คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย : [2] แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย--นิยามของ"คนต่างด้าว"


 

2.1.2        นิยามของคำว่า “คนต่างด้าว” ในกฎหมายไทยว่าด้วยทะเบียนราษฎร

ในลักษณะเดียวกันกับนานาอารยประเทศ คำว่า “คนต่างด้าว” หรือ “Aliens” หมายถึงคนที่ไม่มีสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดน” ซึ่งคำนี้อาจหมายถึง (1) คนที่มีสัญชาติของรัฐต่างประเทศ หรือ (2) คนที่ไร้รัฐเจ้าของสัญชาติ ก็ได้ ซึ่งต่างจาก คนชาติ (National)” หรือ คนที่มีสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติ ในแง่ของความสามารถที่จะบริโภคสิทธิ กล่าวคือ คนชาติย่อมมีสิทธิเด็ดขาด (Absolute Right) ในการบริโภคสิทธิในรัฐเจ้าของสัญชาติ ในขณะที่คนต่างด้าวมีความสามารถที่จะบริโภคสิทธิที่จำกัด (Restrictive Right)[1]

จากการศึกษาค้นคว้าผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์พบว่า คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทยนั้น อาจปรากฏมีทั้งคนต่างด้าวแท้ และคนต่างด้าวเทียม ซึ่งผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์จะขอทำการศึกษาในรายละเอียดต่อไป ดังนี้

2.1.2.1 คนต่างด้าวแท้ในทะเบียนราษฎรไทย

คนต่างด้าวประเภทนี้ย่อมไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ อาจจะเป็นคนไร้สัญชาติแต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย หรืออาจจะเป็นคนมีสัญชาติของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาร้องขอให้รัฐไทยบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย นอกจากนั้น อาจจะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ซึ่งหากเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยถาวรย่อมมีทั้งสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยอย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่คนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยชั่วคราวอาจมีสิทธิเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ได้  และจะต้องตระหนักอย่างยิ่งว่า คนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นอาจเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกกฎหมายสัญชาติของประเทศไทยถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย[2]

จะเห็นว่า โดยข้อเท็จจริงที่ทำการศึกษาค้นคว้า ปรากฎคำว่า “คนต่างด้าว” ในข้อกฎหมายทั้ง 2 ลักษณะ อันได้แก่ (1) กฎหมายสัญชาติ และ(2) กฎหมายคนเข้าเมือง  กล่าวคือ “คนต่างด้าว” อาจถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะ “คนต่างด้าว” หรือ “คนสัญชาติไทย” ก็ได้ ทั้งนี้ โดยมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจในข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎร หรือมาจากการประพฤติทุจริตของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น คนต่างด้าวโดยข้อกฎหมายที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยจึงมีลักษณะเป็น “คนต่างด้าวแท้ในทะเบียนราษฎรไทย”  ในขณะที่คนต่างด้าวโดยข้อกฎหมายที่ถูกบันทึกเป็นคนสัญชาติไทยจึงมีลักษณะเป็น “คนสัญชาติไทยเทียมในทะเบียนราษฎรไทย”  ปรากฎตามแผนภาพ ดังต่อไปนี้

 

แผนภาพที่ 3   นิยามของ “คนต่างด้าว”

เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์จึงขอนำเสนอกรณีศึกษาของเรื่องดังกล่าวในลำดับต่อไป

“คนต่างด้าวแท้ในทะเบียนราษฎรไทย”

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวแท้ที่มีลักษณะการเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร : กรณีนางจุ้ยม่วย

นางจุ้ยม่วยเกิดที่เมืองไซแด มณฑลฮกเกี้ยน ในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2464 และได้เข้ามาประเทศไทยพร้อมครอบครัวเมื่อ พ.ศ. 2468 ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงจะมีสัญชาติจีนโดยข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่านางจุ๋ยม่วยมีสัญชาติจีนโดยการเกิดทั้งโดยหลักดินแดนและหลักบุคคล เพราะ เกิดในประเทศจีนจากพ่อแม่ที่เกิดในประเทศจีน จากปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษที่เกิดในประเทศจีน เมื่อเข้ามาอาศัในประเทศไทย นางจุ้ยม่วยได้ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลที่มีสิทธิอาศัยถาวร ท.ร.14 และมีสถานะเป็นราษฏรไทยที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยชั่วคราว : กรณีนายบุญยืน สุขเสน่ห์ ตามที่ได้กล่าวมาในกล่าวมาตอนต้น

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว : กรณีนางแสง เสาร์คำนวล

นางแสง เป็นคนไร้รัฐที่เกิดในประเทศพม่าต่อมาได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2542 นางแสงและได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.13 ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกกฎหมายสัญชาติของประเทศไทยถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย : กรณีนางสาวนนท์ ปัญญา[3]

นางสาวนนท์ ปัญญา เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 ที่บ้านเมืองสอง ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย จากบิดามารดาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ไทยลื้อซึ่งเกิดที่ประเทศพม่า ไม่เคยได้รับการรับรองสถานะความเป็นราษฎรพม่าโดยสำนักงานทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า และไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศใดเลยบนโลกในขณะที่อพยพหนีภัยเข้ามาทางด่านหินแตก เมื่อ พ.ศ. 2531

ในขณะเกิดนางสาวนนท์ มีสถานะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราช บัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย และไม่ปรากฎว่ามีสัญชาติของรัฐใดเลย

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนสัญชาติไทยเทียม : [4] จากคำพิพากษาฎีกาที่  1442/2542  อัยการฟ้องจำเลยฐานยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ จำเลยมีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่ามีสัญชาติไทย หากศาลเชื่อว่า จำเลยคือ นายยรรยงหรือยาลีจำเลยก็ได้จะได้รับการยอมรับจากฝ่ายปกครองว่า มีสัญชาติไทย และไม่อาจลงโทษจำเลยได้เลย

กรณีนี้จำเลยกล่าวอ้างว่าตนคือนายยรรยง---เป็นชนชาติว้าที่เกิดนอกประเทศไทยใน พ.ศ.๒๔๘๕ ต่อมา เข้าไปเป็นทหารจีนคณะชาติ และได้เข้ามาอาศัยอยู่ในกองพล ๖๓ เขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในระหว่างปี พ.ศ.2513 ถึง2517 นายยรรยงได้ช่วยกองทัพไทยสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จนต่อมาได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติไทยในวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๖ โดยผลของมาตรา ๑๑ () และ ๑๒ แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติไทย พ.ศ.๒๕๐๘ ตามลำดับ โดยผลของมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ นายยรรยงจึงมีสถานะเป็นไทยตั้งแต่วันที่ดังกล่าว เขาจึงมีสิทธิที่จะมีบัตรประจำตัวประชาชนตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖

อย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยไม่อาจนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่าจำเลยกับนายยรรยงเป็นบุคคลเดียวกัน จำเลยจึงไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย ไม่มีสิทธิถือบัตรประจำตัวประชาชน

จากกรณีตามคำพิพากษาจะเห็นการปรากฎตัวของคนสัญชาติไทยเทียมในทะเบียนราษฎร ประเภททะเบียนบ้าน ท.ร.14

1.1.2.2            คนต่างด้าวเทียมในทะเบียนราษฎรไทย

คนต่างด้าวประเภทนี้ คือ บุคคลที่มีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบการได้สัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ[5] แต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรว่าเป็นคนต่างด้าว โดยอาจได้รับการบันทึกในสถานะคนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยถาวร หรือชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้หากไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย โดยข้อสันนิษฐานของกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง[6]ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

และจากการศึกษาค้นคว้าปรากฏว่ามีคนต่างด้าวเทียมในหลายทะเบียนราษฎรของไทย อาทิ

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร(ท.ร.14) :กรณีนางสาวบูยา เซกองอากู่ แห่งบ้านป่าคาสุขใจ 

บูยาเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของ ปว.337 ปัจจุบันบูยายังคงมีชื่ออยู่ในท.ร. 14 แม้ว่า แต่นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา บูยาจะเป็นบุคคลที่มีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่4) พ.ศ. 2551 แต่ตราบใดที่บูยายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติจริง บูยาย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเทียมในทะเบียนราษฎรไทย

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวคนต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว(ท.ร.13) : กรณีนางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล แห่งศูนย์ลูกหญิง[7]

ศรีนวลเกิดเมื่อ พ.ศ. 2534 จากพ่อแม่ที่เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งอพยพมาจากพม่า ศรีนวลก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เกิดในประเทศไทยแต่แต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของ ปว.337 เช่นเดียวกับบูยา ต่างกันตรงที่ปัจจุบันนี้ศรีนวลยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ท.ร. 13 และยังไม่ได้ทำหนังสือรับรองการเกิดซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดระหว่างศรีนวลกับประเทศไทย ดังนั้นในระหว่างที่ยังไม่ได้ลงรายการสัญชาติไทย ศรีนวลจึงเป็นคนต่างด้าวเทียมในทะเบียนราษฎร

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวคนต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว (ท.ร.38/1) : นางสาวธนิษฐา จองคำ

ธนิษฐา เกิดในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ.2538 เป็นหลานของปู่ที่มีสัญชาติไทย แม้ว่าบิดาของเธอจะเกิดในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2545 ธนิษฐาและครอบครัวเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวเมื่อปี 2547 นับตั้งแต่นั้นมาเธอจึงมีชื่ออยู่ใน ท.ร.38/1 ทั้งที่จริงแล้วธนิษฐาควรได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 14 ของปู่ เพราะธนิษฐาย่อมมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยสืบสายโลหิตจากบิดา ซึ่งสืบสายโลหิตผู้มีสัญชาติไทยจากปู่

กรณีศึกษา ว่าด้วยคนต่างด้าวคนต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38ก) : นางสาวสมพร(นามสมมุติ)

นางสาวสมพรเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2515 จากบิดามารดาสัญชาติไทย  แต่เนื่องจากบ้านห่างไกลอำเภอทำให้บิดามารดาไม่ได้แจ้งเกิด นางสาวสมพรเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานใดๆเลยจนกระทั่งได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัตบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราวปี พ.ศ. 2549 ในทำนองเดียวกัน กับธนิษฐา จะเห็นได้ว่าโดยข้อกฎหมายแล้วนางสาวสมพรมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักบุคคลโดยสืบสาโลหิตจาบุพการี ดังนั้น ตราบใดที่นางสาวสมพรยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์จนได้ลงรายการสัญชาติไทย นางสาวสมพรก็ยังคงเป็นคนต่างด้าวเทียมใน ท.ร. 38

 



[1] โดยทั่วไป ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนชาติและคนต่างด้าวในสายตาของรัฐย่อมปรากฏใน ๖ เรื่อง กล่าวคือ (๑) สิทธิในการเข้าเมือง (๒) สิทธิในการอาศัยอยู่ (๓) สิทธิในการประกอบธุรกิจ (๔) สิทธิในการทำงาน (๕) สิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ และ (๖) สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง จะเห็นว่า คนต่างด้าวจะมีสิทธิดังกล่าวมาในลักษณะที่จำกัด (restrictive) ในขณะที่คนชาติย่อมมีสิทธิดังกล่าวมาในลักษณะที่เด็ดขาด (absolute) และสมบูรณ์ (total)

[2] มาตรา 7ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2535 บัญญัติว่า

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 7ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่4) พ.ศ.2551 บัญญัติว่า

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใดภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่าที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[3] โปรดดูภาคผนวก..

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร.หมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกาที่  1442/2542  (

หมายเลขบันทึก: 261972เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท