Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยโดย “ใบเกิด” : ตอนที่ ๓ - อย่าลังเลที่จะแก้ปัญหาคนเกิดแล้วในไทยแต่ไร้ใบเกิด


การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยโดย “ใบเกิด” โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บันทึกเพื่อให้ข้อมูลแก่โครงการพัฒนาแผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ โดยทุนสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒

---------------------

ความเป็นไปได้ประการแรกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติโดยการให้ “ใบเกิด” : กรณีคนข้ามชาติที่เกิดไปแล้วในโรงพยาบาลไทย แต่ไม่ได้รับการออกหนังสือรับรองการเกิดหรือสูติบัตร

---------------------

ข้อมูลจากงานวิจัยเชิงบุคคลศึกษาในหลายพื้นที่ชี้ว่า แรงงานข้ามชาติและคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลจำนวนไม่น้อยที่เกิดในโรงพยาบาลไทย แต่ไม่ได้รับการออกหนังสือรับรองการเกิด ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่เกิดก่อนการ พ.ศ.๒๕๓๔ ทั้งนี้ เพราะในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น มีแนวคิดในบุคคลากรโรงพยาบาลไทยที่เข้าใจไปว่า โรงพยาบาลมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้แก่บุตรคนสัญชาติไทยเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้โรงพยาบาลจะมิได้ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้แก่คนเกิด แต่โรงพยาบาลก็มักจะเก็บรายละเอียดของการคลอดเอาไว้ อย่างก็ ๑๐ ปี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะย้อนกลับไปออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้คนเกิดในอดีต ดังจะเห็นจากกรณีของน้องบิ๊ก ซึ่งเกิดใน พ.ศ.๒๕๓๗ แต่การออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) เกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๙ กล่าวคือ ๑๒ ปีหลังจากการคลอด

ดังนั้น งานหนึ่งที่อาจพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติและคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ก็คือ การสร้างแนวคิดและวิธีปฏิบัติของโรงพยาบาลไทยต่อคำร้องขอออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้แก่คนเกิดในประเทศไทยที่ไม่ได้รับหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ในขณะที่เกิด ซึ่งความชัดเจนในเชิงปฏิบัตินี้จะ “เยียวยา” ปัญหาของมนุษย์ที่เกิดในโรงพยาบาลไทย แต่ตกเป็นคนไร้รัฐ เพราะไม่มี “ใบเกิด” จากโรงพยาบาลเพื่อที่จะใช้ร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)

กรณีจริงในวันนี้ ที่เป็นตัวอย่างของแรงงานต่างด้าวที่เกิดแล้วในโรงพยาบาลไทย แต่ไม่มีใบเกิดจนตกเป็นคนไร้รัฐ ก็คือ กรณีของบุตรนางเล็กที่คลอดที่โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ สภาวะไร้รัฐจึงเกิดแก่เด็กหญิงผู้นี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึง พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งเป็นปีที่คุณชาติชาย อมรเลิศวัฒนา แห่ง ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในเรื่องนี้ไปพบ และร้องขอ “หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑)” ให้แก่เด็กหญิงดังกล่าว[1] เรื่องนี้จบลงโดยไม่ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย เพราะกลไกประชาสังคมได้ลงมาทำงานเพื่อเยียวยาปัญหานี้ เรื่องนี้จึงเป็น “ตัวอย่าง” ของ “กิจกรรมหนึ่ง” ที่ สสส. ควรผลักดันให้เกิดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรของคนข้ามชาติที่เกิดแล้วในโลกพยาบาลไทย แต่ไม่ได้รับใบเกิดฉบับที่ต้องออกโดยโรงพยาบาล

เรื่องประมาณนี้ใช้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายบ้านเมือง กล่าวคือ ใช้ศาลปกครองก็ได้ แต่เราจะต้องฟ้องสักกี่หมื่นคดีกันเพื่อเยียวความไร้รัฐให้แก่เด็กที่เกิดในโรงพยาบาลไทย ดังนั้น การใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายธรรมชาติน่าจะดีกว่า ดังที่ปรากฏเป็นตัวอย่างในกรณีของบุตรนางเล็ก แม้จะมีความเจ็บปวดของคนที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เมื่อพวกเขามีสติระลึกถึงทุกข์ที่เขาสร้างความไร้รัฐให้แก่มนุษย์ตัวเล็กๆ พวกเขาก็คงเปลี่ยนพฤติกรรมได้ อ.แหวว ก็หวังว่า แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติฯ ที่เสนอโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ครั้งนี้ต่อ สสส. จะทำให้เกิด “แรงกระตุ้นทางสังคม” ไปยังโรงพยาบาลหรืออำเภอหรือเทศบาลหรือเขตที่เคยละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่ออกใบเกิดให้ และองค์กรดังกล่าวเกิด “จิตสำนึกทางมนุษยชาติ” และเข้าใจใน “เหตุผลทางกฎหมาย” ที่จะเข้าแก้ไขเยียวยา “บาปบริสุทธิ์” ที่ได้เกิดแก่เด็กเหล่านั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า ตนเองก่อให้เกิดคนไร้รัฐเมื่อปฏิเสธที่จะออกใบเกิดให้เด็ก และพวกเขาไม่ตระหนักอีกด้วยว่า พวกเขากำลังกระทำความผิดตามกฎหมายทั้งระหว่างประเทศ ปกครองและอาญา  การผลักดันให้มีกระบวนการปรับระบบการใช้เหตุผลและจิตสำนึกในเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจดทะเบียนการเกิดจึงน่าจะเป็นงานที่ควรทำก่อนที่ข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนผู้ถูกละเมิดสิทธิจะเกิดขึ้น

งานสื่อสาร “เหตุและผล” ในเรื่องใบเกิดและคนข้ามชาติ เป็นเรื่องสำคัญ การจัดเสวนาในเวทีวิชาการดังที่ผ่านมา เชิญคนเป็นร้อยเป็นพันมาคุยกัน ย่อมเป็นเรื่องของการสร้างแรงกดดันทางสังคมต่อผู้ละเมิดสิทธิในใบเกิดของเด็ก แต่มิใช่การแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ แต่การตามดูว่า มีเด็กกี่คนที่เกิดในโรงพยาบาลไทย และไม่มีการออก “หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑)” หรือไม่ได้รับ “สูติบัตร” ต่างหากที่จะเป็นการแก้ไขที่สาเหตุ

ขอถามไปยังนักวิชาการสายประชากรศาสตร์ของประเทศไทยค่ะว่า ท่านทราบไหมคะว่า มีเด็กกี่คนที่เกิดในโรงพยาบาลไทยและไม่มีใบเกิดที่ออกโดยโรงพยาบาล ?? และวันนี้ ชะตาชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร ?? กิจกรรมการสืบค้นคนไร้ใบเกิดเพื่อแก้ไขปัญหาจึงเป็นกิจกรรมที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดแล้วในไทยได้อีกทางหนึ่ง



[1] จันทร์กระดาษ, เหตุเกิดที่วชิระภูเก็ต, เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

http://gotoknow.org/blog/papermoon/252584

 

---------------------------------------------------

ข่าวแจ้งเพื่อทราบ

ยังขาดอีก ๓ ตอน ซึ่งตั้งใจว่า จะเขียน (๑) ปัญหาภาษาในใบเกิดที่อาจไม่ได้รับความเข้าใจจากรัฐต้นทางของคนข้ามชาติ (๒) โศกนาฎกรรมของข้อมูลเท็จในใบเกิด และ (๓) ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพิสูจน์สัญชาติ : ทางออกของการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในไทยที่รัฐบาลและเอนจีโอไทยอาจมองไม่เห็น

รออ่านตอนต่อไปนะคะ ติชม อย่าเกรงใจนะคะ ว่ากันมาเลย

 

หมายเลขบันทึก: 261199เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่โรงพยาบาลระนอง ก็เป็นโรงพยาบาลหนึ่งครับ ที่เก็บข้อมูลของเด็กไว้นานกว่า 10 ปี ซึ่งผมขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่ไม่ทำลายข้อมูลเหล่านี้นะครับ

เพราะเด็กจะได้นำไปใช้แจ้งการเกิด เด็กจะได้พ้นสภาพการไร้รัฐ หลังจากที่ตกอยู่ในสภาพนี้นับ 10 ปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท