หมอบ้านนอกไปนอก(91): เล่าสู่กันฟัง


แม้จะเพิ่งผ่านการล่มสลายจากการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีมานานถึง 50 ปี ส่งผลให้การพัฒนาและเจริญเติบโตของประเทศชะงักงัน ผู้คนอดอยากยากจน แต่เมื่อเปิดประเทศสู่โลกเสรีได้ไม่นาน การพัฒนาก็เริ่มเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และสินทรัพย์ทางโบราณวัตถุโบราณสถานอย่างอนุรักษ์และรู้คุณค่า

              ผมได้มาเรียนที่เบลเยียมเพราะความช่วยเหลือของพี่ยงยุทธ์ พงษ์สุภาพที่ได้โทรศัพท์แจ้งเตือนผมให้รีบส่งใบสมัคร ซึ่งตอนนั้นผมเองก็สองจิตสองใจจะสมัครหรือไม่สมัครดี พอมีคนกระตุ้นเลยตัดสินใจได้ง่าย พี่ยงยุทธ์ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ทางไอทีเอ็ม (ITM) มาก เพิ่งจบปริญญาเอกจากบรัสเซลส์และทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเวชศาสตร์ครอบครัวในเมืองไทยและได้รับเชิญให้เป็นคณะลูกขุนในการสอบวิทยานิพนธ์ของสถาบันด้วย อีกคนคือพี่พงษ์พิสุทธ์ จงอุดมสุข ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ พี่พงษ์ก็ได้รับการยอมรับจากสถาบันมากเช่นกัน ตอนที่ไปงานเลี้ยงรับรองจากชาวบ้านในหมู่บ้านของอาจารย์บาร์ท ครีเอล อาจารย์วิมชี้รูปพี่พงษ์ให้ผมดูแล้วบอกว่าคนนี้เก่งมาก พี่ทั้งสองคนนี้เป็นศิษย์เก่าที่ช่วยเขียนใบแนะนำ (Recommendation) ให้ผมและน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้สถาบันรับผมเข้าเรียน ส่วนอีกปัจจัยน่าจะมาจากผลงานและประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ของผมและการได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น

              ผมได้ทราบเกี่ยวกับรุ่นพี่ๆที่ได้รับทุนไปเรียนที่ไอทีเอ็ม (ITM: Institute of Tropical Medicine, Antwerp, Belgium) หลายคนด้วยกัน คนที่ได้รับการยอมรับมากอีกคนหนึ่งคือนพ.สงวน นิยารัมย์พงศ์ ที่กลับมาวางรากฐานระบบประกันสุขภาพในเมืองไทย ส่วนศิษย์ร่วมสำนักคนอื่นๆ เช่น นพ.อำพล จินดาวัฒนะ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นพ.อุกฤษ มิลินทางกูร นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ นพ.นภดล สุชาติ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นพ.คำรณ ไชยศิริ ส่วนรุ่นหลังๆมาก็ เช่นนพ.ปวิตร วณิชชานนท์ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นพ.สมชาย (รพ.ราษีไศล) เป็นต้น โดยรุ่นหนึ่งจะมีคนไทยได้รับทุนประมาณ 3-5 คน (ปีเว้นปี) และเริ่มลดลงเรื่อยๆจนมาถึงปีที่ผมเรียนได้ทุนแค่ 2 คน คือผมกับพี่ตู่ โดยทุนที่เคยได้รับลดลงเพราะเขาถือว่าเมืองไทยไม่เป็นประเทศยากจนแล้ว เขานำทุนไปให้ประเทศอื่นๆในเอเชีย อาฟริกาและอเมริกาใต้แทน

              ผมคิดถึงการเดินทางของพรุ่งนี้ ผมกับครอบครัวจะเข้าไปสู่ฮังการี 1 ใน 15 จุดหมายปลายทางยอดนิยมที่สุดในโลกของนักท่องเที่ยว แม้เป็นประเทศเล็กแต่ก็มีมรดกโลกอยู่หลายอย่างทั้งธรรมชาติและสิ่งก่อสร้าง ดินแดนยุโรปกลางที่เคยปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น หลังจากเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ค่อยๆดีขึ้น แม้โดยรวมจะยังอยู่ในสภาพยากจนก็ตามแต่ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป สาธารณรัฐฮังการี (Republic of Hungary) หรือเรียกกันในชาวท้องถิ่นว่าประเทศของชาวแมกยาร์ (Country of the Magyars) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล แถบที่ราบภูเขาคาร์ปาเทียน มีอาณาเขตติดต่อ 7 ประเทศคือออสเตรีย สโลวาเกีย ยูเครน โรมาเนีย เซอร์เปีย โครเอเชียและสโลวีเนีย ใช้ภาษาฮังการีเป็นภาษาราชการ เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศคือนครบูดาเปสต์ สกุลเงินที่ใช้คือฟอรินท์ (Forint) ชื่อย่อเป็นHUF ประชากรทั้งประเทศราว 10 ล้านคน

             วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2551 เรารีบตื่นตีห้าครึ่ง แล้วเก็บกระเป๋าออกจากโรงแรมเจ็ดโมงเช้า ทำให้ทานอาหารเช้าที่โรงแรมไม่ทัน จึงแจ้งทางโรงแรมตั้งแต่เมื่อวานเย็นให้ช่วยจัดอาหารเช้าใส่ห่อไว้ให้ พนักงานเวรบ่ายรับปากไว้แล้ว แต่กลับลืมส่งต่อพนักงานเวรดึกเลยไม่ได้แจ้งแม่ครัวทำไว้ให้ ผมเข้าไปต่อว่าเขานิดหน่อยเรื่องไม่มีมาตรฐาน เขาก็ดีรีบขอโทษแล้วไปแจ้งแม่ครัวรีบทำให้ ทำให้เรามีอาหารเช้าติดไปด้วย เดินลากกระเป๋าออกจากโรงแรมมาขึ้นนั่งแทรมที่ใกล้ๆเพื่อกลับไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟWestbahnhof ไปเจอพี่ตู่กับพี่ปุ๊ที่สถานีรถไฟ เรานั่งรถไฟสายEC41 ชานชาลาที่ 7 เวลา 7:52 น. รถไฟมุ่งหน้าไปยังฮังการีผ่านทางเมือง Hegyeshalan และเมือง Gyor รถไฟพาเราผ่านไปยังพื้นที่ชนบทที่เต็มไปเด้วยต้นไม้เขียวชะอุ่ม ทุ่งหญ้าเขียวขจี สลับกับทุ่งข้าวโพดและข้าวบาร์เล่ย์สีเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง

              ภูมิประเทศของฮังการีแบ่งออกเป็น 3 ส่วนโดยแม่น้ำสำคัญสองสายคือดาร์นูบ (Danube) กับทิสซา (Tisza) คือส่วนที่ราบต่ำทางตะวันออกและตอนกลาง ส่วนที่ราบขนาดเล็กทางตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเทือกเขาสุงสุดของประเทศ ชื่อว่า Kékes tető (สูง 1,015 เมตร) และส่วนเนินเขาสลับกับที่ราบสูงๆต่ำๆทางตะวันตกเฉียงใต้ ที่มีแม่น้ำดราวากั้นพรมแดนกับโครเอเชีย มีทะเลสาบหลายแห่งแต่ที่ใหญ่และมีชื่อที่สุดคือทะเลสาบบาลาดอน (Balaton) พื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 70 % ทำการเกษตร ส่วนที่เหลือเป็นป่าทึบ

              การปกครองประเทศแบ่งออกเป็น 19 มณฑล (County) และอีก 1เมืองหลวงที่เป็นเขตอิสระ รวมเป็น 20 หน่วยการปกครองระดับตติยภูมิ แต่ละมณฑลแบ่งย่อยเป็น 173 เขตย่อย (sub-region) มีการจัดรวมมณฑลและแบ่งออกเป็น 7 เขต (region) ด้วยเป้าหมายด้านการพัฒนาและสถิติถือเป็นหน่วยการปกครองระดับทุติยภูมิ และยังมี 23 เมือง (town) ที่มีการปกครองส่วนท้องถิ่นคล้ายมณฑลเป็นคล้ายๆมณฑลเมือง (Urban counties) ประธานาธิบดีเป็นประมุขทางพิธีการถูกเลือกโดยรัฐสภาทุก 5 ปี นายกรัฐมนตรีถูกเลือกโดยรัฐสภาและออกโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ นายกฯเลือกและปลดคณะรัฐมนตรีเอง รัฐสภามีสมาชิก 386 คน เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐและอนุมัติกฎหมายที่เสนอโดยนายกฯ สมาชิกสภาเลือกตั้งทุก 4 ปี มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 11 คน ทำหน้าที่ยับยั้งและตัดสินกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ

               ผมเพลิดเพลินกับการมองทิวทัศน์สองข้างทางสลับไปกับการมองดูลูกๆทั้งสามคนที่นั่งหลับอยู่ที่นั่งข้างๆและตรงกันข้าม ขลุ่ยนั่งกับแม่ ส่วนขิมกับแคนนั่งกับผม พอเด็กๆตื่นขึ้นมาก็เริ่มเบื่อ ก็คว้าเอากระดาษและปากกามาขีดเขียนวาดรูปกันไป คุยกันไป เถียงกันเสียงดังบ้าง จนพ่อแม่ต้องดุให้เงียบเสียงเพราะเกรงใจผู้โดยสารคนอื่นๆ แม้เขาจะฟังภาษาไทยที่เราคุยกันไม่ออกก็ตาม บางทีขลุ่ยก็ทำทะเล้นลุกขึ้นร้องและเต้นเพลงฮิปฮอป “ฮิปฮอป มันไม่มีอะไร ไม่มีอะไร มันก็เย้วเย้วเย้ว” แล้วพวกเราก็หัวเราะกัน น้องขลุ่ยกล้าแสดงออกมากขึ้น พี่แคนก็เริ่มโตเป็นหนุ่ม ยิ่งไว้ผมยาวก็ยิ่งดูเป็นหนุ่มมากขึ้น ตั้งแต่เล็กจนเริ่มโตเวลาผมไปไหนกับแคน ถ้าเจอคนรู้จักเขามักจะบอกว่า “สำเนาถูกต้อง” กันแทบทุกคน

               เราใช้เวลาเดินทางบนรถไฟถึงสามชั่วโมง (เวลา10:53 น) ก็ถึงนครบูดาเปสท์ เมืองหลวงของฮังการี เราทั้งเจ็ดคนลงที่สถานี Budapest Keletipu (Easternหรือสถานีบูดาเปสท์ตะวันออก) จากรถไฟไปขึ้นเมโทรสายสอง ที่ Keleti palydudvar ไปลงที่สถานีDeakter แล้วต่อสายสามสีฟ้าไปลงที่สถานีKalvinter (ดูเส้นทางได้ที่ http://metros.hu/terkep/nagyterkep.html ) เดินลากกระเป๋าไปที่พักไปที่Downtown Guesthouse เป็นห้องพักรวมสี่เตียงราคา 10 ยูโรต่อเตียงนอน 5 คน โรงแรมเป็นอาคารเก่าๆ ไม่มีลิฟต์ ต้องยกกระเป๋าขึ้นบันไดสามชั้น พนักงานของโรงแรมมีคนเดียวพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ กว่าจะสื่อสานกันรู้เรื่องก็เหนื่อย ค่าโรงแรมก็ต้องจ่ายเป็นเงินสดในสกุลฟอรินท์ ใช้เงินยูโรไม่ได้ ส่วนพี่ตู่แยกไปพักอีกที่หนึ่งใกล้ๆกันและเป็นโรงแรมเดียวกันแต่คนละอาคาร ทราบทีหลังว่าถ้าลงรถไฟที่สถานีBudapest Nyugati (Westernหรือสถานีบูดาเปสท์ตะวันตก) จะใกล้โรงแรมมากกว่า โรงแรมที่พักค่อนข้างเก่า มีหลายห้องในบริเวณเดียวกัน ใช้ห้องน้ำและห้องอาบน้ำรวม มีส่วนให้ทำครัวและปรุงอาหารได้ มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตให้ใช้ฟรี มีห้องรวมให้นั่งพักผ่อนดูทีวีได้

               กรุงบูดาเปสท์ (Budapest) เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของฮังการี อันดับ 6 ของสหภาพยุโรป เป็นศูนย์กลางการปกครอง อุตสาหกรรม การค้าและการคมนาคมขนส่งของประเทศ อาณาเขตครอบคลุมสองฝั่งน้ำ เป็นเมืองมรดกโลกรวมทั้งสองฟากฝั่งดานูบ ปราสาทบูดาและย่านถนนแอนเดรสซี มีประชากร 1.7 ล้านคน เดิมเป็น 2 เมืองคือเมืองบูดาทางฝั่งขวา (ฝั่งตะวันตก) และเมืองเปสต์ทางฝั่งช้าย (ฝั่งตะวันออก) รวมเป็นเมืองเดียวกันเมื่อ ค.ศ. 1873 กรุงบูดาเปสต์แบ่งการบริหารออกเป็น 23 อำเภอ (numbered district) เขียนชื่อเป็นตัวเลขโรมัน แบ่งอย่างง่ายๆเป็น 3 ส่วนคือส่วนเมืองบูดาเป็นเนินเขาฝั่งตะวันตกแม่น้ำดานูบมีอำเภอที่ 1-3, 11-12และ 22 (I-III, XI-XII, XXII) ส่วนเนินเขาปราสาท (Castle Hill) อำเภอประวัติศาสตร์ (1) ของบูดาและส่วนเมืองเปสต์ ที่ราบฝั่งตะวันออกเป็นศูนย์กลางการบริหารและย่านการค้าสมัยใหม่ในเขตอำเภอ 4-9 (IV-IX) ที่พักเราอยู่ใกล้ฝั่งน้ำด้านเมืองเปสต์ เดินไม่ไกลก็ถึงสะพานข้ามฝั่งน้ำ

             เรานัดกับพี่ตู่บ่ายโมงกินอาหารกลางวันแล้วเดินออกไปเที่ยวในเมืองไปชมทิวทัศน์สองฝั่งน้ำบนสะพานอลิซาเบท (Szabadsabid) ด้านหนึ่งเป็นเนินเขาสูงGellert Hill อีกด้านมีตึกรามโอฬารตามสมัย แล้ววกกลับมานั่งแทรมสายสองเลาะริมฝั่งน้ำดานูบ ลงแทรมท่ามกลางฟ้าใสแสงแดดจ้า เดินชมตลาดขายของที่ระลึกเรียงรายสองข้างถนนที่ขนาบด้วยอาคารเก่าทรงสูง ชมอาคารรัฐสภาขนาดใหญ่สไตล์นีโอโกธิค งามสง่าตั้งตระหง่านริมฝั่งน้ำ หลังคากลางรูปโดมคล้ายพระที่นั่งอนันตสมาคม แวะถ่ายรูปชื่นชมความงามบนลานกว้างด้านหน้าที่ปูไว้ด้วยหินเล็กทรงสี่เหลี่ยม หลบร้อนไปถ่ายรูปมุมกว้างของอาคารที่ถนนฝั่งตรงข้ามพร้อมกับนั่งพักหลบแดดร้อน รับลมเย็นให้ชื่นใจแล้วเดินผ่านพิพิธภัณฑ์ ลงไปเดินริมน้ำชมทิวทัศน์สองฝั่ง น้ำลึกใสสีออกคราม กระเพื่อมน้อยๆตามกระแสลมและลูกคลื่นเมื่อเรือแล่นผ่าน

             นั่งเมโทรสายสองสีแดงจากสถานีKossuthterไปขึ้นสายหนึ่งสีเหลืองที่สถานีDeakter ไปที่City park เป็นส่วนที่น่ารื่นรมยืที่สุดของฝั่งเปสต์ ผ่านอาคารFine art museum ที่จัดแสดงงานศิลปะตั้งแต่สมัยกรีกโรมันจนถึงสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะภาพวาดสไตล์บาร็อคของสเปน เราไม่ได้เข้าไปชมเพราะปิดทำการแล้ว ผ่าน Heroes square ที่ตรงกลางเป็นเสาสูงส่วนบนสุดเป็นรูปคนมีปีก ด้านข้างเป็นแนวเสาทั้งสองด้าน ทำคล้ายเป็นปีกของเสากลาง ด้านหน้าเป็นลานกว้าง เราเดินกันได้สักพัก อากาศร้อนมาก จนเมื่อยล้า เด็กๆเริ่มเหนื่อยและไม่ค่อยสนุกแล้ว พี่ตู่กับพี่ปุ๊ยังคงเพลิดเพลินกับการเดินชมเมือง เราจึงแยกกลับที่พักก่อน ลงจากเมโทรแล้วแวะซื้ออาหารที่ร้านใกล้ๆโรงแรม กลับถึงโรงแรม เด็กๆนอนพักหลับกันอย่างเหนื่อยอ่อน ผมไปติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต เอ้เตรียมอาหารเย็น

              กินอาหารเย็นแล้ว แดดร่มลมเย็น ออกจากโรงแรมเดินข้ามฝั่งน้ำตรงสะพานเดิม ข้ามไปฝั่งเมืองบูดา เดินเลาะริมถนนที่รถราและรถรางวิ่งไม่มากนัก ด้านขวาชิดริมฝั่งน้ำ ด้านซ้ายมองเห็นทิวทัศน์บนยอดเขา เดินชมทิวทัศน์สองฝั่งน้ำยามเย็น ลมพัดสบาย ไร้แสงแดดจ้าแต่ฟ้ายังไม่มืด สบายและผ่อนคลายกว่าตอนกลางวันมาก ผ่านริมภูเขาที่มีรูปปั้นอยู่บนยอดBuda’s Gellert Hill มองเห็น Citadella และ St. Gallert เดินตามถนนที่ออกห่างฝั่งน้ำไปชิดกำแพงปราสาทเดินจนถึงสถานีรถรางเพื่อขึ้นชมปราสาทหรือพระราราชวังบูดา (Buda palace)

               ซื้อตั๋วนั่งรถรางขึ้นไปชมวังบนเขา บรรยากาสยามเย็นสวยงามมาก Royal palace เป็นจุดดึงดูดใจมากที่สุดของปราสาท เข้าไปชมด้านในไม่ได้แล้ว จึงถ่ายรูปและชมความงามของวังเฉพาะภายนอก เดินชมอาคารอื่นๆที่ทราบว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ มองลงมาด้านหน้าเบื้องล่างเห็นแม่น้ำที่ทอดยาวคดโค้งไปตามแนวเขาพร้อมกับตัวเมืองตึกสูงใหญ่ ด้านหลังเป็นเมืองที่มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น มองเห็นเกาะกลางน้ำ (Margaret Island) ไกลๆ แบ็ตกล้องจะหมด เริ่มมืด มองลงไปตามแนวแม่น้ำมองเห็นสะพานและแนวถนนที่ประดับด้วยไฟแสงสีส้มสว่าง พร้อมกับผู้คนที่เดินกันขวักไขว่

               นั่งรถรางลงมาด้านล่างริมฝั่งน้ำบริเวณสะพาน (Chain bridge) เดินข้ามลำน้ำไปตามสะพานที่ประดับไฟอย่างตระการตา พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินไปมา ร้านขายของกิน ของใช้ของเล่นเต็มสองข้างสะพาน คล้ายๆตลาดถนนคนเดินบ้านเรา หันหลังกลับไปมองพระราชวังบนภูเขาที่เพิ่งลงมาประดับไฟโดดเด่นงดงามมาก เหมือนนครบนสวรรค์ในเทพนิยาย เดินชมสินค้าบนสะพาน มีอาหารขายเป็นระยะๆ ถึงอีกฝั่งหนึ่งมีการแสดงดนตรีร้องเพลง มีผู้ชมเข้าไปชมกันมาก คนฟังร้องเพลงคลอตามไปด้วยอย่างมีความสุข แวะซื้อบาร์บีคิวตรงหัวสะพานแล้วนั่งแทรมสายสอง กลับที่พัก อาบน้ำ เขียนบันทึกแล้วเข้านอน เก็บแรงไว้ลุยต่อวันพรุ่งนี้ โดยตกลงกันว่าแยกกันเที่ยวกับพี่ตู่แล้วตอนเย็นค่อยไปเจอกันที่โรงแรมที่พักอีกประเทศหนึ่ง บูดาเปสต์เป็นอีกเมืองหนึ่งที่บรรยากาศโรแมนติกมากโดยเฉพาะทิวทัศน์สองฝั่งน้ำ

พิเชฐ บัญญัติ(Phichet Banyati)

บ้านพักโรงพยาบาลบ้านตาก อ.บ้านตาก จ.ตาก

เขียนจากบันทึกประจำวันของวันที่ 28 มิถุนายน 2551 เวลา 22.35 น. (บูดาเปสต์)

17 พฤษภาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 261654เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท