เรื่องดีที่ มวล. : วงคุยมื้อกลางวัน- ทุนวิจัย สกว.ท้องถิ่น


ชาวบ้านมักเล่าปรากฏการณ์เล็กๆ น้อยๆ เราไปช่วยยกระดับเรื่องที่เล่าขึ้นมา ช่วยโยงความรู้

เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้คุยกับ ดร.เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ อาจารย์เลิศชายเล่าว่ามีทุนวิจัย สกว.ท้องถิ่นที่ดูแล้วก็เข้าได้กับงานที่อาจารย์สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์หลายคนทำอยู่ ดิฉันจึงเกิดปิ๊งขึ้นมาว่าน่าจะจัดเวทีให้อาจารย์เลิศชายได้มาพูดคุย

ดิฉันให้เจ้าหน้าที่นัดเวลากับอาจารย์เลิศชาย ไม่มีเงื่อนไขอะไรเป็นพิเศษ เอาวันที่อาจารย์เลิศชายว่างเป็นหลัก ได้เป็นวันที่ ๒๑ พฤษภาคม เราจะเลี้ยงอาหารกลางวันด้วย จึงกำหนดเวลาเป็น ๑๒.๐๐-๑๓.๓๐ น. เชิญอาจารย์ทุกคนเข้าฟังตามความสมัครใจ เป็นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ

พอถึงวันที่ ๒๐ ดิฉันขอดูจำนวนอาจารย์ที่เข้าฟังได้ เห็นว่ายังไม่มากนักเลยไปชวนเพื่อนข้างบ้าน (สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์) น้องอร จรวย รอบคอบ เจ้าหน้าที่สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ฯ เอาข้อมูลประชาสัมพันธ์ใน intranet ของมหาวิทยาลัย ปรากฏว่ามีอาจารย์สำนักวิชาอื่นๆ สนใจแจ้งชื่อมาหลายคน และยังมี พันเอก นพ.วิเชียร ชูเสมอ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย และ ผศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รอง ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนา แจ้งชื่อมาด้วย

วิธีการที่ใช้ในการชักชวนอาจารย์เมื่อเจอตัวกันคือชวนมารับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน เพราะยังไงทุกคนก็ต้องกิน จะอยู่ฟังต่อหรือไม่ก็ไม่เป็นไร สำหรับอาหาร ที่ผ่านมาเวลาเราประชุมมักจะสั่งเป็นข้าวกล่อง ส่วนใหญ่จะไม่อร่อยและเหลือทิ้ง ดิฉันจึงเสนอให้เป็นเอาขนมจีนและแกงต่างๆ ดีกว่า (น้ำยาที่นี่เรียกแกงปลา) น้องๆ เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ถามตามร้านที่เรารู้จัก ลงท้ายเราสั่งร้านอาหารที่โรงแรมเรือนวลัยของมหาวิทยาลัย เพราะมีอุปกรณ์และถ้วยจานพร้อม ถ้าสั่งจากร้านข้างนอกเราต้องไปเอาอาหารเองจัดเอง และยังช่วยอุดหนุนให้ร้านเขาอยู่กับเราได้

ดิฉันชวนอาจารย์เลิศชายมากินอาหารก่อนเที่ยง เพื่อที่เมื่อคนมาพร้อมอาจารย์จะได้พูดให้ฟังขณะที่คนอื่นกำลังกิน น่าดีใจที่มีอาจารย์หนุ่มสาวมาฟังกันเต็มห้องประชุมขนาดเล็ก ประมาณ ๒๐ กว่าคน

 

ซ้าย คนฟัง ขวา คนเล่า-ดร.เลิศชาย ศิริชัย

อาจารย์เลิศชายเกริ่นว่าวันนี้มาคุยกันอย่างญาติมิตร เล่าว่าตนเองดูแลทุน สกว.ท้องถิ่นเขตนครศรีธรรมราช เล่าที่มาของทุนว่าเมื่อ ๑๐ ปีกว่ามาแล้ว คิดกันว่างานวิจัยใหญ่ๆ ลงไม่ถึงชาวบ้าน จึงเริ่มคิดงานวิจัยที่ชาวบ้านเป็นคนทำ โดยมีความเชื่อว่าชาวบ้านมีระบบความรู้ของเขา ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเอาความรู้ของเขามาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ถูกกำหนดจากภายนอก แต่ความรู้ของชาวบ้านอย่างเดียวไม่พอ เราเข้าไปช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม ให้ชาวบ้านผสมผสานความรู้ใหม่ๆ เข้าไปกับความรู้ของเขา ผสมผสานเข้าไปในวิถีชีวิต

การผสมผสานความรู้ท้องถิ่นกับความรู้ใหม่ อาศัยมุมมองจากคนใน (ชาวบ้าน) คนนอกต้องไปทำความเข้าใจวิธีคิดของชาวบ้าน เอาความรู้ไปตอบสนอง ในทางปฏิบัติจริงชาวบ้านทำโดดๆ ไม่ค่อยได้ นอกจากจะมีแกนนำหรือผู้นำที่เข้มแข็ง สกว.ท้องถิ่นจึงสนับสนุนให้คนนอกไปทำงานกับชาวบ้าน (ด้วยวิธีคิดแบบที่กล่าวแล้ว) ไปผลักดัน จัดการให้คนที่ต่างคนต่างอยู่มาร่วมกันได้ ชาวบ้านมีความรู้แต่ไม่ได้รู้ทั้งหมด

คนนอกไปช่วยชาวบ้านค้นหาปัญหา ยกระดับเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นประเด็น ชาวบ้านมักเล่าปรากฏการณ์เล็กๆ น้อยๆ เราไปช่วยยกระดับเรื่องที่เล่าขึ้นมา ช่วยโยงความรู้ ที่ต้องคิดไว้ด้วยคือเรื่องที่ชาวบ้านเล่าบางครั้งเขาเลือกเป็น representative (ไม่เอาเรื่องทั้งหมดมาพูด) พวกเราช่วยปรับแต่งให้ชาวบ้านเห็นประเด็น

บางปัญหาเราไปถาม ชาวบ้านเขาไม่รู้ เราต้องไปค่อยๆ สร้างกระบวนการ ตั้งแต่ (๑) หาปัญหา (๒) ร่วมกันค้นหาความรู้ สร้างความรู้ ความรู้ทุกด้านรวมทั้งภูมิปัญญา (๓) ลองทำดู (๔) เขียนสรุป เมื่อทำแล้วได้ทั้งความรู้และความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ความรู้ถูกเผยแพร่ เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับชุมชน ชุมชนอื่นเอาไปใช้ได้

ทุนที่ให้ทุนละไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่ใช้จริง ขอกี่ทุนก็ได้ ส่วนใหญ่จะใช้ไปในการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีส่วนที่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าตอบแทน การทำสัญญาเป็นไปด้วยความเคารพนับถือกันคือเมื่อเซนต์สัญญาแล้วโอนเงินให้หมด

งานวิจัยมีเราเป็นหัวหน้าและมีชาวบ้านร่วมด้วย ทำได้ทุกเรื่อง หลักการเดียวคือมุมมองจากคนใน การเขียนโครงการไม่ซับซ้อน  ไม่ต้อง review มาก แต่เขียนให้เห็นกระบวนการ เปิดให้ขอทุนได้ทั้งปี ทำเป็น package ก็ได้ เช่น ชุดเด็ก ชุดผู้สูงอายุ คำว่าชุมชน ไม่จำเป็นต้องยกมาทั้งชุมชน มีคนในชุมชนสนใจเท่าไหร่ก็ได้

อาจารย์วิเชียรให้ความเห็นว่าเวทีแบบที่เราจัดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้ มวล.จะประกาศเรื่องชุมชน แต่รูปธรรมยังไม่ชัด เรื่องของ Research Unit เป็น model ไปทางด้านอุตสาหกรรม สำหรับสำนักวิชาฯ ที่ประกาศตัวว่าจะเน้นชุมชน โครงการแบบนี้ดีมาก อีกทั้งพื้นที่ก็มีความยืดหยุ่น (ทำในมหาวิทยาลัยก็ได้) ที่สำคัญคือเป็นการทำงานผ่านตัวคน ที่อาจจะยังเป็นจุดบอดสำหรับบางคนอยู่

อาจารย์เลิศชายให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า โครงการนี้มีระยะ ๑ ปี แต่ต่อยอดได้ เรื่องทางสุขอนามัย ชาวบ้านจะ sensitive ไว เพราะเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขา คนทางด้านสุขภาพถ้าสนใจชุมชนจะไปได้เร็ว ถ้าทำให้ดีจะมีจุดเด่น เอาความรู้ไปขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของชาวบ้านได้

ผู้เข้าประชุมมีคำถามเรื่องทำงานข้ามพื้นที่จะได้ไหม คำตอบคือต้องเริ่มจากนครฯ แล้วมีเครือข่ายไปที่อื่น (ตัวเคลื่อนไหวอยู่ที่นครฯ)

อาจารย์เลิศชายยังบอกอีกว่าต่อไปจะมีทุนทำวิทยานิพนธ์ เป็นการขยายการสนับสนุนและสร้างคนรุ่นใหม่ สนับสนุน ป.โท สาขาใดก็ได้ แต่ต้องทำงานในหลักการเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว แต่ยังคงรักษามาตรฐานวิทยานิพนธ์ตามของมหาวิทยาลัย ทุนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท มีเงินให้อาจารย์ที่ปรึกษาด้วยเป็นกำลังใจ อาจารย์คนหนึ่งๆ ดูนักศึกษาได้ ๒ คน มีพื้นที่หลายจังหวัด

ช่วงท้ายเป็นการซักถามและบางคนเสนอข้อคิดเห็น ทั้งในเรื่องที่ได้ฟังและเรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัย เช่น เรื่องการตีพิมพ์ ค่าตอบแทนการตีพิมพ์ ฯลฯ บางเรื่องบางประเด็นอาจารย์ชิตณรงค์ก็ตอบและอธิบาย

ได้เวลา ๑๓.๓๐ น. ดิฉันกล่าวปิดรายการ พร้อมทั้งบอกว่าจะพยายามจัดเวทีแบบนี้อีกประมาณเดือนละ ๑ ครั้ง เราต้องตรงเวลาเพื่อให้ครั้งต่อๆ ไปคนจะได้สนใจเข้าร่วมอีก

ดิฉันมองเห็นลู่ทางว่าเวทีง่ายๆ เป็นกันเองแบบนี้มีประโยชน์ เปิดโอกาสให้อาจารย์ที่สนใจไม่ว่าจะอยู่สำนักวิชาใดเข้าร่วมได้ ต่อไปอาจจะเกาะเกี่ยวทำงานวิชาการร่วมกัน เพราะหลังจากประชุมเสร็จก็มีอาจารย์หนุ่มน้อยด้านเทคนิคการแพทย์มาถามว่าอาจารย์พยาบาลคนไหนทำงานเรื่องชิคุนกุนยาบ้าง

ดิฉันยังคิดต่อว่าเวทีแบบนี้หากผู้บริหารมารับรู้รับฟัง (ฟังให้มากกว่าพูดเอง) ก็น่าจะได้ไอเดียในการหาทางสนับสนุนการทำงานของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าการทำงานภายในมหาวิทยาลัยอาจมีปัญหาด้านการสื่อสาร เพราะเรื่องทุนที่อาจารย์เลิศชายรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รู้กันไม่ทั่วถึง

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 262798เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท