ครูชีววิทยาที่ข้าพเจ้าปรารถนา


สัปดาห์แรกของการเปิดเทอม ผมให้นักเรียนชั้น ม.5 และ ม.6 ซึ่งผมสอนชีววิทยาพวกเขามาแล้ว 1-2 ปี ได้เขียนเรียงความ บทความ หรือ อะไรก็ได้ สั้นๆ ในหัวข้อ ครูชีววิทยาที่ข้าพเจ้าปรารถนา

หวังว่าความคิดเห็นของศิษย์เหล่านี้ จะเป็นกระจกวิเศษ สะท้อนความเป็นครูชีววิทยาของผมได้แม่นยำ อันที่จริงผมให้นักเรียนเขียนประเมินครูเสมอๆ แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ค่อนข้างละเลย เพราะคิดเองว่า นักเรียนแต่ละรุ่นประเมินออกมาคล้ายๆกัน

ผมบอกนักเรียนว่า ไม่ต้องเขียนชื่อ เลขที่ ว่าเป็นผลงานใคร ใครเป็นเจ้าของความคิดเห็น เพราะครูไม่อยากรู้ ครูอยากรู้แค่ความคิดเห็น และก็เขียนให้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวครูโกรธ ถ้าคิดจะโกรธ คงไม่ให้เขียน ผมตั้งใจจะเหมาเอาเลย ไม่ว่านักเรียนจะเขียนเกี่ยวกับครูชีววิทยามาอย่างไร นั่นหมายถึงตัวผม 

ทั้ง ม.5 และ ม.6 เห็นเหมือนๆกัน และก็เหมือนกับเมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่เคยให้นักเรียนเขียน นักเรียนจะบอกว่าผมสอนจริงจังเกินไป ยิ้มแย้มแจ่มใสบ้าง คุยเล่นบ้าง อย่าแต่วิชาการอย่างเดียว เอาเรื่องนอกห้องเรียนมาคุยบ้าง ปล่อยมุขตลกให้ฮาก๊ากๆๆบ้าง

รู้ตัวดีว่า เรื่องนี้เป็นจุดบอดของผมเลยทีเดียว “บุคลิกส่วนตัวครูเป็นอย่างนี้ แต่ไหนแต่ไรแล้ว” เล่าเรื่องที่คิดว่าขำแน่ๆให้นักเรียนฟัง แต่นักเรียนเฉย(เหมือนทุกครั้ง) แต่ถึงอย่างไร ครูก็จะพยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง

ใช่สิ! ระยะเวลา 3-4 ปีมานี้ ผมมิได้ให้นักเรียนประเมินเลย คิดว่ารู้ๆอยู่แล้ว ว่าผลจะออกมาอย่างไร จึงทำให้เกิดผลเสีย เพราะผมลืมนึกถึงความรู้สึกตัวเอง ที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ไปเลย 

นักเรียน ม.5 ส่วนใหญ่ จะบอกว่า ขอให้ครูเป็นอย่างนี้ เป็นแบบของครู อ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจ คล้ายลูกศิษย์จะเข้าใจเรา จนอดนึกไม่ได้ว่า แล้วที่ผ่านมา เราเข้าใจเขา น้อยกว่าที่ลูกศิษย์เข้าใจเราหรือเปล่า? คงไม่ใช่นะ! เพราะเราก็พร้อมให้อภัยเขาในทุกๆเรื่องอยู่แล้วเช่นกัน ไม่ว่าเรื่องใดๆ 

อยากเรียนโดยได้ทดลอง ได้ปฏิบัติจริง หรือ ได้ทำกิจกรรมกลุ่มมากๆ สังเกตได้เอง วิธีสอนที่เขาจะตั้งใจเรียนกับเรา คือ ทำเอง ศึกษาเอง มีสื่อและอุปกรณ์พร้อมๆ แต่โรงเรียนผม ซึ่งเปิดมาไม่นานนัก(เมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่น) เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีห้องเน้นเรียนวิทย์-คณิต ชั้นละห้อง ห้องละไม่กี่คน วัสดุอุปกรณ์ในการทดลอง สารเคมี รวมถึงห้องปฏิบัติการ ยังขาดความพร้อมอยู่มาก ฉะนั้น บางเรื่องอยากให้นักเรียนทำ แต่ก็ทำไม่ได้  เรื่องที่ทำได้ ครูก็พยายามอยู่แล้ว

บางครั้ง เวลาเรียนเป็นอุปสรรค กิจกรรมของโรงเรียนอันมากมาย ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียน บ่อยๆเข้า ครูก็รวบรัด เพื่อให้จบเนื้อหาตามหลักสูตร การสอนด้วยการบรรยาย มอบหมายให้นักเรียนอ่านเอง ด้วยการทำรายงาน เป็นวิธีแก้ปัญหา นักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่ง ประเมินว่า การเร่งสอนเร่งเรียน ทำให้ตัวเองทำความเข้าใจ ตามไม่ทัน สุดท้ายก็ไม่รู้เรื่อง ทำให้ไม่อยากเรียน ผมก็ได้แค่พยายามชี้แจง ว่าเพราะเวลาเรียนน้อยมาก จึงต้องเร่ง “คราวต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้อีก จะทำไงดี” ผมคิด

นักเรียน ม.5 คนหนึ่ง เป็นคนเดียวซึ่งบอกว่า “รู้ตัวมั้ย ครูเริ่มบ่นเก่ง”  ข้อนี้บอกนักเรียนไปว่า เห็นตรงข้ามกับครูเลย เพราะครูคิดว่า ครูบ่น ครูเตือน ครูจำจี้จำไช นักเรียนน้อยเกินไปหรือไม่ นักเรียนจึงไม่ค่อยเรียบร้อย ทั้งเรื่องการแต่งกายและคำพูดคำจา อย่างไรก็ดี ทำให้ครูอย่างเราได้รู้ว่า สำหรับเรื่องบ่นแล้ว แม้ครูว่าน้อย แต่นักเรียนก็ยังรู้สึกว่ามาก(เกิน)อยู่ดี

สรุปว่า ปีการศึกษานี้ หรือต่อๆไป ผมควรปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ ถูกใจนักเรียน หรือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไม่เคร่งเครียด ไม่จริงจังเกินไป เน้นให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง ไม่เร่งสอน และอย่าบ่นมาก

ผมประทับใจความคิดเห็นนักเรียนคนหนึ่ง นักเรียนบอก “หนูสำนึกได้เพราะอาจารย์” นักเรียนคนนี้ ครั้งแกอยู่ชั้น ม.1 ซึ่งผมสอนวิทยาศาสตร์ แกเรียนดีมาก ขยัน เอาใจใส่ แต่พอขึ้น ม.4 กลับไม่ตั้งใจเรียน ไม่เข้าเรียน เข้าเรียนช้า ไม่ทำงานส่ง ไม่อ่านหนังสือ จึงทำข้อสอบไม่ได้ สุดท้ายผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ ติด“0” ภาคเรียนถัดมา ผมอบรมนักเรียนในห้อง พูดรวมๆ มิได้เจาะจงว่าเป็นใคร “ครูเสียดายมากที่นักเรียนเคยเรียนเก่ง ขยัน ตอนอยู่ ม.ต้น แต่พออยู่ ม.ปลาย กลายเป็นคนขี้เกียจ ไม่เอาเรื่องไม่เอาราว เป็นอย่างนี้หลายคน จากประสบการณ์ครู น้อยคนนัก จะกลับไปขยัน และเรียนดีได้เหมือนเดิมอีก ครูเสียดายอนาคตนักเรียนพวกนี้”

ภาคเรียนนั้น นักเรียนคนนี้มีผลการเรียนดีขึ้นมาก กลับมาเป็นต้นๆของห้อง ถ้าจำไม่ผิด ได้เกรด 3.5  ที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งผมประทับใจ..นักเรียนบอก "หนูสำนึกแล้ว"

“ครูดีใจด้วย” ผมอยากบอกเธอ

หมายเลขบันทึก: 262810เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ

  • ขอเป็นกำลังใจค่ะคุณครูธนิตย์
  • พี่คิมก็ชอบที่จะให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นค่ะ

ขอนำไปใช้ค่ะและเป็นการประเมินตนเองก่อนที่จะสอนใช่มั้ยค่ะ

  • เคยให้นิสิตเขียนบ่อยเลยครับ
  • ได้มุมมองดีๆๆ
  • แต่เราต้องเปิดใจกว้าง
  • ผมยกให้อาจารย์เป็นครูวิทย์ในดวงใจผมครับ
  • อาจารย์สบายดีไหม
  • บ้านผมอากาศร้อนมากๆๆ
  • คาดว่า It will rain ฮ่าๆๆ

สวัสดีครับ

• แวะมาอ่านการประเมินครู

• ให้นักเรียนประเมินครู  ทำให้เรารับรู้จุดดี จุดด้อย ได้ประโยชน์

• นี่แหละ"ประชาธิปไตย"ในห้องเรียนอย่างหนึ่ง

• ขอบคุณที่แวะไปเยือน ครับผม

 

 

หวัดดี เพื๋อน

ได้อ่านแบบประเมิน ครูชีววิทยาที่ข้าพเจ้าปรารถนาแล้วน่าสนใจ เป็นครูมา 25ปี ไม่เคย ให้เด็กประเมินเลย ต้องขออนุญาตนำไปใช้บ้าง คงจะดี

มันคงเป็นช่องว่างระหว่างวัย เราหวังดีแต่เขาว่าน่าเบื่อ เราสอนเขาก็ว่าเราบ่น นักเรียนประเมินครูผมคิดว่าหาข้อสรุปอยาก เพราะบางคนอาจชอบครูเป็นการส่วนตัว บางคนไม่ชอบ "คนรักเท่าพื้นหนัง คนชังเท่าพื้นเสื่อ"มันเป็นเรื่องนาๆจิตตัง ครูต้องใจกว้างต้องยอมรับให้ได้ พอสอนมีมุกตลกเขาก็ว่าครูทะลึ่ง พอสอนอย่างจริงจังเขาก็ว่าครูซีเรียส

อุทาหรณ์ "หนูสำนึกได้เพราะอาจารย์" อยากให้เกิดกับลูกชายตนกับต่อจัง วันหลังช่วยพูดกับตนและต่อบ้างซิ ตอนนี้ ต่อ ม.ปลาย ต่อขี้เกียจจัง ทำไงดี คงต้องขอยืมสำนวนของท่านมาปรับใช้กับลูกชายบ้างนะ น่าจะทำให้ตนและต่อสำนึกได้บ้าง

ขอขอบคุณบทความบทนี้



สวัสดีค่ะ คุณครูธนิตย์

  • อ่านไปแป๋มเองก็ยิ้มไปค่ะ
  • "...สอนจริงจังเกินไป ยิ้มแย้มแจ่มใสบ้าง คุยเล่นบ้าง อย่าแต่วิชาการอย่างเดียว.."
  • น่ารักค่ะกับความใสของเด็กๆที่เขาสื่อกับครูของเขา
  • วันนี้คุณครูคงมีความสุขกับการจัดการเรียนรู้
  • ด้วยว่าประโยชน์ของข้อมูลจากเด็กๆในวันนั้น
  • หากกรุณานำมาเล่าสู่กันฟังจะขอบคุณมากๆค่ะ
  • ขอบคุณเรื่องราวที่แป๋มนำมาศึกษา
  • เป็นตัวแบบครูชีวะของแป๋มอีกท่าน...ขอบคุณค่ะ.

                              

  • ขอสนับสนุน การประเมินการสอนของครู จากเด็ก  เพราะการเรียนการสอน ต้องเอาเด็กเป็นใหญ่ก่อน คือรู้สึกความต้องการ  การมีสมาธิของนักเรียนว่า ให้ความสนใจที่ตนสอน มีความรู้สึกแบบไหน  จะได้แก้ไข และแก้ตัว

 

  • วิชาวิทยาศาสตร์ คงจะหาบทตลกยาก อย่าเคร่งเครียดเกินไป  เพราะเด็กจะเข้าใจว่า วิชานี้ยาก  แล้วถอยก่อน ทำอย่างไร จะให้เขาฮึด และสนใจ เอ๊ะ! ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งเป็นนิสัยของนักวิทยาศาสตร์ใช่ไหมคะ
  • พยายามทำ ตามหน้าที่เราครับ
  • ขอบคุณครูคิมครับ
  • สำคัญที่ครู ต้องเปิดใจกว้าง..
  • ผมทึ่งความขยันของ อ.ขจิต เสมอๆครับ
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
  • ผมชื่นชม ชอบ แนวคิด บทกวี ของaugustmanครับ
  • ขอบคุณaugustmanที่ให้เกียรติครับ
  • Jai เพื่อนรัก..
  • คิดว่า อาชีพครูเช่นกัน ทำให้เราคุยกันถูกคอ..
  • เป็นกำลังใจให้เพื่อนเสมอ
  • ต้องตั้งคำถามครับ..รวมทั้งการดำเนินชีวิตของเราๆด้วย
  • ขอบคุณคุณสุครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท