของความกังวลใจ กล้าสบตา กล้าพูดคุยมากขึ้น และผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ ดิฉันรู้สึกดีใจ และเป็นสุขที่เป็นตัวกลางทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ ยอมรับการเจ็บป่วย และตั้งใจดูแลรักษาตัว เพื่อชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

หมายเลขบันทึก: 269116เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มารดายอมรับโดยไม่รู้สึกตกใจใด ๆ ทั้งสิ้น และยังบอกอีกว่า “จะพาคนอื่นมาได้ยังไงเดี๋ยวเขาก็รู้กันหมด บอกแม่น่ะดีแล้ว จะได้ช่วยกันดูแล”

  • พลังความรักของแม่ คือ พลังแห่งการเยียวยา และเป็นพลังแห่งการเยียวยาที่ยิ่งใหญ่...
  • เหมือนการได้คืน ชีวิตให้กับลูกอีกครั้ง...ชีวิตที่เผชิญและอยู่ร่วมกับโรคที่เราสามารถกำหนดจิตใจไม่รังเกียจได้
  • ขอบคุณคุณอ๋อยมากเลยค่ะ ที่นำเรื่องเล่าที่งดงามนี้มาถ่ายทอดบันทึกไว้ค่ะ

(^__^)

พลังแห่งความรัก ทำให้หลายสิ่งอย่างในชีวิตดีขึ้น

ขอขอบคุณ คุณka-Poom มากค่ะ ทีเห็นถึงความงดงามของเรื่องเล่า อยากจะบอกกใครสักคน

เข้ามาทักทายและให้กำลังใจคนทำงานค่ะ

อดทนต่อความลำบากในชีวิตการทำงานของเราที่ต้องให้กำลังใจผู้ป่วย ใช้ทั้งแรงกายแรงใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท