ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 8


ในภาคเรียนหนึ่งสอดแทรกความรู้ด้วยการนำเอาตัวอย่างที่ดี ๆ นำเสนอภาพผ่านสื่อวีซีดี ดีวีดีการแสดงท้องถิ่นสั้น ๆ ให้นักเรียนได้ชม

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 8)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

          ในวันนี้ จะมีคนรุ่นพ่อรุ่นแม่สักกี่ครอบครัวในท้องถิ่น ที่มีความคิดคล้ายคลึงกับคนในยุคก่อน มีความรักหวงแหนบ้านเกิด แสดงความเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในการรักษาไว้ซึ่งขนบประเพณีที่ดีงาม เพื่อเป็นการตอบแทนคนรุ่นเก่าที่เขาต้องจากเราไป แต่ท่านเหล่านั้นได้ทิ้งมรดกล้ำค่าที่ใคร ๆ ก็อยากรับรู้ อยากเห็น อยากให้มี อยากให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง แต่จะหาดูได้ที่ไหนเล่า ในเมื่อไม่มีผู้สืบทอดอย่างแท้จริงหลงเหลืออยู่เลย

          ผมยอมรับว่า มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ยังให้ความสนใจ เพียงแต่ว่า ความสนใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้น เต็มไปด้วยความเหนี่ยวแน่น หรือเพียงแค่ได้ทำงานนี้สักครั้งแล้วก็เลิกราไป ตรงจุดนี้เป็นความน่าเป็นห่วงมาก หลายความคิด มีความเชื่อว่า ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่มิได้ทอดทิ้ง ท่านก็ให้ความสนใจ ผมไม่แน่ใจว่าความสนใจนั้นสนใจห่าง ๆ หรือใกล้ชิด หรือลงไปคลุกคลี หรือลงมือกระทำโดยไม่มีวันเลิกรา

          ผมมองย้อนกลับไปในวันที่ผมอายุ 7-13 ปี เป็นช่วงเวลาที่ผมจำอดีตที่ผ่านมาได้หลายช่วงหลายตอน โดยเฉพาะวันที่คุณตาหร่าย ไม่รู้โรย (ผมเรียกพ่อคุณหร่าย ไม่รู้โรย) เสียชีวิตผมอายุ 10 ปี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่บ้านตั้งศพสวดพระอภิธรรม 3 คืน แล้วจึงนำไปที่วัด ทุกคืนเมื่อพระสวดจบ ประมาณ 22.00 นาฬิกา หรืออาจจะดึกกว่านี้ จะมีคนรุ่นอายุ 45-50 ปี อย่างน้อยก็ 4 คน แต่ผมจำได้ว่ามากกว่า มานั่งล้อมวงที่ตู้พระธรรม แล้วเขาก็ร้องสวดแบบพระ แต่ว่าทำนองกระแทก รุกเร้า มีการหยอดเสียงเศร้า ๆ และสวดกันจนเที่ยงคืน เรียกว่า การสวดพระมาลัย เป็นประเพณีการร้องสวดหน้าศพ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันเป็นเวลานาน เขาสวดกันเป็นชั่วโมงหรือนานกว่าเสียด้วยซ้ำ (แต่ดูเหมือนว่าจะมีบางท่านดื่ม..ด้วย) การสวดผีในอดีต เป็นการอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพ เพื่อคลายความโศกเศร้า และสอดแทรกความรู้ทางธรรม เรื่องของการเกิดแก่เจ็บตายเข้าไปในบทสวดนั้นด้วย ซึ่งผู้สวดจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงมีการฝึกกันมาเป็นเวลานานกว่าที่จะทำได้ เพราะนอกจากบทสวดแล้ว ยังมีบทร้องทำนองเสนาะที่ไพเราะน่าฟัง และดูเหมือนว่าจะมีเพลงไทยเดิมอยู่ด้วย ในคืนสุดท้ายมีวงดนตรีปี่พาทย์ร่วมบรรเลงด้วย มาถึงวันนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีหรือมีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดเอาไว้ก็น้อยเต็มที เพราะในชนบทวันนี้ ไม่ค่อยที่จะได้ยินเสียงสวดพระมาลัยให้ความสงบใจ คลายความโศกเศร้าเสียแล้ว

         

          อีกเรื่องหนึ่งคือ การแสดงรำวงในยุคเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ผมยังเด็ก ๆ อีกเช่นเดียวกัน เมื่อถึงเทศกาลทอดกฐินและทอดผ้าป่า พอตกตอนกลางคืนมักจะมีรำวงที่กลางลานวัด พ่อเคยเล่าให้ผมฟังว่ารำวงมีมาตั้งแต่รุ่นพ่อยังหนุ่ม ๆ เพราะพ่อเคยเป็นนักร้องเชียร์รำวง ยุคนั้นเขารำวงกันที่บ้าน เลือกวันพระเป็นวันที่หนุ่มสาวจะได้มาเจอกัน ที่กลางวงเขานำเอาครกตำข้าวมาตั้งไว้ ที่บนครกวางตะเกียงลาน บางบ้านก็จุดตะเกียงเจ้าพายุวางไว้ให้แสงสว่าง พอได้เวลาหนุ่มก็โห่ร้องรับเป็นการส่งสัญญาณให้สาวได้ทราบและมาพบกัน ได้ร่ายรำในจังหวะรำวงกันอย่างสนุกสนาน ต่อมารำวงพัฒนาเป็นการละเล่นที่มีระเบียบมากขึ้น มีกองเชียร์ มีเครื่องดนตรีประเภทจังหวะ มีนักร้องเชียร์ให้คนมารำวง มีนางรำ เริ่มที่นางรำสมัครเล่นจนถึงนางรำอาชีพ แต่งตัวสวยงามตามแบบวัยรุ่น เพลงเชียร์ร้องตามสมัยนิยม จังหวะที่บรรเลงและท่ารำมีหลากหลาย ประมาณปี พ.ศ. 2520 รำวงหายไปจากงานวัด แต่กลับมาอีกครั้งในวันนี้ด้วยชื่อการแสดงที่เรียกว่า รำวงย้อนยุค น่าชื่นใจที่วัฒนธรรมเก่าแก่อย่างรำวง ที่กลับมาให้เยาชนได้เห็นและได้ร่วมกิจกรรมอย่างในอดีต

          มียุคหนึ่งเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ศิลปะการแสดงลิเก (นาฏดนตรี) เริ่มซบเซา เมื่อพงศ์ศักดิ์ สวนศรี และสมศักดิ์ ภักดี ลิเกดังเริ่มได้รับความนิยมลดลง ลิเกขาดนักแสดงที่มีความโดดเด่น มีเสน่ห์ชวนให้หลง ลิเกยังมีให้เห็นแต่ค่อนข้างที่จะเงียบเหงา จนมาถึงยุคของลิเกเด็กวัดสระแก้ว ที่มีพระเอกหลายร้อยล้านอย่างไชยา มิตรชัย และตามมาติด ๆ กัน มีพระเอกร้อยล้านอย่างกุ้ง สุทธิราช วงษ์เทวัณ เข้ามาปลุกกระแสลิเกจนดังกระฉ่อน ยิ่งในวันนี้วงการลิเกได้ 2 นักแสดงคนเก่ง น้องศรราม-น้ำเพชร เข้ามารับช่วงทำให้วงการลิเกตื่นตัวมีชีวิตชีวามากที่สุด (อย่างนี้ถือว่า มีทายาทมารับช่วงต่อไม่ให้ขาดหายไป)

         

          ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านคงไม่โด่งดังเทียบได้กับการแสดงนาฏดนตรี (ลิเก) เพียงแต่ผมมองเส้นทางของวัฒนธรรมที่มีตัวตายตัวแทน มีทายาทเข้ามารับหน้าที่แทนคนรุ่นพ่อแม่ ครู อาจารย์ที่หมดยุคสมัยหรือจากไป จริงอยู่ในวันนี้ เพลงพื้นบ้านของทุกภาคยังมีให้เห็นในงานสำคัญ ๆ ในกิจกรรมสำคัญ ๆ ซึ่งหาดูได้ไม่มากอย่างสมัยก่อน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคลื่นของวัฒนธรรมนำเข้าจากต่างแดน มีอิทธิพลมาบดบังจนบางครั้งแทบจะมองไม่เห็นสิ่งที่ดีงามของเรา

          ผมมีโอกาสได้เดินทางไปดินแดนทางภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2545 คณะที่จัดการสัมมนาได้พาผมไปชมการแสดงหนังตลุง ของครูสุชาติ ทรัพย์สิน ที่นั่นเป็นที่รวมเรื่องราวของหนังตะลุงที่สมบูรณ์มาก จัดแสดงเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว มีการผลิตตัวหนัง มีการจำหน่ายเป็นของที่ระลึก มีการแสดงเชิดหนังตะลุงโดยเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้ชมแล้วสนุกมาก ตลก ขบขัน มีคติ ได้รับความรู้ด้วย นี่แหละ คือของจริง ไปเมื่อไรก็ได้เห็นทันที

          จึงมองในภาพรวมเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจริง ๆ ศิลปะการแสดงเหล่านั้น ในวันนี้มีทายาทสืบทอดอย่างเต็มเปี่ยม อย่างสมบูรณ์ ไม่ต่างจากการสืบสายเลือดแล้วหรือยัง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หน่วยงานใด หรือองค์กรใด ตั้งอยู่ที่ไหน หรือมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ถูกทอดทิ้ง ถูกปล่อยปละละเลยจนอ่อนล้าหมดกำลังไปเอง

 

         แนวทางหนึ่งที่ผมทำให้นักเรียนที่ผมสอนได้รับความรู้ โดยหาเวลาเพียงเล็กน้อยในภาคเรียนหนึ่งสอดแทรกความรู้ด้วยการนำเอาตัวอย่างที่ดี ๆ อย่างการผลิตร่มที่บ่อสร้าง เชียงใหม่ การเล่นเพลงพื้นบ้านของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ทำมานานเกือบ 20 ปี การเชิดหนังตลุงของครูสุชาติ ทรัพย์สินที่นครศรีธรรมราช การทอผ้าไหมที่ร้อยเอ็ด การแสดงลิเกที่อ่างทอง ฯลฯ รวมทั้งนำเสนอภาพผ่านสื่อวีซีดี ดีวีดีการแสดงท้องถิ่นสั้น ๆ ครั้งละ 1-3 นาที ให้นักเรียนได้ชม  และชี้ให้เห็นความมีเสน่ห์ของศิลปะในแต่ละอย่าง ผมหวังว่าเด็ก ๆ ของผมจะได้เกิดความคิด ได้ตระหนักและเกิดความรู้สึกตัว (เกิดจิตสำนึก) ขึ้นมาบ้าง ถึงแม้ว่าจะมีเพิ่มขึ้นมาจากเดิมเพียง 1 คน ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเสียเลย

 

ท่านคิดว่า ยังมีวิธีการใด ๆ บ้าง นอกจากการกระตุ้นด้วยวิธีสอดแทรกความรู้ให้เกิดความรู้สึกตัว (จิตสำนึก) ในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นเอาไว้ให้จงได้

 

(ติดตามตอนที่ 9 แนวทางที่จะทำให้เยาวชนไทยหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 261655เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท