เรียนรู้วิธีทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม


วิธีขับเคลื่อนเครือข่ายที่ลื่นไหลได้ง่าย ทำโดยเอาความสำเร็จของภาคีเครือข่ายมาขับเคลื่อน โดยวิธีการที่เรียกว่า SSS จะสร้างความชื่นชม มิตรไมตรี และพลังสร้างสรรค์ บุคคล/องค์กร ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังเครือข่าย หรือพลังความสำเร็จของเครือข่าย หรือพลัง ลปรร. ความสำเร็จของสมาชิกเครือข่าย ต้องมีจริตในการยกย่องผู้อื่น มากกว่ายกตัวเอง หรือโชว์ผลงานของตนเอง


          ลมหายใจเข้าออกของผมตั้งแต่เด็กมีความทะเยอทะยานนี้เจืออยู่อย่างไม่เคยขาด    เมื่อเข้าไปจับทำเรื่องใดก็ตาม ผมจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า วิธีที่ทำกันอยู่จนดูจะเป็นวิธีการมาตรฐานนั้น มันก่อผลดีต่อสังคมจริงหรือ    มีส่วนใดที่มันเป็น “ของแท้”    ส่วนใดที่เป็น “ของเทียม”   ผมพบ “ของเทียม” เต็มสังคม   

          แต่ผมก็เตือนสติตนเองให้เจียมตัว ว่าตัวเล็กนิดเดียว และสติปัญญาก็จำกัด บารมีก็ไม่มี ชาติตระกูลก็ไม่สูง ในภาษาชาวบ้านผมมาจากตระกูลไพร่    ต้องบากบั่นอดทนมุ่งมั่นทำงาน หาวิธีที่แยบยล ไม่ตกร่อง  “ของเทียม”    นานๆ เข้าก็มีโอกาสทำงานแบบนี้มากขึ้น    คงเพราะผู้คนเห็นความตั้งใจจริง และความตรงไปตรงมา  

          สังคมมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้จากคนเก่งและคนดี   และมีโอกาสแสดงฝีมือ ให้ได้รับการยอมรับนับถือในผลงาน   และได้รับมอบหมายหน้าที่ ในระดับริเริ่มสร้างสรรค์

          ๒ ปีเศษมาแล้ว ผมได้รับการชักชวนให้มาทำงานด้าน CSR ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์   ที่มุ่งทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาเยาวชนให้แก่ประเทศ   ทำให้ผมได้กระทบไหล่คนเก่ง คนดี ระดับประเทศ ในอีกวงการหนึ่ง    ได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงาน ที่ผมไม่คุ้นเคย    เกิดปฏิสัมพันธ์ และค่อยๆ ขับเคลื่อนการทำงานใหญ่ให้แก่สังคม   ที่เป็น CSR “ของแท้” 

          ผมได้เรียนรู้ว่า การทำงานใหญ่ เปลี่ยนแปลงใหญ่ ให้แก่ประเทศ จากการเป็นหน่วยงานเล็ก คนเล็ก ต้องทำแบบเป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” (catalyst)    ไม่ใช่เน้นเข้าไปทำหน้าที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) เอง   เพราะจะต้องใช้ยุทธศาสตร์ออกแรงน้อย เกิดผลมาก   ซึ่งในทางเคมี นี่คือการแสดงบทบาทของ ตัวเร่งปฏิกิริยา ไม่ใช้ตัวทำปฏิกิริยา

          ในโลกนี้ เต็มไปด้วย “เส้นผมบังภูเขา”   ยิ่งคนเก่ง คนฉลาด ยิ่งโดนเส้นผมบังได้ง่าย   ผมจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า    วิธีการแบบไหนที่จะเป็นการทำหน้าที่ catalyst ที่ทรงพลังที่สุด   วิธีการแบบไหนที่จะไม่ค่อยได้ผล   อะไรคือ “เส้นผม” ในเรื่องนี้

          ผมตอบตัวเองว่า “ตัวกู ของกู” ผู้มีอำนาจ นั่นเอง   ยิ่งเป็นคนฉลาด มีความสำเร็จในชีวิตสูง  “ตัวกู ของกู” ยิ่งแรง   และจะบดบังโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้แก่สังคม   เพราะจะไม่สามารถทำหน้าที่ catalyst ได้อย่างแท้จริง  

          Catalyst (ตัวเร่งปฏิกิริยา) ทำหน้าที่อย่างไร้ตัวตน ผู้คนมองไม่เห็น   เห็นแต่ “ตัวทำปฏิกิริยา”    คนที่เคยเรียนเคมีของตัวเร่งปฏิกิริยาจะเข้าใจแนวคิดนี้   บุคคลใด องค์กรใด ยังทำงานแบบต้องการแสดงผลงาน ต้องการเอาหน้า ต้องการโชว์ ต้องการ พีอาร์ จะไม่มีทางทำหน้าที่ทำงานเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้แก่ประเทศได้เลย   เพราะจะไม่มีแนวร่วมหรือพันธมิตรกว้างขวางพอ    แนวร่วมหรือพันธมิตรจะไม่ค่อยสนิทใจมาร่วม เพราะเขาจะรู้สึกว่ามาร่วมเพื่อผลงานของเรา    ไม่ใช่ของเขา

 
          แนวคิด catalyst เป็นอุปมาจากวิชาเคมี   อุปมาจากวิชาสังคม คือ เครือข่าย    บุคคล/องค์กร ที่ต้องการทำงานเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้แก่สังคม โดยที่ตนเองไม่มีอำนาจ ไม่มีเงินมาก ต้องใช้ยุทธศาสตร์ทำงานแบบเครือข่าย   ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเครือข่าย

          วิธีขับเคลื่อนเครือข่ายที่ลื่นไหลได้ง่าย ทำโดยเอาความสำเร็จของภาคีเครือข่ายมาขับเคลื่อน   โดยวิธีการที่เรียกว่า SSS   จะสร้างความชื่นชม มิตรไมตรี และพลังสร้างสรรค์    บุคคล/องค์กร ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังเครือข่าย   หรือพลังความสำเร็จของเครือข่าย  หรือพลัง ลปรร. ความสำเร็จของสมาชิกเครือข่าย   ต้องมีจริตในการยกย่องผู้อื่น มากกว่ายกตัวเอง หรือโชว์ผลงานของตนเอง 

 
          นี่คือข้อเรียนรู้ที่ผมไตร่ตรอง กลั่นออกมาจากประสบการณ์กว่า ๒ ปี   บวกกับความคิดที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

          ผมเชื่อในการนำจากข้างหลัง

วิจารณ์ พานิช
๑๑ พ.ค. ๕๒

         

หมายเลขบันทึก: 262455เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์เป็นเพชรน้ำหนึ่งค่ะ...ขอคุณพระคุ้มครอง..ทำงานให้กับสังคมนานๆไม่เหนื่อยยาก..สุขภาพดีค่ะ

สนับสนุน คุณ ยายธี ขอคุณ พระคุ้มครอง ท่านอาจารย์

บทความนี้ ชัดเจนมากค่ะ ขอ ขอบพระคุณ

เมื่อแรกอ่าน เรียนรู้วิธีทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม ที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ได้เขียนจากประสบการณ์ด้าน CSR มากว่า 2 ปี บวกกับความคิดที่สั่งสมมาตลอดชีวิตแล้ว ผมชื่นชมมาก และประทับใจกับแนวคิดที่ว่า "การทำงานใหญ่ เปลี่ยนแปลงใหญ่ ให้แก่ประเทศ จากการเป็นหน่วยงานเล็ก คนเล็ก ต้องทำแบบเป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” (catalyst) ไม่ใช่เน้นเข้าไปทำหน้าที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent)"

มาวันนี้ ผมกลับมาอ่านข้อเขียนของอาจารย์เรื่องนี้อีกครั้ง ผมยิ่งเห็นว่าสิ่งที่อาจารย์เขียนไว้ ลึกซึ้งจริงๆ และอยากจะเห็นสถาบันการศึกษาทั้งหลายที่คาดหวังให้ผู้บริหารแต่ละระดับ เป็น change agent ได้ลองคิดใหม่ ทำใหม่ ให้มาเน้นการเป็น catalyst แทนให้มากขึ้น มีพันธมิตร(ต่างสถาบัน ต่างสังกัด ต่างสถานที่ตั้ง)ในการทำงานเพื่อส่วนรวมมากขึ้น น่าจะช่วยสังคมและประเทศชาติมากขึ้น หากทำได้ สังคมโลกก็คงจะเห็นเอง ดังตัวอย่างของโรงพยาบาลมหราชนครเชียงใหม่ ที่มีโรงพยาบาลท้องถถิ่น ในอำเภอและจังหวัดต่างๆทำงานกันเป็นเครือข่ายมากมาย ที่(ผมเข้าใจว่า)ต่างก็เป็น catalyst มากกว่า change agent จนในที่สุดองค์การสหประชาชาติประกาศให้ได้รับรางวัล 2009 United Nations Public Awards ไปเมื่อเร็วๆนี้ ดังที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสหประชาชาติ: http://unpan1.un.org/intradoc/groups/public/documents/un-dpadm/unpan035149.pdf

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท