“แรงงานข้ามชาติ” แพะบูชายัญวิกฤติเศรษฐกิจ


ดังนั้นวันนี้ประเด็นหลักต่อการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ และการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างแรงงานในกิจการต่าง ๆ จึงไม่ใช่อยู่ที่การเอาแรงงานข้ามชาติออกจากการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานไทยมีงานทำ เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

แรงงานข้ามชาติ แพะบูชายัญวิกฤติเศรษฐกิจ[1]

อดิศร เกิดมงคล

 

ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นที่หวั่นวิตกของผู้คนทั่วโลกว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงเพียงใดต่อตัวเองนั้น แรงงานข้ามชาติหรือ แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในระบบสายพานเศรษฐกิจ ก็ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน

ในประเทศไทย วิกฤติเศรษฐกิจมาพร้อมกับการเลิกจ้างแรงงานไทยมหาศาล ทำให้รัฐบาลไทยมักจะแก้ปัญหาด้วยการโยนบาปให้แรงงานข้ามชาติเป็น แพะรับบาป แทน ดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2540 ครั้งนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี) แก้ปัญหาโดยมีนโยบายผลักดันให้แรงงานข้ามชาติกลับประเทศ และนำแรงงานไทยไปทำงานในกิจการที่แรงงานข้ามชาติเคยทำอยู่แทน แนวโน้มดังกล่าวได้เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกในขณะนี้เช่นกัน ที่เริ่มมีมาตรการเข้มงวดกับแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น แม้ยังไม่มีรายงานใดยืนยันได้ว่า การทำงานของแรงงานข้ามชาติมีผลกระทบต่อการจ้างแรงงานในประเทศมากน้อยเพียงใด

สิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามและหลงลืมไปในเวลาอันรวดเร็ว คือ ข้อคิดเท็จจริงที่ว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การเติบโตขึ้นของภาคธุรกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เพื่อทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นเสือทางเศรษฐกิจ มังกรทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระดมสรรพกำลังแรงงานจากต่างประเทศ เข้ามาเสริมความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลง/ขาดแคลนจากแรงงานในประเทศตนเองโดยตรง เพราะในประเทศมีการพัฒนาทางด้านการศึกษาที่ทำให้แรงงานระดับล่าง แรงงานที่ใช้กำลังฝีมืออย่างเข้มข้นต้องขาดหายไป

หากดูตัวอย่างในประเทศไทย แรงงานภาคเกษตร ภาคประมงทะเล ก่อสร้าง นับวันจำนวนแรงงานไทยที่ใช้กำลังแรงงานในภาคส่วนต่างๆ เหล่านี้จะมีน้อยลง หรือในบางภาคส่วนแทบไม่มีเลย แต่ในทางกลับกัน พบว่า ภาคส่วนดังกล่าวนี้เป็นฐานการผลิตสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย เช่น อาหารทะเลแช่แข็งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยมาหลายปี ทำให้เกิดการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มข้น แต่เมื่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นพวกเขา/เธอเหล่านั้น ก็กลายเป็นกลุ่มแรกที่ถูกมาตรการทางการค้าใช้เป็นแพะบูชายัญทางเศรษฐกิจ

ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551-2552 ทำให้ผู้เขียนเริ่มเห็นทิศทางนโยบายของรัฐบาลไทยต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ และอดคิดถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2540 ว่า แนวทางการจัดการของรัฐบาลไทยต่อประเด็นนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก จึงอยากนำบทเรียนการจัดการเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจช่วงดังกล่าวมาเป็นรูปแบบในการวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากลองทบทวนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 จะพบว่า หลังจากช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (ปลายปี 2540) มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายของรัฐบาลว่า จะต้องลดจำนวนแรงงานต่างด้าวระดับล่างไร้ฝีมือ (ส่วนใหญ่ 90 % เป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่า) ประกอบกับเป็นช่วงที่แรงงานไทยตกงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการปิดกิจการของสถาบันการเงิน ที่ส่งผลต่อบริษัทและโรงงานต่างๆ ทำให้เป็นเหตุผลที่รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมแรงงานต่างชาติครั้งใหญ่ ผลักดันส่งกลับประเทศ และให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานทดแทน มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวขึ้น เพื่อดำเนินการในเรื่องการส่งกลับ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการตอบรับ และวิพากษ์วิจารณ์จากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งจากสื่อมวลชนในและต่างประเทศ

แต่ในข้อเท็จจริงกลับพบว่า หลังจากที่มีการจับกุมและส่งกลับแรงงานข้ามชาติไปแล้วส่วนหนึ่ง มีแรงงานไทยเข้าไปทดแทนแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยมาก จากการสำรวจพบว่า

·        ภาคกลางมีการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว 2.8 หมื่นคน มีแรงงานไทยทดแทน 9.9 พันคน

·        ภาคใต้เลิกจ้างแรงงานต่างชาติ 2.2 หมื่นคน มีแรงงานไทยทดแทน 4.8 พันคน

·        ภาคเหนือเลิกจ้างแรงงานต่างชาติ 1.6 หมื่นคน มีแรงงานไทยทดแทน 8 พันคน 

·        ภาคตะวันออก เลิกจ้าง 1.5 หมื่นคน มีแรงงานไทยทดแทน 4.7 พันคน

·        จังหวัดสมุทรสาครเลิกจ้าง 1.3 หมื่นคน มีแรงงานไทยทดแทน 1.6 พันคน

·        จังหวัดภูเก็ต เลิกจ้าง 3.4 พันคน มีแรงงานไทยทดแทน 58 คน (กรุงเทพธุรกิจ 28 เมษายน 2541)

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า แรงงานไทยที่ตกงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีฝีมือกับกึ่งฝีมือ ส่วนงานที่แรงงานข้ามชาติทำนั้น เป็นงานที่ไร้ฝีมือ ไม่ต้องการทักษะ เป็นงานระดับล่างที่สกปรก เสี่ยงอันตราย เป็นงานหนัก ได้ค่าแรงต่ำ จึงทำให้มีการทดแทนกำลังแรงงานน้อยมาก จนในที่สุดมีการเรียกร้องจากกลุ่มทุนธุรกิจในจังหวัดชายแดน และกลุ่มประมงทะเลให้มีการอนุญาตใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องการไม่มีคนงานไทยมาทำงาน มีการเรียกร้องจนถึงขนาดที่ว่าโรงสีข้าวประกาศปิดโรงสีไม่รับซื้อข้าวจากชาวนาและรัฐบาล

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องมีการพิจารณาให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานข้ามชาติ ในช่วงแรกอนุญาตในเขตจังหวัดชายแดน 13 จังหวัด และพื้นที่ประมงทะเลอีก 22 จังหวัด ต่อมาเมื่อมีแรงกดดันจากกลุ่มทุนท้องถิ่นโดยเฉพาะโรงสีข้าว ทำให้มีการขยายกิจการและพื้นที่เพิ่มเติม เช่น โรงสีข้าว กิจการขนส่งทางน้ำ เป็นต้น โดยรูปแบบการจัดการยังเป็นรูปแบบเดิมที่มีการจัดทำใบอนุญาต มีการประกันตัวในรูปแบบที่เคยเป็นมา เพียงแต่มีความเร่งรีบดำเนินการ รวมถึงยังมีแนวปฏิบัติในเรื่องการจับกุมแรงงานต่างด้าวไว้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างมากขึ้น ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องอยู่ในความควบคุมของนายจ้าง ไม่สามารถต่อรองในเรื่องสวัสดิการหรือค่าแรงได้ ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายที่ออกมาพบว่าไม่มีนโยบายในเรื่องการดูแลในด้านสวัสดิการสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจนแต่อย่างใด

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงของการปะทะระหว่างแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจของภาคราชการกับกลุ่มทุนท้องถิ่น (ซึ่งส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนพรรคการเมือง) และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่านโยบายในเรื่องนี้ถูกกำหนดมาจากกลุ่มทุนเป็นอย่างมาก แต่กลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้มากที่สุด คือ แรงงานข้ามชาติ เนื่องจากมีการเข้าจับกุมบ่อย และการจับกุมในบางครั้งจะมีการยึดทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความหวาดกลัวในเรื่องการถูกส่งกลับ เพราะสถานการณ์ภายในพม่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความไม่แน่ใจถ้าหากต้องถูกส่งกลับ แต่กลุ่มที่ยังดูได้ประโยชน์และมั่นคงอยู่เช่นเดิม คือ กลุ่มนายหน้า หรือขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เนื่องจากมีแรงงานข้ามชาติต้องการเดินทางกลับไปชายแดนจำนวนมาก เพราะกลัวการกวาดล้างเข้าจับกุมจากเจ้าหน้าที่ จึงเกิดขบวนการจัดส่งอย่างเป็นระบบขึ้นมา

ดังนั้นหากเรามาพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยดูตัวอย่างจากการแก้ปัญหาในประเทศอื่นๆ พบว่า หลังเกิดวิกฤติ ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศทางยุโรป ที่มีการไปดึงแรงงานข้ามชาติจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เกิดนโยบายระงับ-ผลักไส-ส่งกลับแรงงานข้ามชาติทันที

·        ประเทศอังกฤษ มีการจัดทำโครงการให้แรงงานข้ามชาติสมัครใจกลับบ้าน มีการลดอนุญาตระยะเวลาการจ้างงานลง

·        ประเทศสเปน มีการงดจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศใกล้เคียง

·        บางประเทศมีนโยบายเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติทันที

ฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ  รัฐบาลแต่ละประเทศมักจะเลือกใช้แนวคิดเศรษฐกิจแบบชาตินิยมเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เมื่อมีแรงงานในประเทศตกงาน ก็เลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ และให้แรงงานในประเทศเข้าไปแทนที่ เหมือนกับว่า ยามดีก็เรียกใช้ ยามไข้ก็ถีบหัวส่ง ใช้ตรรกะแบบนี้แก้ปัญหาเป็นแนวทางหลัก

ย้อนกลับมามองในสังคมไทย พบว่า แนวคิดเศรษฐกิจแบบชาตินิยมถูกหยิบมาใช้ในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเผชิญกับการเคลื่อนไหวแบบแนวคิดชาตินิยมมาโดยตลอด ทั้งจากภาครัฐและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทุกกลุ่มเสื้อหลากสี ในช่วงหนึ่งเห็นได้ชัดว่าแนวคิดนี้เริ่มทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ช่วงเกิดกรณีเขาพระวิหาร พบว่ามีการเลิกจ้างงานแรงงานกัมพูชาในบางพื้นที่ หรือกรณีที่หอการค้าจังหวัดบางจังหวัดได้เสนอว่า การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานไทยตกงาน คือ ให้เลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ เป็นภาพสะท้อนถึงการแก้ปัญหาทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจที่เป็นทิศทางเดียวกัน คือ การพยายามหาศัตรูร่วมของการตกงานของแรงงานไทย ซึ่งก็คือ แรงงานข้ามชาติ โดยสร้างความจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่งว่า แรงงานข้ามชาติมาแย่งงานคนไทย ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากภาครัฐหรือนายจ้างโดยตรง

กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่ม sub-contract เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานที่เปราะบางที่สุด ไม่มีนายจ้างที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่มีหลักประกันด้านการคุ้มครองแรงงาน ทำให้มักจะถูกเลือกให้เลิกจ้างเป็นอันดับต้น ๆ เสมอ นอกจากนั้นในกลุ่มอื่นๆ จะประสบกับการละเมิดสิทธิที่รุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากแรงงานข้ามชาติถูกมองเป็นศัตรูตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ทั้งในเชิงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ชาตินิยม การถูกมองเป็นศัตรูเพราะทำให้แรงงานไทยตกงาน ฉะนั้นเมื่อแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้น คนไทยจะรู้สึกธรรมดาและไม่เห็นว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด กล่าวได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เปิดโอกาสให้ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจวันนี้ อาจไม่ใช่เพียงเรื่องการว่างงานแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองและไม่ถูกเลิกจ้างมากกว่า

นอกจากนั้นแล้ววิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้หลงลืมนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาว  โดยทั่วไปประเทศไทยมีแต่นโยบายด้านการจัดการแรงงานข้ามชาติแต่ละปี แต่ไม่มีนโยบายการจัดการคนข้ามชาติ พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สถานภาพความเป็นแรงงานข้ามชาติจะหมดไป เพราะถูกเลิกจ้างงาน แต่ความเป็นคนข้ามชาติยังอยู่ ประเทศไทยจะจัดการอย่างไร เพราะอย่างไรก็ตามแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจัยในประเทศต้นทางไม่ได้มีแค่ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ดังกรณีที่เห็นได้ชัดจากประเทศพม่า ที่มีปัจจัยทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเป็นปัจจัยหลักด้วย รวมทั้งยังไม่สามารถเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจการจ้างงานแรงงานนอกระบบได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เข็นรถขายของ ขายอาหาร ฯลฯ เพราะถือเป็นอาชีพสงวนสำหรับแรงงานไทยเท่านั้น

ดังนั้นวันนี้ประเด็นหลักต่อการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ และการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างแรงงานในกิจการต่าง ๆ จึงไม่ใช่อยู่ที่การเอาแรงงานข้ามชาติออกจากการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานไทยมีงานทำ เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง สิ่งที่รัฐควรจะต้องทำ คือ การสร้างความมั่นคงในการมีงานทำ และกลไกการรองรับการถูกเลิกจ้างของแรงงานที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงานอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางนี้เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ขณะเดียวกันการใช้แนวคิดชาตินิยมในการจัดการก็ไม่ต่างจากการที่รัฐกำลังส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้าแรงงานให้เกิดมากขึ้นโดยทางอ้อม เหมือนกับว่าสุดท้ายแล้ว รัฐบาลไทยกำลังสมยอมให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานโดยไม่ผิดกฎหมายนั้นเอง



[1] บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ครั้งแรกในวารสารสาละวิน ฉบับที่ 54  ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 264006เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับอาจารย์ ปัญหาแรงงานข้ามชาติถือเป็นปัญหาใหญ่ หรือสามารถพูดว่าเป็นปัญหาโลกก็ได้ แต่ถามว่ายุติธรรมไหม สำหรับงานที่ทำในบ้านเรา มีแรงงานจาก ลาว พม่า กัมพูชา มาทำ แต่ถ้าคนที่อยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะอพยพไปหางานที่มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือ บรูไน อีกอย่างงานที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปทำนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นงานไร้ฝีมือ แรงงานในพื้นที่บางทีไม่มีใครสนใจที่จะทำ เพราะต้องใช้กำลังแรงและอีกงานที่ต้องทำนั้นสกปรกอีกด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท