วันนี้ (3 พฤษภาคม 2549) ผมและคุณสายัณห์ ปิกวงค์ ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มีนัดหมายกับคุณรังสรรค์ เลิศสูงเนิน เพื่อนนักส่งเสริมของตำบลมหาชัย อำเภอไทรงาม ในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลมหาชัย เวลา 13.00 น. แต่ในตอนเช้าผมได้รับการติดต่อจากคุณเชิงชาย เรือนคำปา เพื่อนนักส่งเสริมของตำบลนาบ่อคำ ว่าเช้านี้เวลา 09.00 น. ได้นัดหมายแกนนำนักวิจัยชาวบ้านร่วมเวทีเสวนาเพื่อหาโจทย์วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ร่วมกับทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง หากว่างให้เข้าไปร่วมกระบวนการหน่อย
ผมและคุณสายัณห์จึงปรับแผนกันใหม่ ว่าในวันนี้ช่วงเช้าถึงเที่ยงเดินทางไปร่วมเวทีที่ตำบลนาบ่อคำก่อน ช่วงบ่ายค่อยไปที่ตำบลมหาชัยต่อ และหากมีเวลาจะได้ไปแวะติดตามความก้าวหน้าที่ตำบลคลองพิไกร อำเภอพรานกระต่ายกันต่อ อ่านบันทึกในช่วงเช้ากันก่อนนะครับ
เวทีหาโจทย์วิจัยฯ ที่ตำบลนาบ่อคำ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมหรือ PAR เป็น KV ตัวหนึ่งของการทำงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ในโอกาสที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบภาระกิจให้จังหวัดกำแพงเพชรนำร่อง จำนวน 3 ตำบล แต่ทีมงานได้ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของเพื่อนนักส่งเสริมให้นำการวิจัยและพัฒนามาสู่งานประจำ เรากำหนดไว้ 26 ตำบล (เกินเป้าหมาย 23 ตำบล)
ป้ายชื่อกลุ่มฯ
เดินทางออกจากสำนักงานเกษตรจังหวัดประมาณ 09.00 น. จุดนัดหมายของตำบลนาบ่อคำ คือกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองกอง หมู่ที่ 4 ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30 กิโลเมตร เดินทางไปถึงพบว่ามีแกนนำเกษตรกรประมาณ 10 กว่าคน คุณเชิงชาย และคุณสมพร จันทร์ประทักษ์ ทีมนักวิจัย PAR นำร่องจากตำบลลานดอกไม้มารออยู่ก่อนแล้ว ยังพอมีเวลาเพราะยังมีชาวบ้านกำลังเดินทางมาอีกหลายคน คุณเชิงชาย จึงได้พาผม และคุณสายัณห์ เดินเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่ม เช่น กิจกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตปุ๋ยหมักของกลุ่ม
-
คุณเชิงชาย นำชมกิจกรรมของกลุ่มฯ
-
เริ่มกระบวนการ โดยคุณเชิงชาย
เริ่มกระบวนการประมาณ 10.00 น. มีเกษตรกรมาร่วม 17 คน คุณเชิงชาย เรือนคำปา แนะนำทีมงาน และเกริ่นนำถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ความสำคัญของความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ และคืนข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ และจากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้ผู้ร่วมเสวนาได้ทราบและร่วมตรวจสอบ หลังจากนั้นเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร คุณคำปลิว จันทร์ประทักษ์ ได้เดินทางมาสมทบ จึงได้พบปะและพูดคุยกับผู้ร่วมเสวนา และคุณสายัณห์ ปิกวงค์ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ร่วมเสวนา คุณสายัณห์ จึงได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับผู้ร่วมเสวนา และสรุปสุดท้ายว่า แล้วเราทำการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานกับพืชชนิดใดที่เป็นปัญหา แล้วคืนเวทีให้กับคุณเชิงชาย ดำเนินการต่อ
-
เกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร คุณคำปลิว จันทร์ประทักษ์ร่วมประชุมกลุ่มฯด้วย
-
คุณสายัณห์ ปิกวงค์ ร่วมตรวจสอบข้อมูลเดิม (ใช้ข้างตัวถังรถของนักส่งเสริมให้เป็นประโยชน์ครับ)
ช่วงระหว่างการดำเนินกระบวนการ คุณเชาวริก ครุฑอินทร์ นักส่งเสริมจากตำบลวังทอง และคุณสุเชษฐ์ นักส่งเสริมจากตำอ่างทอง ก็เดินทางมาสมทบซึ่งก็เป็นทีมนักวิจัย PAR นำร่องที่มาร่วมกันเป็นทีมเพื่อทำงานและศึกษากระบวนการไปพร้อมกัน โดยคุณสุเชษฐ์ อินทร์เจือจันทร์ทำหน้าที่เป็นคุณบันทึก (Note Taker) หรือจะเรียกว่าคุณลิขิตก็ได้นะครับ ส่วนคุณเชิงชาย และคุณสายัณห์ ในขณะที่ดำเนินกระบวนการก็เขียนข้อสรุปลงบนกระดาษฟางด้วย
-
คุณทองดี งามเสริฐ ประธานกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองกอง นำเสนอการวางแผนวิจัย
เมื่อสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมเสวนาเข้าใจถึงกระบวนการทำงานเพื่อหาวิธีการที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้การผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยฯ จึงได้ร่วมคิดและตัดสินใจร่วมกันว่าจะทำการศึกษาถึงกระบวนการผลิตข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของหมู่บ้าน และตำบล โดยจะทำการวิจัยร่วมกันภายใต้โจทย์วิจัยที่ว่า "ศึกษาการใช้ปุ๋ยในนาข้าว (นาปี) บ้านหนองกอง" และได้มอบการดำเนินกระบวนการเพื่อกำหนดแผนการวิจัยให้แก่คุณทองดี งามเสริฐ ประธานกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองกอง มานำการวางแผนการวิจัย ซึ่งในขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญ และผู้เข้าร่วมเสวนามีการเสนอความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการวางแผนการวิจัยดีมาก สรุปได้ว่ากลุ่มจะทำการศึกษาใน 7 ตัวอย่าง ( 7 แปลงทดสอบคือ) โดยใช้แปลงนาของนายไพวัลย์ เจียรวาปี เลขที่ 236 หมู่ที่ 4 ตำบลนาบ่อคำ และรายละเอียดการออกแบบทั้ง 7 แปลง ประกอบด้วย
-
แปลงที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 จำนวน 20-25 กก./ไร่ และยูเรีย 10 กก./ไร่
-
แปลงที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 และยูเรีย อย่างละ 10 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยหมักที่กลุ่มที่ผลิตเอง 100 กก./ไร่
-
แปลงที่มีการใช้หมักของกลุ่มฯ เพียงอย่างเดียว จำนวน 200 กก./ไร่
-
แปลงที่มีการใช้หมักของกลุ่มฯ เพียงอย่างเดียว จำนวน 100 กก./ไร่
-
แปลงนี้จะไม้ใช้สารเคมีหรือปุ๋ยชนิดใดเลย (ไม่ใช้ปุ๋ย)
-
แปลงนี้จะใช้ปุ๋ยน้ำ จำนวน 20 ลิตร/ไร่
-
แปลงของเกษตรกรที่ปฏิบัติตามปกติ เรียกว่าแปลง ตามใจฉัน
หลังจากนั้นก็ได้ให้สมาชิกเลือกที่จะเป็นผู้ดูแลและจัดเก็บข้อมูลของแต่ละแปลงทั้ง 7 แปลง และให้แต่ละคนไปหาทีมงานเพื่อช่วยกันดูแลการจัดเก็บบันทึกเอาเอง และให้ทุกคนรวมกลุบไปพิจารณาแบบสำหรับการบันทึกข้อมูล แล้วนัดหมายในการร่วมตัดสินใจเพื่อกำหนดแบบจัดเก็บ และรายงานความกว่าหน้าอีกครั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2549 ณ สถานที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
-
หน้าตาของบันทึกในการวางแผน (ออกแบบการวิจัย)
-
คุณบันทึก ทีมงานร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยบันทึกงานภาคสนาม คุณสมพร และคุณสุเชษฐ์ อินทร์เจือจันทร์
-
หน้าตาของร่างการบันทึกงานภาคสนาม
วันนี้ได้เกิดการเรียนรู้ขึ้นกับทุกคน รวมทั้งทีมงานของทั้งจากอำเภอและจังหวัด เพราะ
-
ได้เห็นการรวมทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร ที่รวมพลังกันมาช่วยกันทำงานทั้งการจัดเวทีและการบันทึก
-
ในขณะเดียวกัน ในส่วนตัวของนักส่งเสริมเอง ต่างก็ได้เรียนรู้กระบวนการหรือขั้นตอนในการค้นหาโจทย์วิจัย และการออกแบบ-วางแผนการวิจัย เพื่อสร้างนักวิจัยชาวบ้าน แม้จะเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างหากดำเนินการและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อกลงก็จะทำให้เกิดทักษะ และมีองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ให้เรียนรู้อีกมาก
-
ชาวบ้านได้เรียนรู้กระบวนการวิจัยในเบื้องต้น ว่าไม่ใช่เรื่องที่ยาก สามารถทำการวิจัยได้เอง สังเกตได้จากการออกแบบทั้งหมดเป็นความคิดของชาวบ้านที่อยากรู้อยากเห็น
-
ในมุมมองของทีมงานคุณอำนวยระดับจังหวัด ได้เรียนรู้ถึงการสร้างทีมงานของคุณอำนวยระดับอำเภอ ซึ่งจะเป็นอีกรูปแบบหรือลักษณะหนึ่งที่เราสามารถนำไปปรับใช้กับอำเภออื่นๆ ต่อไป
-
เรียนรู้ว่าตนเองและทีมงาน "เรายังต้องเรียนรู้และพัฒนาอีกมากครับ"
บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ
วีรยุทธ สมป่าสัก
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย สิงห์ ป่าสัก ใน KMนักส่งเสริมการเกษตร
ขอบคุณมากค่ะที่ทำหน้าที่คุณลิขิตใน blog ทำให้เห็นภาพการทำงาน KM และงานวิจัย PAR ของกำแพงเพชรมากขึ้น รวมทั้งได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้ไปด้วย เมื่ออ่านดูแล้วเห็นถึงความตั้งใจและพลังของการทำงานเป็นทีมจริงๆค่ะ อยากให้เป็นอย่างนี้ในทุกที่ทุกจังหวัด
มีประเด็นข้อสังเกตนะคะในเรื่องการตั้งโจทย์วิจัยของนักวิจัยชุมชน "เรื่องการเรียนรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยในนาปี"
1) ประเด็นความเป็นมาของปัญหาความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้าเกษตรของนักวิจัยกลุ่มนี้คืออะไรคะ ทำไมถึงมาลงเอยที่การทดสอบเรื่องปุ๋ย
2) 7 แปลงตัวอย่างนี้มีสมมติฐานเบื้องต้นอย่างไรถึงเลือกใช้ประเภทและปริมาณปุ๋ยที่แตกต่างกัน ผลการทดสอบธาตุอาหารในดิน หรือการตกค้างของเคมีในดินเป็นที่มาของการจัดแปลงทดสอบออกเป็น 7 แปลงหรือเปล่าคะ
3) อันนี้อยากได้ข้อคิดเห็นที่หลากหลายนะคะ เพราะเป็นน้องใหม่ในวง KM ค่ะ ในกระบวนการเรียนรู้นี้เราสามารถผสมผสานองค์ความรู้จากภายนอกเข้ากับองค์ความรู้ของชุมชนได้พร้อมๆ กันไหม หรือต้องรอให้องค์ความรู้ภายในตกผลึกก่อนจึงจะดึงเอาองค์ความรู้ภายนอกมาต่อยอดได้
ขอบุคณมากนะคะ หวังว่าคงได้เจอกันในเวทีสัมมนาวิจัยของจังหวัด
ภาณี