อ่าน ตอนที่ 1 : โรงเรียนอยู่ไหน..?
ในการจัดการเรียนการสอนของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขานั้น เมื่อมาคิดทบทวนอดีตที่ผ่านมา ทำให้พบว่าเรามีกระบวนการเรียนการสอนที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า การเรียนการสอนที่ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (ตามจริต) ผมก็เพิ่งเข้าใจคำนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่ก็ทำมาบ้างแล้ว ทำอย่างไรบ้าง ผมมีเรื่องเล่าถึงการจัดการเรียนของศูนย์ฯ ดังนี้ครับ
-
ครูไม่มีข้อห้ามเรื่องระเบียบการแต่งกาย ตามสะดวก ใส่ชุดอะไรมาเรียนก็ได้ไม่ผิดระเบียบ
-
ใครจะนำน้องมาเลี้ยงหรือมาเล่นด้วยก็ได้ ไม่ห้ามไม่ได้แยกการศึกษาออกจากชีวิตจริงๆ
-
ตอนกลางคืนจะห่มผ้าห่มมาเรียนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพื่อความอบอุ่นเพราะโรงเรียนยังไม่มีฝาห้อง
-
ใครพร้อมจะเรียนตอนกลางวันก็ได้ หรือจะมาเรียนตอนกลางคืนก็ได้ หรือเด็กๆ บางคนจะมาเรียนทั้งกลางวันกลางคืนก็ตามใจปรารถนา (ตามความพร้อม)
-
สามารถเรียนควบคู่กับการเลี้ยงวัวด้วยก็ได้ โดยอาจผูกหลักไว้แล้วมาเรียนสักพักหนึ่งจะขออนุญาตไปดูแลวัวที่เลี้ยงก็ยินดี จะได้ไม่เสียเวลาทำมาหากิน
-
ในขณะที่มาเรียน ครูและผู้เรียนก็สามารถปรึกษาพูดคุยเรื่องในชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับการเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
-
ไม่มีการแยกชั้นเรียน แต่จะจัดเป็นกลุ่มๆ ตามความก้าวหน้า
-
ร้อยะ 80 เป็นตำราที่มีมาจาก กศน. ส่วน อีกร้อยละ 20 ชาวบ้านร่วมกันสร้าง เรียกกันในสมัยนั้นว่า "หลักสูตรท้องถิ่น" หากเป็นสมัยนี้คงเรียกว่า "ภูมิปัญญา" ครับ
-
การประเมินผล ไม่ใช้การสอบครับ ไม่เคยมีการสอบ แต่จะประเมินเป็นรายบุคคลตามความก้าวหน้า
-
ในบางฤดูกาล ผู้เรียนก็จะมาต่อรองถึงช่วงเวลาของการเรียนที่เหมาะสมได้ เช่น ในฤดูทำนา เกี่ยวข้าว หรือขอหยุดเรียนทั้งวันเพื่อไปกินแขกแต่งงาน(ออมุ) ต่างหมู่บ้านเป็นต้น
ภาพนี้ ตอนกลางวันจะเป็นช่วงของเด็กๆ ครับ
ภาพนี้ เป็นบรรยากาศการเรียนการสอนในตอนกลางคืน เป็นของผู้ใหญ่หรือคนที่ไม่ว่างในตอนกลางวัน
บทสรุป
บทเรียนที่เรียนรู้จากประสบการณ์ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้ ขอสรุปไว้ดังนี้
-
ได้เรียนรู้ว่า...ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นครูในการจัดการสอนการเรียนนั้น แม้ว่าจะมาจากหลายสาขาวิชาทั้งครู สายช่าง อื่นๆ หรือวุฒิของครูที่มีตั้งแต่ ม.6 ถึงระดับปริญญาตรี แต่ทุกคนต่างก็สามารถทำหน้าที่ของครูได้ดี อาจแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่จิตวิญญาน ความตั้งใจจริง และความรับผิดชอบในหน้าที่ของครูที่มีอยู่ในตัวคนๆ นั้นต่างหาก เพราะเราเป็นเพียงผู้เอื้ออำนวยให้คนได้เรียนรู้ (ทุกอย่างเรียนรู้และฝึกฝนได้)
-
ในการทำงานในชุมชนนั้น ต้องใช้ความรู้หลายๆ แขนงผสมผสานกัน ไม่ใช่แต่การสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว ต้องใส่ใจกับสภาพและความเป็นไปในชุมชนด้วย เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในชุมชน ล้วนส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของเราทั้งสิ้น
-
ได้เรียนรู้ว่าคนตัวผู้มาเรียนนั้น มีความหลากหลายและความพร้อมที่จะเรียนรู้แตกต่างกันมาก ดังนั้นการออกแบบหรือการจัดการเรียนการสอน จึงต้องจัดให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
-
บางเรื่อง ชาวบ้านหรือผู้เรียนตัวน้อยๆ ของเรา มีความรู้และความสามารถมากกว่าครูเสียอีก เช่น ความสามารถในการหาของป่า การหุงหาอาหาร การพึ่งพาตนเองโดยไม่ใช้เงินตรา เป็นต้น (ทุกคนมีศักดิ์ศรีและความรู้ความสามารถ)
-
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะขอบันทึกไว้ก็คือ มาตรวัดที่ใช้ในการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้น จะใช้เพียงว่าการจบการศึกษาชั้นนั้นชั้นนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หรือใช้ได้ในทุกๆ ที่ ผมว่ามันขึ้นอยู่กับว่าในวิถีชีวิตจริงของชุมชนแล้วเขาต้องใช้องค์ความรู้อะไร จึงจะสามารถดำรงชีวิตรอดอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะในบางพื้นที่แม้มีเงินก็ไม่สามารถซื้ออะไรๆ ได้ (ต้องทำเป็นและทำเอง) แต่ความรู้ความสามารถทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ฯลฯ ต่างหาก (ที่ส่วนใหญ่ไม่มีการสอนในห้องเรียน) แต่เขากลับเรียนรู้กันเองอย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริงๆ ส่งผลที่ทำให้เขาดงรงชีวิตอยู่ได้
ประสบการณ์นี้ สามารถนำมาปรับใช้กับกระบวนการจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะในการจัดการความรู้ มิติหนึ่งของบุคคลที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือความพร้อมหรือความถนัด/ความชอบในการเรียนรู้ของแต่ละคน(จริต) ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทำ KM จึงน่าจะต้องคำนึงถึงหลักการของ "ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" ด้วย เพราะจะเป็นส่วนที่เอื้อหรือสนับสนุนต่อความสำเร็จของ KM ด้วย
วีรยุทธ สมป่าสัก