CBNA ฉบับที่ 11 : อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 14: 9 เหตุผลที่ “คน (ตัวเล็ก) ในพม่า” หายไป


ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย เป็นกลุ่มคนที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มประชาชนที่ถูกเรียกว่า “แรงงานข้ามชาติ” กรณีเรื่องแรงงานข้ามชาติ พบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน มีคนบางกลุ่มมี ส่วนได้ส่วนเสียกับประชาชนกลุ่มนี้ ทั้งฝ่ายทุน ภาคธุรกิจ แต่สำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย คนกลุ่มนี้ต่างถูกมองในฐานะผู้ไร้ประโยชน์จากทุน และไม่สามารถแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้โดยทันที

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน

ฉบับที่ 11 (16 มีนาคม 2552)

อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 14: 9 เหตุผลที่ คน (ตัวเล็ก) ในพม่า หายไป

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

           

            แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทย จะผ่านพ้นไปเกือบหนึ่งเดือนแล้วก็ตาม แต่ยังมีบางประเด็นที่ทำให้ผู้เขียนไม่สบายใจ และอดไม่ได้ที่จะต้องใช้เวทีแห่งนี้สื่อสารผ่านข้อกังวลดังกล่าว  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แถลงการณ์ของประธานอาเซียน และจากแถลงการณ์เวทีอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่สี่  พบว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับ ต่างหยิบยกประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่ามาเป็นวาระสำคัญ อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นพม่าหลายเรื่องจะถูกหยิบยกกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่กลับพบว่าบางประเด็นที่เร่งด่วน (กว่า) และเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน คาบเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และประเด็นทางการเมืองพม่ามายาวนานหลายสิบปี ได้หายไปอย่างน่าแปลกใจ ทั้งในส่วนของฟากรัฐบาลและฟากประชาชน

 


หนึ่งในนั้นคือเรื่อง คน ใน ประเทศพม่า ที่ถูกเรียกว่า ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) และ ผู้ลี้ภัย (Refugees)  ทั้งผู้ลี้ภัยในค่าย และผู้ลี้ภัยนอกค่าย ประชาชนกลุ่มเหล่านี้อาศัยอยู่ตามชายแดนพม่า-ไทยเป็นจำนวนกว่าครึ่งล้าน ซึ่งไม่ใช่มีแค่ประชาชนชาวโรฮิงญาเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่า สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากพม่า เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยทันที  ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการทำให้ประเทศพม่าเดินหน้าไปสู่ความสมานฉันท์และความเป็นประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ต่อเนื่อง และใช้เวลายาวนาน

 


วันนี้เองภาพของกองทัพพม่าที่มีทหารจำนวนหลายหมื่นนาย ประจำการอยู่ในรัฐต่างๆของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ การวางกับระเบิด การสู้รบกันทุกครั้งเมื่อฤดูร้อนมาถึง นี้ยังไม่รวมถึงการบังคับใช้แรงงานทาส การรีดไถ การยึดที่ดิน ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อการพลัดถิ่นฐานของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอย่างมหาศาล ชีวิตในป่าต้องดำรงอยู่ท่ามกลางการขาดปัจจัย 4 ขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม ที่พัก ยารักษาโรค

 


สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ที่อาเซียนไม่ควรเพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือ และหาหนทางคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน กี่ครั้งแล้วที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะพูดคุยอย่างจริงจังถึงการละเมิดของตนเองและรัฐบาลพม่าต้องยุติการกระทำดังกล่าวลง ครั้งหนึ่งในช่วงเจรจาหยุดยิงระหว่าง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ภายใต้การนำของนายพลโบเมียะ กับรัฐบาลพม่า ประเด็นที่น่าสนใจในการเรียกร้องของ KNU ตอนที่จะทำสัญญาสันติภาพครั้งนั้น คือ ให้รัฐบาลพม่ายุติการหยุดยิงโดยทันที และจัดการเรื่องผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) เป็นอันดับแรก โดยต้องให้ IDPs ทุกคนสามารถ
กลับบ้านของตนเอง ตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ได้ก่อน ส่วนการเจรจาในเรื่องอื่นๆยังมิพักต้องกล่าวถึงในตอนนี้ การจัดการเรื่อง
IDPs ถือเป็นการแสดงความจริงใจอย่างยิ่งของรัฐบาลพม่าที่มีต่อประชาชน

 


สำหรับผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อาศัยในค่าย 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย - พม่า พบสถานการณ์ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาใหม่ กลับมิได้ทำให้ตัวเลขผู้ลี้ภัยลดลง ปัญหาเร่งด่วนที่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เผชิญ คือ การไม่มีอาหารดำรงชีวิตในแต่ละวันอย่างเพียงพอ จากรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิคนข้ามชาติจากประเทศพม่าในประเทศไทยปี 2551 ขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ก็ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามแจกข้าวให้กับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียนและผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่ นอกจากนั้นกรณีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของผู้ลี้ภัยที่เป็นไปได้ยาก ก็เป็นปัญหาที่เร่งด่วนไม่แพ้กัน

 


ในประเด็น ผู้ลี้ภัยนอกค่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ ชาวปะโอ ชาวมอญ ที่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยในฝั่งไทยให้พักพิงอย่างปลอดภัย ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ต่างเป็นผลมาจากสงครามและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพม่า เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงและคะเรนนี ประชาชนกลุ่มนี้ต้องอยู่อย่างหลบ  ๆ ซ่อนตามแนวชายแดน อยู่อย่างผิดกฎหมาย ขาดการเข้าถึงทรัพยากรต่าง   โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ การศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านอื่น  ๆ หลายครั้งที่ประชาชนกลุ่มนี้ถูกผลักดัน ส่งกลับ ถูกบังคับให้โยกย้ายออกจากพื้นที่

 

คำถามสำคัญ คือ เกิดอะไรขึ้น ? เมื่อเรื่องดังที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง

 

ผู้เขียนได้ลองพยายามแสวงหาคำตอบบางประการ เพื่อชี้ให้เห็นว่าที่บางประเด็นหายไป เพราะมีปัจจัยหลายประการที่ปราศจากการคำนึงถึง

 

 

อ่านทั้งหมด click :ดาวน์โหลด

 

หมายเลขบันทึก: 267235เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท