จะเรียนประวัติศาสตร์กันอย่างไรในหลักสูตรใหม่


  วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่กำลังได้รับความสนใจและให้ความสำคัญว่าเป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับเด็ก  สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือจะให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์กันอย่างไร  วิชานี้ถึงจะมีประโยชน์ที่จะทำให้เด็กสามารถ "คิดเป็น" ได้จริง ๆ มากกว่าที่จะเป็นวิชาที่จะมุ่งให้จดจำอะไรได้มากมายแต่คิดไม่เป็น ก็คงไม่มีประโยชน์  ??

จะเรียนประวัติศาสตร์อย่างไรในหลักสูตรใหม่

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

 

                ปีการศึกษา 2552  โรงเรียนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนแกนนำ  และโรงเรียนที่มีความพร้อมเริ่มต้นใช้หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2551  ซึ่งจัดเป็นหลักสูตรแกนกลางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดตัวชี้วัดมาให้ว่าเมื่อนักเรียนเรียนจบหลักสูตรแต่ละช่วงชั้น  นักเรียนต้องมีความรู้ความสามารถตามตัวชี้วัดอย่างไร

                ในส่วนของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  มีการปรับหลักสูตรค่อนข้างชัดเจน  ด้วยการกำหนดให้แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกต่างหากอีก 1 รายวิชา   ตามกระแสเสียงเรียกร้องของสังคมที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน  เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดจิตสำนึกถึงความรักชาติ  และความภูมิใจในท้องถิ่นของตน

                เมื่อกระทรวงศึกษาธิการตระหนักและเห็นความสำคัญจำเป็นที่จะต้องเรียนประวัติศาสตร์  ความสำคัญของการเรียนเรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่การได้กำหนดให้เรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน   โดยแยกเป็นวิชาอิสระออกจากวิชาสังคมศึกษาเท่านั้น  แต่ควรคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายสำหรับวิชานี้

                เป้าหมายคือ จะสอนกันอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนสามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ  จนทำให้เข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ในด้านความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง  ตระหนักถึงความสำคัญและความสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงมีความเข้าใจความเป็นมาของชาติ วัฒนธรรม           ภูมิปัญญา  มีความรักและความภูมิใจ และธำรงความเป็นไทย

                มาตรฐานการเรียนรู้ในสาระประวัติศาสตร์จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง  และกระทบต่อปัจจุบันอย่างไร  แล้วจะสอนอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงควรจัดอบรมสัมมนาเพื่อให้ครูที่จะสอนวิชาประวัติศาสตร์  โดยมิได้เรียนมาทางด้านประวัติศาสตร์หรือด้านสังคมศึกษาโดยเฉพาะ  ได้มีความรู้เรื่องการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์  เพื่อนำมาอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ  ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

                ตัวเลขของผู้ได้รับการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย   ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดตามภูมิภาคต่าง ๆ 4  ภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นจำนวน 748 คนนั้นถือว่าเป็นจำนวนน้อย  หากเทียบกับครูผู้สอนที่ต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนน่าจะใช้ครูหลายพันคน  เพราะโรงเรียนทั่วประเทศหากไม่ใช่โรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก  น่าจะมีครูมากกว่า 1 คนต่อโรงเรียนเพื่อสอนประวัติศาสตร์  ครูที่จะเข้าใจการนำวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้  มีมากน้อยเพียงใด  การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เกิดความทรงจำว่าอะไรเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงเท่านั้น   แต่การเรียนประวัติศาสตร์โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์น่าจะเป็นหนทางให้เกิดการคิดวิเคราะห์เป็น  ซึ่งต้องเริ่มต้นที่ครูก่อน

                ครูที่ไม่จบด้านประวัติศาสตร์โดยตรงก็สามารถสอนวิชานี้ได้   หากเข้าใจธรรมชาติของวิชา  ว่าไม่ใช่เรื่องของความทรงจำ  การบอกเล่าหรือเป็นความเชื่ออะไรบางอย่าง แต่วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่พยายามคิดหาเหตุผลอธิบายปรากฎ การณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างรอบด้าน  ครูจึงต้องได้รับการปลูกฝังให้สะสมความรู้อยู่เสมอ  ด้วยการอ่านมาก คิดมาก และฝึกให้มีใจคอกว้างขวาง  ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง  ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่าฝ่าแรง  เป็นเรื่องที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นแก่คนในสังคมไทยอยู่แล้ว  รวมทั้งครู  เมื่อครูมีบุคลิกภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน

                การเรียนประวัติศาสตร์ให้เกิดจิตสำนึก  ผู้สอนและผู้เรียนต้องรู้สึกสนุกสนาน  หรือมีความอยากที่จะเรียน  ความอยากที่จะเรียนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชา  เรียนอย่างไรให้สนุกสนาน  คงมิใช่การเรียนแบบท่องจำกันหูดับตับไหม้   จนจำอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว  หรือจำได้แต่สับสนปนเปจนไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริงเพราะเหตุใด

                ดังนั้นการกำหนดหลักสูตรให้เด็กต้องเรียนประวัติศาสตร์เพิ่มอีก1 วิชา เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อสัปดห์ หัวใจสำคัญของการเรียนคงไม่มุ่งหวังให้เด็กจำอะไรได้อย่างที่ครูบอก  แต่น่าจะให้เด็กคิดอะไรได้มากกว่าที่ครูคิด  หรือคิดให้แตกต่างออกไป  รวมทั้งคิดวิพากษ์ตำราเรียนที่เรียนได้อีกด้วย  เพราะพบบ่อย ๆ ว่าตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมีบางเรื่องที่ผู้เขียนมีทัศนคติอยู่เพียงมุมใดมุมหนึ่ง   ทำให้เกิดความคิดคับแคบ  วิชาประวัติศาสตร์ควรเป็นวิชาที่ปลูกฝังความคิดอิสระ  บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานอย่างรอบด้าน มากกว่าที่จะถูกกล่อมเกลาให้เป็นคนที่เชื่ออะไรตาม ๆ กันมา  โดยไม่วิเคราะห์วิพากษ์หลักฐานอย่างรอบด้าน

                นอกจากปัญหาว่าจะสอนกันอย่างไรแล้ว  ปัญหาต่อมาคือจะเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง  จึงจะเป็นประโยชน์โภชผลต่อการปลูกฝังสติปัญญาของผู้คนในสังคม  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

                ในอดีตที่ผ่านมาวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน  เป็นวิชาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังบุคลิกภาพ  จิตสำนึกทั้งในความเป็นไทย  ที่แยก พวกเรา  ออกจาก  พวกเขา ถ้าหากไม่ใช่พวกเราก็ต้องไม่ใช่ คนไทย  เป็นต้น  วิชาประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้ให้เกิดความรักชาติ  ปลุกระดมผู้คนให้เชื่อผู้นำจนก่อให้เกิดการสู้รบแย่งชิงดินแดน  ทรัพยากรจากดินแดนอื่น ๆ  โดยมิรู้สึกว่าเป็นสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ

                เจตนารมณ์ของวิชาประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมารับใช้การเมือง  ทั้งในยุคก่อนรัฐชาติและรัฐชาติ  จนแม้แต่ในปัจจุบัน  ทำให้เนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์จึงวนเวียนอยู่กับการรบราฆ่าฟัน  เรื่องศึกสงครามกับประเทศรอบด้าน  ในขณะที่อีกภาพหนึ่ง  เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมอาเซียนซัมมิท  จนเกิดกฎบัตรอาเซียน  กล่าวถึงประชากรอาเซียน  เหมือนความสัมพันธ์เหนียวแน่นปานจะกลืนกิน  ขณะที่เบื้องหลังในตำราเรียนประวัติศาสตร์ยังพูดถึงศึกสงครามที่ผู้ชนะย่อมเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างเลิศหรู  ในฐานะที่ได้เปรียบคนอื่น   หากพ่ายแพ้  ตำราเรียนก็จะพยายามหาเหตุผลอันชอบธรรมให้กับความพ่ายแพ้ของตนเอง

                การเรียนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการสู้รบกับเพื่อนบ้านอื่น ๆ  หรือการพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองนั้น  ค่อนข้างจะตรงกับสำนวนที่ว่า  เอาดีใส่ตัว  เอาชั่วใส่คนอื่น  ซึ่งไม่ใช่นิสัยที่ควรปลูกฝังให้กับคนไทย  แม้ว่าจะพบเห็นอยู่มิใช่น้อยอยู่ในสังคมการเมืองไทย  จนไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง  เพราะกลายเป็นว่าผู้ชนะย่อมเสียงดังกว่าผู้แพ้เสมอ

                ปัจจุบันวิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่รับใช้การเมืองและปลูกฝังความคิดใด ๆ  วิชาประวัติศาสตร์ควรเป็นวิชาที่สามารถเจริญปัญญาให้กับเยาวชนรู้วิธีการคิดวิเคราะห์  แยกแยะผิดถูกชั่วดีได้  อีกทั้งควรเป็นวิชาที่ได้นำอดีตมาทบทวนความผิดพลาด  เพื่อระมัดระวังไม่ให้ปัจจุบันเกิดความผิดพลาดเช่นนั้นอีก

                ความจำเป็นในการทบทวนความผิดพลาดในอดีต  เพื่ออยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ และปัญญาจะนำไปสู่อนาคตที่มั่นคงร่วมกันของผู้คนในสังคม  ดังนั้นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ควรบรรจุในตำราเรียนจึงไม่ควรเป็นเรื่องเชิงอภินิหารของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  แต่ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

                เนื้อหาในตำราเรียนจึงไม่ควรเน้นไปที่การทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน  โดยหวังจะให้เกิดการปลูกฝังความรักชาติอันจะนำไปสู่การพัฒนาความเจริญของประเทศ   เพราะปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เมืองไทยไม่ค่อยเจริญเท่าที่ควร  ให้สมกับเป็นสุวรรณภูมิอันอุดมสมบูรณ์  มีทรัพยากรพร้อมพรั่ง  ไม่ใช่เกิดจากการรุกรานจากชาติอื่น  แต่เหตุแห่งความไม่เจริญของเราเกิดจากการที่คนไทยบั่นทอนความเจริญกันเอง   ในลักษณะที่ว่าเมื่อไม่มีศึกจากภายนอกจึงเกิดศึกภายใน  อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้

                การเรียนประวัติศาสตร์จึงจำเป็นต้องหลุดพ้นจากการรับใช้การเมือง  เนื้อหาที่เรียนจึงควรเรียนทุกเรื่องที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทย  ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นบาดแผลของใครหรือไม่ก็ตาม

                เนื้อหาที่ควรเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา  ซึ่งเป็นเด็กในวัยที่เริ่มคิดวิเคราะห์เป็น  และเป็นวัยที่ควรได้รับการปลูกฝังให้คิดเป็น  เนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เรียนควรเป็นเรื่องราวใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนี้  แต่ตำราเรียนกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก  หรือบางเรื่องแทบจะไม่อยากกล่าวถึงเสมือนการปฏิเสธว่าไม่ได้เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย   หากเป็นเช่นนี้การเรียนประวัติศาสตร์หรือไม่เรียน  แทบจะไม่มีความหมายอะไรแก่สังคมเลย

                เนื้อหาที่ควรจะเรียน  เช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  โดยเฉพาะสีสันการเมืองสมัยจอมพล ป. จอมพล สฤษดิ์  ที่ทิ้งมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน  เช่น บทเรียนการเมืองในวังวนของการปฏิวัติรัฐประหาร  นอกจากนี้เรื่องที่ควรเรียน คือ เหตุการณ์ 14  ตุลาคม 2516  ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยกำหนดให้เป็นเหตุการณ์สำคัญของชาติที่นำไปสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน  แต่ตำราเรียนยังคงมีเนื้อหาเรื่องนี้เพียงน้อยนิด  

ยังไม่ต้องนึกถึงเหตุการณ์  6  ตุลาคม 2519  ซึ่งถือเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เรียกว่า คนไทย   ถูกกล่าวถึงในตำราเรียนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพียงไม่กี่บรรทัดว่า  เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าไปจับกุมนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...  ข้อความแค่นี้ช่างไร้อารมณ์ความรู้สึก  และความรับผิดชอบของผู้คนในสังคม  ที่ขัดแย้งกับภาพประกอบในตำราเรียนที่มีซากศพนอนเกลื่อนกราดในเหตุการณ์นี้  แล้วเราจะอธิบายประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นี้ว่าอย่างไร

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว   จนไม่อาจปิดผืนฟ้าด้วยฝ่ามือได้   การเรียนประวัติศาสตร์จึงควรเรียนในทุกเรื่อง  เพื่อให้เกิดการทบทวนความผิดพลาดในอดีต  จะได้เกิดความระมัดระวังป้องกันไม่นำไปสู่หนทางความขัดแย้งเหมือนในอดีต  มากกว่าที่จะให้เรียนเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว   วิชาประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่วิชาที่จะเรียนเพื่อรับใช้ใครแต่ฝ่ายเดียว  แต่ควรเป็นวิชาที่มุ่งเรียนเพื่อรับใช้ประชาชน  ด้วยการไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความผิดพลาดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ความสำคัญจำเป็นของการกำหนดให้เรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน  จึงไม่ใช่แค่กำหนดให้ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนประวัติศาสตร์แล้วก็จบ  แต่ควรคิดต่อว่าจะเรียนจะสอนประวัติศาสตร์กันอย่างไร  ให้เหมาะกับการเรียนในหลักสูตรใหม่  ไม่เช่นนั้นก็ไม่เห็นว่าจะเป็นความใหม่ตรงไหนของการปฏิรูปการศึกษาในรอบสองนี้

 

หมายเลขบันทึก: 265568เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2009 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิชาประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่วิชาที่จะเรียนเพื่อรับใช้ใครแต่ฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นวิชาที่มุ่งเรียนเพื่อรับใช้ประชาชน ด้วยการไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความผิดพลาดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ตรงนี้ผมเห็นด้วยครับ แต่การจัดการเรียนการสอนดังกล่าว ก็เหนื่อยและยากเหมือนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท